โดย: Tonvet

4 ปัญหาพบบ่อยในน้องหมาที่กินน้ำมากและปัสสาวะมากผิดปกติ

มาดูสาเหตุของโรคที่ทำให้สุนัขมีอาการที่กินน้ำมากและปัสสาวะมากผิดปกติ

2 สิงหาคม 2560 · · อ่าน (108,670)
690

SHARES


690 shares
 

Dogilike.com :: 4 ปัญหาพบบ่อยในน้องหมาที่กินน้ำมากและปัสสาวะมากผิดปกติ

 
 
     ตามปกติแล้วน้องหมาจะมีความต้องการกินน้ำประมาณวันละ 50 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม แต่สำหรับสุนัขที่กินน้ำมากผิดปกติจะมีความต้องการน้ำมากกว่าวันละ 100 มิลลิลิตร/กิโลกรัม เลยทีเดียว เจ้าของสามารถทราบได้โดยการวัดปริมาณน้ำที่น้องหมากินไปต่อวันว่ามากกว่าปริมาณที่ได้กล่าวไปหรือไม่ ส่วนการที่น้องหมาปัสสาวะมากนั้น คือ น้องหมาขับปัสสาวะออกมามากกว่าวันละ 50 มิลลิลิตร/กิโลกรัม  การสังเกตการปัสสาวะมากนี้ทำได้ค่อนข้างยาก บางครั้งอาจทำให้เจ้าของสับสนกับการที่น้องหมาปัสสาวะบ่อยหรือถี่ขึ้น (Pollakiuria) ซึ่งอาจไม่ได้หมายความว่า น้องหมาจะมีปัสสาวะมากกว่าปกติก็ได้  



     อย่างไก็ดีการสังเกตอาการต่าง ๆ เหล่านี้ใกล้ชิด ก็ทำให้เรารู้ถึงความผิดปกติได้โดยเร็ว ซึ่งความผิดปกติที่ทำให้น้องหมากินน้ำมากและปัสสาวะมากผิดปกตินั้น สามารถใช้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติในโรคบางอย่างได้ วันนี้เราจะไปดูกันครับว่า โรคเหล่านั้นจะมีอะไรกันบ้าง...
 
 

1 โรคไตวาย

 
     ตามปกติไตมีหน้าที่ขับของเสีย ควบคุมอิเล็กโตรไลค์ และยังช่วยผลิตฮอร์โมนบางชนิดด้วย เมื่อใดที่ไตสูญเสียการทำงานไปมากกว่า 75 % แล้ว  จึงเกิดการสะสมของเสียในกระแสเลือด สูญเสียสมดุลของแร่ธาตุต่าง ๆ และเกิดภาวะความเป็นกรดขึ้นในร่างกาย (Metabolic acidosis) ได้ และสูญเสียน้ำในร่างกายจำนวนมากออกทางปัสสาวะมาก เนื่องการดูดน้ำกลับทำได้ไม่ดี ผลที่ตามมาเมื่อร่างกายขาดน้ำมาก ก็จำเป็นต้องกินน้ำมากเพื่อที่จะชดเชยสิ่งที่สูญเสียไป 
 
     สาเหตุของไตวายในสุนัขมีได้หลายสาเหตุ หากจะแบ่งสาเหตุใหญ่ๆ ออกได้เป็น 3 สาเหตุหลัก คือ สาเหตุจากการที่เลือดไหลมาเลี้ยงไตลดลง ภาวะช๊อก ความล้มเหลวของการไหลเวียนโลหิต หรือการเสียเลือด เรียกว่า Pre-renal function สาเหตุที่สองเกิดจากความผิดปกติที่ตัวของไตเองทำให้สูญเสียหน้าที่การทำงานไป เรียกว่า Renal function และสุดท้ายเกิดจากการอุดตันการไหลเวียนของระบบปัสสาวะส่วนท้าย เรียกว่า Post-renal Function ซึ่งสุนัขที่ป่วยเป็นโรคไตวายนั้น มักจะมีอาการกินน้ำมาก ปัสสาวะมาก น้ำหนักลด บางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นซึม ไม่กินอาหาร อาเจียน ท้องเสีย ฯลฯ ซึ่งหากเจ้าของสักเกตพบว่าสุนัขของตัวเองกินน้ำมากขึ้น ปัสสาวะมากขึ้น ควรรีบพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ได้ทันที
 
