โดย: เว็บมาสเตอร์มะเหมี่ยว

สรุปดราม่า ... จะเอายังไงกับกฎหมาย "ลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง"

อ่านที่เดียวเข้าใจตั้งแต่ต้นจนจบ กับจุดเริ่มต้นที่มาของ "การเก็บภาษี - ลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง"

16 ตุลาคม 2561 · · อ่าน (3,257)
195

SHARES


195 shares
  • ในปี 2561 มีหลายเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับน้องหมาน้องแมวซึ่งมีผลกระทบต่อคนในสังคมจนถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นใหญ่ถกเถียงกันในวงกว้าง โดยประเด็นใหญ่ ๆ มีจุดเริ่มต้นมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า (โรคเรบีส์)
 
  • สาเหตุสำคัญของปัญหาการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยมาจากปัญหาการเบิกงบซื้อวัคซีนฉีดในสัตว์ และปัญหาการทุจริตนำเข้าวัคซีนป้องกันเชื้อเรบีส์ในสัตว์ไม่ได้คุณภาพเข้าข่ายว่าเป็นวัคซีนปลอม
 
  • เมื่อเกิดปัญหาพิษสุนัขบ้า ทางออกหนึ่งถึงถูกหยิบยกมาถกเถียงกันจนทำให้เกิดกระแสถกเถียงกันอย่างหนักทั้งในสื่อสังคมออนไลน์และสื่อหลักหลายๆ สื่อคือ 'Set Zero' ที่เชื่อว่ากันว่าเป็นการล้างบางฆ่าสุนัขจรจัดเพื่อให้ผู้คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า
 
  • เมื่อเกิดปัญหาพิษสุนัขบ้าระบาด เรื่องของการการจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยง ก็ถูกหยิบยกมาพูดกันอีกครั้งในแง่มุมของความพยายามในการจัดระเบียบสัตว์เลี้ยงและลดจำนวนสัตว์จรจัดในประเทศไทย
 
  • ล่าสุดประเด็นที่ร้อนแรงในตอนนี้คือ ครม.อนุมัติขึ้นทะเบียนหมา-แมว มีค่าใช้จ่าย 450 บาท ฝ่าฝืนปรับ 25,000 บาท



     เรียกว่าเป็นดราม่าที่ร้อนดังกับไฟเออร์ มาเร็ว เคลมเร็ว จบเร็ว!!! สำหรับประเด็น "ขึ้นทะเบียนหมา-แมว 450 บาท ฝ่าฝืนโทษปรับสูง 2.5 หมื่นบาท" ... หลังจากข่าวนี้เผยแพร่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (วันที่ 11 ต.ค. 2561) แน่นอนว่ากลายเป็น Topic ร้อนที่ผู้คนต่างก็ให้ความสนใจ และกลุ่มที่ดูเหมือนจะอินกับข่าวนี้มากที่สุดก็คือ กลุ่มคนรักและคนเลี้ยงสัตว์ นั่นเอง

     สำหรับความคิดเห็นที่มีต่อข่าวนี้นั้นโดยภาพรวมแล้วกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยนั้นมีจำนวนแทบจะใกล้เคียงกัน ซึ่งยังไม่ทันข้ามวันก็มีข่าวออกมาอีกว่า "รัฐมนตรีเกษตรฯ สั่งถอนร่างกฎหมายขึ้นทะเบียนหมาแมวมาทบทวน ไม่ให้เป็นภาระประชาชน" ... เป็นการเปิดและปิดประเด็นที่เร็วจนหลายคนตามข่าวกันไม่ทันเลยทีเดียว

     จริง ๆ แล้วในช่วงปีผ่านมา มีหลายเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับน้องหมาน้องแมวซึ่งมีผลกระทบต่อคนในสังคมจนถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นใหญ่ถกเถียงกันในวงกว้าง ตั้งแต่กฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐมาจนถึงเรื่องที่เกี่ยวกับภาคประชาชน จนมาถึงล่าสุดกับประเด็น การลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง(หมา - แมว) ...  วันนี้ ด็อกไอไลค์ จะมาสรุปทุกประเด็นให้ทุกคนได้เข้าใจกันตั้งแต่ต้นจนจบดราม่าเลยค่ะ


Dogilike.com :: สรุปดราม่า ... จะเอายังไงกับกฎหมาย ลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง


 

>> ปี พ.ศ. 2561 ไทยเผชิญสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าระบาดหนัก


     ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2561 โรคพิษสุนัขบ้าดูจะเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันมากกว่าทุกปี เพราะเพียงแค่ยังไม่ถึงครึ่งปี มีคนตายด้วยโรคนี้เพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ต้องฉีดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถือเป็นพาหะของโรค ทั้งสุนัข แมว กระต่าย วัว ควาย สุกร ฯลฯ ข้อมูลจากสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ ได้ระบุไว้ว่ามีสัตว์ที่ถูกตรวจพบว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่าเท่าตัว (จาก 160 เป็น 341 ตัว) และมากกว่าครึ่งของสัตว์ที่ตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เป็นสัตว์ทีมีเจ้าของ ซึ่งขัดกับความเชื่อที่ว่าสัตว์เร่ร่อนเป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า โดยสัตว์ที่พบว่าติดเชื้อมากที่สุดคือ สุนัข (89.40%) ตามมาด้วยวัว (6.47%) และแมว (3.42%)

     สำหรับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 11 ตุลาคม 2561 มีรายงานพบโรคทั้งหมด 54 จังหวัด 304 จุด ปัจจุบันยังคงประกาศเขตโรคระบาดสัตว์26 จุด ในพื้นที่ 19 จังหวัด คือ สระบุรี ชลบุรี ระยอง นครราชสีมา บุรีรัมย์ยโสธร สุรินทร์ อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ขอนแก่น มุกดาหาร ร้ อยเอ็ด หนองคาย กาญจนบุรีประจวบคีรี ขันธ์เพชรบุรีสมุทรสาคร นครศรี ธรรมราช และสงขลา
 


>> อึ้ง!! พบ 'วัคซีนพิษสุนัขบ้า' ไร้มาตรฐาน เข้าข่ายเป็นวัคซีนปลอม


     ในขณะที่สถานการณ์การระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าเป็นเรื่องที่ประชาชนตื่นตัวและให้ความสนใจ และหาสาเหตุว่าเพราะเหตุใดประเทศไทยจึงไม่สามารถควบคุมปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าได้ ซึ่งเมื่อสืบสาวราวเรื่องกันแล้วก็พบว่านอกจากเรื่องติดขัดการเบิกงบซื้อวัคซีนฉีดในสัตว์แล้ว เรื่องของ "วัคซีนป้องกันเชื้อเรบีส์ในสัตว์ไม่ได้คุณภาพ" ก็คืออีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่เป็นที่มาของปัญหาการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ... โดยเริ่มต้นพบปัญหานี้จากการที่มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมติดเชื้อในแถบภาคเหนือมากขึ้น ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องคุณภาพวัคซีนป้องกันโรคในสัตว์ขึ้นมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงร่วมมือกับ อย.และกรมปศุสัตว์ สำรวจคุณภาพของวัคซีนใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งตอนนั้นมีการนำเข้าจากบริษัทต่างประเทศ 7-8 แห่ง ก็พบว่ามีวัคซีนจาก 1 บริษัทไม่ได้มาตรฐาน โดยมีความไวในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 2.5 ไอยู (IU/ML) จึงส่งเรื่องให้ อย.เรียกคืนในปี 2559 – 2560 ทาง อย. ได้ไปเก็บตัวอย่างจากรุ่นดังกล่าวมาตรวจสอบซ้ำอีกรอบก็พบว่าไม่ได้มาตรฐานจริง จึงได้สั่งเรียกคืนจากท้องตลาดทั้งหมด เนื่องจากปริมาณการตกมาตรฐานเยอะมากและเข้าข่ายว่าเป็นวัคซีนปลอม นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ในปี 2561 นั้นได้เกิดการระบาดของโรคพิษสุนัขนั่นเอง


Dogilike.com :: สรุปดราม่า ... จะเอายังไงกับกฎหมาย ลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง

 

>> ผุดแนวความคิด Set Zero กำจัดหมาจร(ที่คนเชื่อว่า)สาเหตุของโรคระบาด - ปัญหาสังคม


