โดย: F_Friend

ไม่ใช่ง่าย ๆ ... ตามติดชีวิตสีขากว่าจะได้เป็น "น้องหมานำทาง"

วันนี้เราจะพาทุกคนไปตามติดชีวิตน้องหมานำทางกันค่ะว่า กว่าจะมาทำหน้าที่นำทางได้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง

9 ธันวาคม 2562 · ชอบ  (0) · แสดงความคิดเห็น (2) · อ่าน (2,020)
314

SHARES


314 shares
  • น้องหมาส่วนใหญ่ที่นำมาฝึกเป็นน้องหมานำทางให้ผู้พิการทางสายตาจะเป็นพันธุ์ ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ (Labrador retriever) และ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ (Golden retriever) เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ ฉลาด แข็งแรง เรียนรู้เร็วและเป็นมิตร ซึ่งทางองค์กรจะเป็นผู้คัดเลือกน้องหมาที่จะนำมาฝึกเอง
 
  • สิ่งสำคัญในช่วงตลอดการฝึกก็คือ ผู้ฝึกจะไม่มีการให้ขนมน้องหมาเป็นรางวัลแต่จะใช้วิธีการพูดชมเชยและลูบตัวหรือหัวแทน

 

 Dogilike.com :: ไม่ใช่ง่าย ๆ ... ตามติดชีวิตสีขากว่าจะได้เป็น น้องหมานำทาง
 
 
     ก่อนหน้านี้ไม่นาน เรื่องราวของ "คุณทราย" สาวผู้พิการทางสายตา และ "ลูเตอร์" น้องหมานำทางของเธอ ทำให้คนไทยหันกลับมาสนใจให้ความสำคัญกับ "สุนัขนำทาง"มากขึ้น เรื่องราวของทั้งคู่สะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์และความจำเป็นของสุนัขนำทาง ไม่ใช่แค่นั้นยังสะท้อนให้เห็นถึงสวัสดิภาพของผู้พิการที่ต้องใช้ชีวิตในสังคมไทยว่าต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง

     ในประเทศไทยเรื่องของสุนัขนำทางอาจจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่ตัดภาพไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา สุนัขนำทางกลับเป็นทางเลือกที่สำคัญสำหรับผู้พิการทางสายตา ไม่ว่าจะเดินทางไปไหน หรือทำกิจกรรมอะไร เขาจะมีเพื่อนซี้สี่ขาคอยอยู่ข้าง ๆ อยู่เสมอ ... แต่กว่าที่สุนัขตัวหนึ่งจะได้มาทำหน้าที่นำทางให้กับผู้พิการ รู้ไหมคะว่าพวกเขาต้องผ่านการฝึกฝนอะไรบ้าง
 
    วันนี้ด็อกไอไลค์จะพาทุกคนไปติดตามเส้นทางชีวิตของเหล่าสุนัขนำทางกันค่ะว่า กว่าจะได้มาทำหน้าที่จริง ๆ พวกเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง
 
 
 

>> เปิดหลักสูตรน้องหมานำทาง มาดูกันว่าน้องต้องฝึกอะไรบ้าง

 
 
     ในต่างประเทศจะมีศูนย์ฝึกสุนัขสำหรับช่วยเหลือผู้พิการอยู่มากมายค่ะ อย่างที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีศูนย์ฝึกสำหรับฝึกน้องหมาที่จะไปนำทางให้แก่ผู้พิการทางสายตาชื่อว่า Guide Dogs for the Blind เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่นี่จะฝึกน้องหมาเพื่อให้พร้อมปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือและนำทางให้กับผู้พิการทางสายตา โดยน้องหมาส่วนใหญ่ที่นำมาฝึกจะเป็นพันธุ์ ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ (Labrador retriever) และ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ (Golden retriever) เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ ฉลาด แข็งแรง เรียนรู้เร็วและเป็นมิตร ซึ่งทางองค์กรจะเป็นผู้คัดเลือกน้องหมาที่จะนำมาฝึกเอง
 
