โดย: Tonvet

5 วิธีรับมือกับโรคข้อเสื่อมในสุนัขสูงวัย

โรคข้อเสื่อมในสุนัขแก่เป็นอย่างไรและมีแนวทางรักษากันยังไงมาดูกัน

27 มีนาคม 2556 · · อ่าน (48,799)
345

SHARES


345 shares

Dogilike.com :: 5 วิธีรับมือกับโรคข้อเสื่อมในสุนัขสูงวัย

     ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์เมื่อมีอายุมากขึ้น สิ่งที่ต้องตามมาและคงจะหนีไม่พ้นก็คือ ความเสื่อมของร่างกาย มันเป็นกฎของธรรมชาติที่ทุกคนต่างก็ต้องเผชิญ เซลล์ของร่างกายเมื่อทำงานมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ถึงเวลาก็ต้องเสื่อมสลายและตายไป ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ในร่างกายลดลง เป็นสาเหตุทำให้เกิดความเจ็บป่วยและโรคต่าง ๆ ตามมาได้
 
     โรคข้อเสื่อมในสุนัข (Degenerative joint disease หรือ DJD)  หรือที่เรียกว่า โรคข้อกระดูกอักเสบ (Osteoarthritis) หรือโรคข้ออักเสบ (Arthritis) เกิดจากความเสื่อมของเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณข้อกระดูก ความเสื่อมนี้แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ 
 
     1. แบบปฐมภูมิ ซึ่งเกิดจากการที่สัตว์มีอายุมากขึ้น ทำให้การผลิตสารพวกโปรตีนโอไกลแคน ไกลโคโปรตีน และไกลโคซามิโนไกลแคนลดลง เซลล์เนื้อเยื่อจึงเริ่มเสื่อมและหมดสภาพไป 
 
     2. แบบทุติยภูมิ ที่เป็นผลมาจากความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับข้อต่อ แล้วส่งผลให้เกิดพยาธิสภาพขึ้นกับเซลล์บริเวณข้อต่อ เซลล์จึงมีการสร้างสารทำให้เกิดกระบวนการอักเสบขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้ความแข็งแรงของกระดูกอ่อนผิวข้อ (articular cartilage)  เสียไปและเกิดการตายตามมา

Dogilike.com :: 5 วิธีรับมือกับโรคข้อเสื่อมในสุนัขสูงวัย

     เมื่อข้อกระดูกเกิดการเสื่อมขึ้น กระดูกอ่อนและเนื้อเยื่อโดยรอบข้อกระดูกจะเกิดการหนาตัว ทำให้ช่องว่างระหว่างข้อกระดูกแคบลง โอกาสที่กระดูกจะเกิดเสียดสีกัน เวลาที่มีการเคลื่อนไหวก็มากขึ้น ประกอบกับน้ำไขข้อ (synovial fluid) ซึ่งเปรียบเสมือนสารหล่อลื่นตามธรรมชาติของข้อต่อ เกิดการผลิตออกมาลดลง หรือมีคุณภาพแย่ลง ทำให้เมื่อเกิดการเสียดสีกัน ก็ยิ่งไปสร้างความเสียหายให้กับกระดูกอ่อนผิวข้อและเนื้อเยื่อกระดูกใต้กระดูกอ่อน (subchondral bone) มากขึ้น ทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อเกิดการลอกหลุด ผิวข้อจึงขรุขระไม่ราบเรียบ (ดังภาพที่ 2)
 
     น้องหมาจะเกิดความเจ็บปวด ไม่อยากใช้ขา นั่งหรือนอนมากกว่าลุกเดิน ทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้ตามปกติ เดินยกขา บางตัวอาจซึมลง มีข้อบวม มีไข้ จับคลำหรือยืดหดข้อแล้วเกิดเสียงกรอบแกรบ (crepitus sound) พิสัยหรือมุมในการยืดหดลดลง บางรายเป็นมานานจนเกิดกล้ามเนื้อฝ่อลีบตามมาได้

