โดย: Candyx

เจาะลึกการดูแล 5 ปัญหาสุขภาพที่พบในน้องหมาเลี้ยงยาก

ปัญหาสุขภาพของน้องหมาเราสามารถป้องกันได้ แค่ทำความเข้าใจ ...

1 พฤศจิกายน 2559 · · อ่าน (6,259)
175

SHARES


175 shares

Dogilike.com :: เจาะลึกการดูแล 5 ปัญหาสุขภาพที่พบในน้องหมาเลี้ยงยาก


     เพื่อน ๆ บ้านไหนเลี้ยงน้องหมาแล้วมีปัญหาสุขภาพบ่อย ๆ กวนใจเราตลอดเวลาบ้างคะ? จริง ๆ แล้วการที่น้องหมามีปัญหาสุขภาพนั้น บางอย่างเราก็สามารถป้องกัน และรับมือกับปัญหาสุขภาพนั้นได้เพียงแค่เราใส่ใจต้องศึกษาข้อมูล และหมั่นพาน้องหมาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจดูอาการก็จะช่วยเรื่องปัญหาสุขภาพ และทำให้น้องหมามีอายุที่ยืนยาวได้ค่ะ ... 

     เทคนิคการเลี้ยงการดูแล วันนี้ ปังปอนด์ก็เลยจะพาเพื่อน ๆ คนรักน้องหมามาหาวิธีดูแลน้องหมาที่มีปัญหาสุขภาพ พร้อมทั้งวิธีป้องกัน และรับมือกันค่ะ ว่าแต่จะมีเคล็ดลับอะไรบ้าง เราไปดูกันเลยค่ะ ...


 

ปัญหาดวงตาของน้องหมาตาโปน หนังตาพับ

 

Dogilike.com :: เจาะลึกการดูแล 5 ปัญหาสุขภาพที่พบในน้องหมาเลี้ยงยาก

 

      ดวงตา เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่อ่อนไหวที่สุดในร่างกายของน้องหมา โดยเฉพาะน้องหมาพันธุ์หน้าสั้นที่มีดวงตาโต โปน ใหญ่ กว่าน้องหมาพันธุ์ทั่วไป เช่น น้องหมาชิวาวา , น้องหมาชิสุ , น้องหมาปั๊ก ฯลฯ มักพบว่ามีปัญหาในเรื่องดวงตาค่อนข้างบ่อย เช่น ภาวะลูกตาทะลัก , รอขูดขีดต่าง ๆ บริเวณกระจกตา ฯลฯ หรือในน้องหมาบางสายพันธุ์ เช่น น้องหมาพุดเดิ้ล , น้องหมาโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ฯลฯ พบว่ามักมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณหนังตา มีอาการหนังตาพับทำให้ขนตาทิ่มแทงเข้าไปข้างในดวงตาทำให้ดวงตาอักเสบได้ ดังนั้น น้องหมาในกลุ่มเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพดวงตาเหล่านี้จึงต้องอาศัยการดูแลจากเจ้าของเป็นพิเศษค่ะ

     สำหรับการดูแลดวงตาของน้องหมาในน้องหมาวิธีง่าย ๆ คือ เราต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติของดวงตาน้องหมาได้โดยดูจาก น้องหมาจะมีมีขี้ตามาก น้ำตาไหล ตาปิด หรี่ตา ตาบวมแดง อักเสบ ไม่กล้าสู้แสง หรือบางตัวพยายามเกาตาจนแผลรุนแรงมากขึ้น  ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนจากบาดแผลจนถึงขั้นตาบอดได้ค่ะ (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคตากับบทความ 6 อาการ ที่บ่งบอกว่า น้องหมา(กำลัง)ป่วยด้วย "โรคตา )