Dogilike.com :: ไม่ใช่ง่าย ๆ ... ตามติดชีวิตสีขากว่าจะได้เป็น น้องหมานำทาง
 
     ในหลักสูตรการฝึกก็จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงค่ะ ... ช่วงแรกทางอาสาสมัครที่ผ่านการคัดเลือกจะรับลูกสุนัขไปดูแลตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ และพาฝึกที่ศูนย์เป็นระยะ ๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยจนน้องหมาพร้อมฝึกแบบเต็มตัว โดยการฝึกจะเริ่มจากคำสั่งพื้นฐานง่าย ๆ เพื่อปรับพฤติกรรมน้องหมา เช่น นั่ง หมอบ คอย และการฝึกที่สำคัญคือฝึกให้คุ้นเคยกับบังเหียนและสายจูง รวมถึงต้องฝึกให้ไม่ไปขับถ่ายในอาคาร และฝึกให้คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมที่คนพลุกพล่านด้วย (ลองสังเกตดูนะคะ น้องหมาช่วยเหลือที่เราเห็นอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ เขาจะมีสมาธิที่นิ่งมาก ไม่วอกแวกกับผู้คน ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะถูกฝึกมาตั้งแต่ยังเด็กนั่นเอง)
 
     ส่วนการฝึกในช่วงที่สอง เมื่อน้องหมามีอายุ 13 - 15 เดือน ก็จะเข้าสู่ช่วงของการฝึกหลักสูตรสุนัขนำทางโดยเฉพาะ การเรียนการฝึกจะเข้มข้นยิ่งขึ้น น้องหมาต้องอยู่ในระเบียบ ปฏิบัติตามคำสั่งได้อย่างเคร่งครัด และจะต้องมีการสอบเพื่อวัดผลอยู่เป็นระยะด้วย
 
Dogilike.com :: ไม่ใช่ง่าย ๆ ... ตามติดชีวิตสีขากว่าจะได้เป็น น้องหมานำทาง
 
     ในการฝึกทางผู้ฝึกก็จะมีเช็กลิสต์เลยค่ะว่า น้องหมาที่จะทำหน้าที่เป็นน้องหมานำทางผู้พิการทางสายตาได้นัน้น จะต้องมีคุณสมบัติที่จำเป็น คือ
 
- สามารถพาบุคคลไปตามแนวเส้นตรงจากจุด A ไปจุด B ได้ และไม่สนใจสิ่งเร้ารอบข้าง
- การรออย่างนิ่งสงบเมื่อเจ้าของนั่งอยู่หรือระหว่างเดินทาง เช่น ขึ้นรถไฟ ไปร้านอาหาร
- การหยุดเพื่อให้สัญญาณบอกถึงความเปลี่ยนแปลงตามทางเดิน เช่น ตามพื้นที่ต่างระดับ ลิฟต์ บันได
- คอยส่งสัญญาณหยุดบอกถึงสิ่งกีดขวางที่อยู่เหนือหัว เช่น กิ่งไม้
- หลบหลีกสิ่งกีดขวางและอุปสรรคตามเส้นทางบนพื้น
- การปฏิเสธคำสั่งเมื่อมีอันตราย
 
     อีกสิ่งสำคัญในช่วงตลอดการฝึกก็คือ ผู้ฝึกจะไม่มีการให้ขนมน้องหมาเป็นรางวัลแต่จะใช้วิธีการพูดชมเชยและลูบตัวหรือหัวแทน
  

Dogilike.com :: ไม่ใช่ง่าย ๆ ... ตามติดชีวิตสีขากว่าจะได้เป็น น้องหมานำทาง
 
 

>> จบการฝึกแล้ว เข้าสู่โหมดการทำหน้าที่นำทางจริง ๆ!

