โดย: พริกขี้หนู

เคล็ด (ไม่) ลับ ฝึกลูกสุนัขมาใหม่อย่างไรไม่ให้ร้อง

หมดปัญหาน้องหมาร้องกวนใจ มาจัดการปัญหานี้อย่างถูกวิธีกัน

16 กรกฏาคม 2558 · · อ่าน (127,786)
7,029

SHARES


7,029 shares
 
Dogilike.com :: เคล็ด (ไม่) ลับ ฝึกลูกสุนัขมาใหม่อย่างไรไม่ให้ร้อง
 
     ผู้เลี้ยงที่พาลูกสุนัขมาใหม่เกือบทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์ที่จะต้องฟังเสียงลูกสุนัขร้องตลอดคืนกันมาแล้วทั้งนั้น บางคนแก้ปัญหาด้วยการพาพวกเขามานอนด้วย บางคนปล่อยให้พวกเขาร้อง บางคนดุ บางคนต้องคอยออกจากห้องมาอยู่เป็นเพื่อนคอยปลอบตลอดคืนจนไม่ได้หลับไม่ได้นอนอยู่ไม่ต่ำกว่า 4 คืนกว่าลูกสุนัขจะเริ่มปรับตัวได้ 
 
     อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าผู้เลี้ยงทุกคนจะสามารถอดทนกับเสียงร้องของพวกเขาได้เกิน 2-3 คืน บางคนตัดสินใจนำลูกสุนัขคืนบ้านที่ซื้อมา บางคนหาบ้านใหม่ และบางคนปล่อยพวกเขาทิ้งให้อยู่ตามยถากรรม แล้วด้วยเหตุนี้เอง การทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกสุนัข และ หาวิธีการจัดการอย่างถูกวิธีจึงเป็นการช่วยให้ผู้เลี้ยงสามารถอยู่ร่วมกับลูกสุนัขช่วงเริ่มแรกได้อย่างดีและปราศจากเสียงรบกวนค่ะ  



 

1. ทำความเข้าใจสาเหตุที่ลูกสุนัขร้องเมื่อมาใหม่
 

     หากเปรียบเทียบคืนแรกของสุนัขที่มาใหม่ระหว่างลูกสุนัขหรือสุนัขโตที่อายุ 4 เดือนขึ้นไปกับลูกสุนัขที่อายุไม่ถึง 4 เดือนจะแสดงออกพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไปค่ะ คือ ในสุนัขที่โตแล้วพวกเขาจะร้องน้อยลงแต่จะสำรวจรอบบ้านหาทางออก ทำลายข้าวของในช่วงคืนแรก ๆ แต่ถ้าถูกขังกรงก็จะพยายามกัดทำลายกรง ร้องด้วยความกระวนกระวายใจ 

     ในขณะที่ลูกสุนัขที่อายุยังน้อยพวกเขาจะแสดงออกด้วยการร้องหาแม่หาฝูงที่ตนถูกพรากมา หวังว่าพวกเขาจะได้ยินแล้วพากลับไป ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดก็ตาม ทุกพฤติกรรมของสุนัขที่มาใหม่ล้วนเกิดจากความรู้สึกไม่มั่นคง หวาดกลัว กระวนกระวายใจจากการถูกแยกออกจากฝูง จากสถานที่ที่เคยอยู่ ผู้เลี้ยงจึงควรให้เวลาปรับตัวกับพวกเขา สร้างปฏิสัมพันธ์อันดีกับพวกเขา อยู่กับพวกเขาให้มากขึ้น ไม่ควรปล่อยให้อยู่ตามลำพังหรือดุว่าเพราะจะยิ่งทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงเพิ่มมากขึ้นไปอีกค่ะ   

     ดังนั้นนะคะ ผู้เลี้ยงจึงควรศึกษาช่วงวัยลูกสุนัขที่รับมาเลี้ยงว่าเพื่อรู้การพัฒนาการด้านอารมณ์และการเข้าสังคมของพวกเขาเพื่อที่ผู้เลี้ยงจะสามารถเข้าถึงพวกเขาอย่างตรงจุดค่ะ



 

2. ศึกษาช่วงอายุที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการรับลูกสุนัขมาเลี้ยง


     
     ลูกสุนัขแรกเกิดถึง 8 สัปดาห์ เป็นช่วงที่พวกเขาเพิ่งได้เรียนรู้สัมผัสต่าง ๆ โดยการดมกลิ่น มองเห็น ได้ยิน และการตอบสนองภาพและเสียง ดังนั้น ในช่วงนี้จึงจำเป็นต้องปล่อยให้พวกเขาอยู่กับแม่และพี่น้องนะคะ เพราะเป็นช่วงที่ยังกินนมแม่อยู่ อีกทั้งยังเป็นช่วงที่พวกเขาจะได้เรียนรู้กฎเกณฑ์และการอยู่ร่วมกับฝูงเพื่อเติบโตมามีจิตใจที่สุขุมมั่นคง ถ้าพามาเลี้ยงพวกเขาอาจร้องหาแม่นานกว่าลูกสุนัขวัยอื่น อาจกลายเป็นสุนัขที่อยู่ตามลำพังไม่ได้ เป็นสุนัขที่ขี้หวาดกลัวหวาดระแวงเมื่อโตขึ้นค่ะ 

