โดย: เว็บมาสเตอร์มะเหมี่ยว

เมื่อร่างไร้วิญญาณของน้องหมากลายมาเป็น ... อาจารย์ใหญ่

หลากหลายเรื่องราวของ อาจารย์ใหญ่สุนัข ... มาติดตามกันว่าอาจารย์ใหญ่สุนัขมีความสำคัญต่อวงการสัตวแพทย์อย่างไรบ้าง

31 ตุลาคม 2557 · · อ่าน (27,012)
11,423

SHARES


11,423 shares

Dogilike.com :: เมื่อร่างไร้วิญญาณของน้องหมากลายมาเป็น ... อาจารย์ใหญ่


     อย่างที่เราทราบกันดีว่า ในวงการการแพทย์ "อาจารใหญ่" นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะนิสิตนักศึกษาแพทย์ทุกคนจะต้องศึกษาและค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใดๆ มาทดแทนอาจารย์ใหญ่ซึ่งเป็นร่างกายของมนุษย์ได้ ...

     สำหรับในวงการสัตวแพทย์เองก็เช่นกัน นิสิตนักศึกษาสัตวแพทย์ทุกคนจะต้องได้เรียนกับ "อาจารย์ใหญ่สุนัข" ซึ่งจะเป็นการเรียนทางกายวิภาคศาสตร์ เรียนรู้ทุกระบบต่างๆ จากร่างกายสุนัขอย่างเต็มที่ และเรียนอย่างคุ้มค่ามากที่สุดจากอาจารย์ใหญ่สุนัข
       
     นิสิตนักศึกษาสัตวแพทย์ที่ได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่สุนัข ทุกคนจะให้ความเคารพ และให้เกียรติว่าเป็นอาจารย์ที่มาให้ความรู้ ไม่แตกต่างไปจากนิสิตนักศึกษาแพทย์ที่เรียนกับอาจารย์ใหญ่ที่เป็นคน ถึงแม้ว่าหลังเรียนเสร็จแล้วจะส่งซากสุนัขไปเผาตามระเบียบการปฏิบัติของโรงพยาบาลสัตว์ทั่วไป แต่นิสิตสัตวแพทย์ทุกคนต่างยกให้สุนัขเป็นอาจารย์ และมักจะนำพวงมาลัยมาไหว้โครงกระดูกสุนัขอยู่เสมอ

     และเพื่อให้เพื่อน ๆ ได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับอาจารย์ใหญ่สุนัขมากขึ้น วันนี้ Dogilike มีโอกาสได้คุยกับ อ.น.สพ.ราชันชัย ฉวางวงศานุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาปรีคลินิกและสัตวศาสตร์ประยุกต์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงเรื่องราวของประโยชน์และคุณค่าอาจารย์ใหญ่สุนัขที่มีต่อวงการสัตวแพทย์ค่ะ เรื่องราวจะเป็นยังไงบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยค่ะ


Dogilike.com :: เมื่อร่างไร้วิญญาณของน้องหมากลายมาเป็น ... อาจารย์ใหญ่

 

คำจำกัดความของ อาจารย์ใหญ่ทางสัตวแพทย์ คืออะไร?


     อาจารย์ใหญ่ทางสัตวแพทย์จะมีความหมายเดียวกับอาจารย์ใหญ่ทางแพทย์ครับ คือสัตว์ที่เสียชีวิตแล้วมาชุบน้ำยารักษาเนื้อเยื่อเพื่อใช้ศึกษาวิชามหกายวิภาคศาสตร์ ซึ่งวิชามหกายวิภาคศาสตร์นี้เป็นวิชาที่สอนเกี่ยวกับโครงสร้างของร่างกายที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น กล้ามเนื้อ หลอดเลือด เส้นประสาท และโครงสร้างอวัยวะภายในครับ
 


อาจารย์ใหญ่ทางสัตวแพทย์ มีวิธีการจัดหามาอย่างไร?