 

2 โรคเบาหวาน

 
    โรคเบาหวานในสุนัขส่วนใหญ่เกิดจากการที่ร่างกายไม่ผลิตหรือผลิตอินซูลินออกมาน้อยเกินไป ทำให้ขาดอินซูลิน ส่งผลให้การดึงน้ำตาลไปใช้ในร่างกายลดลง ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดจึงสูงกว่าปกติ ปกติระดับน้ำตาลในกระแสเลือดของสุนัข จะอยู่ที่ 80-120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร  ทำให้สุนัขมีอาการกินน้ำมาก ปัสสาวะมาก กินเก่งขึ้น แต่น้ำหนักลด ฯลฯ โดยสุนัขพันธุ์เสี่ยงที่พบโรคนี้ได้บ่อย ได้แก่ พุดเดิ้ล ชเนาเซอร์ และมิเนเจอร์ เป็นต้น สำหรับสาเหตุที่น้องหมาเป็นเบาหวานแล้วดื่มน้ำมากนั้น เกิดจากเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป จึงเกิด osmotic effect และเร่งการระบายน้ำตาลที่สูงออก จึงเกิดการปัสสาวะออกมามาก เมื่อร่างกายสูญเสียน้ำออกไปจึงเกิดการกระหายน้ำ น้องหมาจึงกินน้ำมากขึ้นตามมา
 
    สำหรับการตรวจคัดกรองโรคนี้นั้น เราสามารถทำได้ด้วยการตรวจวัดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ซึ่งจะสูงมากกว่า 120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และหากมีค่าน้ำตาลในเลือดมากกว่า 180-220 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ก็จะสามารถตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะได้ด้วย โดยก่อนตรวจเจ้าของจะต้องอดอาหารสุนัขมาก่อนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง อย่างไรก็มีการตรวจวัดกลูโคสนี้อาจพบว่าสูงได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความตื่นเต้น การได้รับยาหรือฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ (สเตียรอยด์) หรือกำลังป่วยเป็นคุชชิ่ง ดังนั้นการตรวจวัดระดับของฟรุกโตซามีน (frustosamine level) ซึ่งเป็นโปรตีนไกลโคไซเลตที่จับกับกลูโคส สามารถนำมาใช้เป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยและเฝ้าติดตามโรคเบาหวานในสุนัขได้ดี เพราะฟรุกโตซามีนจะมีการสลายตัวช้าและคงตัวอยู่ในกระแสเลือดได้นานประมาณ 1-3 สัปดาห์ ซึ่งความเครียดจะส่งผล ทำให้กลูโคสขึ้นสูงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ไม่มีผลต่อค่าฟรุกโตซามีนเลยครับ
 

Dogilike.com :: 4 ปัญหาพบบ่อยในน้องหมาที่กินน้ำมากและปัสสาวะมากผิดปกติ

 
 

3 กลุ่มอาการคุชชิ่ง

 
     กลุ่มอาการคูชชิ่ง (Cushing's syndrome) เกิดจากร่างกายได้รับหรือสร้างฮอร์โมนกลูโคคอร์ติซอล (Glucocorticoid) หรือ คอร์ติซอล (Cortisol) มากเกินไป ซึ่งเป็นฮอร์โมนในกลุ่มสเตียรอยด์ที่สร้างจากต่อมหมวกไต จึงมีชื่อเรียกโรคนี้อีกชื่อหนึ่งว่า โรค Hyperadrenocoticism น้องหมาที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการเด่น ได้แก่ กินน้ำมาก ปัสสาวะมาก ท้องกาง มีผิวหนังบาง ขนร่วงแบบสมมาตร ฯลฯ ซึ่งคุชชิ่งยังเกิดได้ทั้งจากความผิดปกติที่ต่อมใต้สมองชนิดที่มีการสร้างฮอร์โมนตัวหนึ่งขึ้นมา คือ ACTH มาก แล้วไปกระตุ้นต่อมหมวกไตให้สร้างฮอร์โมนกลุ่มสเตียรอยด์มากขึ้น หรือเกิดจากความผิดปกติที่ตัวต่อมหมวกไตเองก็ได้ ซึ่งเราสามารถแยกกระเภทของโรคได้ โดยใช้การทดสอบด้วยวิธีการเฉพาะ สำหรับน้องหมาที่มีอาการดื่มน้ำมาก ร่วมกับอาการเด่นตามที่ข้างต้นนี้ เจ้าของควรพาไปพบสัตวแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมง  
 
