โดย: พริกขี้หนู
ได้เวลาจัดการ! น้องหมาพันธุ์ใหญ่ชอบเล่นแรง
น้องหมาตัวใหญ่ไม่รู้ขนาดตัวเอง เล่น กระโดดโถมใส่เต็มที่ไม่ยั้ง ต้องทำอย่างไร
6 มิถุนายน 2556 · · อ่าน (35,166)น้องหมาตัวใหญ่ แรงเยอะ เล่นกับเราทีกระโดดโถมใส่เข้ามาแทบล้มทั้งยืน ยิ่งเราเดินหนีก็ยิ่งคึกเข้าไปใหญ่ บางทีเขาแค่งับเล่นๆ แต่ด้วยแรงของเขาก็อาจทำให้เกิดเป็นแผลถลอก ช้ำเป็นจ้ำๆ ได้ ... ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่เราจะปฏิวัติจัดการวิธีการเล่นแบบเดิมๆ ของน้องหมาให้เปลี่ยนมานุ่มนวล อยู่ในกฏกติกา ไม่เสียนิสัยน้องหมา เพื่อสวัสดิภาพของเราและเขาค่ะ แต่ก่อนเราจะไปเรียนรู้วิธีการจัดการฝึกน้องหมาที่ชอบเล่นแรง ... เรามาดูเคล็ด (ไม่) ลับที่จะทำให้น้องหมาสยบยอมต่อเราอย่างง่ายดายกันก่อนค่ะ
เตรียมตัวก่อนจัดการน้องหมาเล่นแรง
น้องหมาพันธุ์ใหญ่มีพละกำลังมาก ไม่ว่าจะเล่นหรือจะฝึกคนเลี้ยงก็จะต้องเหนื่อยมากๆ เลยทีเดียว เราจึงจำเป็นต้องลดขุมพลังอันมหาศาลของน้องหมาตัวใหญ่ลงเพื่อให้ฝึกได้ง่ายขึ้น น้องหมาไม่ตื่นตัวเกินไป โดยการพาน้องหมาไปออกกำลัง หรือทำกิจกรรมจนเขาเหนื่อยเสียก่อนนั่นเองค่ะ
แล้วนอกจากการออกกำลังกายจะช่วยเผาผลาญพลังงานของน้องหมาให้น้อยลงแล้ว ยังเป็นการทำให้น้องหมามีพลังงานที่สมดุลขึ้น มีความมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้น สงบเสงี่ยมเจียมตัวลง และที่สำคัญการได้ออกกำลังพร้อมกับเจ้าของทำให้น้องหมายอมรับเจ้าของมากขึ้นค่ะ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับการฝึกค่ะ ซึ่งการออกกำลังกายก่อนการฝึกนี้เป็นเคล็ด (ไม่ลับ) ที่ทำกันโดยทั่วไปค่ะ เพราะ น้องหมาที่ดี คือ น้องหมาที่เหนื่อยหมดแรงไม่สามารถต่อกรกับเราได้ กลายเป็นน้องหมาต้วน้อยไปเลย ^^
(เพื่อนๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมเรื่องการจูงสุนัขตัวใหญ่ หรือ สุนัขดุได้จากบทความ วิธีจูงสุนัข (ดุ) อย่างปลอดภัย นะคะ)
จัดการน้องหมาชอบเล่นกระโจนใส่
การฝึกน้องหมาไม่ให้กระโจนใส่ จะได้ผลดีถ้าน้องหมาตัวโตของเพื่อนๆ ได้รับการฝึกคำสั่งพื้นฐาน เช่น นั่ง ยืน คอย มาก่อนแล้ว เพราะเราจะมีคำสั่งให้น้องหมาทำก่อนพวกเขาจะทำการกระโจนใส่ค่ะ (ถ้าเพื่อนๆ คนไหนยังไม่เคยฝึกคำสั่งพื้นฐานแก่น้องหมาสามารถเข้าไปอ่านได้ที่ บทความ เคล็ด (ไม่) ลับ! การฝึกให้น้องหมารู้จักควบคุมตัวเอง)
