โดย: Tonvet

6 โรคสำคัญที่สุนัขและแมวเป็นร่วมกันได้

ทำความรู้จักกับโรคสำคัญในน้องหมาและน้องแมวที่สามารถเป็นร่วมกันได้

7 พฤษภาคม 2557 · · อ่าน (53,543)
550

SHARES


550 shares

Dogilike.com ::  6 โรคสำคัญที่สุนัขและแมวเป็นร่วมกันได้

    
     เชื่อว่าคนเลี้ยงสุนัขหลายบ้าน อาจจะมีการเลี้ยงสุนัขและแมวอยู่ร่วมกัน แม้ว่าสัตว์ทั้งสองชนิดนี้จะมีความต่างกันทั้งนิสัยใจคอและรูปแบบการใช้ชีวิตอยู่มาก แต่หากพูดถึงเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บแล้ว กลับพบว่ามีอยู่หลายโรคที่สุนัขและแมวสามารถเป็นร่วมกันได้ บางโรคก็อาจทำให้สัตว์เลี้ยงของเราแค่แสดงอาการป่วย แต่บางโรคเมื่อเป็นแล้วยังไม่มีทางรักษา ทำให้ต้องเสียชีวิตไปเลยก็มี 
 
     วันนี้ มุมหมอหมา จะขอพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับโรคสำคัญที่สุนัขและแมวเป็นร่วมกันได้ จะมีโรคอะไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลยครับ
 
 

1 โรคหนอนพยาธิ

 
     หนอนพยาธิ (Helminths) เป็นปรสิตภายในร่างกาย สุนัขและแมวมีหนอนพยาธิหลายชนิดที่สามารถติดต่อร่วมกันได้ โดยอาการที่แสดงออกมานั้นจะแตกต่างกันไป ขึ้นกับชนิดของหนอนพยาธิและตำแหน่งที่หนอนพยาธิเข้าไปอาศัยอยู่ เช่น อาเจียน ท้องเสีย ฯลฯ เราสามารถแบ่งหนอนพยาธิออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ตามลักษณะ คือ เป็นตัวกลม ตัวแบน และตัวตืด 

Dogilike.com ::  6 โรคสำคัญที่สุนัขและแมวเป็นร่วมกันได้

    
     สำหรับหนอนพยาธิที่สามารถติดต่อได้ทั้งสุนัขและแมว ก็ได้แก่ พยาธิใบไม้ตับ (Opisthorchis viverrini ) พยาธิใบไม้ในปอด (Paragonimus spp.) พยาธิตืดหมัด (Dipylidium caninum) พยาธิตืดปลา (Spirometra mansini ) พยาธิตัวจี๊ด (Gnathostoma spinigerum) พยาธิปากขอ (Ancylostoma caninum) ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะรับผ่านทางกินอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนหนอนพยาธิ หรือได้รับจากแม่ผ่านทางน้ำนม บางชนิดอาจใช้วิธีการชอนไชผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกายได้ด้วย เช่น พยาธิปากขอ (Hookworm) ซึ่งสัตว์ที่เป็นส่วนใหญ่ที่เป็นก็มักอยู่ในที่มีสกปรก มีสุขาภิบาลไม่ดี ทำความสะอาดไม่ทั่วถึง ทำให้มีการมีการแพร่กระจายของโรคหนอนพยาธิจากสัตว์ต่อสัตว์ได้

Dogilike.com ::  6 โรคสำคัญที่สุนัขและแมวเป็นร่วมกันได้

    
     โรคหนอนพยาธิสามารถพบได้ในสุนัขและแมวทุกช่วงวัย แต่ลูกสัตว์จะเป็นวัยที่พบได้บ่อยกว่าวัยอื่น ๆ สามารถรักษาได้โดยการป้อนยาถ่ายพยาธิตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ สำหรับเจ้าของที่เลี้ยงน้องหมาและน้องแมวร่วมกัน ก็ควรต้องพาสัตว์เลี้ยงไปหาคุณหมอ เพื่อป้อนยาถ่ายพยาธิป้องกันเป็นประจำทุก ๆ 3-6 เดือนครับ 
 
 