     ปัจจุบันที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลมีอาจารย์ใหญ่ทางสัตวแพทย์มาจากการบริจาคโดยเจ้าของสุนัขที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลสัตว์ประศุอาทรครับ แต่ไม่ใช่สุนัขทุกตัวจะสามารถนำมาใช้เป็นอาจารย์ใหญ่ได้ เรามีเกณฑ์ในการเลือกสุนัขอาจารย์ใหญ่คือ ต้องเป็นสุนัขที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลสัตว์ประศุอาทร มหาวิทยาลัยมหิดล โดยระยะเวลาเสียชีวิตไม่เกิน 12 ชั่วโมง มีอายุระหว่าง 2-8 ปี น้ำหนักระหว่าง 10-20 กิโลกรัม และไม่มีรูปร่างอ้วนหรือผอมมากเกินไป ทางหน่วยงานจะงดการรับบริจาคสัตว์เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ สัตว์เสียชีวิตจากโรคมะเร็งและเนื้องอก และโรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์สู่คน เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคฉี่หนู ครับ
 

Dogilike.com :: เมื่อร่างไร้วิญญาณของน้องหมากลายมาเป็น ... อาจารย์ใหญ่


นักศึกษาระดับชั้นไหน หรือสาขาใดที่จะได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่ทางสัตวแพทย์?


     นักศึกษาจะได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่ในรายวิชาโครงสร้างและการทำงานของร่างกาย ส่วนมหกายวิภาคศาสตร์ ของนักศึกษาระดับชั้นปีที่ 2 ครับ

 

ช่วยเล่าถึง พิธีไหว้ครูและทำบุญอาจารย์ใหญ่ทางสัตวแพทย์ให้ฟังหน่อยค่ะ


     พิธีทำบุญอาจารย์ใหญ่และสัตว์ทดลองทางสัตวแพทย์ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะจัดขึ้นช่วงเช้าในวันเดียวกับวันไหว้ครู โดยในพิธีจะนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีทางศาสนา เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับอาจารย์ใหญ่และสัตว์ทดลองโดยมีคณาจารย์ นักศึกษา บุคคลากร ตลอดจนเจ้าของสัตว์ที่เป็นอาจารย์ใหญ่มาร่วมในพิธีครับ เหตุที่เลือกวันทำบุญอาจารย์ใหญ่และสัตว์ทดลองเป็นวันเดียวกับวันไหว้ครู เพื่อให้นักศึกษาได้ตระหนักว่าสัตว์ที่ใช้ในการศึกษาเล่าเรียนและการศึกษาวิจัย (ทั้งอาจารย์ใหญ่และสัตว์ทดลอง) ก็เป็นครูของตนเองเช่นเดียวกัน โดยในปีนี้คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดพิธีทำบุญอาจารย์ใหญ่และสัตว์ทดลองในวันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมาครับ


Dogilike.com :: เมื่อร่างไร้วิญญาณของน้องหมากลายมาเป็น ... อาจารย์ใหญ่


ปัจจุบันทราบมาว่ายังขาดแคลนอาจารย์ใหญ่ทางสัตวแพทย์อยู่มาก มีอะไรจะฝากถึงคนที่เลี้ยงสัตว์ไหมคะ


     แม้ว่าปัจจุบันจะมีผู้บริจาคสัตว์เลี้ยงเพื่อนำมาเป็นอาจารย์ใหญ่ทางสัตวแพทย์เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังประสบปัญหาการขาดผู้บริจาคสุนัขอาจารย์ใหญ่อยู่ทุกปี จึงขอเชิญชวนเจ้าของสัตว์เข้าร่วมโครงการบริจาคร่างกายสัตว์เลี้ยงที่เสียชีวิตเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ครับ เพราะนอกจากทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากร่างกายสัตว์แล้ว ยังถือเป็นการทำบุญกุศลทางศาสนาอีกด้วย โดยปัจจุบันทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจะรับเฉพาะสัตว์ที่เสียชีวิตที่โรงพยาบาลสัตว์ประศุอาทรเท่านั้นครับ เพื่อให้สามารถสืบประวัติโรคสัตว์สู่คนย้อนหลังได้ครับ


