โดย: Tonvet

5 เหตุผลที่ต้องมีน้องหมาในงานกู้ภัย

ทำไมมนุษย์ถึงนำสุนัขมาใช้ในงานกู้ภัย

9 กรกฏาคม 2561 · · อ่าน (4,939)
615

SHARES


615 shares
  • ทุกครั้งที่มีภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ร้ายที่ต้องมีภารกิจกู้ภัยเกิดขึ้น สุนัขมักจะได้รับหน้าที่ให้ทำภารกิจเคียงข้างกับมนุษย์เสมอ
 
  • ครั้งหนึ่งมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเม็กซิโก มีสุนัขกู้ภัยตัวหนึ่ง สามารถช่วยเหลือมนุษย์ได้มากถึง 52 ราย
 
  •  เหตุผลที่มนุษย์นำสุนัขมาใช้ในงานภู้ภัยนั้น เพราะสุนัขมีจมูกและหูที่ดีกว่ามนุษย์ เป็นสัตว์ที่ฝึกง่าย มีขนาดร่างกายที่เหมาะสม อดทนเมื่อต้องเจออุปสรรคต่าง ๆ และเชื่อฟังคำสั่งไม่ออกนอกลู่นอกทาง 
 
  • หลาย ๆ ภารกิจจะประสบความสำเร็จไปไม่ได้เลย หากขาดคู่หูอย่างสุนัข ที่เข้ามาเพิ่มขีดจำกัดที่ขาดหายไปของมนุษย์ สุนัขบางตัวจึงอาจเป็นฮีโร่ของใครหลายคน 



Dogilike.com :: 5 เหตุผลที่ต้องมีน้องหมาในงานกู้ภัย




    เวลาเกิดภัยพิบัติหรือเหตุการร้ายใดใดในโลก นอกจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่จะเข้าไปยังพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ว สิ่งมีชีวิตอีกอย่างหนึ่งที่ร่วมไปกับทีมกู้ภัยด้วยนั้นก็คือ "น้องหมา" ไม่ว่าจะเป็นในเมือง ในป่า บนภูเขา หรือแม้แต่ใต้กองหิมะ ทุกภารกิจที่ได้รับมอบหมาย สุนัขกู้ภัยเหล่านี้ไม่เคยทำให้ใครหลายคนผิดหวังเลย



     ครั้งหนึ่งเคยมีเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเม็กซิโก สุนัขกู้ภัยพันธุ์ลาบราดอร์ ชื่อว่า ฟรีดา (Frida) ก็มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการค้นหาผู้รอดชีวิตเช่นกัน โดยเจ้าฟรีดาสามารถช่วยชีวิตผู้ประสบภัยได้แล้วมากถึง 52 คน จนเป็นที่ชื่มชมของคนไปทั่วโลก และล่าสุดจากเหตุการณ์ผู้ติดในถ้ำที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน สุนัขกู้ภัยของตำรวจก็ได้รับภารกิจให้ทำการค้นหาและติดตามผู้สูญหายเช่นกัน เพื่อน ๆ คงสงสัยแล้วหรือไม่ครับว่า เหตุใดมนุษย์จึงใช้สุนัขเพื่อมาปฏิบัติภารกิจสำคัญเช่นนี้ วันนี้ด็อกไอไลก์ (Dogilike) มีคำตอบครับ...



 

1 สุนัขมีความสามารถเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร

 
     สุนัขเป็นสัตว์ที่มีความสามารถหลากหลาย เป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติที่เหนือกว่ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นจมูกที่สามารถรับรู้กลิ่นได้ดีกว่ามนุษย์ โดยภายในจมูกยังมีเซลล์รับกลิ่นที่เรียกว่า Olfactory cells อยู่จำนวนมาก สามารถรับกลิ่นที่ลอยมาทางอากาศจากแหล่งใกล้ไกลได้ เซลล์เหล่านี้จะอยู่ตามผิวในโพรงจมูก (olfactory mucous membrane) ในสุนัขจะมีการพัฒนาในส่วนนี้ค่อนข้างมาก โดยมีขนาดพื้นที่เฉลี่ยอยู่ที่ 125-150 ตารางเซนติเมตร แตกต่างจากคนซึ่งมีขนาดพื้นที่แค่เพียง 4-5 ตารางเซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งสุนัขแต่ละพันธุ์ก็จะมีขนาดไม่เท่ากัน ความไวในการดมจึงลดหลั่นกันไป โดยสุนัขที่มีหน้ายาวจะมีพื้นที่ในการรับกลิ่นที่มากกว่า 
 
