โดย: Tonvet

เรื่องจริงที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ ภาวะภูมิแพ้อาหารในสุนัข

บทความที่ทุกคนควรต้องอ่าน ก่อนที่จะให้อาหารน้องหมาที่บ้านในมื้อต่อไป

10 ตุลาคม 2555 · · อ่าน (96,100)
700

SHARES


700 shares

Dogilike.com :: เรื่องจริงที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ ภาวะภูมิแพ้อาหารในสุนัข

   ถ้าน้องหมาที่บ้านมีอาการคัน เกา เอาหน้าหรือตัวถูไถกับพื้น งับหรือเลียตัวและเท้าของตัวเอง อยู่เป็นประจำ เพื่อนๆ จะนึกถึงโรคอะไร โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ? โรคกลาก เกลื้อน เชื้อรา? หรือว่าโรคไรขี้เรื้อนแห้ง? มีใครนึกถึงโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันบ้างหรือไม่ แล้วภาวะภูมิแพ้อาหารล่ะเคยนึกถึงกันบ้างหรือป่าว บางทีอาหารที่น้องหมากินอยู่ทุกวัน อาจเป็นสาเหตุของโรคผิวหนังที่น้องมากำลังเป็นอยู่ก็ได้นะ เพื่อนๆ รู้จักภาวะภูมิแพ้อาหารกันรึป่าว? ถ้ายัง...ก็ตามมาเลย วันนี้ มุมหมอหมา จะพาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับภาวะภูมิแพ้อาหารในสุนัขกัน 
 

ภาวะภูมิแพ้อาหารในสุนัขเป็นอย่างไร?

 
     ภาวะภูมิแพ้อาหารในสุนัข (Food allergy) หรือภาวะภูมิคุ้มกันไวเกินต่ออาหาร เป็นโรคที่ร่างกายแสดงปฏิกิริยาทางระบบภูมิคุ้มกันแบบ Hypersensitivity ต่ออาหารที่กินเข้าไป  สุนัขจะแสดงอาการความผิดปกติทางผิวหนัง อาการที่พบได้บ่อย เช่น ผิวหนังมีผื่นแดง มีเม็ดตุ่ม คัน ขนร่วง ส่วนใหญ่จะพบรอยโรคตามบริเวณใบหน้าและที่หูประมาณ 80% ที่ขาและเท้าประมาณ 60% ที่โคนขาหนีบประมาณ 50% ที่บริเวณหน้าอก รักแร้ และรอบดวงตาประมาณ 35% และบริเวณอื่นๆ ก็สามารถพบได้อย่าง เช่น รอบปาก ใต้คาง รอบรูทวาร เป็นต้น 
 
     บางรายจะมีอาการของผิวหนังอักเสบรุนแรงมาก ผิวหนังมันเยิ้ม เกิด Hot spot มีตุ่มหนอง หรือมีกลิ่นตัว ซึ่งมักพบในรายที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนหรือเป็นแบบเรื้อรังมานาน  บางรายที่เป็นโรคหูส่วนนอกอักเสบแบบเรื้อรังรักษาไม่หายสักที บางทีอาจมีสาเหตุมาจากภาวะภูมิแพ้อาหารก็เป็นได้

Dogilike.com :: เรื่องจริงที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ ภาวะภูมิแพ้อาหารในสุนัข

     นอกจากอาการทางผิวหนังแล้ว ภาวะภูมิแพ้อาหารยังส่งผลต่อระบบอื่นของร่างกายได้อีก ไม่ว่าจะเป็นระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ และระบบประสาท โดยสุนัขจะแสดงอาการ ดังนี้
 
     • ระบบทางเดินอาหาร จะทำให้สุนัขแสดงอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องเสียอยู่เป็นประจำ ซึ่งพบได้ประมาณ 10-15% ของสุนัขที่ป่วย
     • ระบบทางเดินหายใจ พบว่าสุนัขจะมีอาการจาม ไอ หายใจลำบาก บางรายพบลิ้นอักเสบบวมขึ้นหลังจากกินอาหาร 
     • ระบบประสาท บางรายอาจส่งผลต่อทำให้สุนัขแสดงอาการชัก (Seizure) ได้ แต่พบได้น้อยมาก
 
