โดย: Tonvet

ต้องอ่าน!! กฎหมายที่ผู้เลี้ยงสุนัขต้องรู้

มาดูกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสุนัขกัน

28 สิงหาคม 2560 · · อ่าน (72,469)
1,185

SHARES


1,185 shares

Dogilike.com :: ต้องอ่าน!! กฎหมายที่ผู้เลี้ยงสุนัขต้องรู้

 


 
     การเลี้ยงสุนัขทุกวันนี้นอกจากจะต้องเรียนรู้เทคนิคการเลี้ยงดูและการฝึกสุนัขแล้ว สิ่งหนึ่งที่ยังจำเป็นต้องรู้เลยก็คือ "กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุนัข" ทุกสังคมจำเป็นต้องมีกฎหมาย เพื่อเป็นกรอบให้ประชาชนได้ปฏิบัติตาม จะได้เกิดความสงบเรียบร้อย  เป็นไปตามทิศทางเดียวกัน ช่วยลดปัญหาสังคม ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงก็เพิ่มขึ้นมากมาย ดังนั้นเราจึงต้องศึกษาหาความรู้ในส่วนนี้ไว้ วันนี้ "ด็อกไอไลค์ (Dogilike)" ได้รวบรวมข้อกฎหมายสำคัญ ๆ อย่างเช่น ประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ ข้อบัญญัติท้องถิ่น ฯลฯ มาให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันครับ 
 
 
 
 
 

ประมวลกฎหมายอาญา

 
 

     สำหรับกฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม มีการกำหนดความผิดเอาไว้ชัดเจน เพื่อควบคุมบุคคลให้ประพฤติตนให้อยู่ภายในขอบเขตที่ถูกต้อง ไม่ให้ละเมิดสิทธิ์ของบุคคลอื่น ซึ่งมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์อยู่บางมาตรา ดังนี้
 
 
 
     มาตรา 377 ผู้ใดควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลําพัง ในประการที่อาจทําอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
 
     มาตรา 381 ผู้ใดกระทําการทารุณต่อสัตว์หรือฆ่าสัตว์โดยให้ได้รับทุกขเวทนาอันไม่จําเป็น ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
 
     มาตรา 382  ผู้ใดใช้ให้สัตว์ทำงานจนเกินสมควรหรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควร เพราะเหตุที่สัตว์นั้นป่วยเจ็บ ชราหรืออ่อนอายุ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
     มาตรา 396  ผู้ใดทิ้งซากสัตว์ซึ่งอาจเน่าเหม็น ในหรือริมทางสาธารณะ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
 
 
 
 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 
 
 
     เป็นกฎหมายเอกชนว่าด้วยเรื่องสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ ระหว่างเอกชนต่อเอกชน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ซึ่งจะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์และทรัพย์สิน รวมถึงข้อกฎหมายชี้แจงไว้ หากเกิดการละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายต่ออีกฝ่ายขึ้น ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์อยู่บางมาตรา ดังนี้
 
 
     มาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่า เจ้าของสัตว์ หรือ บุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้น ย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น
 
     อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้น ๆก็ได้
 
 
 
 

พระราชบัญญัติ ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557

 
 

     กฎหมายนี้เป็นฉบับหนึ่งที่คนรักสัตว์เฝ้ารอมานาน และเพิ่งออกมาบังคับใช้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งเนื้อหาครอบคลุมต่อสัตว์ทุกชนิด รวมถึงน้องหมาด้วย ซึ่งแต่เดิมเรามีเฉพาะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 381 และ 382 ที่พูดถึงการทารุณสัตว์ที่ไม่ใช่เหตุจำเป็นหรือไม่ควรเท่านั้น และก็จะมีโทษน้อยมาก คือ จำคุกไม่เกิน 1 เดือนและปรับไม่เกิน 1000 บาท ทำให้คนไม่กลัวและไม่เกิดความเป็นธรรมกับสัตว์ จึงมีการผลักดันกฎหมายฉบับบนี้ออกมา ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญดังต่อไปนี้
 
 
     มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
 
 
     “การทารุณกรรม” หมายความว่า การกระทําหรืองดเว้นการกระทําใด ๆ ที่ทําให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวดความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทําให้สัตว์นั้นตาย และให้หมายความรวมถึงการใช้สัตว์พิการ สัตว์เจ็บป่วย สัตว์ชรา หรือสัตว์ที่กําลังตั้งท้องเพื่อแสวงหาประโยชน์ ใช้สัตว์ประกอบกามกิจ ใช้สัตว์ทํางานจนเกินสมควรหรือใช้ให้ทํางานอันไม่สมควรเพราะเหตุที่สัตว์นั้นเจ็บป่วย ชราหรืออ่อนอายุ
 