     รวมถึงผู้เลี้ยงควรทำความสะอาดตาของน้องหมาให้สดใสอยู่เสมอ ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดรอบดวงตาเบา ๆ และใช้ผ้าแห้งหรือสำลีเช็ดผิวหนังบริเวณใกล้เคียงให้แห้ง เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียที่จะนำไปสู่การติดเชื้อยีสต์ หรือเชื้อรา เวลาอาบน้ำต้องระวังอย่าให้แชมพูเข้าตาน้องหมา หลีกเลี่ยงการให้น้องหมาอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นละออง หรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้ดวงตาน้องหมาได้รับบาดเจ็บได้ แยกกรงน้องหมาที่ไม่ถูกกันหรือมักกัดกันเป็นประจำเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจทำให้ดวงตาเกิดความเสียหาย เล็มขนบริเวณรอบ ๆ ดวงตาที่ยาวเกินไป เพื่อป้องกันขนทิ่มดวงตาที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองได้ พร้อมกับมอบอาหารบำรุงดวงตาให้น้องหมา เช่น วิตามินซี วิตามินอี ลูทีนและซีแซนทีนที่ได้จากไข่แดง วิตามินเอ ได้จากอาหารจำพวก ตับไก่ ตับหมู ไข่แดง แครอท ฟักทอง ฯลฯ เท่านี้ก็จะช่วยลดอัตราเสี่ยงในการที่ดวงตาของน้องหมาจะได้รับบาดเจ็บ และมีสุขภาพดวงตาที่ดีแล้วค่ะ



ปัญหาผิวหนังของน้องหมาผิวบอบบาง แพ้ง่าย
 

 

Dogilike.com :: เจาะลึกการดูแล 5 ปัญหาสุขภาพที่พบในน้องหมาเลี้ยงยาก

 

     มีน้องหมาหลากหลายสายพันธุ์ที่มีลักษณะผิวหนังที่บอบบาง แพ้ง่ายและพบปัญหาเกี่ยกับผิวหนัง อย่างเช่น โกลเด้นรีทีฟเวอร์ตัวโตแต่มีโรคประจำสายพันธุ์เกี่ยวกับผิวหนัง , เวสตี้ เทอร์เรียร์ ติดอันดับ 1 สายพันธุ์ที่มักมีปัญหาเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้มากที่สุด น้องหมาหน้าย่น อิงลิช บูลด็อก , ปั๊ก , ชาเป่ย รอยย่นของน้องหมาเป็นเหมือนจุดอับที่มักเกิดความอับชื้น ทำให้เชื้อแบคทีเรีย เชื้อยีสต์ต่าง ๆ เจริญเติบโตจนกลายเป็นโรคผิวหนัง และเกิดกลิ่นเหม็นได้ง่าย ๆ รวมถึงน้องหมาที่มีขนเป็นลอนหนาอย่า ค็อกเกอร์ สแปเนียล และสายพันธุ์อื่น ๆ ก็พบปัญหาเรื่องผิวหนังเช่นกันค่ะ

     ตำแหน่งที่มักพบปัญหาผิวหนังอักเสบในน้องหมา ได้แก่ รอยย่นบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก คอ หาง และบริเวณรอบ ๆ อวัยวะเพศของสุนัขเพศเมียนอกจากนี้เรายังพบปัญหาผิวหนังอักเสบในน้องหมาที่มีลักษณะหางม้วน น้องหมาอ้วน ซึ่งในน้องหมาที่มีปัญหาผิวหนังอักเสบ ผู้เลี้ยงจะสามารถสังเกตุได้ง่าย ๆ โดยน้องหมาจะแสดงอาการคัน พยายามเกาบริเวณที่เป็น ขนร่วง ผิวหนังแดง เปียกชื้น มันเยิ้ม แฉะ และมีกลิ่นเหม็น ฯ

     ซึ่งก่อนอื่นต้องบอกเลยว่า สาเหตุที่น้องหมาเป็นโรคผิวหนังนอกจากจะมาจากกรรมพันธ์ุแล้ว ส่วนใหญ่มักมาจากการที่ผู้เลี้ยงละเลยการดูแลความสะอาดของร่างกายน้องหมา ปล่อยให้น้องหมามีร่างกายสกปรกจนทำให้เกิดความหมักหมม และเมื่อผสมกับความอับชื้นทำให้เชื้อแบคทีเรียและเชื้อยีสต์เกิดการเจริญเติบโตจนพัฒนากลายเป็นโรคผิวหนังอักเสบ เป็นหนอง รวมถึงเกิดการเสียดสีกันเองของผิวหนังบริเวณรอยพับย่นในน้องหมาที่มีผิวหนังยับบ่นก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบที่บริเวณผิวหนังได้เช่นกันค่ะ