นอกจากนี้แล้ว การที่น้องหมาชอบกระโจนยังเป็นการแสดงถึงการไม่เคารพเจ้าของ ตีตัวเสมอเจ้าของ เป็นการถืออำนาจเหนืออย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่รีบจัดการอาจจะทำให้น้องหมาเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวได้ในอนาคต และเห็นตัวเองเป็นจ่าฝูงไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่งของเราได้ค่ะ
(เพื่อนสามารถอ่านเพิ่มเติมเรื่องการกระโจนใส่ของน้องหมาได้ที่บทความ ไม่ให้สุนัขคร่อมหรือกระโจนใส่ และบทความ จัดการกับน้องหมานักกระโดด ได้ค่ะ)
(เพื่อนสามารถอ่านเพิ่มเติมเรื่องการกระโจนใส่ของน้องหมาได้ที่บทความ ไม่ให้สุนัขคร่อมหรือกระโจนใส่ และบทความ จัดการกับน้องหมานักกระโดด ได้ค่ะ)
วิธีการจัดการน้องหมาชอบกระโจนใส่
1. ชวนน้องหมาเล่น มีของเล่นล่อ เมื่อน้องหมากระโดดยืน 2 ขา โถมเข้าหาให้ออกคำสั่ง "นั่ง" เมื่อน้องหมานั่งค่อยให้ของเล่นรางวัล แล้วจึงให้น้องหมาทำเหมือนเดิมสัก 10 ครั้งจนเขาเริ่มจำได้ และทำเป็นนิสัย
2. ในกรณีที่น้องหมาไม่ทำตามคำสั่ง ยังโถมเข้ามาอีก ให้เราหันหลังหาน้องหมา ไม่สบตาน้องหมา ตามองตรงไป เหมือนไม่สนใจค่ะ ไม่บอกหรือร้องห้ามนะคะ เพราะการที่หันหน้าเข้าหาน้องหมา แล้วใช้มือของเราผลักน้องหมาออกจากตัวก็เป็นเหมือนกับการใช้ขาหน้าชวนเล่น แทนที่เขาจะหยุดก็จะยิ่งสนุกเลยล่ะค่ะ แต่ถ้าน้องหมาเห็นว่าหันหลัง ไม่สนใจ เขาก็จะทิ้งตัวลงกับพื้น ค่อยหันไปหา แล้วให้รางวัลกับคำชมค่ะ
3. แต่ถ้าขณะเรากำลังให้รางวัลน้องหมากระโจนใส่เราอีก ให้หันหลังให้เช่นเดิม ทำอย่างนี้จนกว่าน้องหมาจะยอมนั่งลงนิ่งๆ หรือยืนนิ่งๆ แล้วจึงให้รางวัลกับคำชม จากนั้นฝึกเช่นนี้ไปเรื่อยๆ สักประมาณ 15 20 นาทีค่ะ
4. ถ้าในกรณีที่พยายามฝึกแล้วน้องหมาก็ยังจะกระโดด ให้เก็บของเล่น หรือขนมไปก่อน แล้วเดินไปทำอย่างอื่น ให้น้องหมาเริ่มนิ่งลง ไม่ตื่นเต้น ตื่นตัว ค่อยลองกลับมาฝึกใหม่ดูค่ะ อาจต้องใช้เวลา แต่ผลที่ได้มาคุ้มค่าแน่นอนค่ะ
การจัดการน้องหมาชอบขบ กัด งับแขน ขา
อีกปัญหาหนึ่งของการเล่นแรงๆ ของน้องหมาพันธุ์ใหญ่ก็คือ ชอบกัดๆ ขบๆ แขนเรา อาจจะไม่ได้มีเจตนาทำให้เราเจ็บตัว แต่ด้วยจังหวะการเล่น การกระชากดึง โดยเฉพาะคนเลี้ยงที่ชอบยุแหย่ให้น้องหมาพยายามเอาชนะ จะเป็นการก่อสงครามขึ้นโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้พวกเขากัดและงับรุนแรงมากขึ้น เกิดเป็นบาดแผลได้โดยไม่ตั้งใจ แล้วจะกลายเป็นโทษว่าเป็นความผิดของน้องหมาไปเต็มๆ ดังนั้นเวลาที่เราเล่นกับน้องหมาแล้วเห็นว่าพวกเขาเริ่มเกิดความเครียด ต้องการเอาชนะ ควรหยุดเล่นทันทีค่ะ ต้องตัดไฟเสียแต่ต้นลม แต่ถ้าบอกให้หยุดแล้วไม่หยุดต้องจัดการ!!!
