การทำหมันหรือการตอน (neutering) จัดเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ดีที่สุด หลักการก็คือ การกำจัดต่อมเพศออกไป ทำให้สัตว์หมดความสามารถในการสืบพันธุ์ ปัจจุบันวิธีที่สัตวแพทย์นิยมใช้ คือ การทำหมันด้วยวิธีศัลยกรรม (ผ่าตัด) เพราะเป็นการทำหมันที่ถาวร มีความปลอดภัย และก่อปัญหาที่ตามมาในระยะยาวค่อนข้างน้อย
การทำหมันในน้องหมานั้น นอกจากจะสามารถช่วยลดการเพิ่มจำนวนประชากรสุนัขและลดปัญหาสุนัขจรจัดลงแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้น้องหมามีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เป็นโรคที่เกิดจากฮอร์โมนเพศ และโรคที่ติดต่อทางการผสมพันธุ์ น้องหมาทุกตัวจึงควรต้องทำหมัน ไม่ต่างอะไรกับการฉีดวัคซีนและการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ
วันนี้ มุมหมอหมา จะขอชวนเพื่อนๆ มาเรียนรู้เรื่องการทำหมันในน้องหมา เรามาดูกันสิว่า การทำหมันในน้องหมามีวิธีการใดบ้าง เราต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนทำหมัน และหลังทำหมันเราต้องดูแลน้องหมาอย่างไร เพื่อนๆ พร้อมกันแล้วยังครับ ถ้าพร้อมแล้วตามมาดูกัน
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทำหมัน
อายุที่เหมาะสมของการทำหมันในน้องหมา คืออายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 6 ปี แต่อาจจะอายุมากกว่านี้ได้ ขึ้นอยู่กับสุขภาพของน้องหมาแต่ละตัว แต่จากการศึกษาพบว่า การทำหมันก่อนที่น้องหมาเพศเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หรือเข้าสู่วงรอบการเป็นสัดครั้งแรก จะช่วยลดอุบัติการณ์ (อัตราความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรค) การเกิดเนื้องอกเต้านมในน้องหมาได้ เช่นเดียวกับการทำหมันน้องหมาเพศผู้ก่อนจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์นั้น จะช่วยลดการเกิดปัญหาของต่อมลูกหมากของสุนัขได้อย่างมากเช่นกัน
ปัจจุบันจึงแนะนำเจ้าของพาน้องหมามาทำหมันช่วงอายุ 4-6 เดือน และตัวเมียควรทำหมันในระยะ anestrus ของวงรอบการเป็นสัด
เตรียมตัวก่อนทำหมัน
เนื่องการทำหมันจำเป็นต้องมีการวางยาสลบและทำการผ่าตัด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่น้องหมาต้องได้รับการตรวจสุขภาพและประเมินสภาพก่อน โดยคุณหมอจะทำการตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก และตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจค่าตับ ตรวจค่าไต ฯลฯ เพื่อจำแนกสภาพความแข็งแรงและความเสี่ยงในการวางยาสลบ โดยอ้างอิงหลักเกณฑ์ตามระบบของ American Society of Anesthesiologist (ASA) น้องหมาที่ผ่านการตรวจร่างกายแล้ว คุณหมอจะนัดหมายเพื่อทำการผ่าตัดต่อไป
ก่อนเข้ารับการผ่าตัด เจ้าของควรทำความสะอาดตัวน้องหมาให้เรียบร้อย งดน้ำและงดอาหารทุกชนิดหลังเที่ยงคืนก่อนวันผ่าตัดหรืออย่างน้อย 6-12 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด (ถ้าเป็นในลูกสุนัขให้งดอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ) หากเจ้าของไม่ได้ทำการงดน้ำและอาหารมา หรือน้องหมาไปแอบกินอะไรมา ต้องแจ้งคุณหมอก่อน เนื่องจากเป็นอันตรายถึงชีวิต และอย่าลืมเช็นใบยินยอมการผ่าตัดและอนุญาตวางยาสลบด้วยครับ ซึ่งผู้เซ็นต้องเป็นเจ้าของหรือผู้แทนที่มีอายุไม่น้อยกว่า 18 ปี