     หลังจากที่เราได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาที่ไปและความสำคัญของอาจารย์ใหญ่สุนัขกันไปแล้ว "หมอต้น" สัตวแพทย์ประจำเว็บไซต์ Dogilike ของเราก็ยังได้มาเล่าประสบการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับอาจารย์ใหญ่สุนัขในช่วงที่เรียนในรั้วมหาวิทยาลัยให้ฟังอีกด้วยล่ะค่ะ


Dogilike.com :: เมื่อร่างไร้วิญญาณของน้องหมากลายมาเป็น ... อาจารย์ใหญ่


     หมอต้น เล่าให้ฟังว่า สำหรับนักศึกษาที่เรียนในคณะสัตวแพทย์จะต้องผ่านการเรียนวิชากายวิภาค (anatomy) ซึ่งวิชากายวิภาคเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา Body structure and function  ซึ่งจะรวมเอาวิชากายวิภาค วิชาจุลกายวิภาค และวิชาสรีระวิทยา เข้าไว้ในวิชาเดียวกัน โดยไล่เรียนกันไปทีละระบบของร่างกาย เริ่มเรียนกันตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 3 เทอมด้วยกัน

     "ถ้าถามว่า ทำไมต้องใช้สุนัขเป็นอาจารย์ใหญ่ ก็อาจเป็นเพราะสุนัขเป็นสัตว์ที่มีลักษณะโครงสร้างและอวัยวะบางอย่างใกล้เคียงกับสัตว์อื่น ๆ เช่น ช้าง ม้า วัว แมว หมู ฯลฯ แต่มีขนาดตัวไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป เห็นอวัยวะได้ชัดเจน เคลื่อนย้ายง่าย จึงใช้สุนัขเป็นต้นแบบสำหรับเรียนวิชากายวิภาคในสัตว์ชนิดอื่น ๆ ซึ่งนอกจากวิชากายวิภาคแล้ว ก็จะมีรายวิชาอื่น ๆ ที่ต้องใช้อาจารย์ใหญ่ในการเรียนด้วยเช่นกัน เช่น วิชาพยาธิวิทยาตามระบบ (Systemic pathology) ซึ่งจะใช้อาจารย์ใหญ่มาศึกษาวิธีการผ่าชันสูตรโรค และทำการผ่าชันสูตรเพื่อหาสาเหตุของการตาย ซึ่งวิชานี้นักศึกษาสัตวแพทย์จะเรียนกันตอนปี 4 ครับ

     ในแต่ละปีจึงมีความจำเป็นต้องใช้อาจารย์ใหญ่มากพอสมควร เพราะต้องเรียนกันหลายวิชาและหลายชั้นปี อย่างตอนที่ผมเรียนสัตวแพทย์ชั้นปีที่ 2 ที่มหิดล รุ่นเรามีประมาณ 50 คน อาจารย์ได้แบ่งนักศึกษาเป็นกลุ่มละ 3 คน ตอนนั้นเราใช้อาจารย์ใหญ่ทั้งหมด 20 ร่าง เพราะต้องใช้มาเป็นร่างสาธิตในตอนเรียนและใช้ตอนที่สอบเก็บคะแนนด้วย ซึ่งแต่ละกลุ่มจะต้องใช้ซากของอาจารย์ใหญ่นี้ไปตลอดจนเรียนจบรายวิชาทั้งสิ้น 3 เทอม อาจารย์ใหญ่ของกลุ่มผมเป็นสุนัขพันธุ์ไทย เพศเมีย สีขาวลายน้ำตาล

