โดย: Tonvet

3 โรคกระดูกใน (ลูก) สุนัขพันธุ์ใหญ่ ที่ผู้เลี้ยงควรรู้ไว้

โรคกระดูกที่พบได้ในน้องหมาพันธุ์ใหญ่ที่อายุยังไม่ถึง 1 ปี มีโรคอะไรบ้าง เป็นแล้วจะรักษาอย่างไร และมีวิธีป้องกันได้หรือไม่ ตามมาดูกันเลยครับ

19 มิถุนายน 2556 · · อ่าน (19,292)
79

SHARES


79 shares

Dogilike.com :: 3 โรคกระดูกใน (ลูก) สุนัขพันธุ์ใหญ่ ที่ผู้เลี้ยงควรรู้ไว้

     
     โรคกระดูกและข้อต่อจัดเป็นปัญหาสำคัญที่พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์ใหญ่ บางรายพบความผิดปกติตั้งแต่ยังอายุยังน้อย บางรายพบเมื่อมีอายุมากแล้ว สำหรับโรคที่ "มุมหมอหมา" จะพาเพื่อนๆ ไปรู้จักในวันนี้ เป็นโรคกระดูกที่พบได้ในน้องหมาพันธุ์ใหญ่ที่อายุยังไม่ถึง 1 ปี ซึ่งบางโรคหากเป็นแล้ว อาจส่งผลทำให้โครงสร้างของกระดูกเจริญผิดรูปได้ จะมีโรคอะไรบ้าง เป็นแล้วจะรักษาอย่างไร และมีวิธีป้องกันได้หรือไม่ ตามมาดูกันเลยครับ 

 

1 Panosteitis (Pano)

 
     เป็นการอักเสบของกระดูก มักพบในกระดูกท่อนยาว (Long bone) บางครั้งก็เรียกชื่อโรคนี้ว่า Growing pain พบได้บ่อยในลูกสุนัขพันธุ์ใหญ่หรือพันธุ์ใหญ่ยักษ์ ได้แก่  German shepherds (พบบ่อยที่สุด), Great Danes, Dobermans, St. Bernard, German shorthaired pointer, Irish setter, Airedale, Samoyed, Golden retrievers, Labradors, Rottweilers, Basset hounds ฯลฯ ที่มีอายุระหว่าง 6-18 เดือน (บางรายก็พบได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน) โดยเฉพาะสุนัขเพศผู้จะสามารถพบได้บ่อยกว่าสุนัขเพศเมีย สาเหตุที่แท้จริงยังไม่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะมีส่วนมากจากพันธุกรรม ความเครียด การติดเชื้อ หรือเกี่ยวข้องกับภาวะทางโภชนาการ มักพบในรายที่มีการเจริญเติบโตเร็วเกินไป ได้รับโปรตีนและแคลเซียมสูงเกินไป 

Dogilike.com :: 3 โรคกระดูกใน (ลูก) สุนัขพันธุ์ใหญ่ ที่ผู้เลี้ยงควรรู้ไว้

     
     โดยอาการที่พบ คือ สุนัขมักจะเจ็บขา เดินกระเพลก ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ประวัติได้รับการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุใดๆ มาก่อน บางรายจะยืนหรือเดินยกขา ไม่ยอมลงน้ำหนัก ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเริ่มจากขาหนึ่งแล้วลามไปยังอีกขาหนึ่งได้ มักพบได้บ่อยในขาหน้า ระยะเวลาที่แสดงอาการอาจจะแค่ 2-3 วัน แล้วหายไปเอง หรืออาจนาน 2-3 สัปดาห์ หรือมากกว่านี้ และบางรายอาจจะมีความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ซึม มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ต่อมทอลซิลอักเสบ มีเม็ดเลือดขาวขึ้นสูง ฯลฯ
 
     ในวินิจฉัยโรคนี้คุณหมอจะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และทำการเอ็กซเรย์เพื่อดูความผิดปกติของกระดูก แต่หากยังไม่พบความผิดปกติ อาจจะเอ็กซเรย์ซ้ำในอีก 7-10 วันต่อมา ในส่วนของการรักษา น้องหมาที่เป็นจะได้รับยาแก้ปวด-ลดอักเสบ ยาปฏิชีวนะ (สำหรับในรายที่มีการติดเชื้อ) เจ้าของจำเป็นต้องกักบริเวณ งดกิจกรรมที่อาจเกิดอันตรายกับขา เช่น การวิ่ง การกระโดด ฯลฯ หลังจากอาการดีขึ้นแล้ว เจ้าของควรพาน้องหมากลับมาตรวจซ้ำเป็นประจำทุกๆ 2-4 สัปดาห์ เพราะสุนัขที่เป็นแล้วอาจจะกลับมาเป็นซ้ำใหม่ได้จนกระทั่งถึงอายุ 2 ปี ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องการโรคนี้ครับ แต่มีคำแนะนำว่าน้องหมาที่มีประวัติการเป็นโรคนี้ เจ้าของควรหลีกเลี่ยงให้เป็นพ่อหรือแม่พันธุ์  และหลีกเลี่ยงการให้ลูกสุนัขกินอาหารที่มีปริมาณโปรตีนและแคลเซียมสูงเกินไปครับ