การวางยาสลบและการผ่าตัดมีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นเจ้าของควรสอบถามข้อมูลการผ่าตัด วิธีการผ่าตัด วิธีการวางยาสลบ ผลข้างเคียงจากการวางยาและการผ่าตัด ข้อพึงระวังและภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด และการดูแลทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดกับคุณหมอให้ละเอียด ถ้าเป็นไปได้ควรคุยกับคุณหมอที่จะเป็นผู้ผ่าตัดโดยตรง
ขั้นตอนการทำหมันสุนัขเพศผู้
สำหรับการทำหมันโดยวิธีศัลยกรรมในน้องหมาเพศผู้ มี 3 วิธี ได้แก่
1. การทำหมันปกติ (castration, orchidectomy)
2. การทำหมันกรณีอัณฑะทองแดง (cryptorchidectomy)
3. การตัดหลอดอสุจิ (vasectomy)
การทำหมันปกติ (castration, orchidectomy)
วิธีนี้เป็นการทำหมันแบบธรรมดา มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการเพิ่มประชากรสุนัข ทั้งยังช่วยลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์บางอย่าง เช่น ช่วยลดการหนีเที่ยวนอกบ้านและลดการไปหาน้องหมาตัวเมียได้ถึง 90% ช่วยลดอาการดุร้ายและก้าวร้าวลง และอาจช่วยลดพฤติกรรมการปัสสาวะเรี่ยราดเพื่อทำเครื่องหมายได้
นอกจะข้อดีดังที่กล่าวมาแล้ว การทำหมันนี้ยังเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ป้องกันและรักษาโรคบางอย่างได้ด้วย เช่น โรคมะเร็งและเนื้องอกในอัณฑะ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือต่อมลูกหมากโต โรคของกลุ่มหลอดอสุจิ การอักเสบแบบเฉียบพลันและเรื้อรังของอัณฑะ (orchitis) ซึ่งอาจเกิดจาก การได้รับบาดเจ็บ ถูกกัด หรือมีการติดเชื้อ
การทำหมันปกติ ยังแยกได้อีก 2 วิธี คือ
การทำหมันปกติแบบปิด (closed castration) นิยมทำในน้องหมาน้ำหนักน้อยกว่า 20 กิโลกรัม โดยคุณหมอจะดันอัณฑะมาบริเวณด้านหน้าถุงหุ้มอัณฑะ (prescrotal area) ทีละข้าง จากนั้นทำการกรีดเปิดผิวหนังเพื่อดันอัณฑะออกมา จากนั้นหนีบท่อนำอสุจิ (spermatic cord) แล้วทำการผูกท่อนำอสุจิในตำแหน่งที่เป็นรอยหนีบจำนวน 2 เปลาะ แล้วใช้มีดตัดระหว่างเปลาะทั้งสองที่ได้ผูกไว้ ก่อนหย่อน stump ลงกลับสู่ร่างกายตามเดิม แล้วเย็บปิดเป็นอันเสร็จครับ
การทำหมันปกติแบบเปิด (open castration) นิยมทำในน้องหมาน้ำหนักมากกว่า 20 กิโลกรัม ขั้นตอนการทำคล้ายกับแบบปิด แต่คุณหมอจะกรีดเปิดผ่านชั้น parietal vaginal tunic ของอัณฑะ ซึ่งจะทำให้เห็นหลอดอสุจิ (ductus deferen) และเส้นเลือดชัดเจน จึงทำให้ผูกได้มั่นคงกว่า
การทำหมันกรณีอัณฑะทองแดง (cryptorchidectomy)
อัณฑะทองแดง (cryptorchidism) คือ ภาวะที่ลูกอัณฑะค้างอยู่ในช่องท้องหรือบริเวณขาหนีบ ไม่ลงมาอยู่ในถุงหุ้มอัณฑะตามปกติ (ภายในอายุ 6 เดือน) จัดเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เป็นมาแต่กำเนิด จึงไม่แนะนำให้ใช้เป็นพ่อพันธุ์ต่อไป น้องหมาที่เป็นอัณฑะทองแดง จะเสี่ยงที่จะเป็นเนื้องอกในอัณฑะข้างที่ค้างได้ เพราะฉะนั้น จึงแนะนำให้ทำหมันโดยการผ่าตัดเอาอัณฑะทั้งสองข้างออก เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกและป้องกันการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
วิธีการทำหมันกรณีอัณฑะทองแดง คุณหมอจะทำการกรีดเปิดเช่นเดียวกับการทำหมันปกติ และกรีดเปิดในตำแหน่งที่พบอัณฑะค้างอยู่ด้วย เช่น บริเวณขาหนีบ แต่หากอัณฑะนั้นค้างอยู่ในช่องท้อง คุณหมอจะทำการกรีดเปิดช่องท้องใกล้บริเวณ caudal midline ขนานกับถุงหุ้มลึงค์ เพื่อเอาอัณฑะออกมา ส่วนขั้นตอนการทำหมันอื่นๆ จะคล้ายกับการทำหมันแบบปกติ
การตัดหลอดอสุจิ (vasectomy)