     โดยอาการทั้งหมดรวมทั้งอาการทางผิวหนัง สามารถพบได้ทั้งปีไม่เกี่ยวข้องกับฤดูกาล (non-seasonal lesion) ต่างกับภาวะภูมิแพ้ละอองอากาศ (Atopy) ที่อาจมีปัจจัยจากเรื่องของฤดูกาลมาเกี่ยวข้อง
 

รู้หรือไม่ภาวะภูมิแพ้อาหาร (Food allergy) กับการแพ้อาหาร (Food intolerance) ต่างกัน?

 
     การแพ้อาหาร (Food intolerance) จะไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน เป็นการที่ร่างกายไม่ทนต่ออาหารที่รับเข้าไป สุนัขจะแสดงอาการท้องเสีย อาเจียน แต่ไม่ค่อยพบอาการทางผิวหนัง เหมือนอย่างคนที่อาจแพ้อาหารรสเผ็ด ของทอด หรือนม เพราะไม่มีเอนไซม์ที่สามารถย่อยน้ำตาลแลกโทส (Lactose) ได้ บางรายเป็นไปในลักษณะของการเกิดอาหารเป็นพิษ (Food poisoning) หรือกินอาหารที่มีพิษต่อร่างกายเข้าไป เช่น ช็อกโกแลต แมคคาเดเมีย หัวหอม ฯลฯ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกายแต่อย่างไร แต่ไม่ว่าจะเป็นภาวะภูมิแพ้อาหารหรือการแพ้อาหาร มีวิธีจัดการเหมือนกัน คือ งดกินอาหารที่ทำให้แพ้หรือเป็นพิษนั้นซะ

Dogilike.com :: เรื่องจริงที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ ภาวะภูมิแพ้อาหารในสุนัข

สุนัขตัวไหน ควรต้องระวังภาวะภูมิแพ้อาหารเป็นพิเศษบ้าง?

 
     ภาวะภูมิแพ้อาหารพบไม่บ่อยนัก อุบัติการณ์ของการเกิดแค่เพียง 10% ของภาวะภูมิแพ้ทั้งหมด พบมากเป็นอันดับที่ 3 ของภาวะภูมิแพ้ทั้งหมด รองจากภาวะภูมิแพ้น้ำลายหมัด (Flea bite allergy) และภาวะภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopy) แต่ 20% ของสุนัขที่มีอาการเกาคัน มักจะมีสาเหตุมาจากภาวะภูมิแพ้อาหาร ซึ่งสุนัขที่ต้องระวังภาวะภูมิแพ้อาหารเป็นพิเศษ ได้แก่
 
     1. สุนัขตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 3 ปี โดย 30% ของสัตว์ที่ป่วยพบในสุนัขอายุไม่เกิน 1 ปี และอาจจะพบได้ในสุนัขที่มีอายุมากกว่า 6 ปี
     2. อันที่จริงพบได้ในสุนัขทุกพันธุ์ แต่พันธุ์ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ปั๊ก เยอรมันเซฟเฟิร์ด บ็อกเซอร์ ค็อกเกอร์สเปเนียล ชาไป่ ดัชชุน ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ พูดเดิ้ล คอลลี่ ดัลเมเชี่ยน และมิเนเจอร์ ชเนาเซอร์  
     3. ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีโอกาสเป็นภาวะภูมิแพ้อาหารได้เท่าๆ กันทั้งสองเพศ
     4. จากการศึกษาพบว่า ภาวะภูมิแพ้อาหารมักเกิดกับสุนัขที่กินอาหารเดิมๆ มานานหลายปี ซึ่งอาจจะมากกว่า 2 ปีขึ้นไป
 

ที่มาที่ไปของภาวะภูมิแพ้อาหารในสุนัขเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