     “การจัดสวัสดิภาพสัตว์” หมายความว่า การเลี้ยงหรือการดูแลให้สัตว์มีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีที่อยู่ อาหาร และน้ําอย่างเพียงพอ
 
     “เจ้าของสัตว์” หมายความว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์ และให้หมายความรวมถึงผู้ครอบครองสัตว์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแล ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้ดูแลด้วย
 
 
     มาตรา 20 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทําการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร
 
 
     มาตรา 23 ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทําการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควรการกระทําตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองให้แก่ผู้ซึ่งประสงค์จะนําสัตว์ไปดูแลแทน
 
 
 
     มาตรา 31 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 20 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ
 
 
 


Dogilike.com :: ต้องอ่าน!! กฎหมายที่ผู้เลี้ยงสุนัขต้องรู้


 


 

พระราชบัญญัติ โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535

 
 
 
     เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุนัขและสัตว์ควบคุมทุกชนิดตามประกาศในกฎกระทรวง เนื่องจากเป็นโรคติดต่อสู่คนที่สำคัญปัจจุบันยังไม่มีการรักษา ผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจึงควรต้องใส่ใจป้องกัน โดยเฉพาะสุนัขซึ่งในกฎหมายฉบันนี้ได้กำหนดข้อกฎหมายสำคัญเอาไว้ ดังนี้
 
 
     มาตรา 5  เจ้าของสัตว์ควบคุมต้องจัดการให้สัตว์ควบคุมทุกตัวได้รับการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์ หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ตามกำหนดเวลาดังนี้
 
     (1)  ในกรณีของสุนัข ให้เจ้าของจัดการให้สุนัขได้รับการฉีดวัคซีนครั้งแรกเมื่อสุนัขนั้นมีอายุตั้งแต่สองเดือนขึ้นไปแต่ไม่เกินสี่เดือน และได้รับการฉีดวัคซีนครั้งต่อไปตามระยะเวลาที่กำหนดในใบรับรองการฉีดวัคซีน
 
 
     มาตรา 6  เมื่อสัตว์ควบคุมได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว สัตวแพทย์หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ ซึ่งเป็นผู้ฉีดวัคซีนต้องมอบเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ ซึ่งแสดงว่าสัตว์ควบคุมนั้นได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และใบรับรองการฉีดวัคซีนให้แก่เจ้าของสัตว์ควบคุม เจ้าของสัตว์ควบคุมต้องแสดงเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ตามวรรคหนึ่งไว้ที่ตัวสัตว์ควบคุมให้เห็นได้ชัดเจน ลักษณะเครื่องหมายประจำตัวสัตว์และใบรับรองการฉีดวัคซีนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
 
 
     มาตรา 7  ในกรณีที่เครื่องหมายประจำตัวสัตว์หรือใบรับรองการฉีดวัคซีนตามมาตรา ๖ สูญหาย หรือชำรุดในสาระสำคัญก่อนที่เครื่องหมายประจำตัวสัตว์หมดอายุหรือก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบรับรองการฉีดวัคซีนนั้น แล้วแต่กรณี ให้เจ้าของสัตว์ควบคุมขอรับเครื่องหมายประจำตัวสัตว์หรือใบรับรองการฉีดวัคซีนแทนของเดิม แล้วแต่กรณี ภายในสิบห้าวันนับแต่วันทราบเหตุนั้น และต้องแสดงเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ดังกล่าวไว้ที่ตัวสัตว์ควบคุมให้เห็นได้ชัดเจน
 
     ในกรณีที่เจ้าของสัตว์ควบคุมขอรับเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ หรือใบรับรองการฉีดวัคซีนแทนของเดิมตามวรรคหนึ่ง จากสัตวแพทย์หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ เจ้าของสัตว์ควบคุมต้องเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
 
     มาตรา 9  ในที่สาธารณะ ถ้าปรากฏว่าสัตว์ควบคุมใดไม่มีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ตามมาตรา 6 หรือมาตรา 7 หรือมีแต่เป็นเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ปลอม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจจับสัตว์ควบคุมนั้นเพื่อกักขัง ถ้าไม่มีเจ้าของมาขอรับคืนภายในห้าวัน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจทำลายสัตว์ควบคุมนั้นได้
 
 
     มาตรา 12  ในกรณีที่สัตว์ควบคุมใดถูกสัตว์ควบคุมอื่นที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ไม่ว่าสัตว์ควบคุมที่ถูกกัดจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ ให้เจ้าของสัตว์ควบคุมนั้นแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รู้ว่าถูกกัด เพื่อให้สัตว์ควบคุมนั้นได้รับการฉีดวัคซีน


     ให้เจ้าของสัตว์ควบคุมเฝ้าสังเกตอาการของสัตว์ควบคุมที่ถูกกัดไว้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนนับแต่เวลาที่รู้ว่าถูกกัด หากปรากฏว่าสัตว์ควบคุมนั้นมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้เจ้าของสัตว์ควบคุมกักขังสัตว์ควบคุมนั้นไว้และแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่พบว่าสัตว์ควบคุมนั้นมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า
 
