โดย: somo2

สงสัยไหม ทำไมผู้พิการทางสายตาในไทยไม่ใช้สุนัขนำทาง

ทั้ง ๆ ที่ในต่างประเทศผู้พิการทางสายตาจะมีน้องหมานำทางเป็นตัวช่วย แต่ทำไมในไทยถึงไม่มีล่ะ ไปตามหาคำตอบกัน

1 มีนาคม 2564 · · อ่าน (5,040)
19

SHARES


19 shares
  • สุนัขนำทางก็เปรียบเสมือนตาให้กับผู้พิการทางสายตา เป็นผู้ช่วยในการเดินทางไปทุกหนทุกแห่งกับผู้เป็นนาย แต่ว่าในประเทศไทยยังคงมีข้อจำกัดที่ทำให้สุนัขนำทางไม่สามารถเดินร่วมทางร่วมไปกับผู้พิการทางสายตาด้วยได้ ทั้งที่ในกฎหมายระบุอย่างชัดเจนว่าสุนัขนำทางก็เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ช่วยเหลือของผู้พิการทางสายตา มีสิทธิที่จะเข้าออกสถานที่ไหนก็ได้นั่นเพราะสุนัขนำทางไม่ใช่สัตว์เลี้ยง
     
  • โกลเด้น รีทรีฟเวอร์, ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์, เยอรมัน เซฟเพิรด์ และเกรทเทอร์ สวิสส์ เมาน์ เทนด็อก ... 4 สายพันธุ์ที่นิยมนำมาใช้เป็นสุนัขนำทางชาญฉลาดด้านการดูแล

 

     เพื่อน ๆ รู้จัก "สุนัขนำทาง" กันไหมคะ? ... ในต่างประเทศเรามักจะเห็นผู้พิการมีสุนัขนำทางคอยช่วยเหลือเวลาเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งสุนัขนำทางเหล่านี้จะถูกเลี้ยงและฝึกมาต่างกับสุนัขที่เราเลี้ยงกันโดยทั่วไป สุนัขนำทางจะต้องถูกฝึกและถูกพัฒนาศักยภาพให้มีความพร้อมในทุกด้านเพื่อที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือผู้พิการทางตายตาได้อย่างเต็มที่และปลอดภัย แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่ในประเทศไทยเองผู้พิการทางสายตามักจะใช้ไม้เท้า มากกว่าจะใช้สุนัขนำทาง ... อยากรู้ไหมคะว่าเป็นเพราะอะไร?

     วันนี้ ด็อกไอไลค์ จะพาทุกคนไปติดตามเส้นทางกว่าจะเป็นสุนัขนำทางช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาและตามไปหาคำตอบกันค่ะว่า ทำไมเราถึงไม่ค่อยเห็นสุนัขนำทางถูกนำมาใช้งานในประเทศไทย ...

 
Dogilike.com :: สงสัยไหม ทำไมผู้พิการทางสายตาในไทยไม่ใช้สุนัขนำทาง
 

     สุนัขนำทาง คือ สัตว์ที่ถูกฝึกมาเป็นพิเศษเพื่อเฉพาะผู้พิการทางสายตาเท่านั้น ลูกสุนัขจะถูกฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเรื่องการรับฟังคำสั่ง การดูแลช่วยเหลือเจ้าของ มักจะถูกฝึกฝนอย่างหนักจนกว่าจะเชี่ยวชาญ ต้องมีความอดทนสูง ฝึกง่าย และมีใจรักบริการเพราะพวกเขาจะไม่สามารถเล่นหรือให้เวลาส่วนตัวกับตัวเองได้มากเท่าสุนัขเลี้ยงทั่วไป สายพันธุ์ที่ทำหน้าที่นี้ได้ดีมักจะเป็นโกลเด้น รีทรีฟเวอร์, ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์, เยอรมัน เชฟเพิร์ด, เกรทเทอร์ สวิสส์ เมาน์ เทนด็อก ซึ่งสุนัขแต่ละตัวก็จะถูกเจ้าหน้าที่ฝึกฝนประเมินสภาพร่างกายและการทำงานก่อนนำไปฝึกซ้อมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับผู้พิการทางสายตา หากสุนัขไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็จะมีอาสาสมัครนำกลับไปเลี้ยงเป็นสุนัขเฝ้าบ้านต่อค่ะ 
 

