โดย: Tonvet

ไล่เรียงไทม์ไลน์ของสุนัขนำทางจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

ย้อนรอยกำเนิดสุนัขนำทางตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน

26 กรกฏาคม 2562 · ชอบ  (0) · แสดงความคิดเห็น (1) · อ่าน (2,667)
137

SHARES


137 shares
  • ไม่มีการบันทึกแน่ชัดว่าสุนัขนำทางตัวแรกของโลกมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ มีการค้นพบภาพจิตรกรรมฝาผนังยุคโรมัน จากซากปรักหักพังเมืองปอมเปอี คาดว่าเก่าแก่มากกว่า 2000 ปี
     
  • โรงเรียนฝึกสุนัขนำทางแห่งแรกของโลกตั้งขึ้นที่ประเทศเยอรมัน ภายหลังสงครามโลกครั้งที่  1 ก่อนแพร่หลายไปยังสหรัฐอเมริกาและได้รับความนิยม
     
  • คนไทยคนแรกที่นำสุนัขนำทางมาใช้ คือ อาจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ซึ่งนำสุนัขนำทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกาหลังจากไปศึกษาที่นั่น

 

Dogilike.com :: ไล่เรียงไทม์ไลน์ของสุนัขนำทางจากอดีตจนถึงปัจจุบัน





     ตอนนี้เรื่องราวของสุนัขนำทาง (Guide dogs) )กำลังเป็นเรื่องที่คนไทยให้ความสนใจ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยก็ว่าได้ เพราะยังไม่เป็นที่นิยมใช้สุนัขนำทางกันมากสักเท่าไรนัก แม้จะมีคนไทยบางคนเคยใช้สุนัขนำทางกันอยู่บ้างก่อนหน้านี้ แต่ก็มีจำนวนไม่มากและสังคมส่วนใหญ่ยังไม่ใช้การยอมรับ ในต่างประเทศนั้นผู้พิการทางสายตาได้ใช้สุนัขนำทางมานานแล้ว และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ประชาชนส่วนใหญ่รู้ดีว่า ต้องปฏิบัติตัวกับสุนัขนำทางอย่างไรในขณะที่มันกำลังทำงานอยู่ ความนิยมใช้สุนัขนำทางเพื่อผู้พิการตาบอดนั้น มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ลองสืบค้นดูก็ได้หลักฐานถึงก่อนยุคประวัติศาสตร์กันเลยทีเดียว วันนี้เรามาไล่เรียงไทม์ไลน์ที่มาที่ไปของสุนัขนำทางกันครับ 
 

 

หลักฐานของสุนัขนำทางในยุคแรกของโลก

 
 
     ไม่มีการบันทึกแน่ชัดว่าสุนัขนำทางตัวแรกของโลกมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่คาดว่าสุนัขนำทางมีมานานแล้วก่อนยุคประวัติศาสตร์เสียอีก มีการค้นพบภาพจิตรกรรมฝาผนังยุคโรมัน จากซากปรักหักพังเมืองปอมเปอี คาดว่าเก่าแก่มากกว่า 2000 ปี เป็นรูปของชายพเนจรที่มือหนึ่งถือไม้เท้า ส่วนอีกมือหนึ่งกำลังถือสายจูงสุนัข โดยใช้สายจูงสีแดงซึ่งอาจเป็นสายหนัง คล้องกับสุนัขขนาดเล็กที่คาดว่าจะเป็นพันธุ์เทอร์เรีย ที่นำมาให้เป็นสุนัขนำทางหรืออาจจะเลี้ยงเป็นเพื่อนด้วยก็ได้ 
 
Dogilike.com :: ไล่เรียงไทม์ไลน์ของสุนัขนำทางจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
 
     ต่อมาในช่วงยุคกลางของยุโรปราวศตวรรษที่ 12-15 มีภาพเขียนของพระสงฆ์ในยุคนั้น ที่วาดภาพถึงคนตาบอดที่ถือสายจูงสุนัขนำทางเอาไว้หลายภาพ ภาพเหล่านี้ได้รับการรวบรวมโดยรองศาตราจารย์ Dr. Krista A. Murchison ในบทความที่ชื่อ "GUIDE DOGS IN MEDIEVAL ART AND WRITING" ซึ่งผู้เขียนตั้งคำถามว่า ภาพเหล่านี้ใช่สุนัขนำทางหรือไม่ หนึ่งในภาพเหล่านั้น เป็นภาพชายตาบอดคนหนึ่งได้รับการประทานดวงตาจากพระเจ้า ในขณะที่สุนัขนำทางของเขากำลังมองดูอยู่ด้วย ภาพเหล่านี้บางส่วนได้มาจากหนังสือสวดมนต์ในยุคกลาง
 
