โดย: Tonvet

เชอร์รี่ อาย (Cherry eye) โรคตาสุดฮิตในน้องหมา

ทำความรู้จักกับโรคเชอร์รี่ อาย (Cherry eye) เหตุไฉนโรคตาของน้องหมาถึงมีที่มาจากชื่อผลไม้

19 กุมภาพันธ์ 2557 · · อ่าน (141,602)
795

SHARES


795 shares

Dogilike.com :: เชอร์รี่ อาย (Cherry eye) โรคตาสุดฮิตในน้องหมา

     เพื่อน ๆ ชาวด็อกไอไลค์ (Dogilike) เคยสังเกตดวงตาของน้องหมาบ้างรึเปล่าครับ ทราบหรือไม่ว่า ดวงตาของน้องหมามีบางส่วนที่ต่างไปจากดวงตาของคนเรา ชิ้นส่วนนี้พบได้ทั่วไปในสุนัขและแมว รวมถึงสัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกด้วย แต่ไม่พบในคนเรา เนื่องจากมีการลดขนาดและบทบาทหน้าที่ลงไป สิ่งที่ผมจะกล่าวถึงที่ว่านี้ก็คือ “หนังตาที่สาม” นั่นเองครับ

 

หนังตาที่สามคืออะไร

 
     หนังตาที่สาม (third eyelid) หรือ  Nictitating membrane เป็นชั้นเนื้อเยื่อแผ่นบาง ๆ ที่อยู่ระหว่างชั้นเปลือกตากับกระจกตา มีกระดูกอ่อนรูปตัวที (T) เป็นโครงสร้างอยู่ข้างใน ในคนเราจะเรียกว่า plica semilunaris ซ่อนตัวอยู่บริเวณหัวตา น้องหมาก็เช่นกันครับ เวลาน้องหมาลืมตาเราจะสังเกตไม่เห็น เพราะหนังตาที่สามนี้จะหดตัวแอบอยู่บริเวณหัวตา แต่ถ้าเราลองใช้นิ้วกดบริเวณปลายหางตาเบา  ๆ เราก็จะเห็นเนื้อเยื่อสีขาวอมชมพูโผล่ตัวออกมาจากหัวตาข้างที่เรากดมาปกคลุมดวงตาไว้ นั่นแหระครับ...หนังตาที่สาม

Dogilike.com :: เชอร์รี่ อาย (Cherry eye) โรคตาสุดฮิตในน้องหมา

     หนังตาที่สามมีหน้าที่ในการปกป้องดวงตา (กระจกตา) และยังมีหน้าที่ช่วยต่อมสร้างน้ำตา (Lacrimal gland) สร้างน้ำตาประมาณราว 40% ของน้ำตาทั้งหมดอีกด้วย นับว่าหนังตาที่สามมีความสำคัญต่อดวงตาของน้องหมามากเลยทีเดียว 
 
     ภายในหนังตาที่สามจะมีเนื้อเยื่อน้ำเหลือง (lymphoid tissue) และต่อมน้ำตาอยู่ด้วย เรียกว่า ต่อมของหนังตาที่สาม (Gland of the third eyelid) แต่บางครั้งเจ้าต่อมที่ว่านี้ อาจเกิดการขยายใหญ่และยื่นโผล่ออกมาจากบริเวณหัวตา จึงเป็นที่มาของ “โรคเชอร์รี่ อาย (Cherry eye)” ที่ มุมหมอหมา จะกล่าวถึงในวันนี้ครับ
 

Dogilike.com :: เชอร์รี่ อาย (Cherry eye) โรคตาสุดฮิตในน้องหมา


รู้จักกับโรคเชอร์รี่ อาย (Cherry eye)

 
     โรคเชอร์รี่ อาย (Cherry eye) หรือ Prolapsed nictitating membrane gland (PNMG) เกิดจากต่อมของหนังตาที่สามยื่นโพล่ออกมาผิดปกติ สาเหตุแท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากการหย่อนตัวของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ทำหน้าที่ยึดต่อมของหนังตาที่สามเอาไว้ไม่แข็งแรงพอ และ/หรือ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโตขึ้นของเนื้อเยื่อน้ำเหลืองบริเวณหนังตาที่สามที่เกิดการอักเสบ หลังจากสัมผัสเชื้อโรค สิ่งสกปรก หรือสารก่อภูมิแพ้ จึงทำให้ตัวต่อมดังกล่าวขยายตัวและบวมนูนมากยิ่งขึ้น
 

