โดย: Mink

โรคพิษสุนัขบ้า อันตรายใกล้ตัว

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ แทบจะไม่มีใครที่ไม่เสียชีวิต

28 กันยายน 2554 · · อ่าน (64,263)
398

SHARES


398 shares

 Dogilike.com :: โรคพิษสุนัขบ้า อันตรายใกล้ตัว

     เพื่อนๆทราบหรือไม่ครับว่า ในวันที่ 28 กันยายนของทุกปีเป็น "วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก"  ดังนั้นเราในฐานะผู้เลี้ยงสุนัขไม่ควรมองข้ามโรคนี้อย่างเด็ดขาดนะครับ ถ้ายังมองเป็นเรื่องไกลตัวอยู่ละก็ ลองอ่านข้อมูลเหล่านี้กันแล้วมิ้งรับรองว่าเพื่อนๆจะตระหนักกับโรคนี้มากขึ้นแน่นอน   มีข้อมูลจากกรมควบคุมโรคบอกไว้ว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้แทบจะไม่มีใครที่ไม่เสียชีวิต มีข้อมูลอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546-2553 พบว่า ผู้ป่วยด้วยโรคนี้เสียชีวิตทุกรายเห็นไหมครับว่าประมาทกับโรคนี้ไม่ได้แล้วล่ะ เรามารู้จักโรคพิษสุนัขบ้ากันก่อนดีกว่า

     "โรคพิษสุนัขบ้า", "โรคกลัวน้ำ" หรือ "โรคหมาว้อ" (ในภาษาอีสาน) เป็นโรคติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจาก Rabies Virus ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสก่อโรคในสัตว์เลือดอุ่นเลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว วัว ควาย ลิง ชะนี กระรอก กระแต เสือ หมี หนู ค้างคาว รวมถึงคนด้วย ซึ่งในประเทศไทยพบมากที่สุดในสุนัข (96% ของจำนวนที่พบเชื้อจากการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ) รองลงมา คือ แมว  ดังนั้น "หากถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่ใช่สุนัขกัดก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน"

 

     เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อสู่คนได้โดยการถูกสัตว์ที่เป็นโรค กัด ข่วน เลีย หรือน้ำลายสัตว์กระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล ซึ่งเชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในบริเวณแผลที่ถูกกัด หลังจากนั้นเชื้อจะเข้าสู่แขนงประสาท และระบบประสาทส่วนกลาง และหากเชื้อเข้าสู่สมองแล้วก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นอีก ซึ่งอันตรายมาก

Dogilike.com :: โรคพิษสุนัขบ้า อันตรายใกล้ตัว

อาการผู้เป็นโรคพิษสุนัขบ้า

     ผู้ป่วยจะมีอาการคลุ้มคลั่ง ดุร้าย กระวนกระวาย และหากเชื้อเข้าสู่ไขสันหลังแล้วมีการเพิ่มจำนวนจะทำให้สมองและไขสันหลังทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยมีอาการอัมพาตและเสียชีวิตในที่สุด ระยะฟักตัวหลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายไปจนเกิดอาการ ใช้เวลาประมาณ 2-8 สัปดาห์ หรืออาจสั้นเพียง 5 วัน หรือยาวนานเกินกว่า 1 ปี โดยระยะฟักตัวจะสั้นหรือยาวขึ้นกับปัจจัยบางอย่าง เช่น ความรุนแรงของบาดแผล ปริมาณของปลายประสาทที่ตำแหน่งของแผล และระยะทางจากแผลไปยังสมอง เช่น แผลที่หน้า ศีรษะ คอ หรือมือ อีกทั้งลักษณะของเครื่องนุ่งห่ม และ การล้างแผลก็จะมีส่วนช่วยลดจำนวนเชื้อลงได้มาก 

วิธีสังเกตอาการ

     เราควรสังเกตอาการ ทั้งสุนัขและรวมไปถึงอาการของคนที่ถูกกัดด้วย เพื่อที่จะทำการรักษาได้ทัน เพราะมีหลายกรณีที่เราไม่ได้สังเกตว่าสุนัขของเราเริ่มมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าทำให้ไม่สามารถดำเนินการป้องกันรักษาได้ทัน ดังนั้นการสังเกตอาการจึงสำคัญมากครับ

อาการที่พบในสุนัข

     ระยะฟักตัวของโรคหลังจากถูกกัดหรือขีดข่วน จะอยู่ในช่วง 3-8 สัปดาห์ ไม่เกิน 6 เดือน และเมื่อเริ่มแสดงอาการแล้วจะตายภายใน 10 วัน ซึ่งอาการก็มีทั้งแบบดุร้าย และแบบซึม โดยจะแบ่งเป็น 3 ระยะ

   ระยะเริ่มแรก
   สุนัขจะมีอารมณ์และนิสัยเปลี่ยนไปจากเดิม
  
   ระยะตื่นเต้น
   สุนัขเริ่มมีอาการทางประสาท กระวนกระวาย ตื่นเต้น หงุดหงิด ไม่อยู่นิ่ง  กัดแทะสิ่งของไม่เลือก ม่านตาขยายกว้าง

