โดย: Tonvet

5 โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่เกิดได้ในสุนัข

รู้ไว้ใช่ว่า…โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในน้องหมาก็มีเหมือนกันนะ

11 กุมภาพันธ์ 2558 · · อ่าน (10,053)
816

SHARES


816 shares

Dogilike.com :: 5 โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่เกิดได้ในสุนัข


     เพราะเรื่องของหัวใจเป็นเรื่องที่สำคัญเสมอ หากเกิดปัญหาขึ้นกับหัวใจย่อมส่งผลต่อระบบของร่างกายทั้งหมด...
 
     หัวใจ อวัยวะที่มีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หัวใจของน้องหมาก็เหมือนกันกับของคน คือ ประกอบไปด้วย 4 ห้อง เลือดเสียไหลเข้าสู่หัวใจห้องบนขวา ไหลผ่านลิ้นหัวใจ Tricuspid ลงสู่หัวใจห้องล่างขวา จากนั้นจะไหลผ่านลิ้นหัวใจ pulmonic เข้าสู่หลอดเลือด pulmonary artery เพื่อนำเลือดเสียไปฟอกที่ปอด หลังจากฟอกเสร็จกลายเป็นเลือดดีแล้ว ก็จะไหลผ่านหลอดเลือด pulmonary vein กลับมายังหัวใจห้องบนซ้าย แล้วไหลผ่านลิ้นหัวใจ mitral เข้าสู่หัวใจห้องล่างซ้าย สุดท้ายก็จะสูบฉีดไปเลี้ยงยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผ่านหลอดเลือดแดงใหญ่ aorta เป็นวงจรตามรูป
 

Dogilike.com :: 5 โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่เกิดได้ในสุนัข

 
     ที่ต้องอธิบายวงจรการไหลเวียนเลือดในหัวใจเสียยืดยาวเช่นนี้ก็เพราะว่า วันนี้ มุมหมอหมา จะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่พบได้ในสุนัข ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นความผิดปกติในโครงสร้างส่วนต่าง ๆ ของหัวใจและหลอดเลือด จึงต้องทำความรู้จักกับส่วนต่าง ๆ ของหัวใจกันก่อนครับ ที่นี้เราจะเข้าเรื่องกันแล้ว ถ้าพร้อมแล้วเรามาเริ่มกันเลย
 
 
     โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital heart disease) เกิดจากความผิดปกติในการพัฒนาในส่วนของหัวใจและหลอดเลือดขณะที่ยังเป็นตัวอ่อน เมื่อลูกสุนัขคลอดออกมาจึงมีความบกพร่องติดตัวมาด้วย ลูกสุนัขเหล่านี้ส่วนมากจะมีอายุสั้นบางตัวอาจตายหลังจากคลอดมาใหม่ ๆ  บางตัวอาจตายตั้งแต่อยู่ในท้อง แม้บางตัวอาจมีชีวิตต่อมาได้ แต่จะพบว่าลูกสุนัขเหล่านี้จะโตช้า แคระแกร็น และมีอาการเหนื่อยง่าย ลิ้นม่วง เล็บเท้าม่วง ท้องมาน น้ำท่วมปอด ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงและลักษณะของความผิดปกติที่เป็น 

 

Dogilike.com :: 5 โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่เกิดได้ในสุนัข

 
     ส่วนสาเหตุนั้นจากการศึกษาพบว่า การที่แม่สุนัขขาดสารอาหาร หรือได้สารเคมี ยา และสารพิษบางอย่างมากไป เช่น วิตามินเอ ธาตุทองแดง เอทานอล ฯลฯ การติดเชื้อในระหว่างการตั้งท้อง โดยเฉพาะในช่วงระยะแรกของการตั้งท้อง ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเจริญของหัวใจตัวอ่อน จะมีผลทำให้เกิดความผิดปกติในการพัฒนาในส่วนของหัวใจลูกสุนัขได้ นอกจากนี้ยังเกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรมได้ด้วย เรามาดูกันนะครับว่า...จะมีโรคอะไรบ้าง
 
 
 

1. การคงอยู่ของหลอดเลือด Ductus arteriosus (PDA)

 
 
     เมื่อลูกสุนัขยังเป็นตัวอ่อนอยู่ในท้องแม่หมา จะมีหลอดเลือดเส้นหนึ่งชื่อ ductus arteriosus ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างหลอดเลือดไปปอด (pulmonary artery) กับหลอดเลือดแดงใหญ่ (aorta) ซึ่งตามปกติหลอดเลือดนี้จะฝ่อไปกลายเป็นพังผืด หลังจากลูกสุนัขคลอดได้หนึ่งสัปดาห์ (ประมาณ 8 วันหลังคลอด) แต่สำหรับสุนัขที่มีความผิดปกตินี้ จะมีการคงอยู่ของหลอดเลือด Ductus arteriosus ทำให้เลือดบางส่วนจากหลอดเลือดแดงใหญ่ (aorta) ซึ่งมีแรงดันสูงไหลเข้าสู่หลอดเลือด pulmonary artery บางส่วนไหลไปที่ปอด บางส่วนไหลกลับเข้าไปยังหัวใจท้องล่างขวา ทำให้เลือดในปอดมีปริมาณมากขึ้น เกิดความดันในปอดสูงขึ้น 
 

