โดย: Tonvet

จริงหรือมั่ว ให้สุนัขกินไก่ดิบเสี่ยงป่วยเป็นอัมพาต?

ให้อาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุกกับสุนัขเสี่ยงเป็นอัมพาตได้จริงหรือไม่

5 กุมภาพันธ์ 2561 · · อ่าน (13,051)
400

SHARES


400 shares
  • ผลการศึกษาพบว่าการกินเนื้อไก่ดิบจะเพิ่มความเสี่ยงที่สุนัขจะเป็นอัมพาตจากโรค Acute Polynaticuloneuritis (APN) ได้ถึง 70 เท่า
     
  • สุนัขที่ป่วยจะมีอาการขาหลังอ่อนแรง มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกาย อ่อนแรงที่คอและที่ใบหน้า จนกลายเป็นอัมพาตในที่สุด
     
  • สุนัขที่เป็นโรค APN มีโอกาสติดเชื้อ Campylobacter สูงกว่าถึง 9.4 เท่า
     
  • เชื้อ Campylobacter ทำให้สุนัขแสดงอาการปวดท้อง มีไข้ ท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือดได้

Dogilike.com :: จริงหรือมั่ว ให้สุนัขกินไก่ดิบเสี่ยงป่วยเป็นอัมพาต?


 
 
     เชื่อว่าบางบ้านมีการเลือกให้สุนัขกินอาหารแบบไม่ผ่านการปรุงสุก เนื้อไก่จัดเป็นแหล่งโปรตีนที่ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่นิยมนำมาให้สุนัขกิน เนื่องจากหาได้ง่าย และมีราคาไม่สูงนัก บางบ้านก็เลือกให้สุนัขกินเนื้อไก่ดิบที่ติดกระดูกสด เพื่อให้สุนัขได้กัดแทะไปในตัว ในต่างประเทศนั้นนิยมให้สุนัขกินคอไก่ดิบ โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์เล็กเพราะมีขนาดไม่ใหญ่นัก ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้สุนัขเกิดเป็นอัมพาตได้ ผลการศึกษาของ U-vet Werribee Animal Hospital แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นพบว่า การกินเนื้อไก่ดิบจะเพิ่มความเสี่ยงที่สุนัขจะเป็นอัมพาตจากโรค Acute Polynaticuloneuritis (APN) ได้ถึง 70 เท่า โดยสุนัขจะแสดงอาการขาหลังอ่อนแรง มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกาย จากนั้นจะเกิดการอ่อนแรงที่คอและที่ใบหน้า จนกลายเป็นอัมพาตในที่สุด สุนัขบางตัวเป็นอัมพาตที่กล้ามเนื้อกะบังลม ส่งผลต่อการหายใจ และทำให้สุนัขเสียชีวิตตามมาได้


     Dr. Matthias Le Chevoir สัตวแพทย์และหัวหน้านักวิจัยของโครงการกล่าวว่า "โรคนี้เป็นโรคที่พบได้ยาก แต่ในช่วงที่ผ่านมาในคลินิกของเราพบได้ถึง 30 ราย ซึ่ง 3 ใน 10 ของสัตว์ป่วยนี้ จะรักษาไม่หายและต้องกลายเป็นอัมพาตอย่างถาวร" สำหรับโรค APN นี้นั้น จะคล้ายคลึงกับโรค Guillain-Barre' syndrome ในมนุษย์ ซึ่งมีสาเหตุจากการได้รับเชื้อแบคทีเรีย Campylobacter ที่ปนเปื้อนอยู่ในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านการปรุงสุกเพื่อฆ่าเชื้อ
 



โพสต์โดย The University of Melbourne

     ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาสุนัขจำนวน 27 ตัวซึ่งป่วยเป็นโรค APN โดยได้สำรวจข้อมูลและพฤติกรรมการกินอาหาร พร้อมทั้งได้เก็บตัวอย่างอุจจาระสุนัขที่แสดงอาการมาตรวจ เทียบกับสุนัขอีก 47 ตัวที่ไม่ได้ป่วย พบว่าสุนัขที่เป็นโรค APN มีโอกาสติดเชื้อ Campylobacter สูงกว่าถึง 9.4 เท่า ซึ่งเชื้อแบคทีเรียนี้อาจเป็นสาเหตุของอาการอัมพาตและความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกันในสุนัข โดยเชื้อ Campylobacter เป็นหนึ่งในเชื้อที่พบได้บ่อยในเนื้อไก่ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค Guillain-Barre' syndrome ในมนุษย์ได้
 
     Dr. Lorena Martinez-Anton สัตวแพทย์ได้กล่าวยืนยันว่า "ผลการตรวจแบคทีเรียเหล่านี้สอดคล้องกับสมมุติฐานว่า เนื้อไก่ดิบเป็นแหล่งของเชื้อ Campylobacter และทำให้เกิดโรค APN จนสุนัขต้องกลายเป็นอัมพาตตามมา"
 