 
     หลังการฝึกจนจบหลักสูตร น้องหมาจะมีอายุโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ปี น้องหมาที่เตรียมไปทำงาน ทางตัวของผู้พิการทางสายตาจะต้องมาอยู่ที่ศูนย์ฝึกร่วมกันเป็นเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้เกิดความสนิทสนมกับตัวน้องหมา ในช่วงที่อยู่ด้วยกัน ทางองค์กรจะคอยคัดเลือกและพิจารณาน้องหมาให้เหมาะกับผู้พิการทางสายตา โดยจะใช้เกณฑ์พิจารณาจากลักษณะนิสัย การออกคำสั่ง การทดสอบการเดินด้วยสายจูง การหลบหลีกอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้ทางผู้พิการทางสายตาได้รับผู้นำทางที่ตรงตามความเหมาะสมที่สุด เพราะว่าน้องหมานำทางตัวนี้จะต้องอยู่กับเจ้าของใหม่ไปอย่างน้อย 10 ปี
 
     ส่วนน้องหมาที่ไม่ผ่านการทดสอบ ก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะน้อง ๆ จะถูกส่งตัวไปทำงานช่วยเหลืออย่างอื่น เช่น ร่วมให้การเรียนการสอนแก่เด็กที่เป็นผู้พิการทางสายตา เพื่อให้เด็กได้เตรียมความพร้อมและความคุ้นเคยในอนาคต หรือบางทีก็ไปเป็นน้องหมาช่วยบำบัด แต่ถ้าไม่สามารถฝึกได้จริง ๆ ก็จะถูกส่งตัวไปหาผู้เลี้ยงที่เหมาะสมค่ะ
 
Dogilike.com :: ไม่ใช่ง่าย ๆ ... ตามติดชีวิตสีขากว่าจะได้เป็น น้องหมานำทาง
 
 

>> รู้ไหม? น้องหมานำทางก็มีการเกษียณจากหน้าที่เหมือนกันนะ

     
     น้องหมานำทางจะทำงานถึงช่วงอายุราว ๆ 8-10 ปี และจะหยุดการทำหน้าที่ (เกษียณอายุ) ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละตัว ซึ่งหลังจากนั้นน้องหมานำทางยังสามารถอยู่กับเจ้าของที่เป็นผู้พิการทางสายตาเหมือนเดิมได้ แต่จะเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงเหมือนปกติทั่วไป หรือบางครั้งอาจจะหาบ้านใหม่ที่มีเจ้าของที่เหมาะสมในการเลี้ยงดูเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อนซี้อยู่ข้างกาย
 
     และทั้งหมดนี้ก็คือ เส้นทางของการมาเป็นสุนัขนำทางผู้พิการทางสายตา จะเห็นได้เลยว่า กว่าจะมาเป็นสุนัขนำทางได้ ต้องผ่านการฝึกฝนที่มีขั้นตอนและใช้เวลานานพอสมควร สำหรับในประเทศไทยเองยังไม่มีองค์กรที่ฝึกสุนัขเพื่อนผู้พิการทางสายตาโดยเฉพาะ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ในประเทศไทยเราจึงแทบจะไม่เห็นผู้พิการทางสายตามีน้องหมานำทางเป็นของตัวเอง เราก็ได้แต่หวังว่าในอนาคตทางภาครัฐหรือองค์กรที่มีศักยภาพในด้านนี้จะเป็นความสำคัญในการตั้งศูนย์ฝึกสุนัขเพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาขึ้น เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้มีสวัสดิภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นนั่นเองค่ะ
 
Dogilike.com :: ไม่ใช่ง่าย ๆ ... ตามติดชีวิตสีขากว่าจะได้เป็น น้องหมานำทาง
 
 

>> ส่งท้ายความน่ารักของน้องหมานำทาง


     ทาสหมาที่อยากติดตามดูกันต่อ สามารถรับชมภาพความน่ารักได้ที่
     เฟซบุ๊คแฟนเพจ : https://www.facebook.com/guidedogsfortheblind/
     ช่องยูทูป : https://www.youtube.com/user/guidedogsaregreat/videos
 
บทความโดย : Dogilike.com
www.dogilike.com

เนื้อหาอ้างอิงบางส่วนจาก :
www.guidedogs.com

รูปภาพประกอบบางส่วน :
www.facebook.com/guidedogsfortheblind/