Dogilike.com :: ไล่เรียงไทม์ไลน์ของสุนัขนำทางจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

 
 

การเกิดโรงเรียนฝึกสุนัขนำทางครั้งแรกของโลก

 
 
     ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ทหารที่ไปออกรบและรอดชีวิตกลับมาหลายคนต้องกลายเป็นผู้พิการ โดยเฉพาะความพิการตาบอดจากการถูกพิษของอาวุธเคมีที่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในสนามรบของสงครามครั้งที่ 1 ทำให้เกิดแนวคิดการฝึกสุนัข เพื่อใช้ช่วยเหลือเหล่าทหารกล้าเหล่านี้ในประเทศเยอรมันเป็นที่แรก จึงมีการก่อตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกสุนัขนำทางแห่งแรกของโลก ตั้งอยู่ที่เมือง Oldenburg ก่อนจะแตกสาขาไปยังเมืองต่าง ๆ ของประเทศเยอรมัน แรกเริ่มมีการนำสุนัขพันธุ์เยอรมันเชฟเฟิร์ดมาใช้ฝึก เพราะเป็นสุนัขพันธุ์นิยมที่มีการนำมาใช้ในกองทัพมาอยู่ก่อนแล้ว จนในปี ค.ศ. 1927 มีบันทึกว่า จำนวนประชาชนชาวเยอรมันใช้สุนัขนำทางมีมากถึง 4,000 คนเลยทีเดียว ก่อนจะเกิดภาวะเศษฐกิจจนหลาย ๆ โรงเรียนต้องปิดตัวลงไป แต่แนวคิดนี้ก็แพร่หลายไปยังประเทศอื่น ๆ ทั้งยุโรป 
 
Dogilike.com :: ไล่เรียงไทม์ไลน์ของสุนัขนำทางจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
 
     ต่อมาในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีผู้เพาะพันธุ์สุนัขชื่อ Dorothy Harrison Eustis ได้เขียนตำราเกี่ยวกับโรงเรียนการฝึกสุนัขเล่มแรก และยังเป็นผู้เผยแพร่แนวคิดการฝึกสุนัขนำทางให้แพร่หลายไปยังทวีปอเมริกาอีกด้วย ทั้งยังเป็นผู้นำคำว่า “The Seeing Eye” มาใช้อย่างแพร่หลาย ใน ค.ศ. 1928 ชาวอเมริกัน Morris Frank เดินทางมาศึกษาการฝึกสุนัข เขาเป็นชายตาบอดจากรัฐเทนเนสซี่  ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้สุนัขที่ชื่อว่า Kiss ซึ่งต่อมาเขาได้ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า Buddy และหลังจากฝึกได้  5 สัปดาห์ เขาก็เดินทางกลับไปยังสหรัฐอเมริกา ทำให้ชาวอเมริกันตื่นตัวกับการใช้สุนัขนำทางเป็นครั้งแรก และใช้สุนัขนำทางเรื่อยมาจนเจ้า Buddy ตายไปในปี ค.ศ. 1938 ด้วยโรคมะเร็ง

     เขาก็ได้ฝึกสุนัขนำทางตัวใหม่ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพสหรัฐอเมริกามีการสนับสนุนการใช้สุนัขนำทาง Morris Frank และเจ้า Buddy II (ชื่อของสุนัขนำทางตัวที่ 2) ได้รับเชิญไปบรรยายในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลทหารผ่านศึกทั่วประเทศ ทำให้เกิดโรงเรียนฝึกสุนัขเพิ่มอีกหลายแห่งในอเมริกา ชาวอเมริกันเกิดการยอมรับสุนัขนำทางมากขึ้นนับแต่นั้นมา
 
Dogilike.com :: ไล่เรียงไทม์ไลน์ของสุนัขนำทางจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

