โดย: Tonvet

Set zero แก้ปัญหาโรคหมาบ้า (โรคเรบีส์) ได้จริงหรือ ?

ไปดูมาตราการของประเทศอื่น ๆ ในวิธีการรับมือกับสุนัขจรจัดและป้องกันโรคเรบีส์

19 มีนาคม 2561 · · อ่าน (6,832)
432

SHARES


432 shares
  • มีการตั้งข้อสังเกตการระบาดของโรคเรบีส์ในปัจจุบันว่า อาจมาจากการที่ได้รับวัคซีนไม่ทั่วถึง และบางส่วนนั้นไม่มีประสิทธิภาพในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
     

 

  • สุนัขที่ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นสุนัขที่มีประวัติไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคเรบีส์มาก่อน
     

 

  • การแก้วิกฤตการณ์ระบาดของโรคเรบีส์ในระยะสั้นต้องให้สัตว์ได้รับวัคซีนที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ ในระยะยาวต้องแก้ปัญหาสุนัขจรจัดควบคู่กันไปด้วย 
     

 

  • การกำจัดสุนัขเพียงอย่างเดียวพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถแก้ปัญหาสุนัขจรจัดได้ ควรมีมาตราการควบคุมการเลี้ยงอย่างเป็นระบบ และสร้างจิตสำนึกเลี้ยงสัตว์อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม

Dogilike.com :: Set zero แก้ปัญหาโรคหมาบ้า (โรคเรบีส์) ได้จริงหรือ ?
 

 

ก้าวแรกในการต่อสู้กับโรคเรบีส์ในประเทศไทย



     ปัญหาการระบาดของโรคเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า) นี้เริ่มขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อไรยังมีข้อมูลไม่แน่ชัดนัก แต่ในประเทศไทยเราเองก็เป็นปัญหามานานพอสมควรแล้ว มีบันทึกถึงโรคนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวในหนังสือนิทานโบราณ จากเรื่อง "ทำสิรัมแก้พิษหมาบ้า" พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึง หญิงภา หรือ หม่อมเจ้าบรรลุศิริสาร ดิศกุล ธิดาของพระองค์เอง ที่ไปถูกหมาบ้ากัดเอาที่ขาเป็นรอยเขี้ยว 2 แผล แม้สมัยนั้นมีการค้นพบวัคซีนแล้ว (หลุยส์ ปาสเตอร์ค้นพบวัคซีนพิษสุนัขบ้าสำเร็จใน ปี ค.ศ. 1882) แต่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ตอนนั้นที่สยามยังไม่มีวัคซีนใช้ ต้องไปที่สถานปาสเตอร์ ตั้งอยู่เมืองไซง่อน (โฮจิมินห์ซิตี้ในปัจจุบัน) แต่เรือที่จะใช้เดินทางเพิ่งออกไป จะต้องรออีก 15 วันถึงจะไปได้ ทำให้ต้องรักษากันตามวิธีไทย โดยให้กินยา ซึ่งแผลก็หายดี และผู้ป่วยเองก็ใช้ชีวิตตามปกติมาได้นานถึง 3 เดือน อยู่มาวันหนึ่งหญิงภาเกิดตัวร้อน แม้จะถือถ้วยยาหรือถ้วยน้ำมือก็สั่นทั้งสองข้าง ต่อเมื่อวางถ้วยแล้วมือจึงหายสั่น ในเวลาต่อมามือก็สั่นหนักขึ้นจนตัวสั่น และอาการก็ทรุดลงอย่างรวดเร็ว พอถึงค่ำวันน้ันหญิงภาก็สิ้นชีพไป เจ็บไม่ถึง 24 ชั่วโมงเท่านั้นเอง หลังเหตุการณ์ไม่นานผู้คนทราบข่าวและตระหนักถึงพิษภัยของโรคร้ายนี้ที่ไม่มีทางรักษาได้ ประเทศสยามก็เลยได้ตั้งสถานปาสเตอร์ขึ้นในกรุงเทพฯ ที่ตึกของกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2456 ต่อมาภายหลังได้โอนไปขึ้นอยู่กับสภากาชาดหรือสถานเสาวภา นับเป็นก้าวแรกในการต่อสู้กับโรคเรบีส์ในประเทศไทยจนมาถึงปัจจุบัน 



 

