โดย: Tonvet
4 สัญญาณบ่งบอกว่า น้องหมากำลังเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม
มาดูกันว่าอาการอะไรบ้างที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าน้องหมากำลังเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม
5 กรกฏาคม 2560 · · อ่าน (24,717)
โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia) เป็นอีกโรคหนึ่งที่เราได้ยินชื่อกันมานาน ซึ่งมักพบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์ใหญ่ แต่ก็พบได้บ้างในสุนัขพันธุ์เล็กเช่นกัน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยมีปัจจัยโน้มนำจากสภาพการเลี้ยงดู อาหารการกิน การเจริญเติบโตของร่างกายอย่างรวดเร็ว น้ำหนักตัวที่มากเกินไป ฯลฯ เหล่านี้ล้วนมีส่วนทำให้น้องหมาเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมตามมาได้ โดยเฉพาะในสุนัขที่เป็นโรคข้อสะโพกเจริญผิดปกติอยู่ก่อนแล้ว
ข้อสะโพก เป็นข้อที่ยึดระหว่างหัวกระดูกขาหลังส่วนต้นกับเบ้ากระดูกเชิงกราน ซึ่งปกติแล้วหัวกระดูกก็จะอยู่ในเบ้าและเคลื่อนหมุนได้อย่างอิสระ โดยมีผิวหน้ากระดูกของทั้งสองส่วนที่เรียบ ช่วยให้การสัมผัสกันของผิวหน้ากระดูกทั้งสองเป็นไปได้อย่างราบรื่น ส่วนการเกิดข้อสะโพกเสื่อมนั้น จะทำให้การสวมกันของหัวกระดูกขาหลังส่วนต้นกับเบ้ากระดูกเชิงกรานนั้นผิดปกติไป อาจเกิดการเคลื่อนหลุดออกจากกัน หรือมีผิวหน้ากระดูกที่ขรุขระ ส่งผลให้สุนัขแสดงอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมาให้เราเห็น อาจจะเกิดขึ้นกับสองขาหลังเพียงข้างเดียวหรือเป็นทั้งสองข้างพร้อมกันก็ได้ ซึ่งบทความตอนนี้ เราจะมาดูกันครับว่า อาการผิดปกติอะไรบ้างที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า น้องหมาของเรากำลังเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมเข้าให้แล้ว...
1 มีความสนใจทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันลดลง
เมื่อสุนัขเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม การเคลื่อนไหวร่างกายที่ง่าย ๆ ก็กลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้น เพราะสุนัขจะเจ็บปวดทุกครั้งเวลาที่ต้องการเคลื่อนไหวร่ากาย ไม่ว่าจะลุก ยืน หรือเดินก็ตาม จึงทำให้ไม่อยากจะลุกหรือเดินไปไหน สุนัขจึงมักจะนอนมากขึ้น ในส่วนนี้เจ้าของหลายคนเลยมักเข้าใจไปว่า เป็นนิสัยปกติของสุนัขสูงวัย ที่มักจะชอบนอนมากขึ้น เลยไม่ค่อยอยากสนใจไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามปกติ แต่ความจริงแล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้นะครับ เพราะบางทีสุนัขอาจกำลังเจ็บป่วยอยู่ และการที่สุนัขไม่ยอมใช้ขาเป็นเวลานาน ๆ ผลที่ตามมาก็จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณขาหลังฝ่อลีบ หรือเกิดแผลกดทับได้ครับ
2 ลุกยืนได้ช้าหรือลำบากขึ้น