 
     ในกรณีที่สัตว์ควบคุมที่เจ้าของสัตว์ควบคุมเฝ้าสังเกตอาการตามวรรคสองตาย หรือสูญหายภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้เจ้าของสัตว์ควบคุมนั้นแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รู้ว่า ตาย หรือสูญหาย และให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
 
 
 
 

พระราชบัญญัติ รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535

 
 
     เป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้สังคมเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดสะอ้านน่าอยู่ โดยจะกล่าวถึงข้อกำหนดที่ทุกคนพึงต้องกระทำทั้งในที่สาธารณะ ทางน้ำ ถนนอาคาร ฯลฯ เพื่อให้คนในสังคมนั้นอยู่รวมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งมีบางข้อที่พูดถึงสัตว์เลี้ยง และการเลี้ยงสัตว์เอาไว้ ดังนี้
 
 
     มาตรา 14  ห้ามมิให้ผู้ใด
         
     (1) ปล่อยสัตว์ นำสัตว์ หรือจูงสัตว์ไปตามถนนหรือเข้าไปในบริเวณที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ประกาศห้ามไว้
  
     (2) ปล่อยให้สัตว์ถ่ายมูลบนถนนและมิได้ขจัดมูลดังกล่าวให้หมดไป
          
     ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ได้รับหนังสืออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้นำขบวนสัตว์หรือฝูงสัตว์หรือจูงสัตว์ไปตามถนน และได้เสียค่าธรรมเนียมรักษาความสะอาดตามข้อกำหนดของท้องถิ่น
 
 
     มาตรา 22  ห้ามมิให้ผู้ใดจูง ไล่ หรือต้อนสัตว์ลงไปในทางน้ำซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปิดประกาศห้ามไว้ ณ บริเวณดังกล่าว
 
 
     มาตรา 28  ห้ามมิให้ผู้ใดปล่อยหรือจูงสัตว์เข้าไปในบริเวณที่ราชการส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนอื่น หรือรัฐวิสาหกิจได้ปลูกหรืออนุญาตให้ผู้อื่นปลูกหญ้าหรือต้นไม้ไว้ และได้ปิดประกาศหรือปักป้ายห้ามไว้
 
 
 
 

พระราชบัญญัติ การสาธารณสุข พ.ศ. 2535

 
 
     เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุขลักษณะและสุขภาพของคนในสังคม ซึ่งใน หมวดที่  6 จะมีข้อกฎหมายที่กล่าวถึง "การควบคุมการเลี้ยงหรือการปล่อยสัตว์" แน่นอนว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้เลี้ยงสุนัข โดยมีกฎหมาย ดังนี้
 
 
     มาตรา 29  เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชนในท้องถิ่นหรือเพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์ ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อกำหนดของท้องถิ่นกำหนดให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของพื้นที่ในเขตอำนาจของราชการส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นเขตควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ได้
           
     การออกข้อกำหนดของท้องถิ่นตามวรรคหนึ่ง ราชการส่วนท้องถิ่นอาจกำหนดให้เป็นเขตห้ามเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์บางชนิดหรือบางประเภทโดยเด็ดขาดหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนด หรือเป็นเขตที่การเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์บางชนิดหรือบางประเภทต้องอยู่ในภายใต้มาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
          
 
     มาตรา 30  ในกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นพบสัตว์ในที่หรือทางสาธารณะอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 29  โดยไม่ปรากฏเจ้าของ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจกักสัตว์ดังกล่าวไว้เป็นเวลาอย่างน้อยสามสิบวัน เมื่อพ้นกำหนดแล้วยังไม่มีผู้ใดมาแสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของเพื่อรับสัตว์คืน ให้สัตว์นั้นตกเป็นของราชการส่วนท้องถิ่น แต่ถ้าการกักสัตว์ไว้อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่สัตว์นั้นหรือสัตว์อื่น หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายเกินสมควร เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะจัดการขายหรือขายทอดตลาดสัตว์นั้นตามควรแก่กรณีก่อนถึงกำหนดเวลาดังกล่าวก็ได้ เงินที่ได้จากการขายหรือขายทอดตลาดเมื่อได้หักค่าใช้จ่ายในการขายหรือขายทอดตลาดและค่าเลี้ยงดูสัตว์แล้ว ให้เก็บรักษาไว้แทนสัตว์
           
 
     ในกรณีที่มิได้มีการขายหรือขายทอดตลาดสัตว์ตามวรรคหนึ่ง และเจ้าของสัตว์มาขอรับสัตว์คืนภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง เจ้าของสัตว์ต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงดูสัตว์ให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่นตามจำนวนที่ได้จ่ายจริงด้วย
           