     เมื่อโรคพิษสุนัขบ้ากลายมาเป็นประเด็นร้อนที่มีการพูดถึงและถกเถียงทั้งในสื่อสังคมออนไลน์และสื่อหลักหลายๆ สื่อ ก็มีประเด็นที่เกิดขึ้นตามมาคือ 'Set Zero' ที่เชื่อว่ากันว่าเป็นการล้างบางฆ่าสุนัขจรจัดเพื่อให้ผู้คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า แน่นอนว่าเมื่อเกิดกระแสนี้ขึ้น กลุ่มคนรักสัตว์ได้ออกมาต่อต้านแนวความคิดนี้ทั้งในสื่อออนไลน์และการออกมาเรียกร้องให้หยุดแนวความคิดนี้เพราะเชื่อว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้และยังเป็นการทำร้ายสัตว์อย่างทารุณอีกด้วย ... ในเวทีการเสวนาเรื่อง ฝ่าวิกฤตโรคพิษสุนัขบ้าที่จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สพ.ญ.เบญจวรรณ สิชฌนาสัย ผอ.การสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เปิดเผยตอนหนึ่งถึงประเด็นการเซ็ทซีโร่ (Set Zero) กำจัดสุนัขจรจัดให้หมด ภายหลังเกิดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ว่าในอดีตมีการกำจัดสุนัขจรจัดมาก่อนแล้ว หลังจากนั้นก็เริ่มมีการหันมาทำหมันแทนการกำจัดสุนัข และจากการที่ได้ไปเก็บตัวเลขเดิม ๆ ในอดีตมาดูพบว่า เคยมีการกำจัดสุนัขไปเท่าไหร่ เคยมีการสำรวจสุนัขเท่าไหร่ ยังคงมีอยู่เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าวิธีการกำจัดไม่จบ เพราะมีจำนวนสุนัขเพิ่มขึ้นจากการที่คนนำมาปล่อย หากพิจารณาจากสถิติของกรุงเทพมหานคร มีการทำหมันในแต่ละปี 2-3 หมื่นตัว ฉะนั้นหากไม่มีการปล่อยสุนัขเพิ่ม ปัญหาสุนัขจรจัดต้องหมดไป ดังนั้นเห็นว่า วิธีเซ็ตซีโร่หรือวิธีใดวิธีหนึ่งไม่ใช่วิธีการที่เบ็ดเสร็จที่จะแก้ปัญหาสุนัขจรจัดได้

 

>> จุดเริ่มต้นไอเดีย "เก็บภาษี - ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง" ในประเทศไทย


     สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าน ทางภาครัฐก็ได้มีมาตราการเฝ้าระวังต่าง ๆ ขึ้นมา ... 'การจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยง' เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงโดยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กระทรวงสาธารณสุข และกรมปศุสัตว์  หลังจากที่ประเด็นดังกล่าวถูกเผยแพร่ไปในสื่อ ก็ได้เกิดการถกเถียงกันเป็นอย่างมากฝ่ายที่สนับสนุนระบุว่า การจัดเก็บภาษีชนิดนี้จะเป็นประโยชน์ในระยะยาว ทั้งเป็นแหล่งที่มาของเงินทุนในท้องถิ่น และการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงที่ครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น อาจมีส่วนช่วยส่งเสริมแนวทางการต่อสู้และป้องกันโรคระบาดที่เกิดจากสัตว์เลี้ยงอย่างน้องหมาน้องแมวได้ในอนาคต ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านมองว่า การจัดเก็บภาษีอาจจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับเจ้าของสัตว์ โดยเฉพาะผู้ที่เลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนมากอย่างบ้านรับเลี้ยงสัตว์จรจัดและวัด นอกจากนี้ยังอาจเป็นสาเหตุให้จำนวนสัตว์จรจัดเพิ่มจำนวนมากขึ้นเพราะผู้เลี้ยงนำมาปล่อยเนื่องจากไม่อยากรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเพิ่ม

     สำหรับการเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงนั้นอาจจะเป็นเรื่องใหม่ในไทย แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป อย่างเช่น ในประเทศเยอรมนีที่เริ่มมีการเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยมีจุดประสงค์หลักในการลดการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในขณะนั้น รวมถึงหาเงินทุนเพื่อใช้จ่ายในการทหาร รวมถึงการจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม อัตราการเสียภาษีสุนัขในแต่ละเขตพื้นที่ของเยอรมนีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบข้อบังคับในแต่ละพื้นที่ โดยผลสำรวจของ Stiftung Warentest เมื่อปี 2015 พบว่า ชาวเยอรมันเสียภาษีสุนัขเฉลี่ยสูงสุดปีละ 186 ยูโร (ราว 7,200 บาท) และในปี 2016 เฉพาะในกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนีสามารถจัดเก็บภาษีนี้ได้เป็นเงินมากกว่า 11 ล้านยูโร (ราว 423.3 ล้านบาท) เลยทีเดียว
 

Dogilike.com :: สรุปดราม่า ... จะเอายังไงกับกฎหมาย ลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง

 

