โดย: Tonvet

แจกวิธีการดูแลน้องหมาป่วยโรคไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อ

เมื่อน้องหมาป่วยด้วยโรคไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อ เจ้าต้องรับมืออย่างไรบ้าง

29 พฤศจิกายน 2560 · · อ่าน (83,749)
645

SHARES


645 shares

Dogilike.com :: แจกวิธีการดูแลน้องหมาป่วยโรคไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อ



     เรื่องจริงที่ต้องยอมรับกันว่าโรคลำไส้อักเสบติดต่อจากเชื้อไวรัสนั้น ยังเป็นโรคที่คร่าชีวิตน้องหมาจำนวนไม่น้อยอยู่ในปัจจุบัน แม้จะมีการให้ความรู้และรณรงค์ให้เจ้าของพาสุนัขไปรับการฉีดวัคซีนรวมโรคอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม ...

     เนื่องด้วยตัวเชื้อไวรัสต้นเหตุของโรคนี้ อย่างเชื้อพาร์โวไวรัส (Parvovirus) นั้น เป็นเชื้อที่ค่อนข้างทนทานในสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานมากกว่า 5 เดือนเลยทีเดียว วันดีคืนดีน้องหมาที่ร่างกายอ่อนแอ ไม่มีภูมิคุ้มกัน หรือไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นครบตามโปรแกรม มาอาศัยคลุกคลีอยู่ในบริเวณที่มีเชื้อดังกล่าวอยู่ ก็อาจได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ ผ่านทางสิ่งแวดล้อม ภาชนะ อาหารและน้ำ ของเล่น กรง ที่นอน และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ ซึ่งสุนัขอาจไปเลีย กิน หรือรับเอาเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางใดทางหนึ่งผ่านปาก และนี่ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้โรคนี้ยังเป็นโรคระบาดที่สำคัญในสุนัข โดยเฉพาะสุนัขที่มีอายุน้อยกว่า  6 เดือน

     เจ้าเชื้อไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อที่ก่อโรคนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Canine Parvovirus type 2 (CPV-2) ปัจจุบันยังแยกย่อยออกเป็น 3 variant (strain) คือ CPV-2a, CPV-2b และ CPV-2c (ค้นพบหลังสุด) ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วโลก เมื่อสุนัขได้รับเชื้อแล้วจะเริ่มแสดงอาการป่วยภายใน 3-10 วัน (หรือตั้งแต่ 4-14 วันหลังรับเชื้อ) ที่สำคัญคือน้องหมาที่ได้รับเชื้อแล้ว สามารถแพร่เชื้อต่อได้ 1-3 วันก่อนที่น้องหมาจะแสดงอาการป่วยเสียอีก เราเลยพบเห็นได้บ่อย ๆ ที่ว่า น้องหมาที่เลี้ยงรวมกันในครอกจะเป็นโรคนี้ได้หมดทั้งครอก บางตัวแสดงอาการป่วยเร็วหรือช้านั้น ก็ขึ้นกับความต้านทานโรคที่มีในตัวนั่นเอง



Dogilike.com :: แจกวิธีการดูแลน้องหมาป่วยโรคไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อ



     เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีการแบ่งตัวและทำลายเซลล์ในลำไส้ ทำให้ผนังลำไส้หลุดลอก เป็นแผลมีเลือดออก วิลลัส (ส่วนยื่นเล็ก ๆ ในผนังลำไส้) ถูกทำลาย ทำให้ไปสามารถดูดซึมสารอาหารได้ ซ้ำร้ายแบคทีเรียที่ไม่ดีในทางเดินอาหาร อาจจะจู่โจมทำร้ายร่างกายและแพร่เชื้อไปตามกระแสเลือดตามมาได้ด้วย จึงเหนี่ยวนำให้น้องหมาเกิดอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวสีดำหรือมีเลือดปน มีกลิ่นคาวรุนแรง อาเจียน มีไข้ อ่อนแรง ปวดท้อง การที่สุนัขสูญเสียน้ำและอิเล็กโทรไลด์ออกจากร่างกาย อาจทำให้สุนัขช็อก และเสียชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขที่ทันท่วงที