Dogilike.com :: 5 วิธีรับมือกับโรคข้อเสื่อมในสุนัขสูงวัย

     จากรายงานของ Banfield Pet Hospital’s State of Pet Health 2012 report ที่ทำการรวบรวมข้อมูลสุนัขป่วย 2 ล้านตัว จากโรงพยาบาลสัตว์กว่า 800 แห่ง ใน 43 มลรัฐ ของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าในปี ค.ศ. 2011 มีสุนัขสูงวัยที่ป่วยด้วยโรคข้ออักเสบ (Arthritis) สูงถึง 13% โดยอายุที่พบเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007-2011 พบสุนัขสูงวัยที่ป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มขึ้นสูงถึง 44 % และเป็นเรื่องที่น่าตกใจว่า เจ้าของสุนัขกว่า 30 % ไม่ทราบและไม่ได้ตระหนักเลยว่า ความอ้วนและความสูงวัยก็มีส่วนทำให้น้องหมาป่วยด้วยโรคข้ออักเสบได้เช่นกัน 
 
     สำหรับเพื่อน ๆ คนไหน ที่กำลังมีน้องหมาประสบปัญหาโรคข้อเสื่อมอยู่ล่ะก็ วันนี้ มุมหมอหมา มี 5 วิธีรับมือกับโรคข้อเสื่อมในสุนัขสูงวัย มาฝากครับ
 

1 รับยาบรรเทาอาการ


Dogilike.com :: 5 วิธีรับมือกับโรคข้อเสื่อมในสุนัขสูงวัย

     โรคข้อเสื่อมทำให้เกิดการอักเสบของข้อขึ้น จึงทำให้สุนัขมีอาการเจ็บปวดเป็นอย่างมาก จำเป็นที่จะต้องได้รับยาแก้อักเสบและลดปวด โดยยาที่คุณหมอให้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นยาในกลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือ Non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) เช่น carprofen, etodolac, meloxicam, deracoxib, firocoxib, phenybutazone, tolfenamic acid ฯลฯ โดยป้อนวันละ 1-2 ครั้ง ซึ่งอาจจำเป็นต้องให้กินเป็นระยะเวลานาน หากให้เกิน 5-7 วัน อาจมีปัญหาต่อระบบอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น เกิดแผลที่กระเพาะและทางเดินอาหาร ซึ่งทำให้พบอาการอาเจียนและท้องเสียได้ ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องให้กินยาร่วมกับยาลดการหลั่งกรดและยาเคลือบกระเพาะด้วย เช่น  ranitidine, cimetidine, omeprazole, sucralfate ฯลฯ ซึ่งหากสุนัขของเรามีปัญหาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ไต ตับ และหัวใจอยู่ก่อนแล้ว เจ้าของควรแจ้งและปรึกษากับคุณหมอก่อนได้รับยาเหล่านี้ด้วยครับ
 

     สำหรับในรายที่มีอาการปวดมาก ๆ อาจจำเป็นต้องได้รับยาในกลุ่ม opioid ร่วมด้วย เช่น Tramadol โดยป้อนวันละ 2-3 ครั้ง ปัจจุบันมีการใช้สารไฮยาลูโรแนน ฉีดเข้าข้อเพื่อรักษาโรคข้อเสื่อม เพื่อลดความเจ็บปวด ชะลอความเสื่อม โดยฉีดสัปดาห์ละครั้ง ติดต่อกัน 3-5 สัปดาห์ ยาจะมีประสิทธิภาพประมาณ 1 ปี จึงแนะนำให้มาฉีดทุกปี แต่วิธีนี้ไม่เหมาะกัยรายที่ข้อเสื่อมอย่างรุนแรงจนกระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายไปหมดแล้ว
 