Dogilike.com :: สงสัยไหม ทำไมผู้พิการทางสายตาในไทยไม่ใช้สุนัขนำทาง
 

     ส่วนสุนัขที่ผ่านเกณฑ์แล้วก็จะใช้เวลาในการฝึกฝน 6 เดือน จากนั้นจึงให้ผู้พิการทางสายตาฝึกทำความคุ้นเคยรวมถึงการออกคำสั่งด้วยมือเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งการเลือกสุนัขนำทางนั้นจะไม่ใช่หน้าที่ของผู้พิการทางสายตาแต่เป็นหน้าที่ของครูฝึกที่จะสังเกตว่าตลอดระยะเวลาที่ทำการคุ้นเคยกันนั้นสุนัขมีท่าทาต่อต้านหรือออกแรงมากเกินไปเวลาใช้บังเหียนรึป่าว พูดง่าย ๆ ก็คือครูฝึกจะเป็นคนเลือกพาทเนอร์โดยดูจากคาแรคเตอร์ของทั้งสองฝ่ายว่าเข้ากันได้ดีไหม

     ความจริงแล้วสุนัขนำทางเป็นที่นิยมและรู้จักกันอย่างกว้างขวางมากในฝั่งประเทศยุโรป เวลาที่ชาวต่างชาติเห็นสุนัขนำทางเขาจะรู้ได้ทันทีว่าสุนัขตัวนั้นไม่สามารถเข้าไปเล่นด้วยได้ เนื่องจากกำลังปฏิบัติภารกิจสำคัญอยู่ จุดสังเกตง่าย ๆ เลยก็คือการใช้ 'บังเหียน' ค่ะ การเข้าไปเล่นกับสุนัขนำทางสุ่มสี่สุ่มหาจะเป็นการรบกวนทำงานของสุนัขและอาจทำให้เขาเสียสมาธิจนอาจเกิดอุบัติเหตุกับผู้พิการทางสายตาคนนั้นได้ แต่พอมองกลับมาแล้วประเทศไทยที่มีจำนวนผู้พิการที่ได้รับการออกบัตรคนพิการ จำนวน 1,998,096 คน คิดเป็น 3.01 % ของประชากรทั้งหมด แบ่งแยกประเภทออกมาเป็นทางร่างกาย การได้ยิน ทางสายตาและสติปัญญาตามลำดับ (2563) 

           

Dogilike.com :: สงสัยไหม ทำไมผู้พิการทางสายตาในไทยไม่ใช้สุนัขนำทาง


     แต่ก็มีคนไทยที่นำสุนัขนำทางมาใช้ในประเทศไทยเช่นกัน เพื่อน ๆ น่าจะรู้จัก ลูเต้อร์ น้องหมาพันธุ์ลาบราดอร์ขนสีดำขลับที่เป็นผู้ช่วยนำทางของคุณทรายกันใช่ไหมคะ ... ลูเต้อร์กับคุณทรายเจอกันครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาเนื่องจากเธอย้ายไปเรียนที่สหรัฐและเพื่อฝึกฝนการใช้ชีวิต จึงตัดสินใจขอรับสุนัขนำทางมาเป็นคู่หู ทั้งสองใช้เวลาอยู่ร่วมกันตลอดเวลาที่คุณทรายเรียนจบแล้วตัดสินใจกลับมาเมืองไทยพร้อมลูเต้อร์ นับตั้งแต่พวกเธอเหยียบประเทศไทยอีกครั้งการผจญภัยครั้งใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นแทบจะในทันทีที่จะขึ้นรถแท็กซี่แต่ก็ถูกปฏิเสธ ... เพื่อน ๆ สามารถติดตามเรื่องราวการปฏิบัติภารกิจของลูเต้อร์ได้ที่ ผมชื่อลูเต้อร์


     คราวนี้เรากลับมาดูที่ปัญหาหลักของการใช้สุนัขนำทางกันดีกว่าค่ะว่าทำไมสุนัขนำทางแทบจะไม่เป็นที่นิยมหรือรู้จักกันอย่างกว้างขวางในประเทศไทยเลย สาเหตุเพราะอะไรบ้างเราตามมาดูกันค่ะ....
 