     พบว่าสุนัขที่ป่วยแล้วไม่ได้รับการรักษามีเพียง 9% เท่านั้นที่รอด และ 80% ของลูกสุนัขที่ป่วยจะเสียชีวิตใน 4-5 วันหลังแสดงอาการ ดังนั้นการรักษาที่ทันกาลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งสุนัขที่ป่วยเป็นโรคติดเชื้อไวรัสรุนแรงนี้ มีข้อจำกัดในการรับตัวเข้ารักษาดูแลภายในโรงพยาบาล เนื่องจากอาจเป็นตัวแพร่เชื้อโรคไปยังสัตว์ป่วยรายอื่น ๆ ที่มีร่างกายอ่อนแออยู่แล้วได้ (ยกเว้นโรงพยาบาลสัตว์ที่มีการแยกห้องดูแลสัตว์ป่วยติดเชื้อโดยเฉพาะ) เจ้าของจึงต้องรับหน้าที่ดูแลน้องหมาตามคำแนะนำของสัตวแพทย์เองที่บ้าน ซึ่งบทความนี้จะมาแนะนำวิธีการดูแลน้องหมาที่ป่วยโรคนี้กันครับ



 

หากพบสุนัขแสดงอาการป่วยเป็นที่น่าสงสัย



    สุนัขที่แสดงอาการป่วยเป็นที่น่าสงสัย จะมีอาการซึม อ่อนแรง ไม่กินอาหาร อาเจียน และท้องเสียรุนแรง อาจเป็นสีดำหรือมีเลือดปนและมีกลิ่นคาว ซึ่งช่วงวัยที่พบได้บ่อยคือลูกสุนัขที่มีอายุไม่เกิน  6 เดือน และมีประวัติทำวัคซีนไม่ครบถ้วน ซึ่งสุนัขที่โตแล้วก็อาจป่วยได้เช่นกัน หากไม่ได้ฉีดกระตุ้นวัคซีนอย่างเป็นประจำ ให้เรารีบพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์ทันที เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโรค ซึ่งโรคที่แสดงอาการดังกล่าวสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นโรคดังกล่าว สามารถใช้ชุดตรวจโรคเพื่อตรวจหาแอนติเจนของเชื้อจากอุจจาระโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถทราบผลได้ภายใน 15 นาที โดยที่เชื้อจะพบมากในอุจจาระสุดในช่วง 4-7 วันหลังจากการรับเชื้อ เมื่อมั่นใจว่าเป็นโรคนี้แล้ว ก็ต้องรีบทำการรักษา โดยทั่วไปคุณหมอจะใช้วิธีการรักษาแบบประคองอาการ เพื่อบรรเทาอาการให้กับสุนัข ด้วยการให้สารน้ำ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (ที่แทรกซ้อนตามมา) ยาลดกรด-ระงับอาเจียน ยาแก้ปวด-ลดไข้ รวมถึงให้สารอาหารทางหลอดเลือดอาจยัคงมีอาการอาเจียนอยู่



Dogilike.com :: แจกวิธีการดูแลน้องหมาป่วยโรคไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อ


 

การดูแลตัวสุนัขที่ป่วย



     นอกจากการพาสุนัขไปรักษาและรับยาตามที่สัตวแพทย์แนะนำแล้ว หากสุนัขไม่ได้อยู่ดูแลรักษาตัวในโรงพยาบาลสัตว์ เจ้าของจะต้องแยกเลี้ยงสุนัขตัวที่ป่วย และกันบริเวณไม่ให้สุนัขตัวอื่น ๆ เข้าไป รวมถึงกักตัวเพื่อเฝ้าดูอาการสุนัขตัวอื่น ๆ ในครอกอย่างน้อย 2 สัปดาห์หรือจนกว่าจะแน่ใจว่าสุนัขตัวอื่น ๆ ไม่ได้ป่วยตามไปด้วย อย่างที่บอกไปว่าสุนัขที่ได้รับเชื้อแล้ว สามารถแพร่เชื้อไปยังสุนัขตัวอื่น ๆ ได้ก่อนที่จะแสดงอาการเสียอีก สุนัขที่มีภูมิคุ้มกันดีอาจไม่แสดงอาการป่วยหรือแสดงอาการป่วยแต่ไม่รุนแรง (ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาตามอาการเช่นกัน)