     วิธีการดูแลน้องหมาให้ห่างไกลโรคต่าง ๆ เกี่ยวกับผิวหนังสามารถทำได้ง่ายมาก ๆ ค่ะเพียงแค่ผู้เลี้ยงต้องหมั่นตรวจเช็คผิวหนังสม่ำเสมอจะได้เตรียมรับมือรักษาโรคผิวหนังที่กำลังเกิดขึ้นกับน้องหมาได้อย่างทันท่วงที รักษาความสะอาดตัวน้องหมาด้วยการอาบน้ำให้น้องหมาอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เช็ดตัวเป่าขนให้แห้ง ซับน้ำตามร่องรอยย่นในน้องหมาผิวยับย่นในน้องหมาที่มีผิวหนังยับย่น เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สูตรอ่อนโยนที่มีคุณภาพได้มาตราฐาน ผ่านการรับรอง ปราศจาคสารระคายเคือง และอ่อนโยนกับผิวหนังบริเวณใบหน้าและดวงตาของน้องหมา ให้อาหารที่มีส่วนผสมบำรุงผิวหนัง เช่น อาหารที่มีส่วนผสมของ กรดไขมันโอเมก้า 3,6 DHA ที่จะช่วยบำรุงผิวหนังชุ่มชื้น เบต้าแคโรทีน ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนัง ทำให้น้องหมามีผิวหนังที่แข็งแรง


ปัญหาโรคในช่องหูของน้องหมาหูพับ หูยาว

 

Dogilike.com :: เจาะลึกการดูแล 5 ปัญหาสุขภาพที่พบในน้องหมาเลี้ยงยาก

 

     เพื่อน ๆ บ้านไหนเลี้ยงน้องหมาสายพันธุ์หูยาว หูพับ อย่าง บีเกิ้ล , ชิสุ ,บาสเซ็ต ฮาวด์ , คาวาเลียร์ คิง ชาลส์ สแปเนียล , ปั๊ก ฯลฯ กันบ้างคะ? น้องหมาสายพันธุ์ต่าง ๆ เหล่านี้มักจะพบปัญหาของช่องหูมากกว่าสุนัขพันธุ์อื่น ๆ เพราะลักษณะของใบหูที่ยาว หูพับ ทำให้อากาศไหลเวียนได้ไม่ดีหูจึงกักเก็บความชื้นเอาไว้  ทำให้การระบายน้ำและสิ่งสกปรกต่าง ๆ ทำได้ยากกว่าน้องหมาพันธุ์หูตั้ง เสี่ยงเกิดการติดเชื้อในช่องหูได้หลากหลาย ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อยีสต์ และไรในหู ซึ่งโรคในช่องหูที่มักพบในน้องหมากลุ่มเสี่ยงนี้ได้แก่ โรคหูน้ำหนวก โรคช่องหูส่วนนอกอักเสบ ฯลฯ

     อาการเมื่อน้องหมามีการติดเชื้อในหูจะแสดงอาการในเบื้องต้นคือ สั่นศีรษะ สะบัดหัวบ่อย พยายามเกาหู มีขี้หูสีเข้ม หูมีกลิ่นเหม็น มีของเหลวสีเหลือง น้ำตาล หรือของเหลวปนเลือดไหลซึมออกมา เดินวน หรือในบางรายก็อาจมีการทรงตัวผิดปกติ ถ้าหากน้องหมาที่แสดงอาการเหล่านี้บ่อย ๆ มากกว่า 5-10 ครั้งต่อวัน ผู้เลี้ยงก็ควรพาน้องหมาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจดูอาการทันที เพราะหากน้องหมาเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษาก็จะเกิดการอักเสบและกลายเป็นการติดเชื้อเรื้อรังที่รักษาได้ยาก หรือในบางรายก็อาจจะต้องใช้วิธีศัลยกรรมตัดช่องหูซึ่งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาเพิ่มขึ้นไปอีก