1. กฎหมายคุ้มครอง แต่ไม่ครอบคลุม


     ถึงแม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายพ.ร.บ.คนพิการมาตรา 20 วรรค 8  "สิทธิที่จะนำสัตว์นำทาง เครื่องมือหรืออุปกรณ์นำทาง หรือเครื่องช่วยความพิการใด ๆ ติดตัวไปในยานพาหนะหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการเดินทางและการได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ โดยได้รับการยกเว้นค่าบริการ ค่าธรรมเนียม และค่าเช่าเพิ่มเติมสำหรับสัตว์ เครื่องมืออุปกรณ์ หรือเครื่องช่วยความพิการดังกล่าว" กล่าวคือสัตว์นำทางก็เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาเช่นกัน แต่ทว่าในหลาย ๆ สถานที่ที่มีกฎห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าภายในสถานที่ หรือตามร้านค้าข้างทาง ร้านอาหารมักจะปฏิเสธการเข้าถึงและไม่ยินยอมให้สุนัขนำทางเข้าไปพร้อมผู้พิการ อีกทั้งประชาชนส่วนมากก็ไม่ค่อยรู้จักข้อบังคับหรือกฎหมายคุ้มครองชุดนี้ด้วยค่ะ

 

2. พื้นทางเดินที่ไม่เอื้ออำนวย


     ปกติแล้วพื้นถนนประเทศไทยค่อนข้างมีปัญหาอย่างมากโดยเฉพาะถนนฟุตบาท หรือทางเท้า ไม่ว่าจะพื้นไม่เรียบ ขรุขระ มีแอ่งน้ำสกปรกขัง ถุงขยะวางเกลื้อน ป้ายรถเมล์ ป้ายโฆษณา และแผงร้านตั้งขาย อุปสรรคเหล่านี้ว่าเป็นปัญหากับเราที่ใช้ชีวิตกันทุกวันอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้พิการทางสายตาถนนแบบนี้นับว่าเป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างมาก เพราะการใช้ไม้เท้าผู้ใช้ต้องออกแรงกวาดไปให้ทั่วและจำเป็นต้องเดินเข้าไปใกล้วัตถุเหล่านั้นถึงจะรับรู้ได้ว่าที่ตรงนั้นเดินไม่ได้ ต้องเลี่ยง แต่ก็จะมีหลายกรณีที่หลบเลี่ยงทางหนึ่งแล้วเจออุปสรรคอีกทางหนึ่งเช่นกัน แต่สำหรับสุนัขนำทางพวกเขาจะมองเห็นสิ่งกีดขวางเหล่านั้นแทนผู้พิการทางสายตาและพาหลบเลี่ยงก่อนถึงตัว ไม่เพียงเท่านั้นช่องทางแคบ ๆ ที่เขามองแล้วคิดว่าไม่สามารถผ่านได้ 2 คนเขาก็จะพาเลี่ยงไปเส้นทางอื่นเช่นกัน แต่อย่างที่บอกเลยค่ะว่านอกจากอุปสรรคทั้งหมดนั้นยังมีเรื่องรถจักรยานยนตร์ขับขึ้นฟุตบาทอีกด้วย นอกจากจะเป็นอันตรายกับคนแล้วก็ยังเป็นอันตรายกับสุนัขเช่นกัน
 

Dogilike.com :: สงสัยไหม ทำไมผู้พิการทางสายตาในไทยไม่ใช้สุนัขนำทาง

 