วิธีนี้ใช้ควบคุมจำนวนประชากรได้ แต่ไม่สามารถกำจัดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ เพราะไม่ได้เอาลูกอัณฑะออก เป็นการตัดหลอดอสุจิ (ductus deferen) เท่านั้น หลังผ่าตัดน้องหมายังคงมีน้ำเชื้อและอสุจิได้ต่อไปอีกประมาณ 3 สัปดาห์
วิธีการทำหมันจะทำเช่นเดียวกับการทำหมันปกติ โดยคุณหมอจะกรีดเปิดผิวหนังและชั้นใต้ผิวหนังบริเวณด้านหน้าถุงหุ้มอัณฑะ (prescrotal area) เลาะหา spermatic cord แต่ละข้าง (ตามภาพ) ทำการผูกท่อ ductus deferens จำนวน 2 เปลาะ แล้วจึงตัด ductus deferens ระหว่างเปลาะทั้งสอง จากนั้นเย็บปิดแผลครับ
ขั้นตอนการทำหมันสุนัขเพศเมีย
สำหรับการทำหมันโดยวิธีศัลยกรรมในเพศเมีย มี 2 วิธี ได้แก่
1. การตัดรังไข่และมดลูก (ovariohysterectomy)
2. การตัดรังไข่ (ovariectomy)
การตัดรังไข่และมดลูก (ovariohysterectomy)
การทำหมันในน้องหมาเพศเมีย เป็นการควบคุมจำนวนประชากรสุนัข ป้องกันการเป็นสัด การผสมพันธุ์ การตั้งท้อง และการคลอดลูกที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ยังเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ป้องกันและรักษาโรคทางระบบสืบพันธุ์ได้ด้วย เช่น มดลูกเป็นหนอง (pyometra) มดลูกฉีกขาด มดลูกบิด มีถุงน้ำที่รังไข่ มีเนื้องอกที่รังไข่หรือมดลูก เป็นต้น
สำหรับวิธีการทำหมันโดยการการตัดรังไข่และมดลูก คุณหมอจะเริ่มกรีดเปิดบริเวณหน้าท้อง เพื่อเข้าไปหารังไข่และมดลูกทีละข้าง เมื่อพบแล้วจะผูกปมที่ ovarian vessels 2 เปลาะ แล้วใช้กรรไกรตัดระหว่างเปลาะทั้งสอง เพื่อตัดเอารังไข่ออก ทำเช่นนี้กับรังไข่อีกข้าง จากนั้นก็ไปผูกปมที่ด้านหน้าปากมดลูก เพื่อทำการตัดตัวมดลูก ก็จะได้รังไข่ทั้งสองและมดลูกออกมา จากนั้นทำการเย็บปิดแผลครับ
การตัดรังไข่ (ovariectomy)
การทำหมันโดยวิธีการตัดรังไข่ เป็นการป้องกันการเป็นสัด การตั้งท้องและใช้รักษาโรคของรังไข่ แต่วิธีนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยม เพราะยังคงมีส่วนของมดลูกหลงเหลืออยู่ น้องหมาจะยังคงมีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในกระแสเลือดสูง อาจทำให้เกิดมดลูกอักเสบและเป็นหนองได้ (uterine stump pyometra)
การดูแลหลังผ่าตัดทำหมัน
สำหรับน้องหมาที่ทำหมันแล้วเจ้าของอาจจะฝากให้คุณหมอดูแลต่อ หรือรับกลับมาดูแลเองที่บ้านก็ได้ แต่จะพากลับบ้านได้ก็ต่อเมื่อน้องหมานั้นฟื้นจากยาสลบโดยสมบูรณ์แล้ว คือ มีสติ สามารถลุกขึ้นยื่น เดินไปกินน้ำได้ ไม่เซ และไม่ล้ม ช่วง 1-3 วันแรกหลังผ่าตัด น้องหมาบางตัวอาจจะซึม ร้องคราง เนื่องจากความเจ็บปวดหลังผ่าตัด บางตัวอาจกินอาหารลดลง เจ้าของต้องคอยสังเกตอาการในช่วงนี้อย่างใกล้ชิดด้วย สำหรับการดูแลน้องหมาหลังผ่าตัดทำหมันมีดังนี้ครับ
1. ดูแลเรื่องความสะอาดของแผล อย่าให้แผลสกปรก อย่าให้น้องหมานอนทับพื้นที่เปียกหรือนอนทับปัสสาวะ อย่าให้น้องหมาเลียแผล อาจจะสวมเสื้อหรือใส่ปลอกคอกันเลียให้น้องหมาก็ได้
2. แต้มยาที่แผลเป็นประจำทุกวัน ด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน โปรวิโดน-ไอโอดีน 10% (เบตาดีน) หรือทิงเจอร์ไทเมอรอซอล 0.1% ก็ได้ แล้วปิดแผลด้วยผ้าก๊อซด้วยครับ
3. หมั่นสังเกตแผลเป็นประจำ แผลที่ดีต้องไม่มีรอยช้ำ ไม่มีเลือดหรือหนองซึมออกมาจากบาดแผล
4. อย่าให้น้องหมาวิ่งเล่น กระโดด หรือเห่ามากเกินไป เพราะอาจไปกระทบกระเทือนแผลได้ โดยเฉพาะตัวเมียที่มีการผ่าตัดเปิดช่องท้อง