     อีกทั้งธรรมชาติสร้างให้เซลล์รับกลิ่นจะมีระดับ threshold ที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้มีความไว (sensitivity) สูง สามารถถูกกระตุ้นได้ง่าย แม้จะได้รับกลิ่นเพียงเล็กน้อยก็สามารถรับรู้ได้ หรือแม้แต่มีใครทิ้งกลิ่นไว้นานกว่าสัปดาห์แล้ว ก็ยังสามารถดมกลิ่นได้อยู่เช่นกัน โดยกลไกจะเริ่มจาก เมื่อกลิ่นซึ่งเป็นโมเลกุลของสารเคมีล่องลอยอยู่ในอากาศ ถูกสูดเข้าสู่จมูกผ่านการหายใจเข้า แล้วไปจับกับเนื้อเยื่อภายในจมูกส่วนรับสัญญาณ จนเกิดการกระตุ้นเซลล์รับกลิ่น (olfactory cells) มีการเปลี่ยนแปลงของ ion channels เกิด depolarization ขึ้น แล้วส่งสัญญาณ impulse ไปตามเส้นประสาท (olfactory tract) เข้าสู่สมองเพื่อแปลสัญญาณออกมาได้
 
Dogilike.com :: 5 เหตุผลที่ต้องมีน้องหมาในงานกู้ภัย
 
     ส่วนหูของน้องหมานั้นก็ดีเยี่ยมไม่แพ้กันเลย น้องหมาสามารถได้ยินเสียงได้ไกลว่าคนถึง 4 เท่า เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงสามารถได้ยิน หรือรับรู้ความเคลื่อนไหว แรงสั่นสะเทือน หรือ เสียงที่คนเราไม่ได้ยินได้ นี่คือความสามารถพิเศษในการช่วยเตือนภัยก่อนเกิดภัยพิบัติ และ ช่วยเหลือคนที่ยังมีอยู่ชีวิตอยู่จากภัยพิบัติ แม้แต่เสียงที่เบา ๆ จากคนที่อ่อนแรง เสียงขยับตัวใต้ซากปรักหักพัง น้องหมาก็สามารถรับรู้ได้เช่นกัน
 
 