     ลูกสุนัขอายุ 8-15 เดือน เป็นช่วงที่ลูกสุนัขหย่านม แยกตัวออกจากแม่ เรียนรู้จดจำสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ เรียนรู้กฎระเบียบ มีร้องบ้างในช่วง 1 สัปดาห์แรก แต่ปรับตัวง่าย เริ่มเข้าหาคน จึงเหมาะจะเป็นรับพวกเขามาเลี้ยงในช่วงนี้ค่ะ

     ลูกสุนัขอายุ 16 สัปดาห์-11 เดือน ช่วงนี้เข้าสู่ช่วงวัยรุ่นใกล้โตเต็มวัยแล้วค่ะ ในวัยนี้อาจจะไม่ร้องเท่าไหร่แล้วเพราะแยกจากแม่ได้ แต่ตองทำใจเรื่องความซน พฤติกรรมก้าวร้าว อาจมีการทำลายข้าวของแสดงอำนาจเหนือกว่า จำเป็นต้องหาเวลาฝึก พาออกกำลังกาย และสร้างวินัยทันทีที่พาเข้าบ้านค่ะ



 

3. จัดการฝึกลูกสุนัขร้องเมื่อมาใหม่ 



      - ร้องเพื่อต้องการออกไปข้างนอก ก่อนอื่นให้สังเกตก่อนว่าที่ลูกสุนัขร้องตอนกลางคืนเป็นเพราะพวกเขาต้องการเข้าห้องน้ำหรือต้องการเรียกร้องความสนใจ โดยสังเกตได้จาก ถ้าพวกเขาร้องแล้วเงียบและร้องอีกใน 2-3 ชั่วโมงต่อมาแสดงว่าต้องการเข้าห้องน้ำ หรือ ต้องการออกไปข้างนอก ปกติแล้วลูกสุนัขวัย 2 เดือนจะขับถ่ายอย่างน้อย 2 ครั้งใน 1 คืน ให้พาพวกเขาออกไปขับถ่ายค่ะ

      - ร้องเพื่อต้องการเรียกร้องความสนใจ ในกรณีลูกสุนัขร้องเพราะเรียกร้องความสนใจ รู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ให้ผู้เลี้ยงค่อยลูบเขาเบา ๆ เงียบ ๆ ไม่พูดอะไรนะคะ เพียงแค่ให้พวกเขารู้สึกอุ่นใจว่าไม่ได้อยู่ลำพัง ให้พวกเขาสงบลง ให้ปล่อยพวกเขาอยู่ลำพัง ไม่ควรโอ๋ลูกสุนัข หรือ อุ้มกอด หรือพาไปนอนด้วยนะคะ เพราะจะยิ่งกระตุ้นพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ พวกเขาจะเรียนรู้ว่าถ้าร้องจะมีคนมาดูแล มาอยู่ด้วย ไม่สามารถอยู่ได้ตามลำพังกลายเป็นปัญหาเมื่อโตขึ้นค่ะ

     ดังนั้น ถ้าลูกสุนัขยังคงร้องอยู่ให้ลองออกคำสั่ง “เงียบ” ด้วยน้ำเสียงหนักแน่น มั่นคงและรวดเร็ว แต่อ่อนโยน เมื่อพวกเขาเงียบให้ค่อย ๆ สัมผัสเขาเบา ๆ อย่างนุ่มนวลหรือให้ขนมเล็ก ๆ เป็นรางวัล 

     แต่หากออกคำสั่งแล้วลูกสุนัขยังร้องอยู่ให้ใช้วิธีเพิกเฉยพวกเขา ซึ่งการเพิกเฉยนี้เป็นการแสดงให้ลูกสุนัขรู้ว่า การร้องของพวกเขาเป็นวิธีการที่ไม่ได้ผล ไม่ได้รับการตอบรับนั่นเองค่ะ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ควรเป็นวิธีสุดท้ายนะคะ  เนื่องจากการละเลยความรู้สึกของพวกเขาตั้งแต่เริ่มต้นจะยิ่งเป็นการสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้แก่พวกเขาค่ะ
 
     การจัดการปัญหาการร้องของลูกสุนัขต้องรีบจัดการในทันทีตั้งแต่พวกเขาก้าวเข้ามาในบ้านของเรานะคะ เพราะถ้าฝึกช้าหรือพลาดไปสักนิดเดียวก็อาจติดเป็นนิสัยไปจนโต ทำให้เกิดความสับสนว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องสมควรทำ เพราะฉะนั้น ผู้เลี้ยงจึงจำเป็นต้องมีความอดทนในการฝึก ไม่ยอมแพ้ต่อความน่ารักของลูกสุนัขที่ออดอ้อนเรียกความสนใจให้เรายอมอยู่ใต้อำนาจ เผลอตามใจจนพวกเขาเสียนิสัยเพื่อที่วันหนึ่งลูกสุนัขของเราจะเติบโตแข็งแรงและมีสุขภาพจิตที่ดีค่ะ ^_^
 

 
บทความโดย : Dogilike.com