     ตอนที่เรียนกับอาจารย์ใหญ่คาบแรก ก็ตื่นเต้นอยู่เหมือนกันครับ เพราะรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นหมอ และกำลังจะได้ลงมือผ่าตัดครั้งแรก แม้จะเป็นซากที่ไม่มีชีวิตก็ตาม พวกเราไล่เรียนกันตั้งแต่ผิวหนัง กล้ามเนื้อ เส้นเลือด เส้นประสาท อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ฯลฯ เรียกได้ว่าเราใช้อาจารย์ใหญ่คุ้มมาก เพราะต้องศึกษากันแบบแทบจะทุกตารางนิ้วกันเลยทีเดียว ดูทุกกล้ามเนื้อ ดูเส้นเลือดและเส้นประสาทที่สำคัญ ตำแหน่งของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เพื่อใช้เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับการเรียนสัตวแพทย์ในชั้นปีต่อไป ซึ่งนอกจากสุนัขแล้ว นักศึกษาสัตวแพทย์ก็จะต้องเรียนกายวิภาคของสัตว์อื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย โดยใช้อาจารย์ใหญ่สุนัขเป็นต้นแบบครับ

     ผมถือว่าสัตว์ทุกตัวที่สละร่างเพื่อมาเป็นอาจารย์ใหญ่มีพระคุณเป็นอย่างมากกับวิชาชีพสัตวแพทย์ครับ แม้อาจารย์จะไม่ได้สอนบรรยายด้วยคำพูด แต่ร่างกายที่สละมาให้นั้น ก็ถือเป็นการให้ความรู้ที่ยิ่งใหญ่มาก แม้จะเกิดมาเป็นเพียงแค่สัตว์เดรัจฉานเป็นกลับอาจารย์ที่ยิ่งใหญ่สร้างคนธรรมดาให้เป็นสัตวแพทย์เอาไว้รักษาสัตว์น้อยใหญ่ให้มีชีวิตต่อไปได้ น่าเคารพมากครับ"


Dogilike.com :: เมื่อร่างไร้วิญญาณของน้องหมากลายมาเป็น ... อาจารย์ใหญ่



     และนี่ก็คือเรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับ "อาจารย์ใหญ่สุนัข" ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้นะคะ ... สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่มีความประสงค์จะให้สุนัขของตนเองบริจาคร่างเป็นอาจารย์ใหญ่ก็สามารถติดต่อได้ที่โรงพยาบาลสัตว์ ม.มหิดล โดยเจ้าของต้องไปเขียนแบบฟอร์มการบริจาคและนำสุนัขไปเองค่ะ โดยมีหลักเกณฑ์คือ สุนัขต้องเสียชีวิตไม่เกิน 24 ชั่วโมง และไม่ได้เสียชีวิตจากโรคติดต่อร้ายแรง เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคเลปโตสไปโรซีส (โรคฉี่หนู) เป็นต้น และจะต้องไม่ได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่ทำให้อวัยวะภายในฉีกขาด กระดูกแตก แข้งขาหัก ซึ่งสัตวแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าสุนัขตัวใดเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ค่ะ ...

     การจากไปของสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รักย่อมสร้างความโศกเศร้าเสียใจให้กับเจ้าของ แต่เมื่อเขาจากไปแล้ว สิ่งที่เจ้าของอย่างเราจะทำให้เขาได้ดีที่สุดเป็นสิ่งสุดท้ายก็คือ ใช้ร่างของเขาให้มีประโยชน์สูงสุดโดยเปลี่ยนความเสียใจในครั้งนี้มาเป็นการสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ เพราะร่างของสุนัขของเรามีคุณค่าต่อวงการสัตวแพทย์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะมีประโยชน์ต่อการศึกษาของเหล่านิสิตนักศึกษาสัตวแพทย์ทั้งหลายที่จำเป็นต้องใช้ร่างไร้วิญญาณนั้นเป็นพื้นฐานสําหรับการเรียน และนําความรู้ไปใช้รักษาสัตว์ตัวอื่น ๆ ต่อไปค่ะ



 

บทความโดย: Dogilike.com
http://www.dogilike.com/


ภาพประกอบบางส่วน :
http://www.northwestpetclinic.com/what-you-need-know-about-pet-vomit