     เพื่อสุขภาพช่องหูที่ดีของน้องหมาแนะนำว่า ให้ผู้เลี้ยงหมั่นทำความสะอาดหูของน้องหมาอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการจับน้องหมามาตรวจเช็กใบหูและช่องหู หากพบว่ามีขนในหูจำนวนมากก็ให้ใช้แหนบปลายมนดึงขนภายในช่องหูออกเป็นประจำ และตัดขนรอบ ๆ หู  เพื่อช่วยให้อากาศสามารถไหลเวียนเข้าไปได้มากขึ้นและป้องกันไม่ให้เกิดความอับชื้นซึ่งเป็นสาเหตุของโรคในช่องหูต่าง ๆ และใช้น้ำยาสำหรับทำความสะอาดหูเช็ดและบีบนวดบริเวณโคนหูประมาณ 20-30 วินาทีแล้วใช้ก้านไม้พันด้วยสำลีตักขี้หูขึ้นมาแทนการปั่นหูน้องหมา ทำเรื่อย ๆ จนช่องหูสะอาด แล้วเปิดใบหูให้น้ำยาระเหยประมาณ 20 วินาทีก็ปล่อยน้องหมาวิ่งเล่นได้ตามปกติค่ะ (อ่านตอบทความ 4 วิธีรับมือปัญหาช่องหูส่วนนอกอักเสบในสุนัข )


 


ปัญหาหินปูน โรคปริทันต์ในน้องหมาพันธุ์เล็ก ฟันไม่สบกัน



Dogilike.com :: เจาะลึกการดูแล 5 ปัญหาสุขภาพที่พบในน้องหมาเลี้ยงยาก

 

    อย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า น้องหมาพันธุ์เล็กมีอายุยืนกว่าน้องหมาพันธุ์ใหญ่ทำให้พบหินปูน และโรคในช่องปากได้บ่อยครั้ง รวมถึงในน้องหมาที่มีลักษณะของใบหน้าที่สั้น แบน และกรามบนสั้นกว่ากรามล่าง ทำให้ฟันล่างยื่น ฟันไม่สบกัน เกิดเป็นฟันซ้อนและในบางตัวมีซี่ฟันห่างกันจึงทำให้เศษอาหารต่าง ๆ ที่ผู้เลี้ยงให้น้องหมากินไม่ว่าจะเป็นอาหารปรุงสุก หรืออาหารเปียก มักจะเข้าไปติดและหลงเหลือเศษอาหารอยู่ตามซอกฟันของน้องหมา เป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียและแคลเซียมที่บริเวณฟันจนเกิดเป็นหินน้ำลาย และหากไม่มีการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดี

     เรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันของน้องหมาเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้เลี้ยงต้องใส่ใจค่ะ เพราะถ้าหากน้องหมามีช่องปากไม่สะอาด มีหินปูนเกาะตามฟันซี่ต่าง ๆ เชื้อแบคทีเรียสะสมมากขึ้นจะส่งผลให้เนื้อเยื่อปริทันต์อักเสบ เกิดการทำลายเยื่อบุผิวฟันและเนื้อเยื่อรอบฟัน รวมทั้งทำให้เกิดการสลายของกระดูกเบ้าฟัน ในรายที่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อปริทันต์รุนแรงอาจทำให้กรามหัก หรือเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หัวใจ ตับ ไต ฯลฯ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ในที่สุด (อ่านเพิ่มเติม "ปริทันต์" โรคร้ายที่(อาจ)เกิดในช่องปากสุนัข)

     ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือผู้เลี้ยงต้องใส่ใจดูแล และป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันให้กับน้องหมาเป็นประจำทุกวัน ด้วยการแปรงฟันและลิ้นให้น้องหมาทุกวันจะช่วยชะลอการเกิดคราบหินปูน ซึ่งเป็นสาเหตุของกลิ่นปาก รวมถึงโรคปริทันต์ในน้องหมา นอกจากนี้ผู้เลี้ยงควรพาน้องหมาไปตรวจสุขภาพช่องปากกับสัตวแพทย์เป็นประจำทุกปี รวมถึงผู้เลี้ยงควรหาของเล่นที่ช่วยขัดฟันและบริหารฟันให้น้องหมา เช่น ของเล่นที่ทำจากเชือกผ้าที่ออกแบบมาเพื่อช่วยขัดฟัน ขูดลอกเอาคราบแบคทีเรียออก ซึ่งเป็นการป้องกันคราบหินปูนสะสม รวมถึงควรให้อาหารสุนัขแบบเม็ดกับน้องหมาเพื่อช่วยลดปัญหาการสะสมแบคทีเรีย และเปลี่ยนน้ำอดื่มสะอาดให้กับน้องหมาทุกมื้อก็จะช่วยได้มากเลยละค่ะ

 

ปัญหาข้อสะบ้าเคลื่อนในน้องหมาพันธุ์เล็ก

 