Dogilike.com :: 5 โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่เกิดได้ในสุนัข

 
     มักพบในสุนัขพันธุ์พุดเดิ้ล อัลเซเชียน ปอมเมอเรเนียน คอลลี่ มอลตีส ชิวาวา ฯลฯ สำหรับการรักษาจะใช้วิธีการผ่าตัด แต่มีความเสี่ยงสูง ถ้าผลการผ่าตัดออกมาดี สุนัขจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่วนการรักษาทางยาจะแค่เพียงช่วยประคองอาการเท่านั้น ซึ่งความผิดปกตินี้ถ้าเป็นรุนแรงและเรื้อรัง อาจทำให้ความดันในหลอดเลือด pulmonary artery สูงขึ้น จึงเกิดการไหลย้อนของเลือดเสียจาก pulmonary artery เข้าสู่หลอดเลือดแดงใหญ่ (aorta) ซึ่งเราจะเรียกว่า Reverse PDA ครับ
 
 

2. การตีบแคบบริเวณแถวลิ้นหัวใจ Pulmonic (PS)

 
 
     ตามปกติลิ้นหัวใจ pulmonic จะเป็นวาล์วกั้นระหว่างหัวใจห้องล่างขวากับหลอดเลือด pulmonary artery เมื่อเกิดการตีบแคบบริเวณลิ้นหัวใจหรือรอบ ๆ บริเวณลิ้นหัวใจ pulmonic จะทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก เกิดการคั่งของเลือดในหัวใจห้องล่างขวามากขึ้น สุนัขที่มีความผิดปกติจะมีอาการอ่อนแรง เหนื่อยง่าย เป็นลมหน้ามืด (syncope) ท้องมาน (ascites) ฯลฯ ซึ่งอาการจะมากน้อยขึ้นกับความรุนแรงของการตีบแคบ ถ้าตีบแคบมาก ๆ แรงดันโลหิตจะสูงมาก การพยากรณ์โรคจะไม่ค่อยดี แต่ถ้าเป็นไม่มากสุนัขยังสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ โดยให้ยากินเพื่อประคองอาการ สำหรับความผิดปกตินี้มักพบในสุนัขพันธุ์ บลูด็อก ค็อกเกอร์ ฟ็อก เทอร์เรีย บีเกิล ซามอยด์ ชเนาเซอร์ ฯลฯ
 

Dogilike.com :: 5 โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่เกิดได้ในสุนัข

 
 

3. การตีบแคบบริเวณแถวลิ้นหัวใจ Aortic (AS)

 
 
     ลิ้นหัวใจ aortic มีหน้าที่เป็นวาล์วกั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับหลอดเลือดแดงใหญ่ (aorta) ในสุนัขมักเป็นการตีบแคบในส่วนใกล้กับลิ้นหัวใจหรือต่ำกว่าลิ้นหัวใจ เมื่อเกิดการตีบแคบจะส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนเลือด ทำให้สุนัขเหนื่อยง่าย เป็นลมหน้ามืด (syncope) บางจังหวะจะพบชีพจรเบา หรือมีชีพจรขาดหาย (pulse deficits) มักเป็นกันในสุนัขพันธุ์ใหญ่ ได้แก่ อัลเซเซียน นิวฟันด์แลนด์ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ล็อตไวเลอร์ ฯลฯ  หากเป็นไม่มากแสดงอาการไม่รุนแรง สามารถให้การรักษาแบบประคองอาการทางยาได้ครับ 
 

Dogilike.com :: 5 โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่เกิดได้ในสุนัข


 

4. ผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว (Ventricular Septal defect : VSD)

 
 
     หัวใจแบ่งออกเป็นห้องซ้ายและห้องขวาโดยมีผนังกั้นหัวใจเป็นตัวแบ่ง สำหรับผนังกั้นหัวใจที่กั้นระหว่างห้องซ้ายล่างกับห้องขวาล่าง เราจะเรียกกันว่า interventricular septem เมื่อมีการพัฒนาไม่สมบูรณ์เกิดการปิดไม่สนิท (มีรูรั่ว) เลือดจากหัวใจห้องล่างซ้ายซึ่งมีแรงดันสูงกว่า จะไหลทะลักเข้าสู่หัวใจห้องล่างขวา แต่หากเป็นเรื้อรังก็อาจทำให้เกิดความดันในหัวใจห้องล่างขวาสูงกว่าได้ เลือดเสียจึงไหลย้อนจากหัวใจห้องล่างขวากลับเข้ามาสู่หัวใจห้องล่างซ้าย เราเรียกว่า Reverse VSD
 