2 จัดการเรื่องอาหาร


Dogilike.com :: 5 วิธีรับมือกับโรคข้อเสื่อมในสุนัขสูงวัย

     อาหาร ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการรับมือกับโรคข้อเสื่อมของสุนัขในระยะยาว ปัจจุบันเราหันมาให้ความสนใจกับสาร chondroprotective agents ซึ่งเป็นสารที่ใช้สำหรับลดอาการ ป้องกัน และชะลอความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ ซึ่งอาจจะเสริมมาในรูปของอาหารหรือเป็นยาบำรุงข้อ ได้แก่ กลูโคซามีน คอนดรอยตีน กรดไฮยาลูโรนิค และสาร pentosanpolysulphate สารเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในกระดูกอ่อนและน้ำไขข้อ โดยเฉพาะสารกลูโคซามีนและคอนดรอยตีน ที่ใช้ช่วยรักษาภาวะข้อเสื่อม ลดการสร้างสารอักเสบ และเพิ่มสารตั้งต้นในการสร้าง matrix ของกระดูกอ่อน รวมถึงน้ำไขข้อด้วย ทำให้กระดูกอ่อนส่วนที่ยังไม่เสียหายคงอยู่ในสภาพดี ส่วนที่เสียหายเล็กน้อยก็สามารถซ่อมแซมได้ ช่วยให้น้ำไขข้อกลับมาอยู่ในสภาพที่ปกติ จึงสามารถช่วยลดแรงเสียดสีของข้อกระดูกได้ดียิ่งขึ้น แต่ในส่วนที่มีความเสียหายรุนแรงไปแล้ว การใช้สารเหล่านี้อาจจะไม่ได้ผล และเนื่องจากไม่ใช่ยา ผลของการใช้สารกลูโคซามีนและคอนดรอยตีน จะต้องใช้ระยะเวลา 1-2 เดือน คือ ต้องรอให้ร่างกายมีการสร้างและซ่อมแซมก่อน อาการต่าง ๆ  จึงจะกลับมาดีขึ้นครับ
 
     นอกจากนี้ยังมีสารสำคัญอื่น ๆ อีก ได้แก่ โอเมก้า 3, EPA และ DHA ที่ได้จากน้ำมันปลา ซึ่งนำมาใช้ช่วยลดการทำลายของเอนไซม์ในข้อและลดการสร้างสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ (inflammatory mediators) หรือมีการใช้ Avocado soybean unsaponifiables (ASU) มาช่วยลดการทำงานของเอนไซม์ cyclooxygenase-2 (Cox-2) และลดการสร้าง prostaglandin E2 ด้วย นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่า การใช้ S-adenosylmethionine (SAMe) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ ร่วมกับกลูโคซามีน สามารถช่วยลดปวดและเพิ่มการทำงานของข้อต่อได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นในการเลือกซื้ออาหารมาให้น้องหมากิน เจ้าของควรหันมาให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ที่มีสารต่าง ๆ  เหล่านี้เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยครับ
 

3 ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกาย


Dogilike.com :: 5 วิธีรับมือกับโรคข้อเสื่อมในสุนัขสูงวัย

     น้องหมาที่อ้วนจะต้องแบกรับน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่โครงสร้างต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระดูก ข้อต่อยังคงมีขนาดเท่าเดิม แรงที่ร่างกายกระทำต่อข้อต่อย่อมจะมากกว่าปกติ จึงอาจทำให้ข้อต่อเกิดการบาดเจ็บ ส่งผลให้เกิดปัญหาข้อเสื่อมตามมาได้ การควบคุมน้ำหนักนอกจากจะช่วยเบาเทาอาการแล้ว ยังช่วยชะลอไม่ให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้นได้ด้วย เพื่อน ๆ ที่สนใจลดน้ำหนัก สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในบทความ หยุด !! โรคอ้วนในสุนัขฯ ... คลิก ครับ

     ส่วนการออกกำลังกายในรายที่มีปัญหาข้อเสื่อม ควรให้ออกกำลังกายเบา ๆ ในระยะเวลาสั้น ๆ พักแล้วค่อยกลับมาออกกำลังกายต่อเป็นระยะ ๆ จะช่วยในการรักษาการเคลื่อนไหวของข้อต่อและมวลกล้ามเนื้อได้ดี ทั้งยังช่วยควบคุมน้ำหนักได้ด้วย การพาเดินเป็นวิธีที่ดีที่สุด หรือเราอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบที่อยู่และการใช้ชีวิต ให้น้องหมามีการเคลื่อนไหวบ้าง เช่น ตั้งชามน้ำและอาหารไว้อีกมุมของห้อง ห่างจากที่นอน ก็ช่วยให้สุนัขลุกเดินมากินน้ำอาหาร เป็นการช่วยบริหารขาได้ดี ควรเลือกวิธีการออกกำลังกายที่ไม่หนักมาก และหลีกเลี่ยงการกระโดดขึ้นลงที่สูง ๆ เช่น การก้าวขึ้นลงบันใด ให้เปลี่ยนมาเดินขึ้นลงในทางลาดแทนครับ
 

