โดย: Tonvet

พิชิตโรคเบาหวานในสุนัขด้วยหลัก 3 อ.

หลัก 3 อ. คืออะไร นำมาใช้จัดการกับโรคเบาหวานในสุนัขได้อย่างไรมาดูกัน

6 มีนาคม 2556 · ชอบ  (2)
  • cooky
  • MooPuy
  • ชอบสิ่งนี้
· แสดงความคิดเห็น (0) · อ่าน (67,209)
403

SHARES


403 shares

Dogilike.com :: พิชิตโรคเบาหวานในสุนัขด้วยหลัก 3 อ.


     น้องหมาบ้านไหนกำลังมีอาการดังต่อไปนี้บ้างครับ กินน้ำมาก-ปัสสาวะมากกว่าปกติ มีกลิ่นลมหายใจ (Acetone breath) ปัสสาวะมีกลิ่นฉุนแปลกๆ กินอาหารเก่งแต่น้ำหนักตัวกลับลด มีฝ้าขาวๆ ที่กระจกตา ทำให้ตาเริ่มมองไม่เห็น บางครั้งอาจซึม เบื่ออาหาร และอาเจียน หากน้องหมาของเพื่อนๆ มีอาการตามที่กล่าวมานี้ ให้ตั้งข้อสงสัยได้เลยว่า เค้าอาจกำลังป่วยด้วย “โรคเบาหวาน” อยู่ก็ได้นะครับ
 
     โรคเบาหวานในสุนัข ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ร่างกายไม่ผลิตหรือผลิตอินซูลินออกมาน้อยเกินไป ทำให้ขาดอินซูลิน ส่งผลให้การดึงน้ำตาลไปใช้ในร่างกายลดลง ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดจึงสูงกว่าปกติ ปกติระดับน้ำตาลในกระแสเลือดของสุนัข จะอยู่ที่ 80-120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ลักษณะโรคเบาหวานที่น้องหมาเป็นดังกล่าว เปรียบได้กับการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในคน ซึ่งเกิดได้จากความผิดปกติในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน หรือเบต้าเซลล์ในตับอ่อนถูกทำลายหรือฝ่อสลายไป แต่ก็มีสุนัขบางตัวที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้เช่นกัน ซึ่งเกิดจากการต้านการทำงานของอินซูลินทีร่างกายผลิตออกมา (Insulin resistance)  อันมีสาเหตุโน้มนำมาจากโรคอ้วน

Dogilike.com :: พิชิตโรคเบาหวานในสุนัขด้วยหลัก 3 อ.

    
     เราสามารถตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานในสุนัขได้ จากการตรวจวัดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ซึ่งจะสูงมากกว่า 120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และหากมีค่าน้ำตาลในเลือดมากกว่า 180-220 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ก็จะสามารถตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะได้ อันที่จริงสาเหตุของน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกตินั้น อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ก็ได้ เช่น เพิ่งกินอาหารมาไม่เกิน 6-12 ชั่วโมง ความเครียด ความตื่นเต้น การได้รับยาหรือฮอร์โมนบางชนิด เช่น ยากลูโคคอร์ติคอยด์ (สเตียรอยด์) ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ฮอร์โมนไทรอยด์ ฯลฯ อยู่ในช่วงที่กำลังตั้งท้อง หรือป่วยด้วยโรคอื่นๆ เช่น มะเร็งที่ตับอ่อน โรคตับอ่อนอักเสบ โรค Cushing syndrome ฯลฯ จึงจำเป็นที่เราต้องตรวจแยกออกจากสาเหตุอื่นๆ ด้วยครับ 
 
     การตรวจวัดระดับของฟรุกโตซามีน (frustosamine level) ซึ่งเป็นโปรตีนไกลโคไซเลตที่จับกับกลูโคส สามารถนำมาใช้เป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยและเฝ้าติดตามโรคเบาหวานในสุนัขได้ดี เพราะฟรุกโตซามีนจะมีการสลายตัวช้าและคงตัวอยู่ในกระแสเลือดได้นานประมาณ 1-3 สัปดาห์ ซึ่งความเครียดจะส่งผล ทำให้กลูโคสขึ้นสูงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ไม่มีผลต่อค่าฟรุกโตซามีน เราจึงมองเห็นภาพกว้างๆ ของระดับน้ำตาลในกระแสเลือด จากการตรวจฟรุกโตซามีน ปกติค่าฟรุกโตซามีนในสุนัขควรอยู่ที่ 350-450 ไมโครโมลต่อลิตร

Dogilike.com :: พิชิตโรคเบาหวานในสุนัขด้วยหลัก 3 อ.