 
     ภาวะภูมิแพ้อาหารเกิดจากการที่ร่างกายเข้าใจผิดคิดว่าอาหารที่น้องหมากินเข้าไปนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงแสดงปฏิกิริยาต่อต้าน โดยปกติระบบทางเดินอาหารจะย่อยอาหารให้มีโมเลกุลขนาดเล็ก เล็กมากๆ จนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถมองเห็นได้ แต่ก็มีโมเลกุลบางส่วนที่ถูกย่อยอย่างไม่สมบูรณ์ ยังมีขนาดใหญ่พอที่ร่างกายสามารถตรวจจับได้ ระบบภูมิคุ้มกันจึงถูกกระตุ้นให้ตอบสนอง โดยมีการหลั่ง IgA, IgG, IgE และ mast cell ออกมา ส่งผลให้ร่างกายแสดงอาการต่างๆ ดังที่กล่าวออกมา
 
     กระบวนการนี้ใช้เวลาในการพัฒนานานพอสมควร หากเพื่อนๆ เห็นน้องหมาแสดงอาการแพ้อาหารแบบปัจจุบันทันด่วน นั่นหมายความว่าร่างกายของเค้าได้มีความผิดปกติมาสักระยะหนึ่งแล้ว  จนถึงจุดที่ซึ่งร่างกายไม่สามารถทนต่อไปได้อีก จึงเริ่มแสดงอาการออกมาให้เราเห็น  บางอาการอาจแสดงออกมาภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากได้รับอาหารเข้าไปก็ได้  

Dogilike.com :: เรื่องจริงที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ ภาวะภูมิแพ้อาหารในสุนัข

อาหารอะไรที่ทำให้เกิดภาวะภูมิแพ้ในสุนัขได้บ้าง?

 
     โดยส่วนใหญ่อาหารที่มักแพ้กัน จะเป็นการตอบสนองต่ออาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อปลา เครื่องในของสัตว์ทุกชนิด นมและผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ไก่ ถั่งเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง รวมถึงโปรตีนจากธัญพืชหรือพืชชนิดต่างๆ แต่บางรายอาจแพ้สารเสริมในอาหาร (Food additive) เช่น สารกันบูด สารปรุงแต่งสี กลิ่นและรส ฯลฯ บางรายอาจแพ้แคปซูลของยาที่กินก็ได้ ซึ่งสุนัขสามารถแพ้อาหารหรือมีสารก่อภูมิแพ้ได้มากกว่า 1 ชนิด และบางทีการแพ้อาหารอาจเกิดจากการทำปฏิกิริยา Cross reaction กันระหว่างสารก่อภูมิแพ้ เช่น ระหว่างเนื้อวัวกับนมวัว ก็เป็นไปได้
 

เราจะทราบได้อย่างไรว่าสุนัขเราแพ้อาหารอะไร?

 
     การจะทราบได้ว่าน้องหมาแพ้อาหารชนิดอะไรนั้น มีวิธีทางเดียว คือ การทดสอบ Restriction diet tial เท่านั้น  แต่ก่อนที่คุณหมอจะทำการทดสอบ คุณหมอจำเป็นต้องตรวจร่างกายอย่างละเอียดเสียก่อน เพื่อแยกแยะสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้น้องหมาแสดงอาการทางผิวหนัง ดังนั้นจึงอาจจำเป็นที่ต้องทำการขูดตรวจ เก็บตัวอย่างเซลล์จากผิวหนังมาตรวจ หรือเพาะเชื้อ ฯลฯ เสียก่อน โดยช่วงเวลาทำการทดสอบที่ดี จะเริ่มทำหลังจากที่เราได้ควบคุมอาการคันจากการติดเชื้อแทรกซ้อน หรือกำจัดสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปได้แล้ว 
    
