โดย: Tonvet

Reverse Sneezing อาการ (แปลก) ของสุนัข ที่หลายคนอาจไม่รู้จัก

ทำไงดี...ถ้าน้องหมามีแสดงอาการหายใจเข้าเร็ว ๆ และมีเสียงดังมีคำตอบครับ

10 กรกฏาคม 2556 · ชอบ  (9)
  • Aris
  • Racha
  • iOnz
  • อิโยะ
  • MoMoRin
  • และเพื่อน ๆ อีก 4 คน ชอบสิ่งนี้
· แสดงความคิดเห็น (28) · อ่าน (361,691)
5,461

SHARES


5,461 shares

Dogilike.com :: Reverse Sneezing อาการ (แปลก) ของสุนัข ที่หลายคนอาจไม่รู้จัก


     สวัสดีครับเพื่อน ๆ ชาวด็อกไอไลค์ (Dogilike) กลับมาพบกันเป็นประจำกับคอลัมน์ มุมหมอหมา เช่นเคยทุก ๆ วันพุธนะครับ สำหรับวันนี้ผมขอเริ่มต้นบทความ ด้วยการพาเพื่อน ๆ มาชมคลิปวีดิโอนี้ก่อน ไม่ทราบว่าน้องหมาบ้านไหนเคยมีอาการแบบนี้บ้างไหมครับ
 

โพสโดย VillageAnimalClinic สมาชิก www.youtube.com


     คลิปวิดีโอที่ได้ชมไปนี้ เป็นอาการที่เรียกว่า Reverse Sneezing เพื่อน ๆ คงสงสัยแล้วสิครับว่า อาการนี้คืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไร อันตรายแค่ไหนกับน้องหมา เป็นแล้วจะรักษากันอย่างไร ตาม มุมหมอหมา มาเลยครับ...
 

Reverse Sneezing คือ


     Reverse Sneezing เป็นอาการที่น้องหมาทำท่ายืดคอ แล้วหายใจเข้าอย่างรุนแรง รวดเร็ว ซ้ำ ๆ และมีเสียงดังครืด ๆ โดยจะแสดงอาการไม่นานเฉลี่ยประมาณ 20-60 วินาทีก็หยุดจะไปเอง คล้ายกับการจาม แต่แทนที่จะเอาอากาศออก กลับดึงอากาศเข้าไปแทน ถ้าเทียบกับในคน ก็คงคล้ายกับคนที่ทำท่ากำลังจะจามแต่ยังไม่ได้จามออกมา จัดเป็น mechanosensitive aspiration reflex มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า backwards sneezing หรือ inspiratory paroxysmal respiration ครับ
 

Dogilike.com :: Reverse Sneezing อาการ (แปลก) ของสุนัข ที่หลายคนอาจไม่รู้จัก

 

สาเหตุของ Reverse Sneezing


     ความจริงแล้วอาการ Reverse Sneezing เป็นผลมาจากการระคายเคือง การแพ้ หรือการอักเสบบริเวณผิวของทางเดินหายใจส่วนต้น (nasopharyngeal mucosa) ไม่ว่าจะเป็นส่วนของจมูก เพดานอ่อน หรือคอหอย ทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากฝุ่นละออง ละอองเกสร ตัวไร ควัน กลิ่นน้ำหอม สิ่งแปลกปลอม มลภาวะต่าง ๆ ความตื่นเต้น ตลอดจนความผิดปกติของโครงสร้าง เช่น สุนัขที่มีเพดานอ่อนของช่องปากยื่นยาวกว่าปกติ (Elongate soft palate) สุนัขพันธุ์หน้ายาวที่มีปัญหาโพรงจมูกแคบ หรืออาจเกิดหลังจากการออกกำลังกาย หลังการกินอาหารหรือน้ำก็ได้ครับ
 