    
     สำหรับน้องหมาตัวไหนที่โชคร้ายป่วยด้วยโรคเบาหวาน เจ้าของอย่างเราก็ไม่ต้องซีเรียสไปนะครับ เพราะวันนี้ มุมหมอหมา มีวิธีช่วยรักษาโรคเบาหวานให้กับน้องหมาอย่างง่ายๆ โดยใช้ “หลัก 3 อ.” ดังต่อไปนี้
 

1. อาหาร

 
     อาหาร ถือว่ามีส่วนสำคัญในการจัดการโรคเบาหวาน เพราะเปรียบเสมือนต้นทาง ที่จะทำให้มีน้ำตาลในร่างกายสูง ลักษณะของอาหารที่ดี สำหรับน้องหมาที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน คือ ต้องเป็นอาหารที่ควบคุมน้ำหนักของร่างกายให้เหมาะสม ไม่ให้ผอมหรืออ้วนเกินไปได้ เป็นอาหารที่ไม่ให้น้ำตาลในเลือดสูงมากไปหลังจากกินอาหาร และเป็นอาหารที่สามารถดูดซึมนำไปใช้ง่าย การคุมอาหารจึงมีส่วนช่วยในการรักษาโรคเบาหวานเป็นอย่างมาก เพราะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ ง่ายต่อการใช้อินซูลิน
 
     ส่วนใหญ่คุณหมอมักจะแนะนำให้ให้อาหารวันละ 2 มื้อ ซึ่งเราควรให้อาหารในเวลาเดิม ชนิดเดิม และปริมาณเดิม ไปพร้อมกับการฉีดอินซูลิน โดยคำนวณปริมาณจากความต้องการพลังงานในแต่ละวัน หากเป็นน้องหมาพันธุ์เล็ก น้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม ให้กินปริมาณ 60-70 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัมต่อวัน หากเป็นน้องหมาพันธุ์ใหญ่ให้กิน 50-60 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัมต่อวัน ไม่ควรให้ขนมอื่นๆ เพราะจะทำให้ยากต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
 

Dogilike.com :: พิชิตโรคเบาหวานในสุนัขด้วยหลัก 3 อ.

 
     ปัจจุบันมีอาหารสำเร็จรูปสำหรับสุนัขที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานมากมายหลายยี่ห้อ ทั้งรูปแบบแห้งและรูปแบบเปียก (กระป๋อง) โดยส่วนใหญ่จะจำกัดปริมาณของคาร์โบไฮเดรตและไขมัน แต่เน้นให้มีกากใยหรือไฟเบอร์สูงๆ แทน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะคีโตนในกระแสเลือด  (ketosis) เราสามารถหาซื้อและขอคำแนะนำจากคุณหมอได้ตามสถานพยาบาลสัตว์ต่างๆ ครับ
 

2. ออกกำลังกาย

 
     น้องหมาที่เป็นโรคเบาหวานควรได้รับการออกกำลังกายอย่างพอเหมาะและสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้การทำงานของอินซูลินดีขึ้น จะได้เพิ่มการขนส่งกลูโคสเข้าสู่เซลล์ และกระตุ้นให้กล้ามเนื้อ  เนื้อเยื่อไขมัน และตับสะสมไกลโคเจน อีกทั้งการออกกำลังกายยังเป็นการช่วยควบคุมน้ำหนัก และช่วยให้การไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้นด้วย แต่เราก็ไม่ควรให้น้องหมาออกกำลังกายหนักเกินไป ไม่เช่นนั้นอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) ตามมาได้ หากพบปัญหาดังกล่าวน้องหมาจะเป็นลม อ่อนแรง บางรายมีอาการชัก เราต้องช่วยด้วยการป้อนน้ำหวานหรือน้ำผึ้งให้กับน้องหมาครับ 
 