     วิธีการทดสอบ Restriction diet trial คือ การให้สุนัขหยุดกินอาหารเดิมทั้งหมด และเปลี่ยนมากินอาหารใหม่ โดยอาหารใหม่ที่จะนำมาทดสอบต้องเป็นอาหารที่สุนัขไม่เคยกินมาก่อนเลยในชีวิต ซึ่งอาหารที่จะนำมาทดสอบแยกเป็น 2 ประเภท คือ 
 
     1. อาหารที่มีสารอาหารที่สุนัขไม่เคยกินมาก่อน (novel ingredients diet) 
 
     สำหรับอาหารที่มีสารอาหารที่สุนัขไม่เคยกินมาก่อน (novel ingredients diet) นั้น จะต้องพิจารณาจากประวัติการกินอาหารของสุนัขแต่ละตัวในอดีต การเลือกชนิดอาหารจะต้องเป็นสารอาหารกลุ่มโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตชนิดใหม่ในชีวิตของสุนัข เพียงแหล่งละ 1 ชนิดเท่านั้น แหล่งโปรตีนที่สุนัขไม่เคยกินมาก่อน อาทิเช่น เนื้อแกะ เนื้อกวาง เนื้อกระต่าย เนื้อจิงโจ้ เนื้อจระเข้ เนื้อปลาแซลมอน รวมถึงแหล่งโปรตีนใหม่จากธัญพืชและพืชต่างๆ ด้วย แหล่งคาร์โบไฮเดรตที่สุนัขไม่เคยกินมาก่อน เช่น มันฝรั่ง มันเทศ มันสำปะหลัง ฝักทอง เป็นต้น

Dogilike.com :: เรื่องจริงที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ ภาวะภูมิแพ้อาหารในสุนัข

     โดยสารอาหารจำพวก novel ingredients diet จะเป็นรูปแบบปรุงเองที่บ้านหรือซื้ออาหารสำเร็จรูปก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกของเจ้าของ แต่หากเป็นอาหารปรุงเอง สุนัขอาจจะได้คุณค่าทางโภชนาการไม่ครบถ้วน อาจทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหารบางอย่างได้ ที่สำคัญในการปรุงอาหาร ต้องไม่ใส่สารเสริมในอาหารหรือสารปรุงแต่งอื่นใดที่อาจเป็นสาเหตุให้สุนัขแสดงอาการแพ้ได้
    
     2. อาหารที่ผ่านกระบวนการ Hydrolysed protein ให้โปรตีนมีขนาดเล็กลง
 
     อาหารที่ผ่านกระบวนการ Hydrolysed protein ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารสำเร็จรูป ไม่ว่าจะเป็นสูตร Hypoallergenic หรือ Skin sensitivity ก็ดี โปรตีนจะถูกย่อยให้มีขนาดเล็กกว่า 15,000 ดาลตัน โดยการตัดพันธะเปปไทด์ในโปรตีนให้มีขนาดเล็กลง จนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถตรวจจับโมเลกุลเล็กขนาดนี้ได้ จึงไม่เกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อภูมิแพ้ แต่บางครั้งต้องระวัง ในขบวนการผลิตอาหารสำเร็จรูปอาจมีการปนเปื้อนสารอาหารอื่นๆ ในสายการผลิต ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้สุนัขแสดงอาการแพ้ได้ 
    
     ทั้งนี้การเลือกซื้ออาหารใดมาใช้ทดสอบ ก็ขึ้นอยู่กับความยอมรับได้ของเจ้าของและความชื่นชอบของตัวสุนัขด้วย โดยต้องคำนึงถึงความต้องการทางโภชนาการและพลังงานของสุนัขแต่ละตัวเป็นหลัก ซึ่งควรต้องให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้ชีวิตและกิจกรรมของสุนัขแต่ละตัว
 
