โดย: saiparnparn

ไขข้อข้องใจ ทำไมต่างประเทศถึงไม่ค่อยมีหมาจรจัด!

มาดูกฏหมายและมาตรการต่างๆที่ต่างประเทศเขาใช้จัดการปัญหาหมาจรจัดกันเถอะ

4 สิงหาคม 2560 · · อ่าน (14,980)
1,422

SHARES


1,422 shares
 
Dogilike.com :: ไขข้อข้องใจ ทำไมต่างประเทศถึงไม่ค่อยมีหมาจรจัด!


     เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ หรือดูรายการท่องเที่ยวต่าง ๆ ตามโทรทัศน์ เพื่อน ๆ หลายคนคงเคยสงสัยกันใช่ไหมคะ ว่าทำไมต่างประเทศถึงไม่ค่อยมีน้องหมาจรจัดมาเดินเพ่นพ่านตามย่านชุมชน หรือนอนเกะกะตามทางเข้าออกสถานที่ต่าง ๆ เหมือนบ้านเรา วันนี้ Dogilike จะมาไขข้อข้องใจ และพาเพื่อน ๆ ไปแอบดูกฏหมายและมาตรการต่าง ๆ ที่ต่างประเทศเขาใช้ในการรณรงค์ลดจำนวนสุนัขจรจัด จะมีประเทศไหนบ้าง มาตรการต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร และจะสามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้บ้างหรือเปล่า ไปชมกันค่ะ
 
 

     ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศแรกในโลกที่ไร้สุนัขจรจัด
 

     ปัจจุบันประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ประกาศตัวเป็น ประเทศแรกของโลกที่ไม่มีสุนัขจรจัดเลยสักตัว! เพราะประเทศเนเธอร์แลนด์มีกฏหมายป้องกันการทารุณสัตว์ที่รุนแรงและเคร่งครัด หากผู้ใดปล่อยปะละเลย ไม่ให้การดูแลที่เหมาะสม หรือทอดทิ้งสุนัข อาจโดนโทษปรับมากกว่า 16,000 ยูโร หรือประมาณ 600,000 บาท! ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการทารุณสัตว์ร่วมด้วย ก็อาจต้องรับโทษจำคุกมากกว่า 3 ปีอีกด้วย
 
Dogilike.com :: ไขข้อข้องใจ ทำไมต่างประเทศถึงไม่ค่อยมีหมาจรจัด!

 
     นอกเหนือจากนั้นแล้ว รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยังให้การสนับสนุนเรื่องการทำหมันฟรีให้กับสัตว์เลี้ยง และสุนัขจรจัด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการขยายพันธุ์ต่อ อีกทั้งยังสนับสนุนให้รับสุนัขจากสถานสงเคราะห์มาเลี้ยงมากกว่าการซื้อสุนัข โดยสุนัขจากสถานสงเคราะห์สัตว์ จะมีราคาถูกและเก็บภาษีน้อยกว่าสุนัขที่ขายตามร้านค้า ทำให้ประชาชนนิยมหันไปรับสุนัขจากสถานสงเคราะห์มาเลี้ยงกันมากขึ้น กฏหมายและมาตรการทั้งหมดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เลี้ยงสัตว์ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสัตว์เลี้ยงของตนให้ดี และไม่ทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงของตน กฏหมายรุนแรงและเคร่งครัดขนาดนี้ ไม่แปลกใจเลยจริง ๆ ที่ประเทศนี้ประสบความสำเร็จในการลดจำนวนสุนัขจรจัดลงได้
 
 

     ประเทศเยอรมนี ประเทศที่สุนัขมีความสุขที่สุดในโลก
 

     ที่ประเทศเยอรมนีนั้นมีสุนัขจรจัดน้อยมาก  เพราะผู้คนส่วนใหญ่ปฏิบัติต่อสุนัขของตนอย่างดีราวกับเขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว สถานสงเคราะห์สัตว์ของประเทศเยอรมนีแทบไม่เคยเต็ม และไม่เคยมีปัญหาเรื่องสุนัขจรจัดเยอะเกินจนไม่มีพื้นที่ให้อยู่ เพราะประเทศเยอรมนีรณรงค์ให้ผู้เลี้ยงสุนัขทำหมัน และฝังไมโครชิพให้สุนัขของตนอยู่เสมอ และในบางรัฐของประเทศเยอรมนี ผู้ที่ต้องการเลี้ยงสุนัขยังต้องผ่านการสอบข้อเขียนก่อน ถึงจะรับสุนัขไปเลี้ยงได้ ซึ่งข้อสอบนี้เรียกว่า Hundeführerschein เป็นข้อสอบที่มีจุดประสงค์เพื่อดูว่าผู้เลี้ยงรู้วิธีเลี้ยงสุนัขอย่างถูกต้องหรือไม่ และสุนัขที่จะถูกรับไปเลี้ยง ก็ต้องผ่านการทดสอบพฤติกรรมจากสัตวแพทย์เช่นกัน
Dogilike.com :: ไขข้อข้องใจ ทำไมต่างประเทศถึงไม่ค่อยมีหมาจรจัด!