2 โรคพยาธิหนอนหัวใจ

 
     โรคพยาธิหนอนหัวใจ (Heartworm disease) โรคนี้คนเลี้ยงสุนัขจะรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่จะมีสักกี่คน ที่ทราบว่าน้องแมวก็เป็นโรคนี้ได้เช่นกัน โรคพยาธิหนอนหัวใจนั้นเกิดจากการติดเชื้อ Dirofilaria immitis ซึ่งมียุงเป็นพาหะ ยุงมากัดหมาแล้วไปกัดแมว แลกเชื้อกันไปมาซึ่งกันได้ผ่านยุง เมื่อน้องหมาและน้องแมวรับตัวอ่อนระยะที่ 3 ของเชื้อจากยุงเข้ามาแล้ว ตัวอ่อนจะเจริญเป็นระยะที่ 4 อยู่ที่เนื้อเยื่อบริเวณที่ยุงมากัด จากนั้นตัวอ่อนก็จะล่องลอยไปตามกระแสเลือด ที่สุดก็จะไปโตเต็มวัยในหัวใจและปอด โดยสามารถอาศัยอยู่ในนั้นไปได้เป็นปี ๆ เลยทีเดียว 

Dogilike.com ::  6 โรคสำคัญที่สุนัขและแมวเป็นร่วมกันได้

 
     สมัยก่อนเราพบสุนัขป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคนี้จำนวนมาก ปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคลดลง เนื่องจากเจ้าของใส่ใจป้องกันในสุนัขมากขึ้น แต่สำหรับในแมว เจ้าของส่วนใหญ่ยังละเลยในการป้องกัน จึงทำให้มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคนี้ได้ โดยเฉพาะแมวที่เลี้ยงปล่อยแบบอิสระ (outdoor cats) หากต้องใช้ชีวิตร่วมกันกับน้องหมา ก็ควรต้องป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจ ทั้งสุนัขและแมวควบคู่กันไปด้วย ปัจจุบันมียาสำหรับป้องกันพยาธิหนอนหัวใจแบบกิน (ไอเวอร์แมกติน มิลบีมายซิล) สำหรับสุนัข ส่วนยาหยอดหลัง (เซลาแมกติน โมซิเด็กติน) สามารถใช้กับสุนัขและแมวได้ โดยผู้ผลิตจะแยกบรรจุภัณฑ์สำหรับสุนัขและแมวชัดเจน เจ้าของสามารถซื้อมาใช้เองได้ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ครับ
 
 

3 โรคติดเชื้อโปรตัวซัว Giardia

 
     โรคติดเชื้อโปรตัวซัว Giardia มีชื่อเรียกว่า โรค Giardiasis สามารถติดต่อได้ทั้งในสุนัขและแมว ส่วนใหญ่มักก่อให้เกิดปัญหากับทางเดินอาหาร โดยทำให้เกิดท้องร่วงและรบกวนการดูดซึมของอาหาร โดยน้องหมาและน้องแมวจะได้รับเชื้อผ่านทางอุจจาระที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารและน้ำ จากการกิน (fecal oral route) ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดกับสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในที่มีสุขลักษณะไม่ดี ถูกเลี้ยงรวมกันอย่างแออัด หรือมีการทำความสะอาดไม่ทั่วถึง บางรายอาจได้รับผ่านการเลียทำความสะอาดขนตัวเอง ซึ่งปนเปื้อนมาจากการนอนคลุกคลีอยู่ในที่สกปรก  

Dogilike.com ::  6 โรคสำคัญที่สุนัขและแมวเป็นร่วมกันได้

 
     เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะไปยึดเกาะและทำลายผนังของลำไส้ ทำให้ท้องเสียเป็นน้ำ มีกลิ่นเหม็นเน่า บางรายเป็นเรื้อรัง อาจท้องเสียเป็น ๆ หาย ๆ ผนังลำไส้ลูกทำลาย จนพัฒนากลายเป็นความผิดปกติอื่น ๆ ได้ เช่น โรค inflammatory bowel disease ในสุนัข สำหรับการวินิจฉัยจะใช้การส่องตรวจอุจจาระ หรือใช้ชุดทดสอบ SNAP Giardia test ซึ่งน้องหมาและน้องแมวที่เป็นจะต้องได้รับยากินนาน 5-7 วัน และตรวจอุจจาระซ้ำจนกว่าจะไม่พบเชื้อ โดยต้องทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมด้วยน้ำยาซักล้างหรือยาฆ่าเชื้อร่วมด้วยครับ
 
 