วิธีการฝึกน้องหมาชอบขบ กัด งับแขน ขา
1. เรียกน้องหมามาเล่น จากนั้นใส่สายจูง เมื่อเขายอมให้ใส่สายจูงก็ให้ขนม หรือคำชมเป็นรางวัลค่ะ (ปกติแล้วเราควรจะเป็นคนชวนน้องหมาเล่นนะคะ ไม่ควรให้น้องหมาเป็นคนชวน เพราะนั่นเป็นการแสดงว่าเขามีอำนาจเหนือว่าเราค่ะ)
2. เล่นกับน้องหมาตามปกติ อาจจะเล่นกับเขาโดยใช้มือลูบหัว ลูบตัว หรือเล่นของเล่นที่เป็นเชือกที่สามารถดึงแย่ง ยื้อยุดกันได้ (ถ้าน้องหมามักกัดแรง ควรมีปลอกแขน หรือ ใช้ผ้าหุ้มแขนเพื่อป้องกันการบาดเจ็บระหว่างการฝึกน้องหมานะคะ)
3. เมื่อน้องหมาเล่น เริ่มดึงแรงๆ เริ่มคึกคักสนุกมากขึ้น จนเริ่มกัดงับมือ หรือแขนของเรา บอกให้น้องหมา หยุด หรือ ปล่อย พร้อมกับกระตุกเชือกที่คอเป็นสัญญาณให้เขารู้ตัว ไม่ควรดึงแรงจนน้องหมาเจ็บนะคะ ส่วนแขน หรือของเล่นที่น้องหมากำลังงับอยู่ ไม่ควรกระชากออกในทันที แต่ควรบอกให้น้องหมา ปล่อย เกร็งข้อมือเอาไว้ไม่ให้น้องหมากระชากเอาไป และรอให้น้องหมาปล่อยเอง
(อ่านเพิ่มเติม เรื่องการฝึกให้น้องหมาปล่อยของออกจากปากได้ที่บทความ เทคนิคการฝึกน้องหมาให้ปล่อยของออกจากปาก ค่ะ)
(อ่านเพิ่มเติม เรื่องการฝึกให้น้องหมาปล่อยของออกจากปากได้ที่บทความ เทคนิคการฝึกน้องหมาให้ปล่อยของออกจากปาก ค่ะ)
4. จากนั้นสั่งให้เขา นั่ง หรือ นิ่ง เพื่อให้อยู่ในความสงบ ไม่ตื่นเต้น หรือ เตรียมที่จะกระโดดงับอีกครั้ง เมื่อน้องหมาทำตามให้ขนม หรือ คำชมเป็นรางวัลค่ะ จากนั้นจึงเริ่มฝึกใหม่ค่ะ
ข้อควรระวังในการฝึก
ในการฝึกน้องหมาพันธุ์ใหญ่ หลายคนคิดว่า เราสามารถตีเขาได้ เพราะตัวใหญ่ ตีไปก็ไม่เจ็บ ไม่น่าจะเป็นอะไรมาก แต่ในความจริงแล้ว ความเจ็บปวดทางร่างกายไม่มีผลต่อเขาเท่ากับความเจ็บปวดทางจิตใจค่ะ จึงควรหลีกเลี่ยงการฝึกโดยใช้ความรุนแรง เพราะจะทำให้น้องหมาเกิดความเครียด ความหวาดกลัว และไม่ไว้ใจเรา ซึ่งอาจนำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายร่างกายเราได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด ก็คือการค่อยๆ ฝึก ไม่บังคับขัดขืน หรือใช้อารมณ์เมื่อน้องหมาดื้อไม่ยอมทำตามคำสั่งนะคะ ใจเย็นๆ แล้วค่อยๆ ฝึกไปทีละนิดค่ะ แต่ถ้าน้องหมาก้าวร้าวมาก อารมณ์ร้าย และกัด ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญการฝึกสุนัข หรือโรงเรียนฝึกสุนัข คนเลี้ยงไม่ควรฝึกเองโดยไม่มีผู้ดูแลนะคะ อาจทำให้เกิดอันตรายได้ได้ค่ะ
การเล่นกับน้องหมาเป็นกิจกรรมที่ดีและควรให้น้องหมาได้เล่นเป็นประจำ แต่เรื่องของความรุนแรง และการใช้กำลังก็เป็นสิ่งที่ต้องระวังการเล่นแรงๆ ของน้องหมา หรือวิธีการเล่นผิดๆ ของเราที่จะชักนำไปสู่การใช้กำลัง และการได้รับบาดเจ็บค่ะ แต่ถ้าน้องหมาของเราปกติเป็นเด็กดีไม่เล่นแรง แต่อยู่ดีๆ เกิดก้าวร้าวขึ้นมา หงุดหงิดง่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ เพื่อนๆ ควรพาน้องหมาไปหาสัตวแพทย์ ตรวจเช็คร่างกาย เพราะอาจเกิดจากโรค หรืออาการผิดปกติบางอย่างที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ค่ะ กันไว้ดีกว่าเสมอนะคะ ^^
บทความโดย : Dogilike.com
ข้อมูลอ้างอิง :
http://www.ehow.com/video_2109117_train-big-dog.html#ixzz2U60lglMr
http://www.cesarsway.com/dog-training/dog-socialization/
What-To-Do-When-Dogs-Play-Too-Rough
What-To-Do-When-Dogs-Play-Too-Rough
http://dogcare.dailypuppy.com/stop-dominant-dogs-playing-rough-1599.html
http://pets.webmd.com/dogs/guide/dogs-jumping-training-tips-not-do
https://www.youtube.com/watch?v=FLeGDj6WOCE
ภาพประกอบ :
http://www.buzzfeed.com/newu1085/21-dogs
-who-dont-realize-how-big-they-are-654m
-who-dont-realize-how-big-they-are-654m
www.ehow.com
www.borderstan.com
persianpet.org
www.ar15.com
puppyer.com
SHARES