5. ป้อนยาตามคำแนะนำของคุณหมอโดยเคร่งครัด
6. ไปตรวจแผลตามที่คุณหมอนัดทุกครั้ง
7. พาไปตัดไหมหลังจากผ่าตัดแล้ว 7-10 วัน
ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดทำหมัน
1. เสียเลือดจากการผ่าตัด
2. แผลผ่าตัดบวม อักเสบ หรือแผลแตก
3. มีการติดเชื้อแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
ผลที่จะเกิดตามมาหลังจากทำหมัน
1. โรคอ้วนหลังจากทำหมัน การทำหมันไม่ได้ทำให้น้องหมาอ้วน แต่การทำหมันทำให้ฮอร์โมนเพศลดลง ส่งผลให้การเผาผลาญพลังงานลดลง หากเรายังให้อาหารในปริมาณเท่าเดิมหรือมากขึ้น ก็จะทำให้น้องหมามีน้ำหนักเกินหรืออ้วนได้ ปัจจุบันมีอาหารสำหรับควบคุมน้ำหนัก หรืออาหารสำหรับน้องหมาที่ทำหมันแล้ว เจ้าของอาจจะปรับให้น้องหมากินอาหารแบบนี้ก็ได้
2. ไม่สามารถควรคุมปัสสาวะได้ (Urine Incontinence) เช่นเดียวกับคนวัยทองเมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะปัสสาวะผิดปกติไป ส่งผลให้การควบคุมปัสสาวะจะทำได้ไม่ดีเหมือนปกติ จึงพบปัสสาวะเล็ดได้ โดยเฉพาะน้องหมาเพศเมีย จนเจ้าของอาจเข้าใจว่าน้องหมาปัสสาวะเรี่ยราด แต่กรณีนี้ไม่ได้เป็นกับน้องหมาทุกตัวที่ทำหมัน แต่ตัวที่เป็นมักจะมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น เป็นโรคทางระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคอ้วน มีอายุมากขึ้น เป็นต้น
3. การยังคงเป็นสัดอยู่ เนื่องจากตัดรังไข่ออกไม่หมด หากพบต้องผ่าตัดเปิดช่องท้องเพื่อเข้าไปแก้ไข
ฉีดยาคุมกำเนิดแทนได้มั้ย ไม่อยากให้น้องหมาเจ็บ
ปัจจุบันการฉีดยาคุมกำเนิดในน้องหมาไม่เป็นที่นิยม เพราะก่อผลเสียมากกว่าผลดี คือว่า ยาคุมกำเนิดที่ใช้เป็นฮอร์โมน ที่ฉีดเพื่อยืดระยะเวลาไม่ให้น้องหมากลับมาเป็นสัด (เพื่อจะได้ไม่ผสมพันธุ์) แต่ผลเสียที่ตามมาคือ ปัญหาเนื้องอกที่เต้านม ภาวะการเกิดถุงน้ำบนผนังมดลูก และมดลูกอักเสบเป็นหนอง ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
ทุกวันนี้เจ้าของเลี้ยงดูน้องหมาเป็นอย่างดี ทำให้น้องหมามีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น ปัญหาของระบบสืบพันธุ์จึงเกิดตามมาเมื่อน้องหมามีอายุเพิ่มขึ้น การทำหมันจึงเป็นหนทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้ ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตของน้องหมาดีขึ้น ดังนั้นการทำหมันตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนที่ร่างกายมีความแข็งแรง และมีสุขภาพดี จัดเป็นสิ่งสำคัญที่ควรต้องทำ ... ฉะนี้นี่เอง
ก่อนจากกันวันนี้ มุมหมอหมา มีคลิป การทำหมันในน้องหมาตัวเมีย มาฝาก
บทความโดย: หมอต้น Dogilike.com
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
http://family.dogilike.com/tonvet/
รูปภาพประกอบ :
รูปภาพที่ 1-5,10,16-17
www.watchdogdigest.com
www.balkansanimalsuffering.wordpress.com
www.animalwallpapers.in
www.anorakzoneforum.informe.com
www.vetstreet.com
www.explow.com
www.pets.webmd.com
www.poochto5k.com
รูปภาพที่ 6-9
M.joesph Bojrab,(1998). Current techniques in small animal surgery. 4 th ed. (p519-520) USA: William & Wilkins.
รูปภาพที่ 11
BSAVA,(2004). Manual of small animal Reproduction and neonatology. 2 nd ed. (p177) UK: BSAVA
รูปภาพที่ 12-15
Theresa W. Fossum, (1997). Small animal surgery. 1 st ed. (p524-525,530). USA: Mosby-Year book, Inc.
|
SHARES