โดย: Tonvet
4 วิธีรับมือปัญหาช่องหูส่วนนอกอักเสบในสุนัข
โรคช่องหูส่วนนอกอักเสบรักษาไม่ยาก หากอยากรู้ว่าต้องทำอย่างไร ลองเข้ามาอ่านดูนะครับ
24 กรกฏาคม 2556 · · อ่าน (266,087)
โรคช่องหูส่วนนอกอักเสบ (Otitis externa) ถือเป็นปัญหาสำคัญอันดับหนึ่งของโรคหูในสุนัขเลยก็ว่าได้ครับ ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่เจ้าของอย่างเรา ปล่อยปะละเลยไม่ค่อยดูแลสุขภาพช่องหูให้กับน้องหมา ทำให้ตลอดทั้งปีมีน้องหมาหมุนเวียนเข้ามารักษาโรคนี้กันอยู่ตลอด บางรายเป็นซ้ำจนเรื้อรัง สุดท้ายต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดรักษาก็มี จึงเป็นเรื่องที่ดีครับ ถ้าเราจะมาทำความเข้าใจและหาทางรับมือกับโรคนี้กันไปพร้อม ๆ กัน
สาเหตุของการเกิดโรคช่องหูส่วนนอกอักเสบนั้น แบ่งออกได้เป็นสาเหตุหลักกับสาเหตุรอง โดยสาเหตุหลักมักเกิดจากโรคที่ซ้อนเร้นอยู่ เช่น โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (atopic dermatitis) โรคภูมิแพ้อาหาร มีสิ่งแปลกปลอมหรือปรสิต (ตัวไรหู) ในรูหู ฯลฯ ส่วนสาเหตุรองมักเกิดตามมาจากสาเหตุหลักซึ่งกำจัดง่าย ยกเว้นในรายที่เป็นแบบเรื้อรัง เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อยีสต์ ฯลฯ โดยมีปัจจัยโน้มนำทำให้เกิดโรคนี้ขึ้นมา เช่น การมีขนในรูหู รูหูมีลักษณะตีบแคบ ความชื้นในรูหูที่มีมากเกินไป เป็นต้น
ในการวินิจฉัยหลัก ๆ คือ การเก็บขี้หูป้ายใส่สไลด์ แล้วนำไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาตัวไรหู หรือนำขี้หูไปย้อมตรวจเพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรียและเชื้อยีสต์ นอกจากนี้ คุณหมออาจใช้วิธีการส่องด้วยกล้อง otoscope เพื่อตรวจดูลักษณะโครงสร้างของช่องหู ตรวจหาสิ่งแปลกปลอม หรือเนื้องอกต่าง ๆ ที่อาจอยู่ข้างในรูหู หรืออาจตรวจเพิ่มเติมนอกจากนี้ เพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ ที่ซ่อนเร้นและทำให้เกิดโรคต่อไปครับ
สำหรับใครที่น้องหมาของตัวเองกำลังเผชิญกับปัญหา หรือใครที่กำลังสงสัยว่าน้องหมาอาจจะเป็นโรคช่องหูส่วนนอกอักเสบนี้แล้วล่ะก็ มุมหมอหมา มี 4 วิธีรับมือกับปัญหาช่องหูส่วนนอกอักเสบในสุนัข มาฝากดังนี้ครับ
1 หมั่นตรวจดูหูน้องหมา
การตรวจดูหูน้องหมาทำได้ไม่ยากครับ ให้ลองสังเกตระยะไกลก่อน น้องหมาที่มีปัญหาเรื่องหูมักจะมีอาการคันหู บ้างก็ยกขาขึ้นมาเกาหูอย่างเมามัน บ้างก็ใช้หัวใช้หูถูลู่ถูกังกับฝาผนัง กับพื้น กับเบาะหรือกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่ตนมี บ้างก็สะบัดหูสะบัดหัวออกแนวเป็นขาร็อค บางรายเป็นหนัก การอักเสบลุกลามเข้าไปยังช่องหูชั้นกลางและหูชั้นใน ถึงขั้นหัวสั่น หัวเอียง เดินวน การทรงตัวผิดปกติไปเลยก็มี โดยกรณีของการคันหูที่กล่าวไปนี้ สุนัขจะแสดงอาการค่อนข้างบ่อย ไม่ต่ำกว่าวันละ 5-10 ครั้งเลยทีเดียว