สุนัขที่มักพบอาการ Reverse Sneezing


     อาการ Reverse Sneezing สามารถพบได้ในสุนัขทั่วไป แต่ที่พบได้บ่อยมักเป็นสุนัขพันธุ์เล็กหรือสุนัขพันธุ์หน้าสั้น (brachycephalic breeds) ได้แก่ ชิสุ (Shih Tzu) บลูด็อก (Bulldog) บอสตัน เทอร์เรีย (Boston Terrier) บ็อกเซอร์ (Boxer) ปักกิ่ง (Pekingese) ปั๊ก (Pug) มอลทีส (Maltese) ลาซา เอปโซ (Lhasa Apso) ชิวาวา (Chihuahua) ยอร์คเชียเทอร์เรีย (Yorkshire Terrier) บีเกิล (Beagles) ฯลฯ เป็นต้น
 

Dogilike.com :: Reverse Sneezing อาการ (แปลก) ของสุนัข ที่หลายคนอาจไม่รู้จัก

 

อันตรายของอาการ Reverse Sneezing


     Reverse Sneezing เป็นอาการที่ไม่มีอันตรายหรือมีผลร้ายต่อชีวิตของน้องหมาแต่อย่างใด สามารถเกิดขึ้นและหายไปได้เอง ยกเว้นในรายที่แสดงอาการเป็นประจำทุกวัน วันละหลาย ๆ ครั้ง เรื้อรังมายาวนาน รวมถึงมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไอ หอบเหนื่อย หายใจลำบาก มีน้ำมูก มีเสมหะ เลือดกำเดาไหล ซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ฯลฯ แบบนี้เพื่อน ๆ จะต้องพาน้องหมาไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจหาสาเหตุของโรคอื่น ๆ ต่อไป เช่น การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนต้น มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในโพรงจมูก เนื้องอกในโพรงจมูก หลอดลมตีบแคบ ฯลฯ

 

ถ้าน้องหมาเกิดอาการ Reverse Sneezing จะช่วยอย่างไร


     อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า อาการ Reverse Sneezing ส่วนใหญ่สามารถเกิดขึ้นและหยุดได้เอง แต่สำหรับเพื่อน ๆ ที่ต้องการจะช่วยน้องหมาที่กำลังแสดงอาการดังกล่าวอยู่ อาจลองใช้นิ่วมือบีบจมูกให้น้องหมากลั้นหายใจสัก 2-3 วินาที หรือใช้มือลูบหรือเคาะเบา ๆ บริเวณลำคอ เพื่อให้น้องหมากลืนน้ำลาย ก็จะสามารถช่วยหยุดอาการ Reverse Sneezing ได้ ในสุนัขบางรายที่เป็นบ่อย ๆ เป็นเรื้อรัง หรือเป็นรุนแรง คุณหมออาจพิจารณาให้ยาแก้แพ้ หรือยาแก้อักเสบในกลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการดังกล่าวเป็นกรณี ๆ ไปตามแต่ละสาเหตุครับ
 

โพสโดย MrPuggle สมาชิก www.youtube.com


     เมื่อน้องหมาเกิดอาการ Reverse Sneezing เจ้าของหลายคนมักเข้าใจว่า สุนัขกำลังหายใจไม่ออก และกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ความจริงแล้วไม่เป็นอย่างนั้น Reverse Sneezing เป็นอาการที่ไม่มีอันตรายหรือมีผลร้ายต่อชีวิตของน้องหมาแต่อย่างใด การอธิบายอาการที่ไม่ถูกต้องชัดเจน อาจทำให้เกิดความสับสนได้ เพราะอาการของระบบทางเดินหายใจจะค่อนข้างคล้ายกัน ดังนั้นเจ้าของจึงควรทำการบันทึกอาการของน้องหมาเป็นภาพเคลื่อนไหว เพื่อให้คุณหมอได้ใช้ประกอบในการตรวจและวินิจฉัยอาการดังกล่าวก็จะเป็นทางออกที่ดีครับ 

 

บทความโดย : หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/

ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน:
Anjop J. Venker-van Haagen. 2005. Reverse Sneeze.
Ear, Nose, Throat, and Tracheobronchial Disease in Dogs and Cats.
Schlütersche Verlagsgesellschaft mbH & Co: Page 95-96

รูปภาพประกอบ:
www.futurity.org
sneezedogingtonpost.com
www.dogsplendor.com