Dogilike.com :: เชอร์รี่ อาย (Cherry eye) โรคตาสุดฮิตในน้องหมา

    
     ซึ่งน้องหมาที่เป็นโรคนี้ เจ้าของจะสังเกตพบว่า มีก้อนเนื้อแดง ๆ อมชมพู ผิวเรียบ ปูดออกมาบริเวณหัวตาของน้องหมาคล้ายกับผลเชอร์รี่ ช่วงแรก ๆ บางรายเป็น ๆ หาย ๆ ยุบ ๆ โผล่ ๆ แต่บางรายก็ปูดออกมาอย่างถาวร หากก้อนใหญ่มาก ๆ ก็อาจไปบดบังการมองเห็นได้ น้องหมาส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการเจ็บปวด แต่อาจก่อให้เกิดความรำคาญจากการระคายเคืองได้ ทำให้น้องหมาตาแฉะอยู่บ่อย ๆ และบางทีน้องหมาอาจเอาเท้ามาเกาตา หรือเอาหน้าไปถูกับพื้น จึงทำให้กระจกตาเกิดเป็นแผลหรือกระจกตาขุ่นได้ และอาจมีเยื่อบุตาอักเสบร่วมด้วย
 

Dogilike.com :: เชอร์รี่ อาย (Cherry eye) โรคตาสุดฮิตในน้องหมา


น้องหมาพันธุ์ไหนเสี่ยงบ้าง

 
     ความจริงแล้วโรคเชอร์รี่ อาย (Cherry eye) นี้เกิดได้กับน้องหมาทุกช่วงอายุและทุกพันธุ์เลยครับ แต่พันธุ์ที่มีรายงานว่าพบได้บ่อยกว่าพันธุ์อื่น ๆ ก็ได้แก่ Lhasa apsos, Shih Tzus, bulldogs, mastiffs, beagles, sharpeis, Pekingese, cocker spaniels, Newfoundlands, Bloodhounds, Boston terriers, Miniature Poodles, Neapolitan Mastiffs และ St.Bernards. 
 
     ซึ่งมักพบบ่อย ๆ ในหมาเด็กช่วงอายุไม่เกิน 2 ปี โดยอาจจะเป็นเพียงข้างเดียวหรือเป็นทั้งสองข้างพร้อมกันก็ได้ครับ โรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แนะนำว่าเจ้าของที่มีน้องหมาที่เป็นโรคนี้แล้ว ให้ระวังการใช้เป็นพ่อและแม่พันธุ์ เพราะอาจถ่ายทอดความผิดปกติสู่ลูกได้ครับ
 

Dogilike.com :: เชอร์รี่ อาย (Cherry eye) โรคตาสุดฮิตในน้องหมา


การรักษาโรคเชอร์รี่ อาย (Cherry eye) แบบไหนดี

 
     การรักษาโรคเชอร์รี่ อาย (Cherry eye) ที่ดีจะต้องได้รับการผ่าตัดรักษา เนื่องจากการักษาทางยาเพียงอย่างเดียว จะให้ผลเพียงแค่บรรเทาอาการเท่านั้น ไม่สามารถทำให้ต่อมของหนังตาที่สามที่ยื่นออกมานี้ หดกลับเข้าที่ไปได้อย่างถาวร ส่วนใหญ่คุณหมอจะเลือกวิธีการรักษาทางยา ในรายที่มีการติดเชื้อหรือมีการอักเสบรุนแรง ก่อนที่จะทำการผ่าตัดให้ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดนั้น ก็มีด้วยกัน 2 วิธี คือ การตัดหนังตาที่สามออกไปเลย กับ การเย็บดันต่อมของหนังตาที่สามกลับเข้าที่เดิม (Modified Morgan pocket technique)