2 สุนัขเป็นสัตว์ที่ฉลาดฝึกง่าย

 
     สุนัขเป็นสัตว์ที่ฉลาดสามารถเรียนรู้คำสั่งและนำมาฝึกฝนได้ง่าย ฉลาดขนาดที่สามารถรับรู้ความรู้สึกของคนได้ด้วยนะครับ อีกอย่างสุนัขเป็นสัตว์เพียงไม่กี่ชนิดในโลก ที่มีความผูกพันธ์กับมนุษย์ได้อย่างวิเศษ ความฉลาดของสุนัขนั้นสามารถแยกแยะสีหน้าของมนุษย์ได้ด้วย มีงานวิจัยหนึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Current Biology ในปี ค.ศ. 2015 โดยนักวิจัยที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย พวกเขาได้ทำการทดลองโดยฝึกให้สุนัขเรียนรู้สีหน้าของคนที่กำลังมีความสุขกับคนที่ทำสีหน้าโกรธผ่านรูปภาพ ซึ่งสุนัขจะเห็นแค่เพียงครึ่งบนหรือครึ่งล่างของแต่ละรูปภาพเท่านั้น หลังจากฝึกให้สุนัขเรียนรู้ความต่างของรูปภาพทั้ง 15 คู่ไปแล้ว ก็จะนำสุนัขมาทำการทดสอบเพื่อดูว่า จะสามารถแยกแยะสีหน้าของคนได้จริงหรือไม่ ผลปรากฏว่า สุนัขสามารถแยกสีหน้าของคนมีความสุขกับคนที่กำลังโกรธได้ และไม่เพียงแต่รูปภาพที่เคยเรียนรู้มาเท่านั้น สุนัขยังนำสิ่งที่เรียนรู้มาปรับใช้กับรูปภาพสีหน้าคนอื่น ๆ ที่มีสีหน้าแบบเดียวกันได้ด้วย แม้จะเห็นแค่เพียงครึ่งเดียวของใบหน้าคนก็ตาม แสดงให้เห็นว่าสุนัขมีความสามารถในการจดจำสีหน้าอารมณ์ต่าง  ๆ ของมนุษย์ได้ นอกจากนี้ยังพบว่า สุนัขสอบสนองในการเลือกสีหน้าคนมีความสุขได้เร็วกว่าสีหน้าคนโกรธด้วย สำหรับการฝึกสุนัขนั้น จะนำมาฝึกขั้นพื้นฐานได้เมื่ออายุ 3-4 เดือน ช่วงอายุนี้ควรฝึกให้คุ้นเคยกับสายจูง และคำสั่งพื้นฐานง่าย ๆ อย่าง เช่น การลุก นั่ง นอน หมอบ คอย และตามคำสั่งอื่น ๆ 
 
Dogilike.com :: 5 เหตุผลที่ต้องมีน้องหมาในงานกู้ภัย
 
 
 

3 สุนัขมีความคล่องตัว

 
     เรื่องหน่วยก้านนั้นเป็นเรื่องสำคัญ สุนัขเป็นสัตว์ที่มีขนาดตัวที่ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป สามารถเคลื่อนที่เดินทางไปตามที่ต่าง ๆ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ได้ง่ายกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นในเมือง อาคาร ในป่า ภูเขา ในถ้ำ หรือแม้แต่ในดินแดนที่มีหิมะปกคลุม ทุกวันนี้มีการนำสุนัขพันธุ์พันธุ์ต่าง ๆ มาฝึกเพื่อกู้ภัยในงานต่าง ๆ  อย่างในต่างประเทศจะฝึกสุนัขเพื่อมาช่วยค้นหาผู้ประสบภัยในกองหิมะ เช่น สุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ สุนัขพันธุ์นิวฟันแลนด์ ฯลฯ เนื่องจากมีขนาดเล็กและคล่องตัวกว่าในการเดินทาง สามารถนำพาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังตำแหน่งที่ประสบภัยได้ง่าย สุนัขเหล่านี้จะมีความคุ้นเคยกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นอยู่แล้ว ทั้งยังสามารถว่ายน้ำเป็นอีกด้วย จึงนำมาช่วยงานในแม่น้ำหรือธารน้ำแข็งที่ปกคลุมไปด้วยหิมะหรือน้ำแข็งหนาได้ เมื่อมนุษย์ติดอยู่ในกองหิมะ จะมีเวลาเพียง 30 นาทีกว่าจะเสียชีวิต ดังนั้นเวลาในการเดินทางจึงสำคัญมากครับ จึงจำเป็นต้องไปถึงที่ประสบเหตุให้ไวที่สุด 
 
Dogilike.com :: 5 เหตุผลที่ต้องมีน้องหมาในงานกู้ภัย
 


 

4 สุนัขมีความอดทนสูง

 
     สุนัขเป็นสัตว์ที่มีความอดทนสูงมาก สามารถอาศัยอยู่และปรับตัวอยู่ได้ในหลากหลายพื้นที่และหลายสภาพอากาศ เราสามารถพบสุนัขได้แทบจะทุกพื้นที่ของโลกก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นทะเลทรายหรือแม้แต่ในดินแดนน้ำแข็ง เราก็สามารถพบเห็นสุนัขได้ทั้งนั้น อย่างสุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ เป็นสุนัขที่สามารถทนอยู่ในสภาพอากาศติดลบได้ถึง -30 ถึง -50 องศาเซลเซียสได้อย่างสบายเลย ส่วนสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์หรือเยอรมันเชฟเพิร์ด นั้นถูกนำมาใช้ในภารกิจเสี่ยงตายมาแล้วทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการสะกดรอย จู่โจม หรือคุ้มกันภัย ซึ่งหากได้รับภารกิจให้ทำอะไรแล้ว ก็จะต้องทำจนสุดชีวิตและความสามารถ และจะไม่หยุดจนกว่าจะได้รับคำสั่งเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงนิยมที่จะเลือกสุนัขมาใช้ในภารกิจต่าง ๆ เคียงข้างเสมอ
 