 
     นอกจากนั้น ในประเทศเยอรมนียังมีการจัดเก็บภาษีผู้เลี้ยงสุนัขเป็นประจำทุกปี เรียกว่าภาษี Hundesteuer ซึ่งหากสุนัขที่เลี้ยงอยู่นั้นถูกรับมาจากสถานสงเคราะห์ ผู้เลี้ยงจะได้รับส่วนลดค่าภาษีนี้อีกด้วย ซึ่งภาษีที่เก็บได้นั้น จะนำไปพัฒนาและปรับปรุงสถานสงเคราะห์สัตว์ในประเยอรมนี ทำให้สถานสงเคราะห์สัตว์ของที่นี่เป็นมากกว่าสถานที่ที่สุนัขมาแออัดกันเพื่อรอคอยใครสักคนมารับไปดูแล เพราะในสถานสงเคราะห์สัตว์แต่ละที่นั้นมีสภาพแวดล้อมที่ดูดี สวยงาม มีสนามหญ้าให้สุนัขวิ่งเล่น มีบริการสัตวแพทย์ มีศูนย์ตามหาสุนัขหาย และบางที่ยังมีศูยน์ดูแลสุนัขสูงอายุ และ มีสุสานเพื่อฝังร่างสุนัขที่เสียชีวิตอีกด้วย เรียกได้ว่าสุนัขในประเทศนี้ได้รับการดูแลและเอาใจใส่อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นสุนัขที่มีเจ้าของหรือสุนัขในสถานสงเคราะห์ก็ตาม

 

     ประเทศญี่ปุ่น สวรรค์ของคนรักสัตว์
 

     ประเทศญี่ปุ่น ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่ามีคนรักสัตว์อยู่มากมาย และมักจะออกกฏหมายเพื่อคุ้มครองสัตว์ต่าง ๆ อยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2013 ประเทศญี่ปุ่นได้ออกมาตรการกำหนดเงื่อนไขการซื้อขายสัตว์เลี้ยง โดยไม่ให้แยกลูกหมาหรือลูกแมวออกจากแม่ในช่วง 56 วันหลังคลอด ซึ่งมาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ในปี 2018 อีกมาตรการหนึ่งก็คือ ห้ามไม่ให้ร้านค้าทำการซื้อขายสัตว์เลี้ยงก่อนเวลา 8.00 นาฬิกา และหลังเวลา 20.00 นาฬิกา เพื่อป้องกันไม่ให้มีร้านค้าที่ขายสัตว์เลี้ยงตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งส่งกระทบต่อสุขภาพของสัตว์ ซึ่งมาตรการดังกล่าวสามารถป้องกันไม่ให้ผู้เพาะพันธุ์ที่เห็นแก่ได้เร่งเพาะพันธุ์สัตว์เพื่อนำมาขายโดยไม่คำนึงถึงสุขภาพของสัตว์ เพราะสุดท้ายแล้ว สุนัขและแมวที่อ่อนแอพวกนี้ก็มักถูกทอดทิ้งให้กลายเป็นสุนัขและแมวจรจัดในที่สุด
 
Dogilike.com :: ไขข้อข้องใจ ทำไมต่างประเทศถึงไม่ค่อยมีหมาจรจัด!

 
     นอกเหนื่อจากมาตรการดังกล่าวแล้ว ปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นเริ่มให้ความสนใจกับโครงการ TNR ซึ่งย่อมาจาก ดักจับ (trap) ทำหมัน (neuter) และปล่อยคืน (release) ซึ่งเป็นโครงการจิตอาสาที่กำลังขยายโครงการไปทั่วประเทศญี่ปุ่น โครงการนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างคนในท้องที่ กับองค์ช่วยเหลือและควบคุมสุนัขจรจัด มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันปัญหาและลดจำนวนสุนัขและแมวจรจัดในระยะยาว โดยการจับสุนัขและแมวตามพื้นที่ต่างๆมาทำหมันนั่นเอง ถึงประเทศญี่ปุ่นจะยังมีปัญหาเรื่องสุนัขจรจัดอยู่บ้าง แต่ประเทศญี่ปุ่นก็มักขยันออกกฏหมายใหม่ ๆ มาเพื่อจัดการกับปัญหานี้ และ คุ้มครองสิทธิของสัตว์เลี้ยงอยู่ตลอด เรียกได้ว่าเป็นประเทศของคนรักสัตว์โดยแท้จริง
 
 