>> คนเลี้ยงสัตว์สะเทือน ครม.อนุมัติขึ้นทะเบียนหมา-แมว ฝ่าฝืนปรับหลักหมื่น


     กระแสของประเด็น เซ็ตซีโร่กำจัดหมาแมวจรจัด และการเก็บภาษีสัตว์เลี้ยง ถูกพูดถึงในวงกว้างอยู่ช่วงหนึ่ง หลังจากภาครัฐเริ่มความคุมสถานการณ์พิษสุนัขบ้าได้กระแสดังกล่าวก็ค่อย ๆ หายในการสังคม แต่ก็ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งเมื่อ วันที่ 10  ต.ค. 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติให้แก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ กำหนดให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องนำสัตว์เลี้ยงมาขึ้นทะเบียน เพื่อป้องกันปัญหาการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง โดยให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. หรือเทศบาล ออกข้อบัญญัติท้องถิ่น โดยมีใจความสำคัญว่า

     "ให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องนำสัตว์มาขึ้นทะเบียน และให้จัดเก็บค่าธรรมเนียม ไม่เกินที่กำหนดไว้ โดยคำร้องขอขึ้นทะเบียนฉบับละ 50 บาท, สมุดประจำตัวสัตว์ฉบับละ 100 บาท และเครื่องหมายประจำสัตว์ตัวละ 300 บาท รวม 450 บาทต่อตัว หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงฝ่าฝืน ไม่นำสัตว์มาขึ้นทะเบียน มีโทษปรับไม่เกิน 25,000 บาทต่อตัว"

     สำหรับกฎหมายนี้ได้กำหนดไว้ว่า สัตว์เลี้ยงทุกประเภทต้องขึ้นทะเบียน แต่ในระยะแรกให้บังคับใช้เฉพาะหมาและแมวก่อน ยังไม่ขยายไปยังสัตว์เลี้ยงในกลุ่มอื่น และเมื่อร่าง พ.ร.บ.ผ่านสภานิติบัญญัติแล้ว ให้บังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดไว้ว่าในสุนัขและแมวในองค์กรการกุศล หรือในวัดนั้น จะต้องจ่ายเงินด้วยหรือไม่

     แน่นอนว่าหลังจากมติคณะรัฐมนตรีนี้ถูกเผยแพร่ออกไปก็ได้เกิดความแสดงความคิดเห็นในสังคมอย่างกว้างขว้าง ทั้งในส่วนของผู้มีสัตว์เลี้ยงที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และผู้ที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ ต่างก็ออกมาแสดงความเห็นกันอย่างมากมาย ซึ่งก็มีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ ซึ่งทั้งสองกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นและมีการตั้งคำถามในประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากเลยทีเดียวค่ะ
 


>> เปิดโพล "เห็นด้วยหรือไม่กับการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง"


     เพื่อเป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยง ทาง www.dogilike.com จึงได้ทำโพลสำรวจความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง "ครม.เตรียมขึ้นทะเบียนน้องหมา-น้องแมว" เพื่อลดปัญหาการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 450 บาทต่อตัว และหากเจ้าของไม่จ่ายปรับไม่เกิน 25,000 บาท โดยผลสำรวจ ณ วันที่ 17 ต.ค. 2561 มีผู้เข้ามาโหวตในโพลทั้งหมด 3,000 คน โดยมีผู้ที่เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียน 49% ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนอยู่ที่ 51% ซึ่งถือว่าเป็นผลโหวตที่มีความเห็นใกล้เคียงกันมาก ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าจำนวนผลโหวต คือเหตุผลของทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยนั่นเองค่ะ ...


Dogilike.com :: สรุปดราม่า ... จะเอายังไงกับกฎหมาย ลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง

Dogilike.com :: สรุปดราม่า ... จะเอายังไงกับกฎหมาย ลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง
 