4 ทำกายภาพบำบัด


Dogilike.com :: 5 วิธีรับมือกับโรคข้อเสื่อมในสุนัขสูงวัย

     การทำกายภาพในกรณีของสุนัขที่เป็นโรคข้อเสื่อม จะมีประโยชน์ในแง่ของการช่วยลดการอักเสบและลดความเจ็บปวด ช่วยให้มุมหรือพิสัยของการยืดหดข้อต่อดีขึ้น และช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณข้อต่อแข็งแรงขึ้นด้วย ซึ่งรูปแบบการทำกายภาพแต่ละวิธีจะให้ประโยชน์แตกต่างกันไป และอาจจำเป็นต้องใช้หลาย ๆ วิธีการร่วมกัน
 
     - Cryotherapy เป็นการใช้ความเย็นเข้ามาช่วยลดการอักเสบ โดยอาจจะใช้ cool pack หรือ ice bags หรือใช้ผ้าขนหนูห่อน้ำแข็ง อุณหภูมิไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส มาประคบบริเวณข้อต่อที่เกิดการอักเสบ ความเย็นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว ลดการเผาผลาญ ลดบวม (edema) และลดอาการปวดได้ การประคบเย็นให้ประคบนาน 10-20 นาที วันละ 3-4 ครั้ง เหมาะสำหรับรายที่มีการอักเสบใหม่ ๆ ไม่เกิน 48 ชั่วโมง
 
     - Moist heat เป็นการใช้ความร้อนเข้ามาช่วยลดปวดและลดการอักเสบในรายที่มีการอักเสบแบบเรื้อรัง ความร้อนทำให้เส้นเลือดขยายตัว เพิ่มการนำออกซิเจนมาเลี้ยง เพิ่มอัตราการเผาผลาญ ขับของเสีย และเพิ่มความยืดหยุ่น ลดความหนืดของน้ำไขข้อ ทำให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น โดยใช้ heat pack ห่อผ้าขนหนู อุณหภูมิประมาณ 60-70 องศาเซลเซียส ประคบนาน 10-20 นาที วันละ 3-4 ครั้ง
 
     - Range-of-motion exercises โดยจับน้องหมาให้อยู่ในท่านอนตะแคง แล้วทำการยืดหดข้อต่อของขาทีละข้างอย่างช้า ๆ กระทำด้วยความนุ่มนวล ยืดและหดหนึ่งทีให้นับ  1 ยก แต่ละครั้งควรทำให้ได้ 20-30 ยก โดยค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อช่วยคงสภาพและมุมการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ป้องกันการเกิดข้อยึด 

Dogilike.com :: 5 วิธีรับมือกับโรคข้อเสื่อมในสุนัขสูงวัย

     - Stretching exercises เป็นการช่วยจัดเรียงกล้ามเนื้อและคอลลาเจน ลดการสร้างพังผืด โดยสามารถทำต่อเนื่องจากการทำ Range-of-motion exercises แล้วทำการยืดค้างไว้ประมาณ 1 นาที และควรทำซ้ำประมาณ 5-10 ครั้ง ซึ่งจะได้ผลดีหากทำหลังจากการทำ Moist heat
 
     - Balance exercises ให้น้องหมายืนบน Balance Board หรือ Swiss ball โดยช่วยประคองให้น้องหมาลงน้ำหนักตัวบนขาข้างที่มีปัญหา เพื่อสร้างความแข็งแรงและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้อต่อและขาให้ดีขึ้น  
 