Dogilike.com :: 3 โรคกระดูกใน (ลูก) สุนัขพันธุ์ใหญ่ ที่ผู้เลี้ยงควรรู้ไว้

 

2 Osteochodrosis หรือ Osteochondritis dissecans (OCD)

 
     เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบในลูกสุนัขพันธุ์ใหญ่และพันธุ์ใหญ่ยักษ์ เช่น Golden Retrievers, German Shepherds, Rottweilers, Great Danes, Bernese Mountain Dogs, และ Saint Bernards สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการพัฒนาของกระดูกที่เร็วเกินไป มักพบในช่วงอายุ 4-12 เดือน แต่ก็สามารถพบในหมาที่มีอายุมากได้เช่นกัน และพบในสุนัขเพศผู้มากกว่าสุนัขเพศเมีย โรคนี้เป็นความผิดปกติของการเกิด Endochondral ossification ของ epiphyseal cartilage มีผลทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อ (Articular Cartilage) ไม่เปลี่ยนไปเป็นกระดูกใต้กระดูกอ่อน (Subchondral bone) ตามปกติ ทำให้ง่ายต่อการบาดเจ็บ โดยมีปัจจัยหลายอย่างมาเกี่ยวข้องด้วย เช่น พันธุกรรม อาหาร การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และอาจเกิดจากการบาดเจ็บร่วมด้วย
 
     บริเวณที่มักพบความผิดปกติ ได้แก่ ข้อต่อหัวไหล่ (พบมากที่สุด) ข้อเข่า ข้อศอก และข้อตาตุ่ม มีการแตกออกระหว่างกระดูกอ่อนผิวข้อกับกระดูกใต้กระดูกอ่อน อันเกิดจากการที่กระดูกใต้กระดูกอ่อนขาดเลือดมาเลี้ยง ทำให้กระดูกบริเวณดังกล่าวตายแบบ avascular necrosis กระดูกอ่อนผิวข้อบริเวณนั้นจึงเกิดการเสียหายง่ายขึ้น และเมื่อมีแรงกดทับจึงเกิดการแตกของทั้งกระดูกและกระดูกอ่อนออกมา มีชิ้นกระดูกเล็กๆ ลอยในช่องว่างไขข้อ เรียกว่า joint mice ทำให้สุนัขเกิดอาการปวด และเมื่อความเสียหายของผิวข้อมีมากขึ้น จึงทำให้ข้อบวมและอักเสบ สุนัขจะเจ็บปวดข้อมาก ทำให้เดินขากระเผลก ซึ่งจะเห็นอาการชัดขึ้นหลังจากที่ออกกำลังกายใหม่ ๆ หากเป็นรุนแรงอาจถึงขั้นไม่ลงน้ำหนักขาข้างนั้นเลย และอาจพบกล้ามเนื้อฝ่อลีบตามมาได้ 

Dogilike.com :: 3 โรคกระดูกใน (ลูก) สุนัขพันธุ์ใหญ่ ที่ผู้เลี้ยงควรรู้ไว้

     
     ในการการวินิจฉัยคุณหมอจะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และเอ็กซเรย์ข้อต่อที่มีปัญหา ในภาพเอ็กซเรย์เราจะเห็นความขรุขระของผิวที่หัวกระดูกข้อต่อ หรือพบเศษกระดูกที่แตกอยู่ในข้อ บางครั้งคุณหมออาจจะใช้การตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น  การส่องกล้อง (Arthroscopy) การเก็บน้ำไขข้อไปตรวจเพื่อดูการติดเชื้อ เป็นต้น สำหรับแนวทางการรักษา ก็มี 2 แบบ คือ การรักษาทางยาและการผ่าตัด ในกรณีเป็นไม่มากและเพิ่งเริ่มเป็น จะใช้การรักษาทางยาร่วมกับการจัดการอื่นๆ เช่น การกักบริเวณพักการใช้ขาประมาณ 4-8 สัปดาห์ ให้ยาลดปวด สารอาหารบำรุงข้อพวกกลูโคซามีนและคอนดรอยตีน ในรายที่เป็นรุนแรงอาจใช้วิธีการผ่าตัดแบบธรรมดาหรือผ่าตัดผ่านกล้อง เพื่อเอาเศษกระดูกอ่อนชิ้นเล็ก ๆ (joint mice) ที่หลุดอยู่ในข้อต่อออก หรือทำการลอกกระดูกอ่อนที่ผิดปกติออก ซึ่งภายหลังจากผ่าตัด เจ้าของต้องจำกัดการเคลื่อนไหวต่ออีกประมาณ 4-6 อาทิตย์ ควบคุมน้ำหนักตัวสุนัข ตลอดจนหลีกเลี่ยงการเดินบนพื้นแข็งๆ ด้วยครับ