ต่อมาคือการสังเกตระยะใกล้ โดยจับน้องหมาเข้ามาใกล้ ๆ แล้วใช้มือเปิดใบหูของน้องหมาขึ้น ลองสังเกตดูว่า ช่องหูของน้องหมาเป็นอย่างไรบ้าง มีขี้หูสีน้ำตาล สีดำ หรือมีสีเหลืองมันเยิ้มคล้ายหนองหรือไม่ ผนังใบหูมีการหนาตัว แดง และมีสะเก็ดรังแคหรือไม่ ลองใช้มือสัมผัสบริเวณใบหู ในบางรายอาจพบว่ามีใบหูบวม โป่งพอง อันเกิดจากการสะบัดหูหรือเกาหู จนเส้นเลือดในใบหูแตกเกิดเลือดคั่ง ตามมา เรียกว่า aural hematoma บางรายเมื่อใช้มือสัมผัสบริเวณฐานใบหูทางด้านนอกแล้ว เราจะได้ยินเสียงคล้ายน้ำกระฉอกไปมาในรูหู ซึ่งน้องหมาบางตัวอาจร้อง เพราะเจ็บปวดจากการอักเสบด้วยครับ
อาการเหล่านี้ถ้าเราไม่สังเกตระยะใกล้หรือใช้มือสัมผัสใบหู ก็อาจไม่ทราบว่ามีความผิดปกติ โดยเฉพาะรายที่เป็นพันธุ์ขนยาว หรือมีใบหูตกปกลงมา นอกจากการสังเกตแล้ว การดมกลิ่นก็เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถใช้ตรวจปัญหาช่องหูได้ โดยรายที่เป็นหูอักเสบ มักจะมีกลิ่นเหม็น แต่ก็ไม่ต้องถึงกับต้องนำจมูกจ่อเข้าไปตรงรูหูของน้องหมาหรอกนะครับ เพราะเพียงแค่เปิดใบหูขึ้นมา เราก็อาจได้กลิ่นอย่างว่าโชยมาแตะจมูกเราแล้ว
หากเพื่อน ๆ พบอาการเข้าข่ายตามที่ มุมหมอหมา ได้กล่าวไปนี้ ก็เตรียมตัววางแผนพาน้องหมาไปหาคุณหมอได้เลยครับ โดยก่อนพามาตรวจสัก 1-2 วัน อยากให้เพื่อน ๆ งดทำความสะอาดช่องหูด้วยน้ำยาทำความสะอาดใด ๆ มาก่อน เพื่อที่คุณหมอจะได้เก็บขี้หูหรือตัวอย่างสิ่งคัดหลั่งจากช่องหูมาตรวจวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องครับ
2 หยอดยาอย่าได้ขาด
ในรายที่เป็นโรคช่องหูส่วนนอกอักเสบนั้น การรักษาจะใช้การหยอดยาร่วมกับการทำความสะอาดช่องหู แต่ในบางรายคุณหมออาจจ่ายยาฆ่าเชื้อและยาแก้คันมาป้อนด้วย สำหรับยาหยอดหูที่คุณหมอจ่ายมานั้น จะเป็นยาที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยาฆ่าเชื้อยีสต์หรือเชื้อรา และยาแก้อักเสบ โดยก่อนใช้เจ้าของจะต้องเตรียมยาก่อน โดยเปิดฝาขวดยาออก จากนั้นนำกรวยบีบมาต่อเข้ากับที่หยอดยา ซึ่งลักษณะกรวยบีบจะเป็นแท่งยาว ช่วยให้สะดวกในการหยอดยาที่หูน้องหมาได้ลึกยิ่งขึ้น ก่อนหยอดยาถ้าเป็นไปได้ควรทำความสะอาดช่องหู โดยเช็ดเอาคราบสิ่งสกปรก สารคัดหลั่งออกก่อน (ศึกษาวิธีการทำความสะอาดช่องหูได้ในข้อที่ 3 ) จากนั้นทิ้งระยะไว้สักพักให้ช่องหูแห้ง แล้วจึงค่อยทำการหยอดยา
ในการหยอดให้เขย่าขวดยาก่อน (ในบางยี่ห้ออาจไม่ต้องเขย่า) จากนั้นเปิดใบหูน้องหมาขึ้น สอดกรวยบีบตรงเข้าไปในช่องหูในแนวตั้งฉากกับใบหน้าของน้องหมา จากนั้นให้บีบขวดยาเบา ๆ ให้ยาได้เข้าไปในหูตามปริมาณยาที่คุณหมอแนะนำ สุดท้ายให้ใช้มือนวดคลึงเบา ๆ บริเวณฐานใบหูทางด้านนอก เพื่อให้ยากระจายตัวเข้าไปได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น ซึ่งอาจต้องหยอดยาวันละ 1-2 ครั้ง ต่อต่อกันอย่าได้ขาดนาน 7-14 วัน หรือตามแต่ที่คุณหมอแนะนำ โดยยาที่เปิดใช้แล้ว ให้เก็บไว้ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส และสามารถเก็บไว้ได้นานไม่เกิน 1-2 เดือนหลังจากวันที่เปิดใช้ครับ
3 ทำความสะอาดช่องหูอย่างถูกต้อง
การทำความสะอาดช่องหูอย่างถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ และถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาและการป้องกันโรคช่องหูส่วนนอกอักเสบด้วย ในการทำความสะอาดช่องหู ให้เริ่มจากหยอดน้ำยาล้างหูสำหรับสุนัขเข้าไปในช่องหู จากนั้นบีบนวดเบา ๆ บริเวณฐานใบหูทางด้านนอก เพื่อให้ยากระจายตัว และช่วยละลายขี้หูที่แข็งอัดแน่นอยู่ภายในช่องหู ให้อ่อนนุ่มง่ายต่อการทำความสะอาด แล้วจึงใช้สำสีก้านสอดเข้าไปในช่องหู เช็ดทำความสะอาดเบา ๆ โดยห้ามใช้วิธีการปั่นเด็ดขาด ให้ใช้การเช็ดในลักษณะตักขึ้นมาแทน