     อาการที่พบ คือ สุนัขมันจะอ่อนแรง เหนื่อยง่าย ไม่ทนต่อการออกกำลังกาย เป็นลมหน้ามืด (syncope) เนื่องจากสมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ บางรายมีอาการท้องมาน เล็บม่วง ฯลฯ สำหรับการรักษาถ้ามีอาการไม่รุนแรง สามารถใช้ชีวิตไปได้โดยให้การรักษาแบบประคองอาการทางยา
 

Dogilike.com :: 5 โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่เกิดได้ในสุนัข

 
 

5. กลุ่มความผิดปกติหัวใจพิการซับซ้อน Tetralogy of Fallot (TOF)

 
     ความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิดชนิดนี้มีความรุนแรงและซับซ้อนมาก เนื่องจากเป็นความผิดปกติร่วมกันถึง 4 อย่าง ได้แก่ (1) มีรูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่าง หรือ VSD (2) มีการตีบแคบบริเวณแถวลิ้นหัวใจ pulmonic หรือ PS (3) มีกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างขวาหนาตัวกว่าปกติ และ (4) มีการคร่อมตำแหน่งของหลอดเลือดแดงใหญ่ (aorta) มายังหัวใจห้องล่างขวา เอาเป็นว่าแค่มีความผิดปกติรูปแบบเดียวก็แทบจะแย่อยู่แล้ว นี่เป็นถึงสี่ลักษณะร่วมกันเลยทีเดียว แน่นอนว่าสุนัขที่ป่วยด้วยสาเหตุนี้มักจะมีอายุสั้นอยู่ได้เพียงไม่กี่เดือน โตช้า แคะแกร็น หายใจลำบาก ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ตัวม่วง (blue puppy) ฯลฯ ซึ่งยากต่อการรักษา
 

Dogilike.com :: 5 โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่เกิดได้ในสุนัข


 

การดูแลน้องหมาที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

 
 
     สุนัขที่ป่วยโรคนี้ต้องได้รับการดูแลใกล้ชิด เพราะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น ภาวะหัวใจวาย ความดันโลหิตสูง น้ำท่วมปอด ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ดังนั้นจึงต้องดูแลทั้งในเรื่องอาหารการกิน งดกินอาหารที่มีโซเดียมสูง เพื่อป้องกันความดันโลหิตสูงและภาวะบวมน้ำ กินน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะในรายที่ได้รับยาขับน้ำ งดเล่นหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก ป้อนยาตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด และหมั่นสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นประจำ หากมีอาการผิดปกติต้องรีบพาไปพบคุณหมอ
 

Dogilike.com :: 5 โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่เกิดได้ในสุนัข


 
     ส่วนใหญ่สุนัขที่เป็นโรคนี้มักมีอายุสั้นไม่เกิน 1-3 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความผิดปกติที่เป็น หากไม่เสียชีวิตช่วงแรกคลอด สามารถใช้ชีวิตต่อมาได้จนถึงกำหนดฉีดวัคซีนเข็มแรก เจ้าของจึงจะทราบได้ถึงความผิดปกติของหัวใจ เมื่อสุนัขได้พบคุณหมอครั้งแรก แต่ก่อนหน้านี้เจ้าของอาจจะสังเกตพบแล้วว่า สุนัขที่ป่วยโตช้า แคระแกร็นเมื่อเทียบกับสุนัขตัวอื่น  ๆ ในครอกเดียวกัน บางตัวมีอาการอ่อนแรง เหนื่อยง่าย หายใจเร็ว ท้องกาง (ท้องมาน) บวมน้ำ ฯลฯ 
 
     โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดนั้นมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะความผิดปกติไม่เหมือนกัน และแม้จะเป็นความผิดปกติเดียวกัน ก็อาจมีความรุนแรงไม่เหมือนกัน บางตัวสามารถให้ชีวิตต่อไปได้นานนับปี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ของเจ้าของด้วยครับ
 
 
         เพราะเรื่องของหัวใจเป็นเรื่องที่สำคัญเสมอ  #ความรักก็เช่นกัน (...ใช่หรอ)
 
 
 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
 
รูปภาพประกอบ:
www.newtownvets.com
www.drsfostersmith.com
www.i.dailymail.co.uk
www.cvcavets.com
www.upload.wikimedia.org
www.healthcare.utah.edu
www.upload.wikimedia.org
www.medicinenet.com
www.3.bp.blogspot.com