โดย: Tonvet

การทำหมันสุนัขเพศผู้โดยไม่ผ่าตัดทำได้จริงหรือ?

มาดูวิธีการทำหมันในสุนัขเพศผู้โดยที่ไม่ต้องผ่าตัดในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีคนเคยศึกษากันมาแล้ว

16 กรกฏาคม 2557 · ชอบ  (0) · แสดงความคิดเห็น (3) · อ่าน (31,901)
452

SHARES


452 shares

Dogilike.com :: การทำหมันสุนัขเพศผู้โดยไม่ผ่าตัดทำได้จริงหรือ?


     เป็นที่ทราบกันว่าวิธีการคุมกำเนิดของสุนัขเพศผู้ในปัจจุบัน ที่สัตวแพทย์บ้านเรานิยมใช้กันนั้นก็คือ การทำหมันด้วยวิธีการผ่าตัดเอาลูกอัณฑะทั้งสองข้างออกมา (orchidectomy) ซึ่งเป็นการทำหมันแบบถาวร เพื่อไม่ให้มีการสร้างตัวอสุจิอีกต่อไป... 

     แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เจ้าของสุนัขส่วนใหญ่มักจะกังวลกับการทำหมันด้วยวิธีนี้ เนื่องจากต้องมีการวางยาสลบสุนัขในขณะทำการผ่าตัด ทั้งยังกลัวว่าสุนัขจะเจ็บปวดบาดแผลจากการผ่าตัด อันเป็นการไปทำบาปกับสัตว์ตามประสาความเชื่อแบบไทย ๆ 
 
     ซึ่งความกังวลเช่นนี้ ก็ไม่ได้มีแต่ในบ้านเราเท่านั้นหรอกนะครับ ในต่างประเทศเค้าก็คิดเหมือนกัน ว่าจะมีวิธีทางใดบ้างที่จะช่วยทำหมันให้กับสุนัขได้ โดยที่ไม่ไปรบกวนตัวสัตว์มากนัก และควรเป็นวิธีที่ประหยัดแรงงาน เวลา และงบประมาณด้วย จึงมีผู้สนใจทำการศึกษาวิธีการการทำหมันโดยที่ไม่ต้องผ่าตัด (non-surgical neutering) ขึ้นมา
 

Dogilike.com :: การทำหมันสุนัขเพศผู้โดยไม่ผ่าตัดทำได้จริงหรือ?

 

การทำหมันโดยไม่ผ่าตัดมีวิธีการใดบ้าง

 
     มีการศึกษาวิธีการทำหมันโดยที่ไม่ต้องทำการผ่าตัดมากมายทั้งในสุนัขและสัตว์ชนิดอื่น ๆ จุดประสงค์หลักก็เพื่อนำมาใช้ในการควบคุมจำนวนประชากรสัตว์ ซึ่งวิธีการที่ มุมหมอหมา จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นวิธีที่มีการนำมาใช้จริงแล้วในบางประเทศ เรามาดูกันสิว่ามีวิธีการใดบ้าง

 

1 การใช้ฮอร์โมน

 
     วิธีการนี้เป็นการนำความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการสร้างฮอร์โมนในระบบสืบพันธุ์ของสัตว์มาประยุกต์ใช้ โดยการให้ฮอร์โมนเพื่อไปยับยั้งการหลั่ง gonadotropins ซึ่งตามปกติร่างกายน้องหมาจะมีการหลั่ง gonadotropin-releasing hormone (GnRH) จากไฮโพทาลามัสเพื่อไปกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมน FSH และ LH ขึ้นมา โดยที่ฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้จะไปกระตุ้นเซลล์สืบพันธุ์ในอัณฑะให้มีการสร้างฮอร์โมนเพศ testosterone และสร้างตัวอสุจิ

Dogilike.com :: การทำหมันสุนัขเพศผู้โดยไม่ผ่าตัดทำได้จริงหรือ?