Dogilike.com :: เชอร์รี่ อาย (Cherry eye) โรคตาสุดฮิตในน้องหมา

     ซึ่งวิธีการแรกมีข้อดี คือ เป็นวิธีผ่าตัดที่ทำง่ายและน้องหมาหายขาดจากโรคนี้ได้อย่างถาวร ไม่กลับมาเป็นอีก แต่ข้อเสียนั้นมีมาก เพราะเมื่อตัดหนังตาที่สามออกไปแล้ว ต่อมของหนังตาที่สามที่ทำหน้าที่ช่วยสร้างน้ำตาประมาณ 40% ของน้ำตาทั้งหมดนั้น จะถูกตัดออกไปด้วย ผลคือ จะทำให้น้องหมาเกิดภาวะตาแห้งตามมาได้ เจ้าของจะต้องหยอดน้ำตาเทียมให้น้องหมา หากมีการสร้างน้ำตาไม่เพียงพอ อีกทั้งการขาดหนังตาที่สามไป ยังทำให้กระจกตาขาดชั้นที่จะช่วยปกป้อง ทำให้มีโอกาสสัมผัสเชื้อโรค หรือได้รับบาดเจ็บได้ง่ายขึ้น

Dogilike.com :: เชอร์รี่ อาย (Cherry eye) โรคตาสุดฮิตในน้องหมา

     ส่วนวิธีที่สองหรือการเย็บดันต่อมของหนังตาที่สามกลับเข้าที่เดิมนั้น เป็นวิธีการผ่าตัดที่ยุ่งยากกว่าวิธีแรก และพบว่าประมาณ 10-20% สามารถกลับมาเป็นโรคเชอร์รี่ อาย (Cherry eye) ได้อีก (Recurrence is possible) ซึ่งในน้องหมาบางพันธุ์อย่าง bulldogs และ mastiffs จะพบการกลับมาเป็นอีกสูงกว่าสุนัขพันธุ์อื่น ๆ แต่วิธีนี้ก็เป็นวิธีที่คุณหมอส่วนใหญ่มักเลือกใช้ทำการรักษาในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นวิธีที่ยังสามารถรักษาต่อมของหนังตาที่สามเอาไว้อยู่ ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อการสร้างน้ำตาของน้องหมาในระยะยาวครับ

Dogilike.com :: เชอร์รี่ อาย (Cherry eye) โรคตาสุดฮิตในน้องหมา

     หลังการผ่าตัดคุณหมออาจอนุญาตให้เจ้าของพาน้องหมากลับมาดูแลต่อที่บ้านได้ แต่น้องหมาจะต้องได้รับยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบต่อ และเจ้าของจะต้องสวมปลอกคอกันเลียให้น้องหมาไว้ตลอดเวลาด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้น้องหมาเกาตาครับ
 
     โรคเชอร์รี่ อาย (Cherry eye) จัดเป็นอีกหนึ่งโรคตาที่พบได้ค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะในน้องหมาเด็ก เจ้าของที่พบเห็นส่วนใหญ่มักตกใจ และเข้าใจไปว่าน้องหมาเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งที่ตา แต่ความจริงแล้วเกิดจากต่อมของหนังตาที่สามยื่นโพล่ออกมาผิดปกตินั่นเอง ไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต เพียงแต่มีผลต่อความสวยงามและอาจก่อให้เกิดความรำคาญจากการระคายเคืองได้  อย่างไรก็ดี...หากพบว่าน้องหมาเป็นโรคนี้แล้ว เจ้าของก็ควรจะต้องพาน้องหมาไปรักษาอย่าปล่อยทิ้งไว้นานนะครับ
 

โพสโดย Dog Trianing by K9-1.com สมาชิกเว็บไซด์ Youtube
 


 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
David J. Maggs. SLATTER’S FUNDAMENTALS OF VETERINARY OPHTHALMOLOGY: Chapter 8-Third eyelid, Edition 4th. 2008. Elsevier Inc. Page 151-154
Kenneth L.Abrams. Cherry eye. NAVC clinician’s brief. November.2004. Page 19-21
 
รูปภาพประกอบ:
www.rochdaleshowbulldogs.net
www.boxerfanclub.com
www.loudoun.nvcc.edu
www.cal.vet.upenn.edu
www.hongkongdogrescue.com
www.winslowvetmobile.com
www.veterinarymedicine.dvm360.com
www.newf-friends.blogspot.com