   ระยะอัมพาต
   สุนัขมีอาการหางห้อยตก ลิ้นมีสีแดงคล้ำห้อยออกนอกปาก น้ำลายไหล ขย้อนอาหารคล้ายมีอะไรติดอยู่ในลำคอ ขาอ่อนเปลี้ย ทรงตัวไม่ได้ ล้มลงอัมพาตทั้งตัวอย่างรวดเร็วและตายในที่สุด

อาการที่พบในคน

     ส่วนใหญ่ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ตั้งแต่ 3 สัปดาห์ - 6 เดือน แต่บางรายมีระยะฟักตัวสั้นมากไม่ถึงสัปดาห์ หรือบางรายอาจนานเกิน 1 ปี อาการเริ่มแรก คือ เบื่ออาหาร เจ็บคอ มีไข้ อ่อนเพลีย มีอาการคันรุนแรงบริเวณที่ถูกกัดแล้วลามไปส่วนอื่น กระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ ปวดท้องน้อย และขากล้ามเนื้อกระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจ ชัก เกร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด

หากถูกสุนัขกัด หรือข่วน ต้องทำอย่างไร ?

   1.  ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ เช็ดแผลให้แห้งและใส่ยารักษาแผลสด
   2.  จดจำสัตว์ที่กัดหรือข่วนให้ได้ เพื่อสืบหาเจ้าของ จากนั้นสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
   3.  ไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุดทันที หรือ เร็วที่สุด เพื่อรับการฉีดป้องกันบาดทะยัก ยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดตามอาการ

Dogilike.com :: โรคพิษสุนัขบ้า อันตรายใกล้ตัว

การป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้า

     ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ การรักษาจึงทำได้เพียงการดูแล ประคับประคอง และรักษาตามอาการเท่าที่จะทำได้เท่านั้น ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราต้องทำก็คือ การป้องกันนั่นเองครับ

     ทางที่ดีที่สุดคือ ระวังอย่าให้ถูกสุนัข หรือแมวกัด หรือ ข่วน และที่สำคัญที่สุดคือการนำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
หลายคนมีความเข้าใจผิดว่า การฉีดวัคซันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข ฉีดเพียงครั้งเดียวก็เพียงพอ จะสร้างภูมิให้สุนัขได้ตลอดไป แต่นั้นเป็นความเชื่อที่ผิดมากๆ ข้อเท็จจริงคือ เมื่อสุนัขอายุได้ 3 เดือนเราควรพาลูกสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และสำคัญที่สุด วัคซีน นี้ ต้องฉีดซ้ำ ปีละครั้ง ไม่เช่นนั้น จะไม่ได้ผลนะครับ ห้ามลืมเด็ดขาด

เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นอย่างไร ?

      เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นเซรุ่มส่วนของน้ำใสของเลือดที่ได้จากม้าหรือคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ในเซรุ่มจะมีโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าในปริมาณที่มาก เซรุ่มจะไปทำลายเชื้อไวรัสในร่างกายของผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัด โดยการฉีดรอบ ๆ แผลก่อนที่จะก่อโรค และก่อนที่ภูมิต้านทานของร่างกายจะสร้างขึ้น ด้วยเหตุนี้การให้เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าร่วมกับการฉีดวัคซีนเข็มแรก จึงเป็นวิธีที่จะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ผลดีที่สุด 

     แต่เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีราคาแพงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทำมาจากเลือดคน ดังนั้นสถานเสาวภาจึงได้ดำเนินการผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากเลือดม้าและศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากเลือดคน เพื่อใช้เองภายในประเทศ โดยขอรับบริจาคโลหิตจากบุคคลทั่วไป

 Dogilike.com :: โรคพิษสุนัขบ้า อันตรายใกล้ตัว

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า

     เพื่อนๆสามารถฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า ซึ่งจะเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า โดยการฉีดเพียง 3 เข็ม ภายในระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งวัคซีนนี้สามารถฉีดได้ไม่จำกัดอายุ ดังนั้นการฉีดวัคซีนชนิดนี้จึงเหมาะสมกับเด็กที่มักเล่นกับสัตว์และมีโอกาสถูกสัตว์กัด ซึ่งมักมีบาดแผลที่รุนแรง บริเวณใบหน้า ศีรษะ หรือถูกเลียมือที่มีแผลหรือที่ปาก โดยไม่บอกให้ผู้ปกครองทราบ หรือควรฉีดป้องกันในบุคคลทั่วไปที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว เป็นต้น

ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า

     การฉีดวัคซีน จะต้องฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง ในวันที่ 0, 7 และ 21 หรือ 28 หลังจากนั้นอีก 1 ปีอาจฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้งเพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูงกว่าระดับที่ป้องกันโรคได้เป็นระยะเวลานาน (หมายเหตุ : วันที่ 0 หมายถึง วันที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก)