ไทยตรวจพบเชื้อเรบีส์มากขึ้นเรื่อย ๆ 4 ปีซ้อน



     ในเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 12 หัวข้อ "ฝ่าวิกฤตโรคพิษสุนัขบ้า" ที่จัดไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2561 มี ศ.สพ.ญ.ดร.สันนิภา สุรทัตต์ หนึ่งในคณะผู้ร่วมเสวนา ตั้งข้อสังเกตถึงวิกฤตการระบาดของโรคเรบีส์ในปัจจุบันว่า อาจมาจากการที่สัตว์ได้รับวัคซีนที่ไม่ทั่วถึง และบางส่วนยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้เกิดวิกฤติการของการสร้างภูมิคุ้มกันระดับฝูงของสัตว์ทั่วทั้งประเทศ ซึ่งปกติแล้วควรรับวัคซีนให้ได้อย่างน้อย  70% ของจำนวนประชากรสัตว์ทั้งหมด จากผลการสำรวจประเทศไทยเรามีการตรวจพบเชื้อเรบีส์ในสัตว์จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ถึง 2560 ตรวจพบจำนวน 250 330 617 และ 864 ตัวอย่าง ตามลำดับ จนมาล่าสุด ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งผ่านมายังไม่ครบ 3 เดือนเต็มดีเลยนั้นตรวจพบไปแล้วถึง 347 ตัวอย่าง ตัวเลขนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่มีความเข้มข้นในการตรวจเชื้อมากขึ้น และมีการส่งตัวอย่างเข้ามารับการตรวจมากขึ้นด้วย แต่ในทางตรงกันข้ามการใช้วัคซีนป้องกันโรคเรบีส์ในประเทศกลับมีแนวโน้มลดลงมานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 - 2559 จากเดิมจำนวน 20 ล้านโด้ส ลดลงมาเกินกว่าครึ่งเหลือน้อยกว่า 10 ล้านโด้สเท่านั้น ซ้ำร้ายในปี พ.ศ. 2559 มีการเรียกคืนวัคซีนเรบีส์ที่ไม่ได้มาตราฐานอีกจำนวนกว่า 3.5 ล้านโด้ส ซึ่งไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากรสัตว์ของประเทศที่มีมากขึ้น และสัตว์ที่ไม่ได้รับวัคซีนส่วนมากนั้นก็เป็นสัตว์ที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ หรือสัตว์จรจัดที่ไม่มีเจ้าของ จึงไม่มีใครพาไปรับการฉีดวัคซีนป้องกัน สถานการณ์ของโรคจึงรุนแรงขึ้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
 

Dogilike.com :: Set zero แก้ปัญหาโรคหมาบ้า (โรคเรบีส์) ได้จริงหรือ ?


     สัตว์จรจัดเหล่านี้ส่วนใหญ่อาจเคยมีเจ้าของมาก่อน แต่ถูกนำไปปล่อยทิ้ง เมื่อไม่มีเจ้าของก็เลยไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเช่นกัน สุดท้ายเมื่อไปติดโรคมาก็ป่วย แล้วก็เป็นตัวแพร่โรคต่อไป เชื้อก็วนเวียนเปลี่ยนมือกันไปอยู่ในประเทศไม่มีที่สิ้นสุด ในประเทศอื่น ๆ มีการจัดการกับปัญหาสุนัขจรจัดที่เข้มงวด  ช่วยลดการระบาดของโรคเรบีส์ได้ หลายประเทศมีการออกกฏหมายที่มีบทลงโทษรุนแรงสำหรับผู้ที่นำสัตว์เลี้ยงไปปล่อย การลงทะเบียนสัตว์เลี้ยงทุกตัวเป็นระบบอย่างจริงจัง รวมถึงการสร้างจิตสำนึกให้คนในประเทศเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบควบคู่กันไปด้วย ซึ่งถ้าเราแก้ปัญหาสัตว์จรจัดได้ ก็จะเป็นการแก้ปัญหาการระบาดของโรคเรบีส์ในระยะยาวได้ด้วย
 