ตรงจุดนี้เจ้าของหลายคนมักจะเป็นกังวล และไม่กล้าสอดสำสีก้านเข้าไป เพราะกลัวจะถูกเยื่อแก้วหู จึงทำความสะอาดแค่เพียงภายนอกตรงใบหูเท่านั้น ทำให้สิ่งสกปรกยังคงหมักหมมอยู่ในช่องหู อันที่จริงไม่ต้องกังวลหรอกครับ เพราะช่องหูน้องหมานั้นเป็นรูปตัวแอล (L) เวลาเราสอดสำลีก้านเข้าไป ให้เราสอดในทิศทางตั้งฉากกับใบหน้าน้องหมา (ตามภาพ) ซึ่งสามารถสอดลงไปได้ลึกพอสมควร ให้เช็ดจนกว่าช่องหูจะสะอาด จากนั้นก็ไล่มาเช็ดที่ใบหูส่วนนอกเป็นอันเสร็จครับ
อย่างไรก็ดีน้องหมาบางตัวอาจไม่ยอมให้เราเช็ดหูง่าย ๆ เพื่อเป็นการป้องกันตัวเอาเอง ก็ควรหาที่ครอบปากหรือเชือกมัดปากเอาไว้ก่อน บางครั้งอาจต้องช่วยกัน 2-3 คน โดยใช้แรงคนหนึ่งจับบังคับ อีกคนหนึ่งเป็นผู้ทำการเช็ดหู ในระหว่างเช็ดให้เราคอยปลอบประโลมน้องหมา เพื่อให้เค้ารู้สึกผ่อนคลาย และหลังเช็ดทำความสะอาดช่องหูแล้ว ก็อย่าลืมให้รางวัลน้องหมาเป็นกำลังใจเค้าด้วยนะครับ เพื่อน ๆ สามารถเข้าไปศึกษาวิธีการดูแลสุขภาพช่องหูเพิ่มเติมได้ใน ทำความสะอาดหูให้น้องหมา ก่อนโรคถามหา (คลิก)
4 ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
โรคช่องหูส่วนนอกอักเสบมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำใหม่ได้เสมอ การป้องกันจึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องเริ่มทำตั้งแต่ในระหว่างที่ทำการรักษาอยู่เลย ด้วยการสวมปลอกคอกันเลียไว้ตลอดเวลา จนกว่าจะรักษาหาย น้องหมาจะได้ไม่เกาหู หรือเอาหูไปถูไถกับสิ่งต่าง ๆ โรคจะได้ไม่ลุกลามบานปลาย เพิ่มการอักเสบเข้าไปอีก และเมื่อหายแล้ว เราก็ต้องหมั่นดูแลสุขภาพช่องหูอยู่เป็นประจำ โดยเช็ดทำความสะอาดช่องหูอย่างถูกต้องสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งเป็นอย่างน้อย ซึ่งการรักษาสภาพช่องหูให้มีความสะอาดอยู่เสมอ จัดเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด ส่วนในรายที่มีสาเหตุหลักจากโรคอื่น ๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ จะต้องทำการรักษาโรคนั้นควบคู่กันไปด้วยครับ
เป็นไงบ้างครับกับวิธีรับมือปัญหาโรคช่องหูส่วนนอกอักเสบในสุนัขที่ มุมหมอหมา ได้นำเสนอไป จำง่าย ๆ มี 4 ข้อ คือ หมั่นตรวจดูหูน้องหมา หยอดยาอย่าได้ขาด ทำความสะอาดช่องหูอย่างถูกต้อง ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ไม่ยากเลยใช่ไหมครับ เพราะเป็นเรื่องพื้นฐานง่าย ๆ ที่เราทุกคนควรต้องทำกันอยู่แล้ว หากเพื่อน ๆ อยากให้ช่องหูของน้องหมามีสุขภาพดี ก็อย่าลืมนำวิธีเหล่านี้ไปปฏิบัติดูนะครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/
รูปภาพประกอบ:
www.neartownvet.wordpress.com
www.flickr.com
www.facebook.com/cesar milan
www.care4mydog.com
www.videojug.com
www.petsbestrx.com
www.addisonlabs.com
www.community.statesmanjournal.com
SHARES