     อย่างไรก็ดีมีผู้เลี้ยงหลายคนออกมาวิจารณ์ผลการศึกษาดังกล่าว ว่าอาจเป็นการแค่การตั้งสมมุติฐานเท่านั้น อีกทั้งยังสงสัยในความน่าเชื่อถือของผลงานวิจัยนี้ เนื่องจากประชากรตัวอย่างในการทดลองมีจำนวนน้อยเกินไป สุนัขที่ป่วยเป็นโรค APN ทั้ง 30 ราย อาจไม่ได้กินไก่สดทั้งหมด ผู้วิจัยยกสุนัขป่วยจำนวน 27 ตัว มาศึกษาเปรียบเทียบกับสุนัขที่มีสุขภาพแข็งแรงอีก 47 ตัว แล้วพบว่าสุนัขที่เป็นโรค APN มีโอกาสติดเชื้อ Campylobacter สูงกว่าถึง 9.4 เท่า ทั้ง ๆ ที่สุนัขในกลุ่มทดลองต่างก็กินเนื้อสดไก่เหมือนกัน เรื่องนี้อาจมีเป็นเพียงแค่นำมาเชื่อมโยงกับโรค Guillain-Barre' syndrome ในมนุษย์ที่ป่วยจากการบริโภคเนื้อไก่ดิบแล้วติดเชื้อ Campylobacter เพื่อให้ผลการศึกษามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ต่อไปนี้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อ Campylobacter เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ เรามาทำความรู้จักกับเชื้อ Campylobacter กันต่ออีกสักหน่อยดีกว่าครับ
 

Dogilike.com :: จริงหรือมั่ว ให้สุนัขกินไก่ดิบเสี่ยงป่วยเป็นอัมพาต?

 
     เชื้อ Campylobacter เป็นเชื่อแบคทีเรียแกรมลบ จัดเป็นเชื้อโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่สำคัญ โดยทั่วไปจะเจริญเติบโตในทางเดินอาหารของสัตว์ที่กินเอาเชื้อนี้เข้าไป ซึ่งเป็นเชื้อที่ติดต่อได้ในสัตว์หลาย ๆ ชนิด ทั้งสุนัข แมว สัตว์ปีก หมู ไก่ วัว แกะ ลิง และมนุษย์ มักจะการติดต่อผ่านการกิน โดยเชื่อจะปนเปื้อนอยู่ในอุจจาระ ปัสสาวะ เนื้อสัตว์ นม น้ำดื่ม แล้วสุนัขกินเอาเชื้อเข้าไป เชื้อสามารถจะอยู่ได้ในอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส โดยในมนุษย์ที่ป่วย เกิดจากการได้รับเชื้อนี้จากการบริโภคเนื้อไก่ดิบ คิดเป็น 50-70% ของผู้ป่วยทั้งหมดเลยทีเดียว เชื้อแบคทีเรียจะชอบอาศัยอยู่ในสำไส้ของสุนัข เมื่อสุนัขที่ได้รับเชื้อมาก ๆ ก็จะแสดงอาการปวดท้อง มีไข้ ท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด เนื่องจากเกิดลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถตรวจรู้ได้จากการนำอุจจาระไปตรวจหาเชื้อ ซึ่งเชื้อนี้อาจพบได้ทั้งในสุนัขที่มีสุขภาพปกติและสุนัขที่ป่วยก็ได้ ถ้าหากมีจำนวนไม่มากก็อาจไม่ทำให้สุนัขป่วยรุนแรง บางตัวมีอาการท้องเสียเรื้อรัง แต่ก็ยังคงร่าเริงดี ซึ่งสุนัขที่ป่วยก็สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ เพื่อลดการปนเปื้อนอันอาจติดต่อมายังมนุษย์ได้ จึงควรต้องทำความสะอาดสิงแวดล้อมที่สุนัขอยู่ด้วย โดยเฉพาะอุจจาระของสุนัขที่ป่วย 
 
     ถึงตรงนี้ไม่ว่าโรค APN ที่ทำให้สุนัขเป็นอัมพาตจะเกิดจากการติดเชื้อ Campylobacter ที่สุนัขได้รับจากการกินเนื้อไก่ไม่ผ่านการปรุงสุกหรือไม่ แต่ที่มั่นใจได้เลยก็คือว่า เชื้อดังกล่าวนี้สามารถก่อโรคในสุนัขได้แน่นอน อย่างน้อยก็ทำให้ท้องเสีย และที่สำคัญยังเป็นเชื้อที่สามารถติดต่อจากสัตว์มาสู่คนที่เลี้ยงสุนัขได้ด้วย ดังนั้นการเลือกอาหารให้สุนัขจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ จึงอยากแนะนำให้ผู้เลี้ยงเลือกอาหารที่ถูกสุขลักษณะให้กับสุนัข เพื่อความปลอดภัยของสุนัขและตัวของคุณเองครับ





บทความโดย: Dogilike
 
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน :
https://pursuit.unimelb.edu.au/articles/raw-chicken-linked-to-paralysis-in-dogs
http://www.msdvetmanual.com/digestive-system/enteric-campylobacteriosis/overview-of-enteric-campylobacteriosis

รูปภาพประกอบ :
https://petnewshub.com/wp-content/uploads/2017/09/dog-eat-raw-chicken.jpg
http://www.pethealthnetwork.com/sites/default/files/content/images/campylobacter-dogs-and-cats-1-82548949.jpg