     หากสุนัขยังมีอาการอาเจียนหรือท้องเสียอาจจำเป็นต้องงดการให้อาหารก่อน หากไม่อาเจียนแล้วให้เริ่มป้อนน้ำให้ก่อน โดยทำการป้อนให้ทีละนิด หรือให้น้ำหวานหรือน้ำผึ้งเพื่อให้พลังงานให้กับร่างกาย จัดเตรียมที่นอนและของใช้เฉพาะสำหรับสุนัขที่ป่วยใช้ (ควรเป็นสิ่งของที่ใช้แล้วทิ้งได้) ลดระดับเสียงเพื่อไม่ให้สุนัขเครียดและสามารถผักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ถ้าสุนัขมีอุณหภูมิร่างกาายต่ำ อาจต้องเปิดไฟกกเพื่อให้ความอบอุ่นแต่ร่างกาย ดูแลรักษาความสะอาดบนตัวของสุนัขที่อาจเลอะมูลหรือสิ่งที่อาเจียนออกมา ภายหลังหากน้องหมาหายป่วยแล้ว ก็ควรต้องแยกเลี้ยงต่อไปอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และก่อนนำมาเลี้ยงรวมกันควรต้องอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายป้องกันเชื้อที่ยังอยู่ตามขนและผิวหนังไปติดยังสุนัขตัวอื่น ๆ ได้ และอย่าลืมพาสุนัขที่หายป่วยแล้วไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคอื่น ๆ และถ่ายพยาธิ ตามที่สัตวแพทย์แนะนำ



Dogilike.com :: แจกวิธีการดูแลน้องหมาป่วยโรคไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อ




การดูแลสิ่งแวดล้อมและตัวของเราเอง



    ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อด้วยสารฟอกขาวที่มีส่วนประกอบของ Sodium hypochlorite โดยผสมอัตราส่วน สารฟอกขาว 1 ส่วนต่อน้ำสะอาด 30 ส่วน (หรือสารฟอกขาว 4 ออนซ์ต่อน้ำ 1 แกลลอน) ถูพื้นหรือพ่นทิ้งไว้ 10-15 นาที แล้วจึงล้างออก ไม่เพียงแต่ที่กรงเท่านั้นยังรวมถึงพื้นและผนังห้อง รวมถึงบริเวณโดยรอบที่สุนัขอยู่ด้วย (อาจทำความสะอาดด้วยน้ำยาถูพื้นทั่วไปก่อน แล้วใช้สารฟอกขาวซ้ำอีกทีก็ได้) หากต้องสัมผัสตัวสุนัขและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของสุนัข ต้องสวมถุงมือทุกครั้ง แยกใช้รองเท้าและผ้ากันเปื้อนที่เราต้องใช้กับสุนัขป่วยโดยเฉพาะ รวมถึงเสื้อผ้าที่เราใส่และอาจสัมผัสกับเชื้อก็ควรต้องได้รับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อด้วยสารฟอกขาวด้วยเช่นกัน เราต้องตระหนักเอาไว้เสมอว่า ตัวของเราเองก็อาจเป็นผู้นำโรคไปติดสุนัขตัวอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน แม้โรคดังกล่าวจะไม่ได้ทำให้มนุษย์ป่วยด้วยก็ตาม

     การรักษาโรคไวรัสลำไส้อักเสบติดต่อในสุนัขที่ดีที่สุดคือ การป้องกันโรคให้กับสุนัข สุนัขที่ป่วยนั้นมีโอกาสจะเสียชีวิตได้สูง แต่โอกาสรอดก็มีถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและทันถ่วงที เจ้าของที่กำลังมีสุนัขป่วยด้วยโรคนี้อยู่ คงจะเหนื่อยกายและเหนื่อยใจอยู่ไม่น้อย ไหนจะค่ารักษาที่ต้องเสียไปอีก ซึ่งเมื่อเทียบกับเงินที่เราเสียไปเพื่อป้องกันโรคให้กับสุนัขนั้น อาจดูน้อยไม่มากแต่คุ้มค่าเลยทีเดียว..





 

บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
 
รูปภาพประกอบ :

  https://www.argospetinsurance.co.uk/assets/uploads/2017/05/dog-2561134_1920.jpg
https://cbsnews1.cbsistatic.com/hub/i/2016/05/26/1791a2ff-cc50-461f-a3ee-2ea2ebf5c35b/puppy.jpg
https://cbsnews1.cbsistatic.com/hub/i/2016/01/15/80a29908-0926-42c4-8d7c-54bd2acb74c7/sick-tired-dog.jpg
https://www.aspcapro.org/sites/default/files/styles/image_component/public/resource/card/image/stock_josie-puppies_2015sep02_0068.jpg?itok=NgMjVL_-
http://northbundabergvetsurgery.com.au/wp-content/uploads/Parvo.jpg