 
 

สุนัขนำทางในประเทศไทย

 
 
     แม้สุนัขนำทางจะมีในโลกนี้มานานหลายร้อยปีแล้ว แต่สำหรับในประเทศไทยยังถือเป็นเรื่องใหม่ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ บางสถานที่มีการห้ามนำสุนัขเข้าไป ทั้ง ๆ ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายของผู้พิการตาบอด ไม่ควรที่จะมีกฎของสถานที่ใด ห้ามสุนัขนำทางเข้า ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างเช่นนี้ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้พิการตาบอดในประเทศไทยจึงต่ำกว่าที่ควร สุนัขนำทางจึงไม่ได้รับความนิยมในบ้านเรา คนตาบอดส่วนใหญ่จะใช้ไม้เท้าหรือไม่ก็ใช้คนนำทางแทนมากกว่า ในอดีตเคยมีโรงเรียนฝึกสุนัขนำทางเปิดตัวหลายแห่ง แต่สุดท้ายก็ต้องปิดตัวไป ในส่วนของภาครัฐของไทยนั้น ในปี พ.ศ. 2560  เพิ่งจะมีแนวคิดการเปิดโครงการสนับสนุนการใช้สุนัขนำทางคนพิการและผู้สูงวัย จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ไปถึงไหน คนที่ใช้สุนัขนำทางส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ที่เคยอาศัยอยู่ต่างประเทศมาก่อน แล้วนำสุนัขกลับมาใช้ในประเทศไทย
 
Dogilike.com :: ไล่เรียงไทม์ไลน์ของสุนัขนำทางจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
 
     ประเทศไทยเคยมีคนใช้สุนัขนำทางคนแรก คือ  อาจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเนติบัณฑิตไทย และเป็นประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ท่านจบการศึกษามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และได้เข้ารับการฝึกอบรมการใช้สุนัขนำทางมาจากที่นั่นในปี พ.ศ. 2526 มีสุนัขนำทางชื่อว่า "สกิ๊ด" เป็นสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์สีดำ ท่านนำมากลับมาเมื่อไทยด้วย จนเมื่อมันตายลงไป ในปี พ.ศ.2537 ท่านจึงได้สุนัขตัวใหม่ชื่อ "โทบี้" มาแทน 

     ไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่าประวัติศาสตร์ของสุนัขนำทางจะมีมานานแล้วนับพันปี สุนัขนำทางไม่ใช่แค่ตัวแทนของไม้เท้าให้ผู้พิการตาบอดเท่านั้น เขารู้แม้กระทั้งจังหวะการก้าวเดินของผู้พิการ และสามารถนำทางให้ผู้พิการถึงที่หมายอย่างปลอดภัย ก็หวังใจว่ากระแสของสุนัขนำทางในบ้านเราตอนนี้ จะเป็นการจุดประกายให้สังคมไทยเข้าใจสุนัขนำทางมากยิ่งขึ้นนะครับ
 




 

บทความโดย : Dogilike.com
www.dogilike.com

 
ข้อมูลบางส่วน :
https://kristamurchison.com/medieval-guide-dogs/?fbclid=IwAR3J4JLbnj3kBOPz2dr71VamYVMUUK6L9Umrxe2MPqmlBzSpo-qbuq7paao
http://ssguidedogs.blogspot.com/p/blog-page_22.html

ภาพประกอบ :
https://dogscommunity.us/wp-content/uploads/2019/04/german-shepherd-facts-1024x576.jpg
http://barkpost.com/wp-content/uploads/2016/03/guide6.jpg
http://hovawart.chienguide.free.fr/ill/cg/gravure-sur-bois.jpg
https://www.khaosod.co.th/wp-content/uploads/2019/05/%E0%B8%A8-3.jpg
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQboOS8AMCY0Ohry4YkCjBIVaQo53e47ZQEZLMdHvfajr-4ln1e
https://kristamurchison.files.wordpress.com/2018/11/baltimore-walters-art-museum-ms-82-fol-207r.png?w=800
https://kristamurchison.files.wordpress.com/2018/11/stowems17-fol-135r.png?w=800
https://www.marybakereddylibrary.org/wp-content/uploads/2018/01/AP_330907014_1249x1000px.jpg