 

 3. Hypertrophic Osteodystrophy (HOD)

 
     โรคนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ Canine skeletal scurvy, Moller-Barlow disease, Metaphyseal osteopathy และ Osteodystrophy ชนิดที่ 2 พบได้บ่อยในลูกสุนัขพันธุ์ใหญ่หรือพันธุ์ใหญ่ยักษ์ อายุระหว่าง 2-6 เดือน และพบในสุนัขเพศผู้มากกว่าสุนัขเพศเมีย เช่น Great Dane, Irish Wolfhound, St. Bernard, Borzoi, Boxer, Dalmatian, Irish setter, Weimaraner, German shorthaired pointer, Doberman pinscher, German shepherd, Labrador retriever, Collie และ Greyhound ปัจจุบันสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อ ขาดวิตามินซี และพบในรายที่มีการเสริมแคลเซียมและวิตามินดีมากเกินไป 

Dogilike.com :: 3 โรคกระดูกใน (ลูก) สุนัขพันธุ์ใหญ่ ที่ผู้เลี้ยงควรรู้ไว้

     
     โดยอาการที่พบ คือ อยู่ดี ๆ ก็มีอาการเจ็บขาขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ มีการบวมบริเวณปลายกระดูกขา โดยเฉพาะกระดูก Radius, Ulna และ Tibia มองผ่าน ๆ คล้ายกับข้อเท้าของวัว "cow hocked" แต่อาจพบได้ในกระดูกซี่โครง และกระดูกกรามบนและล่างได้ บางรายที่เจ็บปวดมากอาจไม่ยอมเดิน ซึม มีไข้ ต่อมทอลซิลอักเสบ และปอดบวม
 
     การตรวจวินิจฉัยคุณหมอจะใช้การซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และการเอ็กซเรย์เพื่อดูความผิดปกติของกระดูก ซึ่งความผิดปกติที่พบได้จากการเอ็กซเรย์ จะมีลักษณะจำเพาะโดยจะพบเป็นลักษณะ Double physeal line บริเวณ growth plates สำหรับแนวทางการรักษาโรคนี้ คุณหมอจะให้ยาแก้ปวดและลดการอักเสบ เสริมวิตามินซี สำหรับในรายที่มีการติดเชื้อจะต้องได้รับยาปฏิชีวนะร่วมด้วย หลังจากได้รับการรักษาน้องหมาจะมีอาการดีขึ้นใน 7-10 วัน แต่อาจจะกลับมาเป็นซ้ำอีกได้ จึงควรจะต้องพาสุนัขกลับมาพบคุณหมอเป็นประจำทุกเดือน จนกว่าน้องหมาจะมีอายุ 8-10 เดือน บางรายที่เป็นแล้วส่งผลกระทบต่อการเจริญของกระดูก อาจทำให้โครงสร้างกระดูกผิดรูปได้ เจ้าของต้องพยายามอย่าให้มีการสุนัขเคลื่อนไหวรุนแรง หลีกเลี่ยงการเดินพบพื้นแข็งๆ เลือกการออกกำลังที่ไม่ส่งผลให้เกิดแรงกระแทกมากนัก เช่น การว่ายน้ำหรือวิ่งบนลู่วิ่งใต้น้ำแทนครับ

Dogilike.com :: 3 โรคกระดูกใน (ลูก) สุนัขพันธุ์ใหญ่ ที่ผู้เลี้ยงควรรู้ไว้

 
     ทั้ง 3 โรคที่ มุมหมอหมา นำมาเล่าให้ฟังในวันนี้ เป็นโรคที่พบได้ในลูกสุนัขพันธุ์ใหญ่ บางครั้งการที่เราหวังดีเสริมสารอาหารบางอย่างให้น้องหมามากเกินความต้องการ เพื่อหวังให้สุนัขของเราแข็งแรงและโตไวๆ อาจไม่เป็นผลดีและอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติเหล่านี้ตามมาได้ ดังนั้นการให้อาหารที่มีคุณภาพ ออกกำลังอย่างเหมาะสม และพาน้องหมาไปพบสัตวแพทย์อย่างเป็นประจำ จึงน่าจะเป็นการทางออกที่ดีกว่าครับ
 
 




 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน:
http://cal.vet.upenn.edu/projects/saortho/chapter_49/49mast.htm
http://www.vcahospitals.com/main/pet-health-information/article/animal-health/panosteitis-in-dogs/1051
http://kucon.lib.ku.ac.th/Fulltext/KC4103005.pdf
http://www.petmd.com/dog/conditions/musculoskeletal/c_dg_osteochondrosis#.UcA8ycsaySM
http://www.vetsurgerycentral.com/hod.htm
 
รูปภาพประกอบ:
www.e-nielmee0912-dc.blogspot.com
www.marvistavet.com
www.youtube.com
www.eorthopod.com
www.siriusdog.com
www.readingdogwalker.com