     โดยความเห็นส่วนใหญ่แล้วเห็นด้วยกับการเริ่มต้นขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง เพื่อความเป็นระบบ และง่ายต่อการจัดการในด้านการควบคุมประชากรและคุมภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยง แต่คำถามที่ตามมาคือ กฎหมายนี้ยังไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ อย่างชัดเจน เช่น การเสียค่าลงทะเบียน 450 บาทนั้น คือต่อปีหรือตลอดชีพ , สุนัขและแมวในองค์กรการกุศล หรือในวัดนั้น จะต้องจ่ายเงินด้วยหรือไม่ , การลงทะเบียนนี้จะทำยังไงให้ครอบคลุมไปถึงผู้เลี้ยงสัตว์ในต่างจังหวัด และ ถ้าลงทะเบียนสัตว์ที่มีเจ้าของแล้วรัฐจะจัดการอย่างไรกับสัตว์จรจัด ฯลฯ ... ในส่วนของกระแสที่ไม่เห็นด้วยนั้น มีความเห็นต่อกฎหมายนี้ว่าเป็นผลักภาระให้ผู้เลี้ยงต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม และยังไม่เห็นประโยชน์ว่าหลังจากลงทะเบียนแล้วสัตว์เลี้ยงของตนเองจะได้สวัสดิการอะไรจากการลงทะเบียนบ้าง เช่น การได้รับการตรวจสุขภาพฟรี , การได้รับวัคซีน - หยดยาป้องกันเห็บหมัดฟรี เป็นต้น  ... ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วหลังจากข่าวเผยแพร่ไปได้ไม่ทันข้ามวัน ทางรัฐมนตรีเกษตรฯ สั่งถอนร่างกฎหมายขึ้นทะเบียนหมาแมวมาทบทวนใหม่ เนื่องจากเห็นถึงปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระของประชาชน



     และล่าสุดวันนี้ (16 ต.ค. 2561 ) รัฐมนตรีเกษตรฯ ได้กล่าวในรายการ ข่าวจริงประเทศไทย ว่า เรื่องการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง(หมา-แมว)นั้น ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก เพราะข้อกฎหมายังไม่บังคับใช้ทันที โดยตนคิดว่าในรอบแรกที่เปิดให้ลงทะเบียนนั้นจะให้เป็นการลงทะเบียนฟรี ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น และยังต้องหารือเพิ่มเติมอีกครั้งเพื่อคำนึงถึงผลที่ตามมาในการเก็บค่าธรรมเนียมครั้งต่อ ๆ ไป แต่สำหรับในรอบแรกนี้มีข้อยุติตามที่ได้กล่าวไปว่า "ไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างแน่นอน"

     นอกจากนี้ รัฐมนตรีเกษตรฯ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กฎหมายค่าทะเบียนสัตว์ 450 บาทนี้ ถ้าหากเกิดการบังคับใช้จะอยู่ในรูปแบบกฎกระทรวง และไม่ใช่ว่าทุกที่ในประเทศไทยจะต้องเสียงค่าใช้จ่ายเท่ากัน เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะออกข้อบัญญัติท้องถิ่นและต้องผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกเทศบาล และสมาชิก อบต. ก่อนว่าจะเก็บค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ อาจจะเก็บไม่ถึง 450 บาท ก็ได้ หากภายในคลังมีงบเพียงพอแล้ว ซึ่งงบจากการลงทะเบียนนี้ท้องถิ่นอาจจะนำไปใช้ดูแลสัตว์ภายในท้องที่นั้น ๆ เช่น การฉีดวัคซีนฟรี หรืออาจจะนำไปให้สถานสงเคราะห์สัตว์เพื่อเป็นงบดูแลรักษาสัตว์ในท้องที่

     สำหรับรายละเอียดในการลงทะเบียนนั้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
     1. กลุ่มบุคคลทั่วไป จะมีการกำหนดว่าเลี้ยงได้กี่ตัตว
     2. สถานสงเคราะห์สัตว์
     3. เลี้ยงเพื่อการค้า

     ซึ่งกฎหมายนี้แก้จะผ่านคณะรัฐมนตรีแล้วก็ยังต้องส่งไปแก้ถ้อยคำในคณะกรรมการกฤษฏีกา และส่งกลับมาให้สภานิติบัญญัติอีกถึง 3 วาระ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังต้องฟังความคิดเห็นจากประชาชนร่วมด้วย


     ... ถือว่ายังคงเป็นประเด็นน่าสนใจที่เรายังต้องติดตามกันต่อไปนะคะว่าบทสรุปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามขอให้ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นในการให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงของทุกครอบครัวและเป็นจุดเริ่มต้นของภาครัฐในการจัดการสัตว์เลี้ยงและสัตว์จรจัดในประเทศไทยให้มีสวัสดิภาพที่ดีขึ้นค่ะ ...



 

บทความโดย: Dogilike.com
http://www.dogilike.com/

ข้อมูลบางส่วน :
www.bangkokbiznews.com/news/detail/795892
www.isranews.org/isranews-news/64327-news_64327.html
www.dailynews.co.th/politics/671394
dld.go.th/th/images/stories/warning/2561/256110/25611012_1rabies.pdf

ภาพประกอบจาก :
spotlightenglish.com/listen/the-rabies-virus
www.ampoljane.com/tag/set-zero/
iheartdogs.com/6-dog-tax-deductions-you-might-qualify-for/