โดย: Tonvet

หยุด !! โรคอ้วนในสุนัข ด้วยหลักโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง

มาดูสาเหตุและวิธีการจัดการกับโรคอ้วนในสุนัขกันเถอะ

24 ตุลาคม 2555 · · อ่าน (67,266)
1,577

SHARES


1,577 shares

Dogilike.com :: หยุด !! โรคอ้วนในสุนัข ด้วยหลักโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง

     ปัจจุบันมีสุนัขที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น จากการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร พบสุนัขที่เป็นโรคอ้วนมากถึง 20-30% ของประชากรสุนัขเลยทีเดียว แม้ในประเทศไทยยังไม่มีการสำรวจอย่างจริงจังแต่น่าเชื่อได้ว่า คงจะมีจำนวนมากไม่แพ้กัน เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น เพราะคนเราเลี้ยงสุนัขดีขึ้น สุนัขได้กินอาหารที่ดีมากขึ้น? เพราะค่านิยมของเจ้าของที่ชอบน้องหมาอ้วนจ้ำม้ำน่ารักน่ากอดเหมือนตุ๊กตา? หรือเพราะว่าแท้จริงแล้ว เจ้าของไม่ทราบถึงหลักโภชนาการที่ถูกต้องสำหรับสุนัขกันแน่?  
 
     โรคอ้วนในสุนัข คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันส่วนเกินมากเกินไป โดยนิยามแล้วสุนัขที่จัดว่าเป็นโรคอ้วนต้องมีน้ำหนักตัวมากกว่า 30 % ของน้ำหนักมาตรฐานของแต่ละพันธุ์ หรือมีคะแนนรูปร่าง (Body condition score) อยู่ที่ระดับ 5 ใน 5 โดยพบว่ามีไขมันหนาสะสมอยู่ตามบริเวณแผ่นหลังและโคนหาง มองไม่เห็นเอว จับหรือคลำกระดูกซี่โครงหรือกระดูกสะโพกไม่ได้ สุนัขมีนิสัยกินเก่งมาก กินไม่หยุด กินทั้งวัน เดินอุ้ยอ้าย เชื่องช้า เฉื่อยชา ขี้เกียจ ไม่ทนต่อการออกกำลังกายและเหนื่อยง่าย 
 
     โรคอ้วนนอกจากจะทำให้รูปร่างของน้องหมาไม่สวยงามแล้ว ยังส่งผลต่อปัญหาสุขภาพตามมามากมาย เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคกระดูกและข้อ โรคผิวหนัง โรคเนื้องอกและมะเร็ง โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเบาหวาน โรคระบบต่อมไร้ท่อ (ฮอร์โมน) โรคตับอ่อนอักเสบ มีความเสี่ยงในการวางยาผ่าตัดมากกว่าสุนัขทั่วไป และทำให้มีอายุสั่นลงด้วย 

Dogilike.com :: หยุด !! โรคอ้วนในสุนัข ด้วยหลักโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สุนัขเป็นโรคอ้วน

 
     เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคอ้วนเกิดจากการที่สุนัขกินอาหารมากเกินความต้องการในแต่ละวัน เกิดความไม่สมดุลกันระหว่างการได้รับพลังงานเข้าสู่ร่างกายกับการใช้พลังงานออกไป ทำให้พลังงานส่วนเกินนี้เปลี่ยนเป็นไขมันสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยสุนัขที่เป็นโรคอ้วนอาจมีปัจจัยเสี่ยงมาจากสาเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้
 
     1. พันธุกรรม

     พันธุ์ของสุนัขที่มีแนวโน้มเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนได้ง่าย ได้แก่ Beagles, Labrador retrievers, Golden Retriever, Collie, Rottweiler, Pug, Chow Chow, Cocker spaniels, Basset hounds, Cairn Terrier, Dachshund, Cavalier King Charles, Scottish terriers, Shetland sheepdogs, Bull dog, West highland white terriers, Bernese Mountain Dog, Newfoundland, Saint Bernard ฯลฯ
 