     - ธาราบำบัด (Hydrotherapy) ใช้น้ำเขามาช่วยพยุงน้ำหนักตัว ทำให้การเคลื่อนไหวสะดวกขึ้น ลดแรงที่จะมากระทำกับข้อกระดูก ลดการปวดในขณะออกกำลังกายได้ น้องหมาจึงใช้ขาและข้อต่อได้ดีขึ้น สามารถใช้ได้ทั้งวิธีการว่ายน้ำและการเดินบนสายพานใต้น้ำ เริ่มแรกอาจใช้เวลาแค่เพียง 3-5 นาที เมื่อน้องหมาเริ่มคุ้นชิน จึงค่อย ๆ เพิ่มจนเป็น 15-20 นาที  วิธีนี้ควรหลีกเลี่ยงในน้องมาที่เป็นโรคผิวหนัง มีบาดแผล เป็นโรคลมชัก โรคหัวใจและทางเดินหายใจ ร่วมถึงน้องหมาที่กลัวการลงน้ำด้วย
 
     นอกจากวิธีที่กล่าวไปแล้วยังมีวิธีการทำกายภาพบำบัดอื่น ๆ อีก ได้แก่ การนวดกระตุ้นไฟฟ้า การนวดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง การรักษาด้วยเลเซอร์ ฯลฯ  เพื่อช่วยลดความเจ็บปวด ลดการบวม เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ซึ่งจะเลือกใช้แตกต่างกันไปตามแต่ละกรณีครับ 
 

5 ผ่าตัดรักษา


Dogilike.com :: 5 วิธีรับมือกับโรคข้อเสื่อมในสุนัขสูงวัย

     การผ่าตัดจะใช้ในรายที่เป็นรุนแรงมาก ๆ หรือเป็นเรื้อรังมานาน วิธีการผ่าตัดก็มีมากมายหลายวิธีขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายสุนัขเมื่อเกิดโรค ระดับความรุนแรงของโรค และสภาพของน้องหมา เช่น การผ่าตัดเชื่อมข้อ (Arthrodesis) การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม (Replacement arthroplasty) การปลูกถ่ายเซลล์กระดูกอ่อนจากการเพาะเลี้ยงเซลล์กระดูกอ่อน (Autogenous osteochondral transplanting) ฯลฯ ตลอดจนวิธีการรักษาด้วย stem cells จากการนำเซลล์ไขมันของสัตว์ป่วย มาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แล้วฉีดกลับเข้าไปยังข้อต่อกระดูกของสัตว์ป่วย เช่นเดียวกับการรักษาโรคเส้นเอ็นอักเสบและกระดูกร้าวในม้า แต่ยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงอยู่ครับ
 
     โรคข้อเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับน้องหมาของเราไม่วันใดก็วันหนึ่ง จัดเป็นภัยเงียบที่ค่อย ๆ คืบคลานอย่างช้า ๆ มารู้ตัวอีกที เมื่อน้องหมาแสดงอาการ ข้อก็เสื่อมไปมากแล้ว แม้ไม่อาจหยุดยั้งได้ แต่เราสามารถช่วยชะลอความเสื่อมนั้นได้ ด้วยการคุมน้ำหนัก ปรับอาหาร และพาออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ก่อนที่โรคจะถามหา เรามาดูแลสุขภาพข้อต่อให้น้องหมากันเถอะครับ 




 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน:
อ.น.สพ.พิงพล จรูญรัตน์. มารู้จัก chondroprotective agent กันเถอะ.
นิตยสารรายเดือนสำหรับผู้กระกอบวิชาชีพสัตวแพทย์: ปีที่ 10 ฉบับที่ 120 / กันยายน 2555
www.cliniciansbrief.com/column/consultant-call/management-osteoarthritic-canine-patient
www.stateofpethealth.com
 
รูปภาพประกอบ:
www.writing-the-wrongs.blogspot.com
www.mysheriff.co.za 
www.ehow.com 
www.stateofpethealth.com
www.dogandcatvitamins.com
www.socialmoms.com
www.m.webmd.com
www.oregonlive.com
www.articlesbase.com