โดย: Tonvet
ทำความรู้จัก ภาวะผิวหนังไวต่อแสงแดดในสุนัข
ทำความรู้จักภาวะผิวหนังไวต่อแสงแดด (Photosensitization) ในสุนัขกันครับ
2 เมษายน 2557 · · อ่าน (7,228)
สวัสดีครับชาวด็อกไอไลค์ ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เดือนเมษายน เดือนที่ขึ้นชื่อว่ามีอากาศร้อนที่สุดในรอบปี สัปดาห์นี้ผมขอเริ่มต้นด้วยการพา เพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับ ภาวะผิวหนังไวต่อแสงแดด (Photosensitization) ในสุนัขกันนะครับ
ภาวะผิวหนังไวต่อแสงแดด (Photosensitization) เป็นปฏิกิริยาที่ผิวหนังมีความไวต่อรังสีอัลตร้าไวโอเลตมากกว่าปกติ อันเป็นผลมาจากการที่สุนัขได้รับยาหรือสารเคมีบางอย่างเข้าไป โดยกลไกเริ่มต้นเมื่อผิวหนังน้องหมาได้รับแสงแดด จึงเกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า Photochemical Reaction ขึ้น เซลล์ที่ผิวหนังจะทำการดูดซับพลังงานจากรังสีอัลตร้าไวโอเลตเอาไว้ แต่พลังงานนี้กลับเข้าไปทำลายพันธะของโมเลกุลในเซลล์ ผลที่ได้ก็คือ สารอนุมูลอิสระ จำนวนมาก ซึ่งสารอนุมูลอิสระเหล่านี้ จะเข้าไปทำปฏิกิริยาต่อกับไขมัน โปรตีน และ DNA ก่อให้เกิดอันตรายขึ้นกับเซลล์
โดยปฏิกิริยาทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ สุนัขกำลังได้รับการกระตุ้นจากยาหรือสารเคมีบางอย่าง เราเรียกสารพวกนี้ว่า Photosensitizer หรือ Photodynamic agents ซึ่งก็ได้แก่ สารเคมีจากพืช สารเคมีจากแบคทีเรีย สารเคมีจากเชื้อรา หรือแม้แต่ยาที่สัตว์ได้รับเข้าไป เพราะยาบางอย่างทำให้ร่างกายเกิดการสร้างสารอนุมูลอิสระเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลให้ผิวหนังเกิดภาวะไวต่อแสงแดดได้ เราเรียกปฏิกิริยาที่เกิดจากยานี้ว่า drug-induced photosensitivity ครับ
ซึ่งภาวะผิวหนังไวต่อแสงแดดนี้ พบได้ทั้งในคนและสัตว์ชนิดต่าง ๆ อย่างเช่น วัว ควาย และม้า สำหรับในสุนัข เราสามารถพบได้เช่นกัน แม้จะเป็นสุนัขที่มีขนสีดำก็ตาม ซึ่งอาการในช่วงแรก จะคล้ายกับสุนัขที่เกิดผิวไหม้แดด (sunburn) เจ้าของจะสังเกตพบว่า ผิวน้องหมาจะเปลี่ยนเป็นสีแดงอย่างรวดเร็ว จากนั้นจะบวมขึ้นเนื่องจากเกิดการอักเสบ มักพบในบริเวณผิวหนังที่มีขนบาง ขนสั้น หรือไม่มีขน เช่น ใบหู ขอบตา และจมูก เนื่องจากจะสัมผัสกับแสงได้ง่าย ในรายที่มีการอักเสบมาก ๆ อาจมีของเหลวไหลออกมา เกิดผิวหนังไหม้ หรือเกิดเนื้อตายได้ครับ
เราสามารถแยกภาวะผิวหนังไวต่อแสงแดดออกจากการเกิดผิวไหม้แดด (sunburn) ได้จาก ประวัติการได้รับยาหรือสารเคมีของน้องหมา รวมถึงการตรวจวัดค่าการทำงานของตับ เพราะน้องหมาที่เป็นโรคตับ จะมีการสะสมสารพิษอยู่มาก ซึ่งสารเหล่านี้อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาความไวต่อแสงขึ้นมาได้
สำหรับในการรักษานั้น น้องหมาจะต้องได้รับยาเพื่อลดการอักเสบที่ผิวหนัง และได้รับการเสริมสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น พวกวิตามินซี วิตามินอี เป็นต้น แต่สำหรับในรายที่เกิดแผลที่ผิวหนัง แผลไหม้ หรือเนื้อตาย จะต้องได้รับการรักษาแผล และได้รับยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วย เจ้าของควรหลีกเลี่ยงการปล่อยสุนัขออกไปรับแสงอาทิตย์ โดยให้สุนัขอยู่ในบ้านเวลากลางวัน แล้วค่อยพาเดินเล่นนอกบ้านเวลากลางคืนแทน ตลอดจนหลีกเลี่ยงและงดการรับยาหรือสารเคมีบางชนิดตามที่คุณหมอแนะนำด้วยครับ
การปล่อยน้องหมาให้อยู่กลางแดดร้อน ๆ เป็นเวลานาน นอกจากโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก ภาวะขาดน้ำ และผิวไหม้แดด (sunburn) ที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว ปัญหาอย่าง ภาวะผิวหนังไวต่อแสงแดด ก็เป็นอีกโรคหนึ่ง ที่สามารถก่อปัญหาได้เช่นกัน แม้โรคนี้จะพบได้ไม่บ่อย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็สร้างปัญหาได้ไม่น้อยเลยครับ
บทความโดย:หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน:
http://www.merckmanuals.com/pethealth/dog_disorders_and_diseases/skin_disorders_of_dogs/photosensitization_in_dogs.html
http://www.merckmanuals.com/vet/integumentary_system/photosensitization/overview_of_photosensitization.html
https://www.gpo.or.th/rdi/html/RDINewsYr17No4/4.pdf
รูปภาพประกอบ:
www.kiosk.libertytravel.com
www.photobiology.info
www.animalcentral.net
www.doggysbakery.com
SHARES