     สำหรับเทคนิคการออกกำลังกาย ควรเลือกจากนิสัย อายุ และสุขภาพของสุนัข เช่น เดินเล่น วิ่งเบาๆ หรือว่ายน้ำ แต่ควรเริ่มจากการออกกำลังกายเบาๆ ก่อน แล้วสังเกตอาการน้องหมาเป็นระยะๆ ให้ออกกำลังกายเป็นเวลาสั้นๆ 10-15 นาที แล้วพัก 5-10 นาที จากนั้นให้กลับมาออกกำลังกายใหม่ เราควรพาน้องหมาออกกำลังกายในช่วงเวลาและรูปแบบเดิมทุกวัน เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลที่มากเกินไป

Dogilike.com :: พิชิตโรคเบาหวานในสุนัขด้วยหลัก 3 อ.

3. อินซูลิน

 
     อินซูลิน ที่ใช้ในการรักษาโรคเบาหวานในสุนัข ประเภทที่ขาดอินซูลิน มาจาก 3 แหล่ง คือ อินซูลินจากสุกร (Porcine insulin) ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายกับอินซูลินของสุนัขมาก อินซูลินจากมนุษย์ (Human insulin) และ อินซูลินที่ได้จากกระบวนการชีวสังเคราะห์ (Human recombinant insulin) แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ตามระยะเวลาของการออกฤทธิ์ คือ แบบออกฤทธิ์ระยะสั้น ได้แก่ Semilente insulin, Regular insulin แบบออกฤทธิ์ระยะกลาง ได้แก่ Lente insulin, Neutral Protamine Hagedorn insulin (NPH) และแบบออกฤทธิ์ระยะยาว ได้แก่ Ultralente insulin ซึ่งจะมีการใส่ protamine หรือ zinc เข้าไปช่วยเพิ่มระยะเวลาในการออกฤทธิ์
 
     อินซูลินที่วางขายในท้องตลาด มีหลากหลายยี่ห้อ บางยี่ห้อเป็นของสุนัขโดยเฉพาะเลยก็มี เช่น Caninsulin, Vetsulin, Humulin, Semitard ,Ultratard ฯลฯ ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน ที่มีความเข้มข้นแตกต่างกันไป เช่น 40, 100 และ 500 ยูนิตต่อมิลลิลิตร ( 1 ยูนิต เท่ากับ 36 ไมโครกรัม) ใช้สำหรับฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (ส่วนใหญ่) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าเส้นเลือด ซึ่งเราอาจจำเป็นต้องซื้อ แล้วนำมาแบ่งฉีดให้น้องหมา ตามปริมาณที่คุณหมอแนะนำ โดยใช้ไซริงค์ขนาด 0.5 หรือ 1 มิลลิลิตร และเข็มขนาด 27 หรือ 29 ซึ่งเราอาจจะซื้อไซริงค์ชนิดที่มีเข็มอยู่แล้วก็ได้ครับ
 

Dogilike.com :: พิชิตโรคเบาหวานในสุนัขด้วยหลัก 3 อ.

 
     การให้อินซูลิน เราควรจะให้เหมือนกับการหลั่งในธรรมชาติมากที่สุด โดยให้ในเวลาเดียวกับที่น้องหมากินอาหาร หรือให้หลังจากที่น้องหมากินอาหารทันที หรือให้ก่อนแล้วตามด้วยการให้อาหารทันทีก็ได้ การจะทราบว่าน้องหมาแต่ละตัวต้องได้รับอินซูลินขนาดเท่าใดนั้น ทราบได้จากการเฝ้าติดตามการตรวจน้ำตาลในเลือด แล้วสร้างเป็นกราฟต่อเนื่อง ที่เรียกว่า Blood glucose curves หรือ “การทำ curves” เพื่อหาจุดที่มีน้ำตาลในเลือดสูงที่สุดและต่ำที่สุด (Nadir) และระยะเวลาในการทำงานของอินซูลินทีเหมาะสม ซึ่งอาจต้องนำรูปแบบการใช้ชีวิตของน้องหมาและเรา มาใช้การคำนึงเลือกรูปแบบและชนิดของการให้อินซูลินด้วย
 