     2. ช่วงวัย

     สุนัขที่โตแล้วจะมีความต้องการพลังงานที่ลดลง ในขณะที่อัตราการเผาผลาญของร่างกายก็จะลดลงเช่นกัน ถ้าอาหารที่ได้รับไม่ลดลงตามไปด้วยก็ส่งผลให้สุนัขมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น อีกทั้งเมื่อแก่ตัวขึ้นความอยากเล่น อยากออกกำลังกายก็ลดลง บางรายอาจมีปัญหาเกี่ยวกับโรคกระดูกและข้อต่อร่วมด้วย จึงไม่ค่อยอยากออกกำลังกาย กินอย่างเดียว สุดท้ายก็กลายเป็นโรคอ้วนในที่สุด โดยพบว่าสุนัขที่มีอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป เป็นโรคอ้วนมากถึง 30-40 %

Dogilike.com :: หยุด !! โรคอ้วนในสุนัข ด้วยหลักโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง

    3. เพศ

     สุนัขเพศเมียมีแนวโน้มเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนได้ง่ายกว่าเพศผู้ ในอัตราส่วนเพศผู้ต่อเพศเมียที่เป็นโรคอ้วน คือ 40:60 ทั้งนี้อาจเป็นเพราะรูปแบบการใช้ชีวิตและกิจกรรมที่ต่างกันในแต่ละเพศ
 
    4. การทำหมัน

    ให้ทำความเข้าใจก่อนว่า “การทำหมันไม่ได้ทำให้สุนัขอ้วน” แต่หลังจากสุนัขทำหมันจะส่งผลให้ฮอร์โมนเพศลดลง และมีการเผาผลาญพลังงานลดลงหรือช้าลงไป หากเราให้อาหารในปริมาณที่เท่าเดิมหรือมากขึ้น ย่อมส่งผลให้น้องหมาเป็นโรคอ้วนได้ อีกทั้งพลังงานที่ร่างกายต้องใช้อยู่เป็นประจำในช่วงของวงรอบการเป็นสัดกลับไม่ได้ใช้ตามปกติ จึงถูกสะสมในร่างกายก่อให้เกิดโรคอ้วนขึ้น ในตัวผู้พฤติกรรมการหนีเที่ยวลดลงอยู่แต่ในบ้าน ก็ไม่ค่อยได้ใช้พลังงาน จึงอาจก่อให้เกิดโรคอ้วนขึ้นได้เช่นกัน โดยทั่วไปสุนัขที่ทำหมันแล้วจะมีความต้องการพลังงานลดลงเฉลี่ย 30% ของความต้องการตามปกติ
 
     5. โภชนาการ

     โรคอ้วนมักสัมพันธ์กับจำนวนมื้อของอาหาร ปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ และการกินอาหารระหว่างมื้อ โดยปกติอาหารสำเร็จรูปจะมีคำแนะนำปริมาณการใช้อาหารในแต่ละวัน ตามรูปร่างและน้ำหนักตัวของสุนัข ซึ่งเจ้าของส่วนใหญ่มักไม่ได้สังเกต จึงให้อาหารแบบตามใจ (ปาก) สุนัข รวมถึงให้กินขนมหรืออาหารที่คนกินมากเกินไปด้วย อาหารยิ่งมีไขมันมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความน่ากินมากเท่านั้น ดังนั้นจึงทำให้เกิดโรคอ้วนได้ง่าย

Dogilike.com :: หยุด !! โรคอ้วนในสุนัข ด้วยหลักโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง

     6. การออกกำลังกาย

     สุนัขที่ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสมย่อมทำให้มีโอกาสเป็นโรคอ้วนได้ง่าย โดยพบว่าสุนัขที่เลี้ยงอยู่ตามอาพาร์ตเม้นและคอนโดเป็นโรคอ้วน 31% ในขณะที่สุนัขที่เลี้ยงแบบปล่อยให้วิ่งเล่นในสนามหญ้าเป็นโรคอ้วน 23% 
 
     7. โรคภัยไข้เจ็บที่สุนัขเป็น

     โรคภัยไข้เจ็บบางอย่างอาจส่งผลทำให้น้องหมากลายเป็นโรคอ้วนตามมาได้ เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) ภาวะต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนมากเกินไป (Hyperadrenocorticism หรือ Cushing's Syndrome) เป็นต้น
 
     8. ยาที่ได้รับ

     ยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคบางอย่างให้กับน้องหมาอาจส่งผลให้สุนัขกินเก่งขึ้น เช่น ยาระงับอาการชักบางตัว หรือยาบางชนิดจะกระตุ้นเกิดการสะสมไขมันและน้ำตาลบริเวณหน้าท้องและทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ ( Steroide) 

Dogilike.com :: หยุด !! โรคอ้วนในสุนัข ด้วยหลักโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง

     9. สุนัขถูกเลี้ยงตัวเดียวในบ้านหรือเป็นสุนัขจ่าฝูง

     สุนัขที่เจ้าของเลี้ยงเพียงตัวเดียวย่อมได้รับอาหารเต็มที่จากเจ้าของและสมาชิกคนอื่นๆ ภายในบ้าน เช่นเดียวกับสุนัขที่เป็นจ่าฝูงย่อมจะได้กินอาหารก่อนและมักแย้งกินอาหารจากสุนัขตัวอื่นๆ ในฝูงอีก
 
     10. เจ้าของหรือผู้เลี้ยง

     การที่เจ้าของหรือผู้เลี้ยงอ้วน จะมีแนวโน้มทำให้สุนัขอ้วนได้เช่นกัน เพราะรูปแบบการใช้ชีวิตของสุนัขย่อมไม่ต่างจากเจ้าของ เจ้าของที่อ้วนมักจะคิดว่าสุนัขที่อ้วนไม่ใช่ปัญหา ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร รูปแบบการใช้ชีวิตทั้งการกินและการออกกำลังของของสุนัขและเจ้าของอาจไม่ต่างกัน 
 
     อย่างไรก็ดี สุนัขแต่ละตัวมีปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคอ้วนแตกต่างกันไป เมื่อน้องหมาของเราเป็นโรคอ้วนเสียแล้ว เราจะมีวิธีจัดการอย่างไร วันนี้ มุมหมอหมา มีคำแนะนำมาฝากครับ
 

การจัดการโรคอ้วนในสุนัข


     • เจ้าของต้องตระหนักก่อนว่า “น้องหมาของเรากำลังป่วย” ป่วยด้วยโรคอ้วนและจำเป็นที่ต้องเข้ารับการรักษา เพราะโรคอ้วนเป็นบ่อเกิดของโรคต่างๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย เจ้าของต้องร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของทีมสัตวแพทย์ และถือเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาโรคอ้วนให้กับน้องหมา

Dogilike.com :: หยุด !! โรคอ้วนในสุนัข ด้วยหลักโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง


     • หลักการรักษาโรคอ้วนจะยึดหลักอย่างง่ายๆ คือ  “ทำให้ร่างกายเกิด negative energy balance หรือ อยู่ในภาวะที่ความต้องการของพลังงานต่อวันไม่เพียงพอ” โดยให้ปริมาณพลังงานที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายน้อยกว่าปริมาณพลังงานที่ใช้ออกไป พูดง่ายๆ ก็คือ กินอาหารที่มีพลังงานต่ำๆ (แคลอรี่น้อย) และออกกำลังกายให้เยอะๆ ร่างกายก็จะได้เผาผลาญเอาไขมันที่สะสมอยู่ออกมาใช้เป็นพลังงาน
   
     • น้องหมาจะได้รับปริมาณอาหารตามพลังงานจากการคำนวณตามสูตร ซึ่งโดยเฉลี่ยระดับพลังงานที่ร่างกายต้องการต่อวัน (Daily Energy Requirement ; DER) สำหรับใช้ในการลดน้ำหนักนั้น ค่า DER ควรอยู่ในระดับ 0.6 RER ถึง 1.0 RER โดยการลดน้ำหนักในช่วงแรกๆ จะเริ่มที่ 1.0 RER ก่อน แล้วค่อยๆ ลดลงจนเหลือ 0.6 RER หากเป็นอาหารสำเร็จรูป จะมีตารางเปรียบเทียบปริมาณอาหารที่สุนัขต้องกินต่อวันให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องคำนวณเอง
 
     หมายเหตุ ค่า Resting energy requirement (RER) = 70×(น้ำหนักตัว (กก.))0.73-0.75 หรือ
                                     อาจจะคิดจากสูตรง่ายๆ RER  = (30×น้ำหนักตัว (กก.)) + 70 
              
                     หน่วยเป็น กิโลแคลอรี่ /วัน แต่สูตรล่างจะได้ค่าพลังงานมากกว่าสูตรบน
 
     • การให้อาหารควรแบ่งให้วันละ 2-4 มื้อ โดยแบ่งให้จากพลังงานที่คำนวณได้ต่อวัน การแบ่งให้วันละหลายๆ มื้อมีข้อดี คือ ช่วยกระตุ้นร่างกายให้เกิดการเผาผลาญอาหารได้ดีกว่าให้เพียงวันละมื้อเดียว อีกทั้งยังช่วยลดความหิวของน้องหมาได้มากกว่า

