โดย: เว็บมาสเตอร์มะเหมี่ยว

เผยผลวิจัยจากสัตวแพทย์ จุฬาฯ พบหมาแมวติดโควิด-19 จากเจ้าของ

ย้ำกันอีกครั้ง หมา - แมว สามารถโควิด-19 จากเจ้าของที่มีเชื้อได้ และการติดเชื้อนั้นมีทั้งแสดงอาการและไม่แสดงอาการ

10 พฤศจิกายน 2564 · · อ่าน (1,439)
19

SHARES


19 shares
  • เผยผลวิจัย จากคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ เผยว่า พบน้องหมาและน้องแมวติดเชื้อโควิด-19 จากเจ้าของ
 
  • หลังจากมีการเผยแพร่งานวิจัยดังกล่าว นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขอให้ผู้เลี้ยงสัตว์ทุกท่านอย่าตื่นตระหนกและไม่ละทิ้งสัตว์เลี้ยง เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลว่าสามารถแพร่เชื้อจากสัตว์เลี้ยงกลับสู่คนได้


     ย้ำกันอีกครั้ง หมา - แมว สามารถโควิด-19 จากเจ้าของที่มีเชื้อได้ และการติดเชื้อนั้นมีทั้งแสดงอาการและไม่แสดงอาการ


Dogilike.com :: เผยผลวิจัยจากสัตวแพทย์ จุฬาฯ พบหมาแมวติดโควิด-19 จากเจ้าของ


     ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำงานวิจัยจากทีมคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน มาเล่าผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยได้ระบุรายละเอียดว่า

     ทางทีมวิจัยได้มีการตรวจน้องหมา 35 ตัว พบว่ามี 3 ตัวที่ติดเชื้อ โดย 1 ใน 3 ตัวที่ติดเชื้อมีอาการเล็กน้อย แต่ตัวที่เหลือเป็นการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ส่วนในน้องแมว มีการตรวจจากแมว 9 ตัว พบว่ามี 1 ตัวติดเชื้อ

     ทั้งน้องหมาและน้องแมวที่ตรวจพบเชื้อนั้นถูกเลี้ยงในบ้านที่เจ้าของติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจากข้อมูลนี้ทำให้เห็นว่า คนสามารถติดเชื้อและแพร่ไปสู่สัตว์เลี้ยงได้ ผู้เลี้ยงควรจะตระหนักให้ดีว่าถ้ามีอาการป่วยนอกจากจะต้องกักตัวให้ห่างจากสมาชิกในครอบครัวแล้ว ยังควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงด้วย


     ทั้งนี้ ปัจจุบันพบว่ามีการติดเชื้อจากคนสู่สัตว์มากหมายหลายชนิด นอกจากน้องหมา น้องแมวแล้ว ยังมีตัวมิ้งค์ เฟอร์เร่ท์ อ๊อตเตอร์ เสือ กวาง ฯลฯ อีกด้วย

     ส่วนการถ่ายทอดเชื้อโควิด-19 จากสัตว์มาสู่คน ตอนนี้มีรายงานเกี่ยวกับการติดเชื้อจากตัวมิ้งค์ไปสู่คนจากหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในอเมริกา เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ฯลฯ ซึ่งตรงนี้อาจจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการแพร่ระบาด

     ทั้งนี้หลังจากมีการเผยแพร่งานวิจัยดังกล่าว นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขอให้ผู้เลี้ยงสัตว์ทุกท่านอย่าตื่นตระหนกและไม่ละทิ้งสัตว์เลี้ยง ซึ่งการทิ้งสัตว์เลี้ยงเป็นการเข้าข่ายผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 โดยเน้นย้ำว่าในปัจจุบันสามารถระบุได้เพียงว่าสุนัขและแมวสามารถติดเชื้อโควิด-19 จากคนป่วยได้เท่านั้น ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลว่าสามารถแพร่เชื้อจากสัตว์เลี้ยงกลับสู่คนได้ ซึ่งได้มีการศึกษาร่วมกันระหว่างกรมปศุสัตว์และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการเก็บตัวอย่างในสัตว์เลี้ยงที่เจ้าของนำมาเข้ารับบริการในโรงพยาบาลสัตว์จำนวน 120 ตัว ยังไม่พบการติดเชื้อซึ่งแสดงให้เห็นว่าเชื้อโควิด-19 และยังไม่มีการแพร่กระจายทั่วไปในสัตว์เลี้ยง แต่ถึงอย่างไรก็ตามการป้องกันและลดความเสี่ยงก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องทำ