     การทำ curves เราอาจต้องพาน้องหมามาฝากไว้กับคุณหมอ 1-2 วัน หรืออาจพามาฝากตอนเช้าแล้วรับกลับตอนค่ำก็ได้ (อย่างน้อย 12 ชั่วโมง) ในการทำต้องจำลองการใช้ชีวิตจริงของน้องหมาที่บ้าน โดยให้น้องหมากินอาหารเวลาเดียวกัน ชนิดเดียวกัน และปริมาณเดียวกันกับที่กินที่บ้าน และตรวจวัดระดับกลูโคสในเลือดนับตั้งแต่เวลาที่ให้อินซูลิน แล้วทำการตรวจวัดเช่นนี้ต่อเนื่องกันไปทุกๆ 1-3 ชั่วโมง ตลอดทั้งวัน เพื่อสร้างออกมาเป็นกราฟของค่าน้ำตาลในเลือด จุดต่ำสุดของน้ำตาลหรือ Nadir ซึ่งเป็นจุดสูงสุด (จุด Peak) ในการออกฤทธิ์ของอินซูลิน ควรจะมีค่าน้ำตาลในเลือดประมาณ 100-120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ให้อินซูลินจนหมดฤทธิ์ของอินซูลิน ควรอยู่ในระดับคงที่ประมาณ 100-250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดไม่ควรต่างกันเกินกว่า 100-150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ทั้งนี้ก็ขึ้นกับขนาดและชนิดของอินซูลินที่ให้ด้วย โดยถ้าให้อินซูลินแบบออกฤทธิ์นาน 12 ชั่วโมง จุด Nadir ก็ควรอยู่ที่ 6 ชั่วโมงหลังจากที่ให้อินซูลินครับ 
 

Dogilike.com :: พิชิตโรคเบาหวานในสุนัขด้วยหลัก 3 อ.

 
     ในการทำ curves ในช่วงแรกๆ เราอาจต้องพาน้องหมามาทำบ่อยหน่อย เช่น อาจจะทุกๆ สัปดาห์ เป็นเวลาหนึ่งเดือน หรือจนกว่าจะได้ปริมาณการให้อินซูลินที่เหมาะสม หลังจากนั้นเราอาจต้องเฝ้าติดตามและปรับขนาดการให้อินซูลินเป็นระยะ  เช่น ทุกๆ 3-6 เดือน เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของน้องหมาในช่วงเวลานั้นๆ ให้มากที่สุด หรือหากต้องการเปลี่ยนชนิดของอินซูลิน ก็ควรต้องทำ curves ให้ใหม่ทุกครั้ง จำไว้เสมอว่าน้องหมาน้ำหนักเท่ากันก็อาจให้อินซูลินไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองและระดับน้ำตาลในเลือดด้วยครับ
 
     แต่บางครั้งเราอาจพบว่า อินซูลินที่เราให้น้องหมาไม่ได้ผล เนื่องจากร่างกายของน้องหมาอาจเกิดการต่อต้านอินซูลินที่ให้ได้ (Insulin resistance) โดยสร้าง Anti-insulin Antibody ขึ้นมา บางครั้งอาจเกิดจาก การที่เราให้อินซูลินไม่ถูกต้อง เช่น ให้ไม่ตรงขนาดหรือให้ไม่ตรงเวลา หรือใช้อินซูลินที่หมดอายุ การจัดเก็บอินซูลินไม่เหมาะสม ไม่ได้แช่ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิคงที่ ไม่ได้กลิ้ง (mix) ขวดอินซูลินบนฝ่ามือ ให้เข้ากันก่อนที่จะนำมาใช้ น้องหมาได้รับอาหารมากเกินไป มีการเปลี่ยนชนิดของอาหารที่กิน หรือมีปัญหาโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เป็นต้น ดังนั้นสุนัขที่เป็นโรคเบาหวาน จึงต้องกินอาหารให้ตรงเวลา ตรงชนิด และตรงปริมาณ หากสุนัขไม่ได้กินอาหาร เราอาจลดปริมาณการให้อินซูลินลงครึ่งหนึ่ง หรือข้ามการให้อินซูลินครั้งนี้ไป และรีบประเมินหาสาเหตุของการเบื่ออาหารนั้นทันที
 