หาคำตอบ ... ทำไปบางประเทศถึงไม่มีน้องหมาจรจัด



     ยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น ราคาสัตว์เลี้ยงนั้นสูงมาก เป็นหลักแสนบาทเลยทีเดียว ผู้ขายเองก็ไม่ได้สักแต่ว่าขายสุนัขแล้วได้เงินมาเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้ให้ความรู้และคัดกรองคนที่จะมาซื้อสุนัขไปเลี้ยงด้วย ต้องรับผิดชอบกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นเลย เมื่อได้สุนัขมาแล้วก็ต้องไปลงทะเบียนกับหน่วยงานท้องถิ่น และเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เมื่อนำมาเลี้ยงได้แล้วก็ต้องมีการพาไปฉีดวัคซีนและต้องได้รับป้ายรับรองการฉีดวัคซีนมาด้วย สุดท้ายเมื่อสุนัขตายก็ต้องไปแจ้งกับหน่วยงานท้องถิ่นอีกด้วยเช่นกัน แต่ถึงจะเข้มงวดกันขนาดนี้ คนญี่ปุ่นเองก็มีการทิ้งสุนัขจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน (บ้างก็ไม่สามารถเลี้ยงต่อได้ เช่นเจ้าเดิมของเสียชีวิตหรือป่วยหนัก จึงต้องนำมามอบให้กับสถานสงเคราะห์สัตว์ เพื่อนำไปหาเจ้าของให้ใหม่) ซึ่งจุดจบของสุนัขเหล่านั้นอาจไม่สวยนัก เพราะเมื่อสุนัขจรจัดถูกจับมา จะถูกนำมาดูแลอยู่ในสถานสงเคราะห์สัตว์ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อรอเจ้าของมารับกลับไปเลี้ยงและจะได้สังเกตอาการเผื่อว่าจะเป็นโรคเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า) ด้วย แต่หากไม่มีใครรับไปเลี้ยงก็จะต้องถูกกำจัดทิ้ง โดยวิธีการกำจัดของญี่ปุ่นก็เคยเป็นประเด็นที่พูดถึงความโหดร้ายสุด ๆ เพราะใช้วิธีการรมแก๊สพิษให้ตาย ซึ่งอัตราการปลิดชีวิตสุนัขของญี่ปุ่นในแต่ละปีสูงนั้นสูงมากติดอับดับต้น ๆ ของโลกเลย ในอดีตนั้นมีการกำจัดจำนวนถึงเป็นแสน ๆ ตัวต่อปี จากนั้นก็ค่อย ๆ ลดลงจำนวนลงมาเรื่อย ๆ เพราะคนในประเทศเริ่มตระหนักแล้วว่า ถ้าเขาเลี้ยงสัตว์อย่างไม่มีความรับผิดชอบ จะเกิดผลอะไรกับสัตว์เหล่านี้บ้าง อีกทั้งเหล่าผู้รักสัตว์ในประเทศก็ได้มีการรณรงค์ให้คนญี่ปุ่นรับสุนัขจากสถานพักพิงไปเลี้ยง เพื่อลดความจำเป็นที่ต้องปลิดชีวิตสุนัขลง จากปัญหาจำนวนสุนัขล้นสถานพักพิง ซึ่งการจะรับสัตว์ไปเลี้ยงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเข้าฟังคำบรรยายและรับรู้ปัญหาต่าง ๆ ในการเลี้ยงสัตว์ก่อน เพื่อเป็นการคัดกรองว่าจะได้คนที่ต้องการสัตว์ไปเลี้ยงจริง ๆ เพราะสุนัขที่ถูกทิ้งนั้นเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากครับ
 

Dogilike.com :: Set zero แก้ปัญหาโรคหมาบ้า (โรคเรบีส์) ได้จริงหรือ ?