     ในการทดสอบ Restriction diet trial ต้องใช้ระยะเวลา 10-12 สัปดาห์ (ประมาณ 3 เดือน) อุปสรรคในการทดสอบตัวสำคัญ คือ ความใจอ่อนและความไม่เข้าใจถึงความสำคัญในการทดสอบอาหารของเจ้าของเอง บางคนอาจยังมีการแอบให้อาหารอื่น รวมไปถึงขนมขบเคี้ยว ของกัดกินเล่น และอาหารอื่นๆ กับสุนัขอยู่ คิดว่าเล็กๆ น้อยๆ คงไม่เป็นไร แต่อันที่จริง สุนัขที่เข้ารับการทดสอบต้องระมัดระวังไม่ให้สิ่งของต่างๆ ที่ไม่ใช่อาหารที่ใช้ทดสอบเข้าปากได้เลย แม้กระทั้งวิตามิน ยาสีฟันที่แต่งกลิ่น ยาแก้คัน ยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจที่กินเป็นประจำ หรือยาอื่นๆ ที่อาจส่งผลรบกวนในการทดสอบอาหาร

Dogilike.com :: เรื่องจริงที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ ภาวะภูมิแพ้อาหารในสุนัข

     ผลจากการทำการทดสอบ Restriction diet trial จะพบว่าสุนัขมีการตอบสนองที่ดีต่ออาหารที่นำมาทดสอบ โดยที่ไม่แสดงอาการภูมิแพ้ออกมา จากการเก็บข้อมูลพบว่า มีสุนัขจำนวน 26% ที่เข้ารับการทดสอบ สามารถตอบสนองต่อการทดสอบภายใน 21 วัน แต่อย่างไรก็ตาม ควรต้องทำการทดสอบต่อไปอย่างน้อย 10 สัปดาห์ ในทางตรงกันข้าม หากสุนัขยังมีอาการคันอยู่เช่นเดิม แสดงว่า สาเหตุอาจไม่ได้เกิดจากภาวะภูมิแพ้อาหาร หรือหากสุนัขมีอาการคันลดลงเพียง 50% ก็อาจแสดงว่าสุนัขตัวนั้นมีภาวะภูมิแพ้อาหารร่วมกับภาวะภูมิแพ้อื่นๆ
 
     การ Challenge เพื่อทดสอบยืนยันภาวะภูมิแพ้อาหาร จะทำเพื่อต้องการหาชนิดของสารอาหารที่ทำให้สุนัขแพ้ การทดสอบยืนยันจะทำได้โดยการเพิ่มสารอาหารเข้าที่ละ 1  ชนิด โดยรวมกับอาหารที่เราใช้ในการทดสอบ และให้สุนัขกินต่อเนื่องไปอีก 7-14 วัน หากสุนัขกลับมามีอาการภูมิแพ้อาหาร ก็แสดงว่าสุนัขแพ้สารอาหารที่เราเพิ่มเข้าไป ให้เรากลับมากินเฉพาะอาหารที่เราใช้ทดสอบเพียงอย่างเดียวก่อน จนกว่าอาการจะดีขึ้นเป็นปกติ แล้วจึงค่อยกลับไปทำการ Challenge ต่อไป 
 

มีคำแนะนำอย่างไรกับเจ้าของ ในระหว่างการทดสอบอาหารในสุนัข?

 
     เราอาจเขียนป้ายห้อยที่คอตัวโตๆ ไว้ว่า “ขณะนี้หนูอยู่ในช่วงการทดสอบอาหาร ห้ามคนให้อาหารหนูนะ” เพื่อให้สมาชิกคนอื่นๆ ในบ้านทราบด้วย ถ้าเป็นไปได้ควรจำกัดบริเวณให้อยู่แต่ในบ้าน เพื่อป้องกันการหนีเที่ยวและออกไปแอบกินอาหารอื่นๆโดยที่เราไม่ทราบ และบางครั้งอาจต้องแยกเลี้ยงกับสัตว์ตัวอื่นๆ ในบ้าน เพราะการให้อาหารสัตว์ตัวอื่นๆในบ้าน สุนัขที่กำลังทดสอบอยู่ อาจแอบไปขโมยกินได้ 
 