     การให้ฮอร์โมนบางชนิดเข้าไป จะทำให้กระบวนการสร้างฮอร์โมนเหล่านี้เสียไป โดยไปกดการหลั่งของ GnRH จึงเป็นการไปรบกวนกระบวนการสร้างอสุจิในที่สุด ส่งผลให้คุณภาพน้ำเชื้อของสุนัขเพศผู้ไม่ดี ทำให้ผสมไม่ติด หรืออัตราการผสมติดต่ำลง แต่วิธีการนี้ก็ได้ผลไม่แน่นอนขึ้นกับชนิดและปริมาณของฮอร์โมนที่ให้ ที่สำคัญยังมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัยและผลข้างเคียงที่อาจตามมาได้ด้วยครับ

 

2 การใช้วัคซีน

 
     วิธีนี้เป็นการนำหลักทางอิมมูนโนวิทยามาประยุกต์ใช้กับความรู้พื้นฐานในการสร้างฮอร์โมนเพศคล้าย ๆ กับวิธีการแรก แต่เป็นการใช้วัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมี anti-body ต่อฮอร์โมน GnRH โดย anti-body ที่ร่างกายสร้างขึ้น จะเข้าไปจับกับฮอร์โมน GnRH ทำให้ตำแหน่งที่ GnRH ต้องใช้จับกับเซลล์เป้าหมายถูกบดบังไป GnRH จึงไม่สามารถไปออกฤทธิ์ยังเซลล์เป้าหมายได้  จึงไม่เกิดการหลั่งของฮอร์โมน FSH และ LH ตามมาจนท้ายที่สุดก็ไม่เกิดการสร้างฮอร์โมนเพศจากอัณฑะนั่นเอง

Dogilike.com :: การทำหมันสุนัขเพศผู้โดยไม่ผ่าตัดทำได้จริงหรือ?

     ซึ่งวิธีการนี้ค่อนข้างให้ผลที่จำเพาะและแม่นยำ ปัจจุบันได้ถูกนำมาทดลองใช้ในสัตว์ปศุสัตว์หลากหลายชนิด รวมถึงในสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขด้วยโดยในสุนัขมีการให้วัคซีนกระตุ้นจำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ พบว่าระดับของฮอร์โมนเพศ testosterone ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

3 การใช้สารเคมี

 
     การทำหมันด้วยวิธีนี้มีการศึกษากันมานานหลายปีแล้ว โดยใช้สารเคมีมาฉีดเข้าไปยังลูกอัณฑะ เพื่อให้ลูกอัณฑะเกิดการฝ่อลีบ ไม่สามารถสร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้อีกต่อไป ซึ่งผลที่ได้มีความแตกต่างกันไปตามชนิดและความเข้มข้นของสารเคมีที่นำมาใช้ โดยสารเคมีที่เคยมีการทดลองนำมาใช้ ได้แก่ 70% Glycerol solution, Zinc arginine, chlorhexidine gluconate, formaldehyde, Zinc gluconateและแคลเซียมคลอไรด์ ฯลฯ 

Dogilike.com :: การทำหมันสุนัขเพศผู้โดยไม่ผ่าตัดทำได้จริงหรือ?

     แต่ยังมีข้อถกเถียงอยู่เช่นกันในแง่ว่าจะเป็นการทรมานสัตว์หรือไม่ เนื่องจากสารเคมีที่ใช้จะไปทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงได้ เนื่องจากเกิด orchitis และ fibrosis ตามมาทำให้สัตว์ระคายเคือง เจ็บปวด บางตัวอาจจะกัดงับถุงหุ้มอัณฑะตัวเอง ทำให้เกิดการบวมได้ วิธีนี้จึงยังไม่เป็นที่นิยมใช้ในวงการสัตวแพทย์บ้านเรา 

     จากการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า สุนัขบางตัวยังสามารถกลับมาสร้างอสุจิที่มีชีวิตได้ต่อไป เนื่องจาก Seminiferous tubule บางส่วนอาจมีการซ่อมแซมตัวเองได้ ทำให้ไม่เกิดการเป็นหมัน 100% เหมือนกับการทำหมันด้วยวิธีการผ่าตัดเอาอัณฑะออก (ลองดูตารางเปรียบเทียบด้านล่าง) และบางกรณีก็เกิดการแทรกตัวเข้ามาของเซลล์อักเสบ (เม็ดเลือดขาว) ซึ่งเป็นการตอบสนองของร่างกาย เนื่องจากมีความเสียหายของเนื้อเยื่ออัณฑะ ทำให้เกิดเนื้อตายตามมา อีกทั้งสารเคมีบางชนิดมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถนำมาใช้กับสุนัขในทุกช่วงอายุได้ด้วย

Dogilike.com :: การทำหมันสุนัขเพศผู้โดยไม่ผ่าตัดทำได้จริงหรือ?

     อย่างไรก็ดีปัจจุบันองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ได้ให้การรับรองการใช้ Zinc gluconate ในการทำหมันวิธีนี้ในลูกสุนัขเพศผู้อายุ 3-10 เดือนแล้ว ซึ่งพบว่ามีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย ฟื้นตัวได้ไวกว่าเมื่อเทียบกับการผ่าตัด แต่สามารถลดระดับฮอร์โมนเพศ testosterone ได้เพียง 41-52% เท่านั้นครับ
 
     เชื่อว่าการทำหมันสุนัขเพศผู้แบบไม่ใช้วิธีการผ่าตัดนี้ หากมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในบ้านเรา ก็คงเป็นที่ถูกอกถูกใจเจ้าของสุนัขที่มีความกังวลกับวิธีการผ่าตัดเดิม ๆ ไม่น้อยนะครับ แต่อย่างที่บอกไปว่า แต่ละวิธีนั้นมีข้อจำกัด ทั้งในแง่ประสิทธิภาพและผลข้างเคียงต่าง ๆ ซึ่งยังไม่มีวิธีไหนที่ได้ผล 100% และยังจำเป็นต้องทำการศึกษาและเก็บข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป เพื่อความมั่นใจก่อนจะนำมาใช้ 

Dogilike.com :: การทำหมันสุนัขเพศผู้โดยไม่ผ่าตัดทำได้จริงหรือ?

     ซึ่งการที่บ้านเรายังไม่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ก็เป็นข้อดีเหมือนกันนะครับ เพราะในระหว่างนี้ เราก็ใช้โอกาสสอดส่องดูประเทศเพื่อนบ้านที่มีการใช้กันอยู่ ดูสิว่าแต่ละวิธีที่เค้าใช้กันนั้นมีข้อดีข้อเสียหรือไม่อย่างไร เพื่อในอนาคตจะได้นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมและสถานการณ์ต่าง ๆ ในบ้านเราต่อไป
 
     ก่อนจากกัน มุมหมอหมา มีตารางสรุปของการทำหมันโดยไม่ผ่าตัดในแต่ละวิธี จากรายงาน Non-surgical methods for controlling the reproduction of dogs and cats ของ World Society for the Protection of Animals (WSPA) มาฝาก ใครที่สนใจรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติม ก็ลองศึกษาดูนะครับ (คลิก)
 
 
 
 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
http://connect.snapus.org/site/PageServer?pagename=Research
http://sussexanimalclinic.com/news/neutering-male-dogs-without-surgery
http://www.authorstream.com/Presentation/ACCandD-394133-rhodes-laying-foundation-9-30-science-technology-ppt-powerpoint/
www.wspa-international.org
 
รูปภาพประกอบ:
www.dogtime.com
www.caldervets.co.uk
www.irishdogs.ie
www.petsbest.com
www.schoolforthedogs.com
www.arksciences.com/faq.html
www.worldlywags.com