     ย้อนกลับมาดูประเทศไทยของเรา ปัจจุบันยังไม่มีมาตราการที่ออกมาควบคุมได้อย่างครบวงจร อีกทั้งคนในสังคมก็ยังไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ยิ่งหากต้องทำอะไรที่เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากหรือต้องลำบากชีวิตมากขึ้นแล้ว ก็มักไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับในช่วงแรกสักเท่าไร อย่างเรื่องการพาสุนัขไปฉีดวัคซีนเป็นต้น เห็นได้จากรายงานการตรวจพบเชื้อเรบีส์จากกรมปศุสัตว์ ที่พบรายงายในสัตว์เลี้ยงค่อนข้างสูง สุนัขที่ได้รับการฉีดวัคซีนส่วนมากก็ยังคงเป็นกลุ่มเดิม ๆ เพราะมีเจ้าของพาไปฉีดอย่างเป็นประจำตามที่สัตวแพทย์นัดหมาย แต่กับสุนัขจรจัดแล้วนั้นมักถูกละเลยไป ด้วยอาจจะไม่ใครสามารถจับตัวมาได้ ก็เลยไม่ได้รับการฉีดวัคซีน บ้างครั้งอาจจะติดเชื้อแล้วตายไปก็ไม่มีใครไปสังเกต ปัจจุบันสิ่งที่เราดำเนินการกันอยู่ ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุซะส่วนใหญ่ คือเมื่อสุนัขถูกจับมาแล้ว จะทำการคัดกรองโรคก่อน จากนั้นจึงฉีดวัคซีนและทำหมันให้ แล้วหาผู้รับเลี้ยงต่อไป ซึ่งสุนัขเหล่านี้หากไม่มีใครรับไปอุปการะ ก็จะได้รับการดูแลต่อไปจนกว่าจะหมดอายุขัย จะว่าไปในแต่ปีละประเทศเรานั้นสามารถทำหมันสุนัขได้หลายหมื่นหรืออาจเป็นแสนตัว (ทั้งจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน) แต่ทำไมสุนัขจรจัดกลับไม่ได้ลดจำนวนลงบ้างเลย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเรายังไม่สามารถควบคุมจำนวนการนำมาปล่อยได้ ตราบใดที่ยังมีคนนำสุนัขมาปล่อยอยู่เรื่อย ๆ ก็ไม่สามารถลดจำนวนประชากรสัตว์จรจัดได้ ที่สำคัญเราก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้เลยว่า ใครเป็นเจ้าของสุนัขที่แท้จริง ซึ่งถ้าเราทราบก็จะเป็นประโยชน์เวลาที่สุนัขพลัดหลงนั้นจะได้ตามหาเจ้าของได้ถูก ประเทศของเรายังไม่มีการลงทะเบียนอย่างเป็นระบบ ดังนั้นถ้าจะ set zero กันจริง ๆ ก็ต้องทำกันใหม่ทั้งระบบและทุกภาคส่วน การจะกำจัดสุนัขเพียงอย่างเดียวนั้นพิสูจน์แล้วว่า ไม่สามารถทำให้ปัญหาหมดไปได้ เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่หากจะให้ปัญหานี้หมดทุกคนในสังคมจะต้องให้ความร่วมมือกัน 



      เรื่องการระบาดของโรคเรบีส์นี้จะโทษว่าสุนัขเป็นต้นเหตุของปัญหาก็คงไม่ถูกต้องสักทีเดียวนัก ระยะสั้นควรเร่งระดมการฉีดวัคซีนในสัตว์ (รวมถึงในคนด้วย) โดยจำนวนวัคซีนต้องเพียงพอ ประสิทธิภาพวัคซีนก็ต้องได้มาตรฐานด้วย เริ่มตั้งแต่การผลิตวัคซีน การขนส่งและการจัดเก็บวัคซีนที่ดี ผู้ฉีดก็จะต้องมีความรู้ในการใช้วัคซีนที่ถูกต้อง ตัวสัตว์เองก็ควรมีสุขภาพที่พร้อมก่อนได้รับการฉีดวัคซีนด้วยเช่นกันด้วย จึงจะได้สร้างภูมิคุ้มกันของโรคเรบีส์ให้เกิดขึ้นมาได้ ควรทำร่วมกับคัดกรองสัตว์ที่ต้องสงสัยว่าป่วยออกไป ส่วนในระยะยาวควรเร่งการแก้ปัญหาสัตว์จรจัดให้หมดไป สัตว์ทุกตัวควรมีบ้าน หรือสถานที่รับเลี้ยง เพื่อไม่ให้สัตว์เหล่านี้ไปก่อปัญหาหรือเป็นผู้นำพาโรคกลับมาแพร่ระบาดได้อีก  มหาตมะ คานธี มหาบุรุษของโลก เคยกล่าวไว้และพอจะสรุปใจความได้ว่า "...ความยิ่งใหญ่ของชาติหนึ่งชาตินั้น วัดได้จากวิธีการปฏิบัติต่อสัตว์ของคนในชาตินั้น ๆ ..." แล้วเราเองอยากให้ประเทศของเราเป็นเช่นไร...ลองถามใจดู 



 

บทความโดย: Dogilike


ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน :
https://web.facebook.com/ChulalongkornUniversity/videos/1850370245007648/?hc_ref=ARR3i6pvOP3G3h4d1PR5w-_zdIxHFYvUBR5EZHkohwhErkbIGlKZaODMiG6UNY0VVQw


รูปภาพประกอบ :
http://www.ijandk.com/wp-content/uploads/2017/06/homeless-dogs-810x456.jpg
http://www.occupyforanimals.net/uploads/7/7/3/5/7735203/256463.jpg?756
http://houndhollowfarm.com/blog/wp-content/uploads/2015/05/10463890_977003939007060_396387119863665880_n.jpg