 

     และนี่คือข้อควรปฏิบัติที่ต้องทำกับสัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 แพร่สู่สัตว์เลี้ยงค่ะ


>> กรณีที่คุณอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด - 19 และจำเป็นต้องกักตัว 14 วัน

     1. คุณสามารถดูแลสัตว์เลี้ยงได้ตามปกติ แต่หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิด เช่น ลูบหัว กอดหรือจูบ การเลียมือหรืออวัยวะในร่างกาย หรือ การนำสัตว์เลี้ยงนอนในห้องนอนเดียวกับคุณ และสวมเครื่องมือป้องกันเมื่อสัมผัสสัตว์ เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อไปยังสัตว์เลี้ยง

     2. หากมีสมาชิกท่านอื่นในครอบครัว ให้สมาชิกท่านอื่น ๆ เป็นคนดูแลสัตว์เลี้ยงแทน แต่ยังคงให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสแบบใกล้ชิด ควรสวมเครื่องป้องกันเมื่อสัมผัสสัตว์ และทำการล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยง และให้รักษาระยะห่างจากผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเคร่งครัด

     3. หากสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยแบบไม่รุนแรง ให้โทรหาสัตวแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาในการดูแลเบื้องต้น

     4. หากสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยแบบรุนแรง ให้โทรแจ้งสัตวแพทย์ล่วงหน้า และให้สมาชิกในครอบครัวที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคโควิด - 19 เป็นคนพาสัตว์เลี้ยงไปยังสถานพยาบาลสัตว์

     5. ในกรณีที่คุณพักอาศัยอยู่เพียงลำพัง ให้โทรติดต่อโรงพยาบาลสัตว์ที่สามารถรับฝากดูแลสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง โรงพยาบาสสัตว์ที่พร้อมรับฝากสัตว์เลี้ยงในกลุ่มนี้จะส่งเจ้าหน้าที่พร้อมชุดอุปกรณ์ป้องกันมารับตัวสัตว์เลี้ยงไปที่โรงพยาบาลสัตว์ โดยหลีกเลี่ยงการเดินทางไปที่โรงพยาสัตว์ด้วยตัวเอง และรักษาระยะห่างทางสังคมเมื่อต้องทำการติดต่อเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลสัตว์อย่างเคร่งครัด ดูน้อยลง


>> กรณีที่คุณติดเชื้อโควิด - 19 แต่ในบ้านมีสมาชิกคนอื่นที่ไม่ได้ติดเชื้อ

     1. เมื่อทราบว่าตนเองเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด - 19 ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง เช่น ลูบหัว กอดหรือจูบ เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อไปยังสัตว์เลี้ยง

     2. หากต้องการทำความสะอาดตัวสัตว์ ให้อาบน้ำด้วยแชมพูสำหรับสัตว์ปกติ **ห้ามทำความสะอาดสัตว์เลี้ยง ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือแอลกอฮอล์**

     3. ให้สมาชิกในครอบครัวของคุณ เป็นผู้ดูแลสัตว์เลี้ยงแทน แต่ยังคงให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสแบบใกล้ชิด เช่น การจูบสัตว์ การลูบหัว การเลียมือหรืออวัยวะในร่างกาย หรือการนำสัตว์เลี้ยงนอนในห้องนอนเดียวกับผู้เลี้ยงเป็นเวลา 14 วัน

     4. ผู้ดูแลสัตว์เลี้ยงที่สัมผัสกับผู้ป่วยควรสวมเครื่องป้องกัน ได้แก่ ถุงมือและหน้ากากอนามัย และทำการล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยง

     5. หากสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยแบบไม่รุนแรง ให้โทรหาสัตวแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาในการดูแลเบื้องต้น

     6. หากสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยแบบรุนแรง ให้โทรแจ้งสัตวแพทย์ล่วงหน้า และให้สมาชิกในครอบครัวที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคโควิด - 19 เป็นคนพาสัตว์เลี้ยงไปยังสถานพยาบาลสัตว์