Dogilike.com :: พิชิตโรคเบาหวานในสุนัขด้วยหลัก 3 อ.

 
     เวลาอยู่ที่บ้านเราก็ควรต้องหมั่นสังเกตอาการต่างๆ ของน้องหมาและทำการจดบันทึกไว้ด้วย เช่น มีเบื่ออาหาร นอนซึมหรือไม่ ปริมาณอาหารที่กินได้แต่ละมื้อเท่าไหร่ ควรชั่งน้ำหนักตัวน้องหมาทุกๆ 1-2 สัปดาห์ ดูด้วยว่าน้องหมากินน้ำและปัสสาวะได้มากน้อยแค่ไหน ปัสสาวะมีสีหรือกลิ่นเป็นอย่างไร ลักษณะของปัสสาวะอาจช่วยบ่งบอกได้ว่า ร่างกายมีน้ำตาลหรือคีโตน (ketone) เป็นอย่างไร ดังนั้นการเฝ้าติดตามระดับน้ำตาลในเลือดและการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะอยู่เป็นประจำจะช่วยให้เราทราบถึงความผิดปกติได้
 
     แม้ปัจจุบันผู้รักและเลี้ยงสุนัขส่วนใหญ่จะทราบกันดีว่า น้องหมาก็สามารถเป็นโรคเบาหวานได้เช่นเดียวกับคน แต่กลับมีผู้เลี้ยงจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ทราบว่าน้องหมาของตัวเองกำลังป่วยด้วยโรคเบาหวานอยู่ เพราะไม่ค่อยได้พาน้องหมาไปตรวจสุขภาพ และตรวจวัดน้ำตาลในกระแสเลือดอย่างเป็นประจำ จนเมื่อโรคเป็นมากขึ้น แสดงอาการรุนแรงขึ้นจึงพาไปตรวจ เลยทราบว่าเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น การจัดการรักษาโรคก็จะค่อนข้างยากและซับซ้อนมากขึ้นแล้ว ดังนั้น มุมหมอหมา จึงอยากจะฝากเพื่อนๆ ให้หมั่นสังเกตอาการและพาน้องหมาไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังโรค เพราะหากทราบตั้งแต่เนิ่นๆ การจัดการก็จะง่ายขึ้นครับ
 



 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน:
L. Fleeman and J. Rand. 2008. Diabetes Mellitus: Nutritional Strategies, Encyclopedia of Canine Clinical Nutrition
Rebecka S. Hess. 2008. HANDBOOK OF SMALL ANIMAL PRACTICE: CHAPTER 44 DIABETES MELLITUS. Saunders Elsevier Inc.; P471-475.
สพ.ญ.ศิรินทร์ ธีระวัฒนศิริกุล. การตรวจค่าเลือดของโรคระบบต่อมไร้ท่อ:ความผิดปกติของต่อมหมวกไต และเบาหวาน,Veterinary Practitioner NEWS; ปีที่ 10 ฉบับที่ 116 พฤษภาคม 2555
 
รูปภาพประกอบ:
รูปภาพที่ 6 จาก 
รูปภาพที่ 1-5,7-8 จาก
www.diabeticdoginfo.com
www.diabetes.webmd.com
www.vcahospitals.com
www.buzzle.com
www.good-dog.co.za
www.2ndchance.info
www.pethealthlibrary.purinacare.com