Dogilike.com :: เจาะลึกการดูแล 5 ปัญหาสุขภาพที่พบในน้องหมาเลี้ยงยาก


      โรคสะบ้าเคลื่อน (Patellar luxation) ถือเป็นโรคหนึ่งที่มักพบบ่อยในน้องหมาสายพันธุ์เล็ก โดยเฉพาะในน้องหมาพันธุ์ปอมเมอเรเนียน (พบมากที่สุด),ชิวาวา, ยอร์คเชียร์เทอร์เรีย, ออสเตรเลียนเทอร์เรีย, ทิเบตันสเปเนียล, เจเปนนิส ชิน, บอสตันเทอร์เรีย, ปักกิ่ง, พูเดิ้ลทอย, มอลทีส, ชิสุ ฯลฯ โดยส่วนใหญ่มักเกิดจาก 2 สาเหตุหลักคือ การถ่ายทอดทางพันธุกรรมของพ่อแม่สุนัขที่เป็นโรคถ่ายทอดมาสู่ลูก และเกิดจากการกระทบกระเทือนจากการเดินหรือวิ่ง ซึ่งส่วนมากจะพบในน้องหมาที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี สำหรับความผิดปกติของลูกสะบ้าที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะพบเป็นลักษณะของการเคลื่อนหลุดออกมาจากร่องไปทางด้านใน มากกว่าเคลื่อนออกไปทางด้านข้างของร่องกระดูกต้นขาหลัง จึงทำให้น้องหมามีอาการปวด เดินผิดปกติ ขาโก่ง ไม่สามารถเหยียดข้อเข่าได้ และเดินขาลาก ฯลฯ

     ซึ่งการป้องกันไม่ให้น้องหมาเป็นโรคสะบ้าเคลื่อนและชะลอความรุนแรงขอน้องหมาที่เป็นอยู่ที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการเลี้ยงน้องหมาบนพื้นลื่น ๆ เช่น พื้นกระเบื้อง พื้นปาร์เก้ พื้นหินอ่อน ฯลฯ เพราะน้องหมาต้องออกแรงเกร็งกล้ามเนื้อเพื่อยึดเกาะกับพื้น ซึ่งจะทำให้การถ่ายน้ำหนักบริเวณข้อต่อผิดปกติ ส่งผลให้กระดูกทำงานผิดรูปผิดร่าง ทำให้น้องหมาเจ็บปวดเวลาเดินได้ รวมถึงตัดขนที่ฝ่าเท้าน้องหมาอย่างสม่ำเสมอเพื่อน้องหมาจะได้เดินได้สบายและไม่เกิดการหมักหมมของเชื้อโรค ดูแลน้องหมาไม่ให้วิ่งหรือเล่นแรง ๆ ให้อาหารที่มีสรรพคุณบำรุงข้อกับน้องหมา  ที่มีส่วนผสมของ กลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต ที่มีคุณสมบัติช่วยซ่อมแซมและรักษาผิวข้อ และเพิ่มการสร้างน้ำไขข้อ ซึ่งเป็นสารหล่อลื่นช่วยลดแรงกระแทก ป้องกันโรคข้อเสื่อม และสิ่งสำคัญคือ หมั่นพาน้องหมาออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เดินหรือวิ่งเล่นในสนามหญ้า พร้อมกับควบคุมน้ำหนักของน้องหมาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติจะช่วยให้ข้อต่อและกระดูกไม่ต้องทำงานหนักค่ะ


     จริง ๆ แล้วการดูแลน้องหมาให้มีสุขภาพดี ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บนั้น เจ้าของทุกคนสามารถทำได้ เพียงแค่หมั่นสังเกต ศึกษาช้อมูลสายพันธุ์ ดูความเสี่ยงของน้องหมาว่าสายพันธุ์ที่เลี้ยงมีจุดเด่น จุดด้อยที่ต้องดูแลเป็นพิเศษตรงไหน เพื่อเราจะได้เตรียมรับมือได้อย่างถูกวิธีค่ะ เชื่อว่า ถ้าน้องหมาได้รับการดูแลที่ดีและถูกต้องจากเจ้าของ น้องหมาต้องมีสุขภาพดี มีโอกาสเจ็บป่วยได้น้อย และมีอายุที่ยืนยาวแน่นอนค่ะ

 

บทความโดย: Dogilike.com
http://www.dogilike.com/

ภาพประกอบ :
https://www.flickr.com/