3. เพราะไม่รู้จึงเป็นปัญหา


     หลายครั้งที่คนเราไม่รู้สิ่งที่เห็นตรงหน้าแต่ก็มักจะตัดสินสิ่งเหล่านั้นไปก่อนถามหาความจริง กรณีสุนัขนำทางก็เช่นกันค่ะ เพราะไม่ค่อยเป็นที่นิยมและไม่ได้รู้จักกันมากนักในประเทศไทย เวลาคนนอกเห็นสุนัขมากับเจ้าของก็มักจะวิ่งเข้ามาเล่น ส่งเสียงวี๊ดว๊าย แต่การทำแบบนั้นผิดอย่างแรงเลยค่ะ!! เพราะว่าสุนัขนำทางไม่ใช่สุนัขเลี้ยง การเข้ามาส่งเสียงหรือเข้ามาเล่นด้วยอาจทำให้สุนัขเสียสมาธิจากการปฏิบัติหน้าที่อยู่ขณะนั้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายและเกิดอุบัติเหตุให้กับผู้พิการทางสายตาได้เช่นกัน

 

4. หมาจรจัดเจ้าถิ่น


     สุนัขจรจัดไม่เพียงแต่จะหันมาวิ่งไล่คนเท่านั้น แต่สุนัขด้วยกันเองก็อาจโดนไปด้วยซึ่งสุนัขนำทางก็ไม่มีข้อยกเว้น เพราะผู้พิการทางสายตาจะไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าทางเดินที่กำลังจะไปนั้นมีสุนัขจรจัดอยู่กี่ตัว แล้วจะพาหลบหลีกยังไงก็ยิ่งยากกับทั้งคู่ สิ่งที่ทำได้คือต้องมีผู้ช่วยนำทางอีกคนสังเกตเส้นทางและพาผู้พิการทางสายตาและสุนัขนำทางเดินไปด้วยกันเพื่อจดจำเส้นทางปลอดภัย หลีกเลี่ยงอันตรายในกรณีที่อาจไม่มีใครเข้ามาช่วยได้เลย

 

5. ถูกปฏิเสธจนเป็นช่องโหว่


     สุนัขนำทางมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสัตว์เลี้ยงทั่วไปเพราะความไม่รู้ของคนส่วนใหญ่ ผู้พิการทางสายตาจะถูกปฏิเสธการขึ้นรถสาธารณะอย่างรถเมล์ หรือแท็กซี่ทันที จุดนี้แสดงให้เห็นว่าถึงแม้จะมีกฏหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ พ.ศ. 2560 แต่สุนัขนำทางกลับไม่เป็นที่รู้จักอย่างเท่าที่ควรทั้งที่เป็นสิ่งช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาเหมือนไม้เท้า



Dogilike.com :: สงสัยไหม ทำไมผู้พิการทางสายตาในไทยไม่ใช้สุนัขนำทาง
 

     ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อแตกต่างที่เปรียบเทียบให้เห็นว่าทำไมสุนัขนำทางถึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมและที่รู้จักมากนักในประเทศไทย จุดรวมของปัญหาเหล่านี้มักมีเหตุมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจและการให้เกียรติผู้อื่น หากเราให้ความสำคัญและเอาใจใส่กับการศึกษามากยิ่งขึ้น เราจะพบว่าสุนัขนำทางเป็นผู้ช่วยที่ดีของผู้พิการทางสายตาอย่างหนึ่งที่จะทำให้เห็นว่าผู้พิการทางสายตาก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระเสรี และชีวิตของสุนัขนำทางที่เป็นมากกว่าผู้นำทางบทท้องถนน ทำให้เราเห็นว่าเขาไม่ใช่เพียงแค่สุนัข แต่เขาเป็นดวงตาให้กับผู้พิการทางสายตา เพื่อที่จะได้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีสวัสดิภาพที่ดีมากยิ่งขึ้นนั่นเองค่ะ


 





บทความโดย : Dogilike.com
www.dogilike.com



ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน :
www.chanthaburi.m-society.go.th/main/index.php?option=com_
content&view=article&catid=61:2014-02-10-03-15-23&id=171:2014-02-10-03-32-46
news.thaipbs.or.th/content/282665
www.bbc.com/thai/thailand-49044382
medium.com/look-n-say/สรุปสถานการณ์ของผู้พิการในประเทศไทย-ปี-2562-b3343a812bab

 

ภาพประกอบ :
pixabay.com/th/photos/สุนัข-ที่น่ารัก-สัตว์เลี้ยง-สัตว์-3175810/