Dogilike.com :: 5 เหตุผลที่ต้องมีน้องหมาในงานกู้ภัย

 
 

5 สุนัขเชื่อฟังคำสั่งไม่ออกนอกลู่นอกทาง

 
     สุนัขเป็นสัตว์สังคมมักจะอยู่รวมกันเป็นฝูง เมื่อมีการอาศัยอยู่รวมกันมากกว่า 1 ตัวขึ้นไป ก็ย่อมต้องมีผู้นำและผู้ตาม ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีหัวหน้ากลุ่มหรือ "จ่าฝูง" ซึ่งสุนัขมักจะทำตามคำสั่งของจ่าฝูงเสมอ เราจึงนำสุนัขมาฝึกให้เชื่อฟังคำสั่งได้ โดยที่ผู้ฝึกจะสวมบทบาทเป็นจ่าฝูงของสุนัข สุนัขที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีจะเชื่อฟังคำสั่งของผู้ฝึกเสมอ อย่างในสุนัขกู้ภัยที่ได้รับภารกิจให้ต้องค้นหา ก็จะทำหน้าที่ตามคำสั่งของเจ้านายอย่างเต็มที่จนกว่าจะเจอผู้ประสบภัย แม้จะมีอุปสรรคใด ๆ เข้ามาก็ตาม มันก็จะไม่หยุดค้นหาจนกว่าจะได้รับคำสั่งให้หยุด 
 
Dogilike.com :: 5 เหตุผลที่ต้องมีน้องหมาในงานกู้ภัย


     ด้วยเหตุผลทั้งหลายเหล่านี้ ทำให้มนุษย์เรานำสุนัขมาใช้ในภารกิจกู้ภัยต่าง ๆ  เพื่อมาเพิ่มศักยภาพในขีดจำกัดของมนุษย์ หลาย ๆ ภารกิจจะประสบผลสำเร็จไปไม่ได้เลย หากปราศจากสุนัข อาจเรียกได้ว่าสุนัขนั้นเข้ามาเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปของมนุษย์ นอกจากจะเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์แล้ว หลายครั้งสุนัขยังเป็นฮีโร่ของเราอีกด้วย เป็นฮีโร่ตัวเล็ก ๆ ที่ไม่มีพลังวิเศษใดใด แต่สามารถต่อลมหายใจให้ใครต่อใครได้หลายคน




บทความโดย : Dogilike.com

 
ข้อมูลอ้างอิง :
Corsin A. Müller, Kira Schmitt, Anjuli L.A. Barber, Ludwig Huber. 2015. Dogs Can Discriminate Emotional Expressions of Human Faces. Current Biology.Volume 25, Issue 5, p601–605, (2 March 2015)

ภาพประกอบ:
www2.pictures.zimbio.com/gi/Gary+Durian+Search+Rescue+Team+Prepares+Deploy+R67qmTJGA9nl.jpg
www-tc.pbs.org/wgbh/nova/assets/img/full-size/dogs-sense-of-smell-merl.jpg
www.quickanddirtytips.com/sites/default/files/styles/article_main_image/public/images/1983/shutterstock_681844375%20%281%29.jpg?itok=ue1bSH1Y
www.pilotguides.com/wordpress/wp-content/uploads/2013/10/Saint-Bernard10.jpg
f.fwallpapers.com/images/dog-jumping-out-helicopter.jpg
nhsdrhec.com/yahoo_site_admin/assets/images/WWP_3045_web.306120412_std.jpg