Dogilike.com :: หยุด !! โรคอ้วนในสุนัข ด้วยหลักโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง


     • เป้าหมายของการลดน้ำหนัก คือ ไม่ควรลดเกิน 1-2% ของน้ำหนักเดิมต่อสัปดาห์  เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาเป็นพลังงาน โดยอาจใช้เวลาในการลดน้ำหนักมากกว่า 18 สัปดาห์ ซึ่งเราสามารถคาดคะเนจำนวนวันที่ต้องใช้ในการลดน้ำหนัก ได้จากการคำนวณ ดังนี้
 
     ยกตัวอย่าง ตั้งเป้าเอาไว้ว่าอยากให้ลดน้ำหนัก 1 % ของน้ำหนักเดิมต่อสัปดาห์ ปัจจุบันสุนัข หนัก 10 กิโลกรัม ต้องการลดน้ำหนักลง 4 กิโลกรัม ให้เหลือน้ำหนักตัว 6 กิโลกรัม
 
                            ดังนั้น ในแต่ละสัปดาห์สุนัขจะลดน้ำหนักได้ = 10×1% 
                                                                                 = 0.1 กิโลกรัม (100 กรัม)
 
            หาก ตั้งเป้าให้ลดน้ำหนักจาก 10 กิโลกรัม ลงเหลือ 6 กิโลกรัม (ลดลงไป 4 กิโลกรัม)
 
             สรุป สุนัขตัวนี้จะต้องให้เวลาในการลดน้ำหนักทั้งสิ้น = 4÷0.1 = 40 สัปดาห์
 
     หมายเหตุ ในระหว่างเข้าโปรแกรมลดน้ำหนักการตั้งเป้าอาจปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับสภาพของสุนัขและดุลยพินิจของสัตวแพทย์ในทีม

Dogilike.com :: หยุด !! โรคอ้วนในสุนัข ด้วยหลักโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง

     • อาหารที่ใช้สำหรับการลดน้ำหนัก ปัจจุบันมีอาหารสำเร็จรูปที่ปรับแต่งสูตรสำหรับใช้ลดน้ำหนักโดยเฉพาะ โดยอาหารดังกล่าวจะจำกัดปริมาณพลังงาน (แคลอรี่) แต่ก็ยังคงมีสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วน หรืออาจจะเลือกเป็นอาหารปรุงเองก็ได้ แต่จะค่อนข้างยุ่งยากในการคำนวณปริมาณพลังงาน ควรปรึกษาสัตวแพทย์ในทีมก่อนเลือกให้อาหารชนิดใด

     สำหรับอาหารสูตรลดน้ำหนักของสุนัขควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
      
       - เป็นอาหารที่พลังงานต่ำ น้องหมากินได้มากแต่ได้พลังงานงานน้อย พูดง่ายๆ คือ "อิ่มแต่ไม่อ้วน" โดยทั่วไปจะลดปริมาณของไขมัน  ลดปริมาณคาร์โบไฮเดรต และเพิ่มปริมาณโปรตีน เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานแทน
      
       - เป็นอาหารที่มีการเพิ่มปริมาณกากใย (ไฟเบอร์) มากขึ้น เพื่อให้สุนัขรู้สึกอิ่ม และช่วยชะลอการย่อยและดูดซึมกลูโคสในลำไส้เล็ก เป็นการช่วยควบคุมระดับน้ำตาลไปในตัว แหล่งอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ข้าว ข้าวกล้อง ถั่วเขียว ถั่วแดง แครอท บร็อคโครี กระหล่ำปี ผักกาดขาว กล้วยน้ำว้า ผักต้ม ฯลฯ 
      
       - เป็นอาหารที่มีการเสริมวิตามินและแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการให้เข้มข้นขึ้น เพื่อป้องกันการขาดจากการกำจัดปริมาณอาหาร
      

Dogilike.com :: หยุด !! โรคอ้วนในสุนัข ด้วยหลักโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง

       - สารอาหารอื่นๆ ที่มักเสริมเข้าไป เพื่อช่วยในการลดน้ำหนัก ได้แก่
          
          1. แอล-คาร์นิทีน (L-Carnitine) มีส่วนช่วยในการเผาผลาญไขมัน ให้เป็นพลังงานมากขึ้น 
          2. Conjugated linoleic acid (CLA) ช่วยต้านการสร้างไขมันสะสมในร่างกาย
          3. โครเมียม ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด
          4. ไซเลียม ช่วยชะลอการดูดซึมกลูโคส ทำให้สุนัขรู้สึกอิ่มนาน
          5. Fructo-oligosaccharides (FOS) ช่วยคงระดับไขมันในกระแสเลือด
          6. วิตามินเอ ช่วยให้คงระดับของ leptin ในกระแสเลือด ซึ่ง leptin เป็นโปรตีนที่มีส่วนช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย
          7. สารสกัดจากผลส้มแขก มีกรดผลไม้ AHA ช่วยในการลดการเกิดกระบวนการ lipogenesis ในตับ และช่วยลดการบริโภคพลังงานของร่างกาย
          8. สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี วิตามินอี สารสีแคโรทีนอยด์ กรดอะมิโนทอร์รีน ฯลฯ ช่วยป้องกันการเสื่อมของร่างกาย
          9. กลูโคซามีนและคอนดรอยติน เป็นสารป้องกันการเสื่อมและชะลอการเสื่อมของกระดูกและข้อ
      
       - ลักษณะ รูปร่างและขนาดของอาหาร อาจจะต้องปรับสักเล็กน้อย เพื่อให้เพิ่มเวลาในการย่อยอาหารในกระเพาะ ร่ายกายจะได้ใช้พลังงานไปในการย่อยอาหารด้วย อีกทั้งยังเป็นการทำให้อาหารใช้เวลาอยู่ในกระเพาะได้นานขึ้น น้องหมาจะได้ไม่หิวบ่อย แต่อย่างไรก็ดี อาหารนั้นต้องไม่ย่อยยากมากเกินไป เพื่อมิให้เกิดอาการท้องอืดตามมา

Dogilike.com :: หยุด !! โรคอ้วนในสุนัข ด้วยหลักโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง


     • ให้ระวังอาหารที่มีไขมันต่ำ แต่แท้จริงกลับมีปริมาณแคลอรี่สูง ซึ่งตรงนี้ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้การรักษาไม่ประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นควรต้องคำนวณปริมาณแคลอรี่ก่อนให้ ไม่ใช่ดูแค่เพียงปริมาณของอาหาร
    
     • การนำอาหารสูตรปกติทั่วไปมาใช้ในการลดน้ำหนัก โดยใช้วิธีการจำกัดปริมาณของอาหารที่กิน อันที่จริงสามารถทำได้ แต่อาจทำให้สุนัขรู้สึกหิวได้ง่าย สุนัขอาจขออาหารหรือแอบขโมยกินอาหาร ส่งผลให้การลดน้ำหนักไม่ประสบความสำเร็จได้ อีกทั้งอาจเป็นสาเหตุให้น้องหมาหงุดหงิดและก้าวร้าวขึ้นได้จากการโมโหหิว  

     • ในการลดน้ำหนักควรหลีกเลี่ยงการอดอาหาร เนื่องจากจะทำให้สุนัขขาดสารอาหาร และลำไส้เสี่ยงต่อการติดเชื้อและจะมีปัญหาในการดูดซึมตามมาได้

     • การให้ขนมเป็นรางวัลเพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสุนัขและเจ้าของสามารถให้ได้ แต่ควรเป็นขนมพลังงานต่ำ เช่น ขนมสำหรับลดน้ำหนัก แครอท ผักต้ม เป็นต้น

     • การออกกำลังกาย นอกจากจะเป็นการช่วยกำจัดพลังงานส่วนเกินออกไปจากร่างกายแล้ว ยังเป็นการรักษามวลของกล้ามเนื้อและมวลกระดูกไว้ด้วย ควรต้องทำควบคู่กับการจัดการอาหารเสมอ สำหรับเวลาและรูปแบบของการออกกำลังกาย จะแตกต่างกันไปในแต่ละตัว ควรปรึกษาสัตแพทย์ในทีมก่อน

Dogilike.com :: หยุด !! โรคอ้วนในสุนัข ด้วยหลักโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง


     • สำหรับสุนัขที่มีปัญหาเรื่องกระดูกและข้อต่อ อาจทำให้การออกกำลังกายไม่เต็มที่ บางตัวก็ไม่อยากออกกำลังกาย แนะนำว่าให้ออกกำลังกายด้วยวิธีวิ่งในลู่วิ่งใต้น้ำ หรือออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำแทนก็ได้ เพราะการออกกำลังกายในน้ำ มวลน้ำจะเป็นตัวช่วยรองรับน้ำหนักตัวไว้ส่วนหนึ่ง ทำให้แรงที่กระทำต่อกระดูกและข้อต่อลดลง น้องหมาจะไม่เจ็บปวด จึงสามารถออกกำลังกายได้ดีขึ้น 
    
     • เจ้าของควรจดบันทึกข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย น้ำหนัก และคะแนนรูปร่าง โดยอาจทำเป็นตารางหรือกราฟก็ได้ ควรชั่งน้ำหนักสุนัขทุกๆ 2 สัปดาห์ ไม่ควรชั่งบ่อยๆ เพราะเจ้าของอาจหมดกำลังใจได้ หากน้ำหนักยังไม่ลด ควรปรับเพิ่มการออกกำลังกาย และคำนวณปริมาณพลังงานที่ควรได้รับต่อวันใหม่

     • การใช้ยาในการช่วยลดน้ำหนักจะเป็นวิธีสุดท้าย โดยจะเป็นยาที่ออกฤทธิ์ช่วยลดการดูดซึมไขมันที่ลำไส้หรือเป็นยาที่มีฤทธิ์ช่วยลดการสะสมของไขมัน การใช้ยาจะพิจารณาเป็นบางรายๆ ไป เนื่องจากการหยุดยาอาจพบสุนัขบางตัวมีน้ำหนักกลับมาเพิ่มอีก

Dogilike.com :: หยุด !! โรคอ้วนในสุนัข ด้วยหลักโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง


ทำอย่างไรไม่ให้สุนัขกลับมาเป็นโรคอ้วนอีก    

     การลดน้ำหนักถือว่ายากแล้ว การรักษาสภาพร่างกายไม่ให้กลับมาเป็นโรคอ้วนได้อีกถือว่ายากยิ่งกว่า เจ้าของต้องเฝ้าติดตามดูน้ำหนักและคะแนนรูปร่างของน้องหมาให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยๆ เดือนละครั้ง สุนัขยังควรต้องควบคุมอาหารตลอดไป โดยอาจปรับมาให้กินอาหารสูตรควบคุมน้ำหนักแทน ซึ่งให้ตามความต้องการพลังงานในแต่ละวัน ไม่ควรปรับเปลี่ยนมากินอาหารพลังงานสูงโดยภาระกาล อีกทั้งยังควรต้องมีตารางเวลาออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ ไม่ควรเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากนัก เพราะอาจทำให้น้องหมากลับมาอ้วนได้โดยไม่รู้ตัว ที่สำคัญต้องพาไปพบคุณหมอเป็นประจำ เพื่อตรวจเช็คสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
 
     จะเห็นได้ว่าการจัดการกับปัญหาโรคอ้วนในสุนัข เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลานาน เจ้าของต้องมีความอดทนและต้องใจแข็งเป็นอย่างมาก เพราะหากเผลอใจอ่อน ทนสายตาที่อ้อนวอนของน้องหมาไม่ไหว ก็อาจทำให้การรักษาไม่สำเร็จได้ ให้พึงระลึกไว้เสมอว่า น้องหมาไม่ใช่คนตักอาหารใส่ชาม แต่เป็นเราต่างหากที่เป็นคนให้ ทีนี้ขึ้นอยู่กับใจของเราแล้วล่ะครับว่า อยากให้น้องหมาของเราเป็นโรคอ้วนหรือไม่
 
  



บทความโดย: หมอต้น Dogilike.com
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจาก:
M. Diez and P. Nguyen. 2007. Obesity: Epidemiology, Pathophysiology and Management of the Obese Dog. Encyclopedia of Canine Clinical Nutrition

รูปภาพประกอบ:
รูปภาพที่ 4 จาก Dogilike.com
รูปภาพที่ 1-3,5-12
www.abcnewsradioonline.com
www.pvahosp.com
www.ivis.org/advances/rc/toc.asp
www.puppy-dogs.com
http://www2.nestle.co.th/purina/pdf/pvd/dog/OM_Dog_Consumer_Booklet.pdf
www.eatslowerpetdishes.com
www.bestbullysticks.com
www.mix941fm.cbslocal.com
www.weightlossforever.ca
www.vetmed.tamu.edu
www.pet-info.org