4 โรคฉี่หนู

 
     โรคเลปโตสไปโลซีส (Leptospirosis) หรือ โรคฉี่หนู ชื่อที่ใครหลายคนต่างก็คุ้นหูกันดี เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Leptospira spp. โดยมีหนูเป็นสัตว์รังโรค สามารถกักเก็บเชื้อเอาไว้ในท่อไตได้ยาวนาน โดยที่ตัวเองก็อาจไม่ได้แสดงอาการป่วยให้เห็น สุนัขและแมวรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เวลาที่ไปไล่จับหนู หรือรับเชื้อผ่านอาหารและน้ำที่มีเชื้อโรค เนื่องจากสัตว์ป่วยที่มาอึหรือฉี่ไว้ หรือ ได้รับเชื้อที่ปนเปื้อนตามสิ่งแวดล้อมผ่านผิวหนังที่มีแผล เวลาที่น้องหมาคลุกดินโคลน ลงเล่นน้ำ หรือต้องแช่น้ำเป็นเวลานาน ๆ แน่นอนว่าหากมีสุนัขหรือแมวป่วย ก็อาจเป็นพาหะนำโรคมาติดต่อซึ่งกันและกันได้

Dogilike.com ::  6 โรคสำคัญที่สุนัขและแมวเป็นร่วมกันได้

 
     อาการน้องหมาและน้องแมวที่ป่วยจะแสดงอาการซึม อ่อนแรง เบื่ออาหาร ท้องเสีย อาเจียน กินน้ำมาก ปัสสาวะมากหรืออาจปัสสาวะน้อย ไปจนถึงไม่มีปัสสาวะเลย ร่างกายขาดน้ำ มีไข้สูง เกิดภาวะดีซ่าน (ตัวเหลือง) ตาแดง (พบการอักเสบของยูเวียที่ตาและเบื่อบุตา) เจ็บปวดบริเวณท้อง เจ็บปวดกล้ามเนื้อ สัตว์ที่กำลังตั้งท้องอยู่จะแท้งลูกได้ด้วยครับ
 
     สำหรับสัตว์ที่ป่วยคุณหมอจะใช้วิธีการรักษาแบบประคับประคองอาการ (Supportive) ซึ่งจำเป็นต้องได้รับยาฆ่าเชื้อต่อเนื่องยาวนาน 4-5 สัปดาห์ การฉีดวัคซีนป้องกันให้สัตว์เลี้ยง สามารถป้องกันได้เพียงบางเชื้อชนิดย่อย (serovars) บางตัวเท่านั้น ในทางปฏิบัติเราไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อย่อยได้ทุกชนิด เนื่องจากเชื้อมีมากถึง 250 serovars ดังนั้นการป้องกันไม่ให้น้องหมาและแมวรับเชื้อจากหนูและสัตว์อื่น ๆ ที่ป่วย หรือจากในสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ ดิน อาหาร (ไม่ตั้งอาหารไว้ค้างคืนให้หนูมากิน) จึงเป็นการป้องกันที่เหมาะสมที่สุดครับ
 

Dogilike.com ::  6 โรคสำคัญที่สุนัขและแมวเป็นร่วมกันได้

 

5 โรคเชื้อรา Dermatophytosis 

 
     โรค Dermatophytosis หรือ Ringworm เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา Microsporum canis, Microsporum gypsium  และ Trichophyton mentagrophytes  คนไทยเรามักเรียกกันว่า โรคกลาก สามารถติดต่อกันระหว่างสุนัขและแมว คนที่เลี้ยงแมวมักจะรู้จักโรคนี้กันเป็นอย่างดี เพราะสามารถติดต่อสู่คนได้ด้วย โดยติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรง การใช้แปรงขนหรือเบาะนอนร่วมกัน มักเกิดกับรายที่อยู่ในที่อับชื้นและภูมิคุ้มกันไม่ดี 
 

Dogilike.com ::  6 โรคสำคัญที่สุนัขและแมวเป็นร่วมกันได้

    
     เชื้อราพวกนี้จะอาศัยอยู่ตามผิวหนัง เส้นขน และเล็บ คอยกิน keratin ที่ผิวเป็นอาหาร โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ใบหู หน้าท้อง แผ่นหลัง ขา และเล็บของสัตว์ ลักษณะรอยโรคที่สำคัญ คือ จะมีขนร่วงเป็นวง ๆ เริ่มแรกจะเป็นวงเล็ก ๆ จากนั้นรัศมีจะขยายใหญ่ขึ้นเรื้อย ๆ ซึ่งอาจพบขนร่วงเป็นย่อม ๆ กระจายทั่วตัวได้ (แต่บางรายก็อาจไม่เป็นลักษณะวง ๆ เช่นนี้) นอกจากนี้ยังมีสะเก็ดรังแค ผิวหนังแดงอักเสบ และคัน การรักษามีทั้งยากิน ยาทา และแชมพู ร่วมกับการจัดการทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อรา และการไถขนออกเพื่อทำลายแหล่งที่เชื้อราใช้หลบซ่อนครับ 
 