     ในกรณีที่ปรากฏว่าสัตว์ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นพบนั้นเป็นโรคติดต่ออันอาจเป็นอันตรายต่อประชาชน ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจทำลายหรือจัดการตามที่เห็นสมควรได้
 
 
 

ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548

 

 
     เป็นกฎหมายท้องถิ่นที่แต่จะพื้นที่จะออกกฎหมายมาบังคับใช้กับคนที่อาศัยอยู่ในท้องที่นั้น ๆ ให้ปฏิบัติตามข้อบังคับ ซึ่งสำหรับกรุงเทพมหานครก็มีข้อบัญญัตที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงหรือการปล่อยสุนัขเช่นกัน เรามาดูข้อกฎหมายสำคัญกันครับว่าจะมีอะไรบ้าง
 
 
     “สุนัขควบคุมพิเศษ” หมายความว่า
 
     (1) สุนัขสายพันธุ์ที่ดุร้าย เช่น พิทบูลเทอเรีย บูลเทอเรีย สเตฟฟอร์ดเชอร์บูลเทอเรีย รอทไวเลอร์ และฟิล่าบราซิลเรียโร เป็นต้น
 
     (2) สุนัขที่มีประวัติทำร้ายคน หรือพยายามทำร้ายคน
 
 
     ข้อ 16 ในการเลี้ยงสุนัข เจ้าของสุนัขต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
 
     (1) จัดสถานที่เลี้ยงตามความเหมาะสมของสุนัข โดยมีขนาดเพียงพอแก่การดำรงชีวิตของสุนัข มีแสงสว่างและการระบายอากาศที่เพียงพอ มีระบบการระบายน้ำและกำจัดสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะ กรณีเป็นสุนัขควบคุมพิเศษจะต้องเลี้ยงในสถานที่ หรือกรงที่สุนัขไม่สามารถเข้าถึงบุคคลภายนอก และมีป้ายเตือนให้ระมัดระวังโดยสังเกตได้อย่างชัดเจน
 
     (2) ควบคุมสุนัขมิให้ออกนอกสถานที่เลี้ยงโดยปราศจากการควบคุม
 
     (3) ควบคุมดูแลสุนัขมิให้ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ เช่น ก่อให้เกิดเสียงดังติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ เป็นต้น
 
     (4) รักษาสถานที่เลี้ยงสุนัขให้สะอาดอยู่เสมอ จัดเก็บสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะเป็นประจำไม่ปล่อยให้เป็นที่สะสมหมักหมมจนเกิดกลิ่นเหม็นรบกวนผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
 
     (5) ต้องรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ของสุนัข เช่น เรื่องอาหาร ความสะอาด เป็นต้น ถ้าเจ้าของสุนัขไม่สามารถเลี้ยงดูสุนัขได้เป็นการชั่วคราว จะต้องจัดให้มีผู้ดูแลความเป็นอยู่ของสุนัขให้เป็นปกติสุข
 
 
     ข้อ 17 ห้ามมิให้ผู้ใดเลี้ยงสุนัขในที่หรือทางสาธารณะ หรือในที่ของบุคคลอื่นโดยปราศจากความยินยอม
 
 
     ข้อ 20 ผู้ใดนำสุนัขออกนอกสถานที่เลี้ยง ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
 
     (1) พกบัตรประจำตัวสุนัขและต้องแสดงบัตรประจำตัวสุนัขเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเจ้าพนักงานสาธารณสุข หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกตรวจ
 
     (2) ผูกสายลากจูงสุนัขที่แข็งแรงและจับสายลากจูงตลอดเวลา ในกรณีที่เป็นสุนัขควบคุมพิเศษต้องใส่อุปกรณ์ครอบปากและจับสายลากจูงห่างจากตัวสุนัขไม่เกินห้าสิบเซนติเมตรตลอดเวลา
 
     ข้อ 21 ห้ามบุคคลอายุต่ำกว่าสิบห้าปี หรือเกินกว่าหกสิบห้าปี นำสุนัขควบคุมพิเศษออกนอกสถานที่เลี้ยง เว้นแต่จะอยู่ในกรง ที่ขัง หรือเครื่องควบคุมอื่น ที่มั่นคงแข็งแรง เพียงพอที่จะป้องกันสุนัขมิให้เข้าถึงบุคคลภายนอก

 
 
และทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อกฎหมายสำคัญ ที่ผู้เลี้ยงสุนัขทุกคนควรรู้ไว้ครับ




บทความโดย : Dogilike.com
https://www.dogilike.com


ข้อมูลบางส่วนจาก:
http://www.krisdika.go.th/wps/portal/general

 
ที่มาและภาพประกอบ :
https://media.giphy.com/media/k2s890k78CedO/giphy-facebook_s.jpg
http://stubbydog.org/wp-content/uploads/2013/08/Animal-Law.jpg