 

4 ภาวะขาดน้ำ

 
     ภาวะขาดน้ำ เกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียน้ำออกไปมากกว่าการรับเข้ามา ซึ่งตามปกติน้องหมาจะมีการสูญเสียน้ำออกจากร่างกายอยู่แล้ว ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ทางปัสสาวะ ทางอุจจาระ การหายใจ การหอบ เป็นต้น แต่บางครั้งร่างกายของน้องหมาอาจเกิดการสูญเสียน้ำมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นจากการอาเจียน ท้องเสีย หรืออย่างบางทีสุนัขอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนมาก ๆ อุณหภูมิในร่างกายจะสูงกว่าปกติ น้องหมาก็จะแสดงอาการหอบและหายใจมากขึ้น ซึ่งจะมีการสูญเสียน้ำในร่างกายออกมา ร่างกายจึงชดเชยด้วยการกินน้ำมากกว่าปกติ หรือน้องหมาที่มีไข้ ซึ่งอาจจะเกิดจากการติดเชื้อหรืออื่นใดก็ตาม สุนัขก็อาจกินน้ำมากขึ้น ซึมลง ไม่ค่อยกินอาหาร แต่หากยังกินน้ำเข้าไปไม่เพียงพอ ก็จะแสดงความผิดปกติอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น จมูกแห้ง เยื่อเมือกแห้ง ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น เบ้าตาจมลึก อ่อนแรง ฯลฯ โดยเฉพาะรายที่เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง
 
     เราสามารถประเมินระดับการขาดน้ำของน้องหมาง่าย ๆ โดยการดูความยืดหยุ่นของผิวหนัง ซึ่งน้องหมาปกติ เวลาที่เราดึงผิวหนังขึ้นมา ก็จะพบว่าผิวหนังสามารถเด้งกลับเข้าที่เดิมได้อย่างรวดเร็ว (ภายใน 1-2 วินาที) แต่หากมีการคืนตัวกลับช้าลง ก็แสดงว่าน้องหมาอาจมีภาวะขาดน้ำได้ครับ ทั้งนี้ความยืดหยุ่นของผิวหนังแต่ละส่วนของร่างกายอาจไม่เท่ากัน อีกทั้งสภาพน้องหมาแต่ละตัวก็อาจให้ผลได้ไม่เหมือนกันด้วย เช่น น้องหมาแก่หรือผอมผิวหนังจะขาดความยืดหยุ่นอยู่แล้ว ในขณะที่น้องหมาอ้วนมากผิวหนังจะตึง ทำให้เมื่อเราดึงผิวหนัง ก็จะเด้งกลับเข้าที่ได้อย่างรวดเร็ว
 
     สำหรับการแก้ไขภาวะขาดน้ำ เบื้องต้นให้เราพยายามตั้งน้ำให้สุนัขกินอย่างเพียงพอ หากยังไม่เพียงพอควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อประเมินอาการ หาสาเหตุของการป่วย และช่วยแก้ไข้ภาวะขาดน้ำ โดยอาจจำเป็นต้องให้สารน้ำเข้าทางใต้ผิวหนังหรือเข้าทางเส้นเลือดต่อไปตามแต่ระดับความรุนแรงครับ
 
 
     การสังเกตอาการสุนัขเป็นสิ่งที่เจ้าของควรต้องทำเป็นประจำ บางครั้งอาการผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ก็อาจเกิดจากสาเหตุของโรคร้ายต่าง ๆ ได้มากมาย อย่างเช่นการกินน้ำมากและปัสสาวะมากผิดปกติดังที่ได้กล่าวไปแล้วนี้




 

บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
รูปภาพประกอบ:
https://i.ytimg.com/vi/0hb7E7IjrFc/maxresdefault.jpg
http://castle-vets.co.uk/castlevets/wp-content/uploads/2014/07/kidney-function.jpg?w=300