 
 

6 โรคเรบีส์หรือพิษสุนัขบ้า

 
     โรคนี้หลายคนคงรู้จักกันเป็นอย่างดี โรคเรบีส์ (Rabies) หรือพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ติดต่อกันในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สุนัขและแมวที่เลี้ยงรวมกัน จึงมีโอกาสติดต่อสู่กันได้ ผ่านทางน้ำลายเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือเลีย บางรายอาจได้รับเชื้อเข้าทางเยื่อตาหรือเยื่อเมือกต่าง ๆ ก็ได้
 

Dogilike.com ::  6 โรคสำคัญที่สุนัขและแมวเป็นร่วมกันได้

    
     อาการในน้องหมาช่วงแรกอาจไม่ชัดเจน ส่วนใหญ่จะมีอาการซึม เบื่ออาหาร กินอาหารและน้ำลดลง เจ็บคอ มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เคยนิสัยเป็นมิตรกลับดุร้ายก้าวร้าวขึ้น ในทางตรงกันข้ามตัวที่เคยคลาดกลัวไม่กล้าเข้าหาคนกลับเข้ามาคลอเคลียด้วย  จากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ระยะตื่นเต้น ไม่อยู่นิ่ง มีอาการทางประสาท เห่าหอนเสียงดัง ชอบกัดแทะ น้ำลายไหล ม่านตาขยาย และสุดท้ายจะเข้าสู่ระยะเป็นอัมพาต คือ ขาอ่อนแรง ทรงตัวไม่อยู่ กลืนน้ำลายไม่ได้ หายใจลำบาก และเสียชีวิตในที่สุด รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 7-10 วัน นับแต่เริ่มแสดงอาการ

     ส่วนอาการของน้องแมวที่ป่วยโรคเรบีส์ทั่วไปก็คล้าย ๆ กับในสุนัข โดยมักจะหลบซ้อนตามใต้ตู้ หรือในที่ที่เงียบสงบ มุมมืด ๆ บางตัวอาจดุร้าย อาจจะข่วนหรือกัดเจ้าของได้หากถูกรบกวน มีเสียงร้องแหบหรือไม่มีเสียงเลย น้ำลายไหล ไม่กินอาหาร เพราะเจ็บคอทำให้กลืนลำบาก สุดท้ายจะเข้าสูระยะเป็นอัมพาตและเสียชีวิตในที่สุดเช่นกัน แต่รวมระยะเวลาทั้งสิ้นจะสั้นกว่าน้องหมา คือ  3-7 วัน นับแต่เริ่มแสดงอาการ 
 

Dogilike.com ::  6 โรคสำคัญที่สุนัขและแมวเป็นร่วมกันได้

    
     ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาสัตว์หรือคนที่ป่วยด้วยโรคนี้ ดังนั้นการพาสุนัขและแมวทุกตัวที่เลี้ยงร่วมกัน เข้ารับการฉีดวัคซีนและกระตุ้นซ้ำเป็นประจำทุกปี จึงเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด ส่วนเจ้าของที่ถูกสุนัขหรือแมวกัด ก็ควรไปจะพบแพทย์เช่นกัน แม้ว่าสัตว์เลี้ยงตัวนั้นจะฉีดวัคซีนป้องกันแล้วก็ตาม
 
 
     ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นโรคสำคัญที่สุนัขและแมวสามารถเป็นร่วมกันได้ ครบคลุมทุกเชื้อทั้งหนอนพยาธิ โปรตัวซัว เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส บางโรคเป็นปัญหาสำคัญไม่เพียงแต่สัตว์เลี้ยงเท่านั้น ยังรวมถึงตัวของผู้เลี้ยงเองด้วย โรคสุนัขและแมวเป็นร่วมกันได้ยังมีอีกมาก เพื่อน ๆ ที่เลี้ยงน้องหมาร่วมกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ  ก็ควรต้องศึกษาให้ดีก่อนว่า โรคใดบ้างสามารถติดต่อถึงกันได้ จะได้หาทางป้องกัน เพื่อให้น้องหมาของเรานั้นมีสุขภาพที่ดีตลอดไปครับ
 




 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
รูปภาพประกอบ:
www.parade.condenast.com
www.lifelearn-cliented.com
www.en.paperblog.com
www.heartwormsociety.org
www.dog-health-problems-online.com
www.dontconfusethenarrator.wordpress.com
www.findavet.us
www.dogchatforum.com
www.catster.com
www.laboratoryequipment.com