เวลาที่สุนัขจะลุกขึ้นยืนนั้น ต้องมีการส่งแรงจากสองขาหลังเพื่อพยุงตัวให้ลุกยืนขึ้น ซึ่งแรงดังกล่าวกระทำกับข้อต่อต่าง ๆ ของขาหลัง โดยเฉพาะกับข้อสะโพก เมื่อสุนัขเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม จึงมีการสวมกันของหัวกระดูกต้นขาหลังกับเบ้ากระดูกเชิงกรานนั้นผิดปกติไป ทำให้การทำงานของข้อสะโพกเป็นไปโดยไม่ราบรื่นเหมือนก่อน เราจะเห็นว่าเวลาที่น้องหมาจะลุกยืนนั้นจะเป็นไปอย่างช้า ๆ บางตัวก็ต้องใช้แรงมากขึ้นถึงกับขาสั่นเลยก็มี ยิ่งหากสุนัขนอนมาเป็นเวลานาน พออยากจะลุกก็จะยิ่งทำให้ลุกยากมากขึ้น และหลังจากลุกมาแล้วก็มักจะยืนนิ่ง ๆ สักพักก่อนที่จะก้าวเดินต่อไป เจ้าของอาจช่วยด้วยการให้สุนัขอยู่บนพื้นยางกันลื่น เผื่อเวลาที่สุนัขยืนจะสามารถลุกยื่นได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น
3 เกิดความผิดปกติที่ขาหลัง
สุนัขที่เป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม บางรายอาจพบลักษณะของขาหลังผิดรูป เราจะเห็นว่าขาหลังจะชิดกันโดยที่ปลายขาหลังนั้นแบะออก ซึ่งเกิดจากการที่เบ้ากระดูกเชิงกรานกับหัวกระดูกต้นขาหลังไม่สามารถสวมรับกันได้อย่างพอดี หัวกระดูกอาจไม่อยู่ในเบ้า สุนัขอาจจะเกิดการเจ็บปวดมาก บางตัวยืนหลังโก่งหรืองอหลัง บางตัวยืนยกขา ไม่ยอมลงน้ำหนัก บางตัวอาจจะแสดงอาการเป็นบางครั้ง เช่น เวลาออกกำลังกายหรือใช้ขามาก ๆ ก็จะแสดงอาการมากขึ้น น้องหมาที่เป็นโรคจะแสดงอาการเจ็บปวดขาหลังเวลาเดิน ไม่อยากใช้ขาและไม่ยอมที่จะขึ้นลงทางชันหรือบันได
4 เวลาวิ่งจะใช้ขาหลังก้าวพร้อมกัน (เหมือนท่ากระต่ายวิ่ง)
สุนัขที่เป็นโรคมักจะเจ็บปวดเวลาที่ใช้ขาหลัง มีอาการก้าวขาหลังลำบาก หรือมีลักษณะการเดินคล้ายกระต่าย (Bunny hopping) โดยเวลาวิ่งจะใช้ขาหลังก้าวพร้อมกันเหมือนท่ากระต่ายวิ่ง เพื่อต้องการจะลดความเจ็บปวดที่มีต่อข้อสะโพก โดยเป็นการแบ่งเบาแรงกระแทกที่กระทำต่อข้อสะโพกทั้งสองข้างให้เท่ากัน โดยจะแสดงอาการให้เห็นชัดเมื่อสุนัขต้องการจะวิ่ง หรือก้าวขึ้นลงบันได
ทั้งหมดนี้ก็เป็นอาการเบื้องต้นที่เราใช้สังเกตความผิดปกตินะครับ หากน้องหมาของใครแสดงอาการเหล่านี้ ก็ควรต้องพาไปพบคุณหมอเพื่อตรวจดูก่อน สำหรับน้องหมาที่เป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมแล้วนั้น มีวิธีการรักษาวิธีทั้งการรักษาแบบที่ต้องทำศัลยกรรมและแบบที่ไม่ต้องทำศัลยกรรม ซึ่งมีข้อให้การพิจารณาเลือกวิธีการรักษาต่างกัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค อายุของสุนัข และสุขภาพของสุนัข รวมถึงต้องทำการควบคุมน้ำหนักตัว การจัดการโภชนาการ การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เช่น เดินบนสายพานในน้ำ ว่ายน้ำ ฯลฯ ตลอดจนการปรับสภาพที่อยู่ไม่ให้เดินบนพื้นลื่น หรือหากต้องขึ้นลงบันไดต่างระดับ ต้องใช้ทางลาดเพื่อเชื่อมพื้น ทำให้สุนัขเดินง่ายขึ้น ซึ่งน้องหมาที่เป็นแต่ละตัว ก็มีการรักษาที่ต่างกันไปครับ
บทความโดย หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
รูปภาพประกอบ :
https://system.netsuite.com/core/media/media.nl?id=4785&c=578086&h=3bd104f55728026b5e35
https://cdn.whole-dog-journal.com/media/newspics//p1bfd0d8la1skqspo1t9d1dni16gi6.JPG
http://www.kongyuensing.com/pic/20100131Golden_Retriever_Right_Hip_Subluxation_ToaPayohVets.jpg
SHARES