     ประเทศสิงคโปร์ ประเทศที่สะอาดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
 

     ประเทศสิงคโปร์ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ดูแลและใส่ใจเรื่องปัญหาสุนัขจรจัดเป็นอย่างดี และได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่สะอาดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้น บางสถานที่จึงระบุไว้ชัดเจนว่าห้ามนำสุนัขเข้ามา โดยเฉพาะในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ  แต่ก็ยังมีอีกหลายสถานที่ในสิงคโปร์ที่ต้อนรับสุนัข เช่น สวนสาธารณะ ชายหาด หรือร้านอาหารบางร้าน อย่างไรก็ตาม ผู้เลี้ยงต้องคอยดูแลไม่ให้สุนัขของตนขับถ่ายเรี่ยราดตามสถานที่ต่าง ๆ มิฉะนั้นจะต้องจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนเงินกว่า 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 25,000 บาท นอกจากนั้น รัฐบาลสิงคโปร์ยังออกกฏหมายห้ามทารุณกรรมและทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง หากฝ่าฝืน อาจโดนปรับเป็นจำนวนเงินกว่า 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 250,000 บาท หรือต้องโทษจำคุก 1 ปีเป็นอย่างน้อย
 
Dogilike.com :: ไขข้อข้องใจ ทำไมต่างประเทศถึงไม่ค่อยมีหมาจรจัด!

 
     ในส่วนของการรับอุปการะสุนัขในประเทศสิงคโปร์ ยังมีกฏหลายข้อที่ผู้อุปการะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด อีกทั้งค่าธรรมเนียมในการรับอุปการะยังแปรผันตามอายุของสุนัขอีกด้วย โดยสุนัขที่มีอายุมาก จะมีค่าธรรมเนียมถูกกว่าสุนัขที่มีอายุน้อย หรือ ลูกสุนัข เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนสนใจรับอุปการะสุนัขที่มีอายุมากเพิ่มขึ้น และก่อนจะรับสุนัขไปเลี้ยง ทางครอบครัวอุปถัมภ์ต้องเข้ามาพบและทำความคุ้นเคยกับสุนัขก่อน และต้องเตรียมเอกสารเช่น เอกสารยืนยันการเสียภาษี โฉนดที่ดิน หรือเอกสารอนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่พักอาศัย ผู้รับอุปการะต้องมีอายุมากกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และหากในครอบครับอุปถัมภ์มีสมาชิกเป็นเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี ห้ามอุปการะสุนัขขนาดใหญ่เด็ดขาด หรือหากมีสุนัขที่บ้านอยู่ก่อนแล้ว อาจต้องนำสุนัขตัวนั้นมาทำความคุ้นเคยกับสุนัขตัวที่จะอุปการะอีกด้วย กระบวนการทั้งหมดนี้มีวัตุประสงค์เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าสุนัขที่ถูกรับอุปการะไปนั้นจะไม่ถูกทอดทิ้งอีกเป็นครั้งที่สองนั่นเอง
 
     คราวนี้ เพื่อน ๆ คงหายสงสัยกันแล้วใช่ไหมคะ ว่าทำไมประเทศเหล่านี้ถึงไม่ค่อยมีสุนัขจรจัด เพราะเขามีกฏหมายที่เคร่งครัด และมีการดูแลสุนัขในประเทศอย่างดีเยี่ยมนั่นเองค่ะ ต้องขอปรบมือดัง ๆ ให้กับคนในประเทศที่มีความรับผิดชอบในการเลี้ยงสุนัข และให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด และก็ต้องขอชมรัฐบาลที่ใส่ใจเรื่องปัญหาสุนัขจรจัดในประเทศด้วยนะคะ ^^
 

บทความโดย : Dogilike

www.dogilike.com
 

ข้อมูลอ้างอิง :
www.urdogs.com/holland-is-the-first-country-to-not-have-stray-dogs/
en.rocketnews24.com/2014/08/08/still-a-ways-to-go-but-animal-welfare-in-japan-is-improving-by-leaps-and-bounds/
www.expatfocus.com/expatriate-singapore-animal-welfare
www.cesarsway.com/about-dogs/dog-news/One-big-Barktoberfest-Dog-culture-in-Germany

ภาพประกอบ :
kids.nationalgeographic.com/explore/countries/netherlands/#netherlands-tulip-fields.jpg
www.rover.com/blog/diy-dog-costumes-shapes-sizes/
www.amazon.de/Haustier-Oktoberfest-Lederhosen-Halloween-Weihnachtskost%C3%BCm/dp/B00OBIC8Y8
www.aliexpress.com/w/wholesale-japanese-floral-design.html
www.myoodle.com/blog/jet-cavoodle-does-marina-bay-singapore
vanillapup.com/2014/11/10/10-dog-friendly-places-to-bring-your-dog-in-singapore/