      1. เมื่อถูกสัตว์กัด การฉีดวัคซีนกระตุ้นเพียง 1-2 เข็ม ร่างกายก็จะได้ภูมิต้านทานที่สูงพอจะป้องกันโรคอย่างได้ผล

      2. ไม่เสี่ยงต่อการแพ้เซรุ่ม หรือเจ็บปวดจากการฉีดเซรุ่มรอบ ๆ แผล

     กรณีที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า หากเราถูกสุนัขกัด ควรรีบล้างน้ำแล้วรีบไปพบแพทย์ แพทย์จะพิจารณาอาการ ลักษณะแผล คนไข้และสัตว์ที่กัด และอาจจะทำการฉีดวัคซีนแบบหลังการสัมผัสอีกครั้งหนึ่ง ขั้นตอนคือ ผู้ถูกกัดต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรือฉีดวัคซีนฯ ร่วมกับอิมมูโนโกลบุลิน (กรณีที่บาดแผลลึก หรือแผลใหญ่ หรือหลายแผล หรือบาดแผลอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญ เช่น ในหน้า ลำคอ) โดยเร็ว ซึ่งผู้ถูกกัดต้องมาฉีดให้ตรงตามกำหนดนัดหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 เข็มแรก ถ้าเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อตามแบบมาตรฐานจะต้องฉีด 5  เข็ม ในวันที่ 0, 3, 7, 14 และ 30 ของการถูกกัด ที่สำคัญที่สุดคือควรไปพบแพทย์ อย่าคิดว่าจะปล่อยให้หายเองเพราะอันตรายมากครับ

(วันที่ 0 หมายถึงวันที่ถูกสัตว์กัด เมื่อมีผู้ถูกสัตว์ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน)

Dogilike.com :: โรคพิษสุนัขบ้า อันตรายใกล้ตัว

ความน่ากลัวของโรคพิษสุนัขบ้า

     กรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่ากลัวของโรคพิษสุนัขบ้าว่า โดยเฉลี่ยแต่ละปี มีคนไทยถูกสุนัขกัดปีละประมาณ 1 ล้านราย ผู้ที่ถูกสุนัขกัดส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีอายุระหว่าง 5-9 ขวบ แต่ในจำนวนผู้ที่ถูกสุนัขกัด 1 ล้านราย ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละประมาณ 5 แสนราย หรือเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจากข้อมูลพบว่าคนที่ถูกสุนัขจรจัดกัด ส่วนใหญ่มักจะกลัว จึงรีบไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าไว้ก่อน แต่คนที่ถูกสุนัขมีเจ้าของกัด มักจะคิดว่าเป็นสุนัขมีเจ้าของคอยดูแลจึงชะล่าใจ และกลายเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้ามากที่สุด

 

     นอกจากนี้ในจำนวนคนที่ถูกหมาบ้ากัดตายทั้ง 14 ราย เป็นที่น่าสังเกตว่า 9 ตัวที่กัดคนตายเป็นหมาใหญ่ อีก 5 ตัว ที่เหลือเป็น ลูกหมา ซึ่งมีเชื้อพิษสุนัขบ้าอยู่ จากจุดนี้ชี้ ให้เห็นว่า ผู้ที่ถูกลูกสุนัขกัดส่วนใหญ่มักจะประมาทคิดว่า ลูกสุนัขคงไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่หารู้ไม่ว่าลูกสุนัขตัวเล็กๆก็อาจติดเชื้อได้จากแม่สุนัขโดยการเลียปากและจมูกลูกสุนัขนั่นเอง

 

   ดังนั้น ทางกรมควบคุมโรคจึงฝากคำเตือน 5 อย่า เพื่อให้ห่างไกลโรคพิษสุนัขบ้า ดังนี้ครับ
 1. อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห 
 2. อย่าเผลอไปเหยียบให้สุนัขเจ็บ
 3. อย่าแยกเวลาหมากัดกัน เพราะอาจถูกลูกหลง วิธีที่ถูกให้ใช้น้ำฉีดเข้าปากสุนัข ไม่ควรใช้น้ำร้อนสาด
 4. อย่าหยิบขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร เพราะมันอาจคิดว่าถูกแย่ง และ
 5. อย่ายุ่งกับสุนัขแปลกหน้า

      และในวันที่ 28 กันยายน เป็น "วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก" ทาง กทม. กรมปศุสัตว์ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้ออกมารณรงค์ให้ประชาชนนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  ตลอดเดือนนี้

สามารถเช็คตารางสถานที่ออกหน่วยเคลื่อนที่ของกทม.ได้ที่  
http://www.vphbma.com/

     เพื่อนๆชาว Dogilike ที่ยังไม่ได้พาสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรือยังไม่ได้ฉีดกระตุ้น อย่าชะล่าใจเด็ดขาดนะครับ อย่าลืมว่าโรคนี้รักษาไม่ได้ แต่ป้องกันได้นะครับ

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

กรมปศุสัตว์  สำนักงานแพทย์สาธารณสุข กรุงเทพมหานคร

http://r36.ddc.moph.go.th