>> กรณีที่เป็นเจ้าของคนเดียวและจำเป็นต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฝากที่สถานพยาบาลสัตว์

     1. เมื่อทราบว่าตนเองเป็นผู้ติดเชื้อโควิด - 19 ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง เช่น ลูบหัว กอดหรือจูบ เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อไปยังสัตว์เลี้ยง

     2. โทรติดต่อสถานพยาบาลสัตว์ที่สามารถรับฝากดูแลสัตว์เลี้ยงได้ในกรณีที่คุณต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล สถานพยาบาลสัตว์ที่พร้อมรับฝากสัตว์เลี้ยงในกลุ่มเสี่ยงจะส่งเจ้าหน้าที่พร้อมชุดอุปกรณ์ป้องกันมารับตัวสัตว์เลี้ยงไปที่สถานพยาบาลสัตว์ โดยผู้ติดเชื้อโควิด - 19 ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปที่สถานพยาบาสสัตว์ด้วยตนเอง

     3. คุณสามารถให้เพื่อน หรือญาติที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด - 19 นำสัตว์เลี้ยงไปสถานพยาบาลสัตว์แทนได้ โดยให้ผู้ที่นำสัตว์เลี้ยงไปสถานพยาบาลสัตว์สวมเครื่องป้องกันที่เหมาะสม ได้แก่ ถุงมือและหน้ากากอนามัย เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และแจ้งให้สถานพยาบาลสัตว์รับทราบก่อนล่วงหน้า


     ส่วนเรื่องของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในสัตว์เลี้ยงนั้น ...

 

  •      มี.ค. 2021 - เว็บไซต์สื่อ The Moscow Times ของรัสเซีย เสนอข่าว Russia Approves 'World’s First' Coronavirus Vaccine for Pets ระบุว่า หน่วยงานควบคุมและป้องกันโรคในสัตว์ของทางการรัสเซีย ให้การรับรอง “คาร์นิแว็ก-คอฟ (Carnivac-Cov)” วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 สำหรับฉีดให้กับสัตว์เลี้ยง ทำให้รัสเซียกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการรับรองวัคซีนโควิด-19 สำหรับสัตว์ คาดว่าจะเริ่มฉีดได้ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. 2564 เป็นต้นไป โดยข้อสรุปจากงานวิจัยคือวัคซีนไม่เป็นอันตรายและมีประสิทธิภาพสูงในการช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน เห็นได้จากสัตว์ทดลองที่ป่วยสามารถพัฒนาแอนติบอดีได้100%  แต่นักวิจัยจะยังคงติดตามผลไปอีกอย่างน้อย 6 เดือนหลังเริ่มฉีดวัคซีนให้สัตว์เลี้ยงแล้ว ซึ่งนักวิจัยในรัสเซียเชื่อกันว่าวัคซีนจะป้องกันไม่ให้ไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อมีการแพร่เชื้อต่อกันและกัน

 

  •      พ.ค. 2021 - สื่อรัสเซียรายงานว่า ประเทศไทยมีแผนนำเข้าวัคซีน Carnivac-Cov ครั้งแรกเป็นจำนวน 10,000 โดส

 

  •      ก.ค. 2021 - สวนสัตว์ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐเริ่มเดินหน้าฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แก่บรรดาสัตว์ที่อยู่ในสวนสัตว์ เพื่ออนุรักษ์พันธุ์สัตว์หายากให้อยู่ต่อไป โดยเจ้าจิงเจอร์และเจ้ามอลลี่ เสือโคร่งเป็นสัตว์ 2 ตัวแรกที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ของสวนสัตว์โอ๊คแลนด์ โดยวัคซีนทั้งหมดถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทยาโซเอทิส ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ บริษัทที่ผลิตยาให้สัตว์โดยเฉพาะซึ่งวัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่ได้รับบริจาคมาเพื่อทดลองการใช้งาน


     

 

บทความโดย : Dogilike.com
www.dogilike.com/

ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน :

www.facebook.com/thiraw/posts/10223394272317495
www.js100.com/en/site/news/view/100578
www.matichon.co.th/covid19/news_2740178
www.thairath.co.th/news/foreign/2132041
www.thansettakij.com/economy/502500