     เจ้าของควรติดตาม จดบันทึกอาการและสภาพต่างๆ ของสัตว์ตลอดระยะเวลาที่ทำการทดสอบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวินิจฉัยให้กับคุณหมอ ตลอดจนดูแลรักษาความสะอาดที่อยู่อาศัยของสุนัข เพื่อป้องกันอาการที่เกิดจากการแพ้ไรฝุ่น ซึ่งอาจไปรบกวนการทดสอบ ทำให้การแปลผลในการทดสอบอาหารผิดพลาดไป

Dogilike.com :: เรื่องจริงที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ ภาวะภูมิแพ้อาหารในสุนัข

มีวิธีป้องกันภาวะภูมิแพ้อาหารในสุนัขอย่างไร?

 
     อันที่จริงการจะทราบว่าร่างกายมีภูมิแพ้ต่อสารอาหารอะไรนั้นเป็นเรื่องยาก จนกว่าเราจะได้รับสารนั้นเข้าไป แต่สำหรับวิธีป้องกันภาวะภูมิแพ้อาหารในสุนัข มีข้อปฏิบัติดังนี้
 
     1. ไม่ควรให้อาหารเดิมซ้ำๆ ติดต่อกันนานเกิน 2 ปี 
     2. หากจะปรับเปลี่ยนอาหารควรค่อยเปลี่ยน เพื่อให้ทางเดินอาหารสุนัขได้ปรับตัว
     3. หลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้สุนัขเกิดภาวะท้องเสียบ่อยๆ 
     4. เลือกอาหารที่ประกอบด้วยโปรตีนที่มีคุณภาพดี ย่อยง่าย เนื่องจากโปรตีนที่มีโมเลกุลใหญ่ย่อยยาก มักจะก่อให้เกิดภาวะภูมิแพ้อาหารได้ แนะนำให้กินอาหาร Hydrolysed protein 
     5. สุนัขที่เคยมีประวัติเป็นภาวะภูมิแพ้อาหารให้หลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นและระมัดระวังแหล่งโปรตีนที่จะนำมาใช้เป็นอาหาร และรวมถึงโปรตีนที่อาจทำปฏิกิริยา Cross reaction กันได้ เช่น เนื้อวัวกับนมวัว เนื้อไก่และไข่ไก่ เป็นต้น

Dogilike.com :: เรื่องจริงที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ ภาวะภูมิแพ้อาหารในสุนัข

     อย่างที่บอกว่าอุปสรรคสำคัญในการทดสอบอาหาร คือ ตัวเจ้าของเอง เพราะฉะนั้น เจ้าของอย่าพยายามคิดแทนสุนัขว่า เค้าจะต้องลำบาก อดอยาก และทรมานในการจำกัดอาหารแค่ไหน ให้คิดเสียว่า การที่เค้าเกาคัน เอาตัวถูกับกำแพง หรืองับตัวเองจนเป็นแผลเลือดออกอยู่เป็นประจำ มันเป็นสิ่งที่ทรมานมากเสียกว่าอีก

     เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของน้องหมา เจ้าของและสมาชิกทุกคนภายในบ้าน ควรทำความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการทำการทดสอบอาหารกับคุณหมอ แม้การทำ Restriction diet trial จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก แต่ด้วยความทุ่มเทของเจ้าของ ก็จะทำให้น้องหมาหายจากภาวะภูมิแพ้อาหารนี้ได้ไม่ยาก


บทความโดย: หมอต้น Dogilike.com
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก:
Clinical Handbook on Canine Dermatology. 2nd edition: Virbac animal health
 
รูปภาพประกอบ:
รูปภาพที่ 2 โดย Dogilike.com
รูปภาพที่ 1,4,5,7 และ 8 จาก
www.pawnation.com
www.bmslab.com
www.healthypetu.com
www.methodsofhealing.com
www.k9depot.net
รูปภาพที่ 3 และ 6 จาก
Linda Medleau and Keith A. Hnilica. 2006. Small animals Dermatology: A color atlas and
Therapeutic guide (2nd edition): Elsevier Inc.