โดย: Tonvet

โรคเรบีส์ (Rabies) ทำให้น้องหมาเกิดอาการบ้าคลั่งได้อย่างไร

ไขความลับที่มาของอาการคลุ้มคลั่งของสุนัขป่วยที่เป็นโรคเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า)

10 มกราคม 2561 · · อ่าน (7,447)
264

SHARES


264 shares

Dogilike.com :: โรคเรบีส์ (Rabies) ทำให้น้องหมาเกิดอาการบ้าคลั่งได้อย่างไร




     โรคเรบีส์ (Rabies) หรือพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ Rabies virus ซึ่งระบาดและติดต่อกันในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีการรักษานะครับ ทำให้โรคนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้มนุษย์ทั่วโลกต้องเสียชีวิตราว 59,000 คนต่อปี และคนที่เสียชีวิตเหล่านั้น ส่วนมากก็จะได้รับเชื้อต่อมาจากสุนัขและแมว เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุดนั่นเอง
 
     อาการของโรคเรบีส์นั้นแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะนำโรค ระยะทางระบบประสาท และระยะสุดท้าย (อัมพาต) ซึ่งอาการที่ทุกคนมักจำฝังใจมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นอาการแบบดุร้าย เพราะเป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยสุนัขที่ป่วยจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป จากสุนัขที่เคยคุ้นชินกับมนุษย์ก็จะไม่เข้าหาเจ้าของ หงุดหงิดง่าย ไวต่อการกระตุ้นเร้าต่าง ๆ อาจแสดงอาการไล่งับวัตถุที่อยู่ต่อหน้า วิ่งพล่านไล่กัดคนและสัตว์อื่น แต่สุนัขที่ป่วยบางตัวก็อาจไม่แสดงอาการแบบดุร้ายเช่นนี้ก็ได้นะครับ บางตัวมีอาการเซื่องซึมทำให้เราสังเกตได้ยาก แต่ก็สามารถที่จะกัดคนหรือสัตว์ที่เข้าไปรบกวนได้เช่นกัน
 
     การที่สัตว์ป่วยถูกกระตุ้นให้มีพฤติกรรมก้าวร้าวนั้น บางทีอาจมีส่วนช่วยให้เชื้อสามารถแพร่กระจายต่อไปได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเชื้อนี้จะอยู่ในน้ำลายของสัตว์ป่วย การที่เชื้อจะถูกถ่ายทอดออกไปได้นั้น ต้องให้สัตว์ที่ป่วยเข้าไปกัด ข่วน หรือเลียคนหรือสัตว์ทางใดทางหนึ่งก่อน แล้วจึงเกิดการถ่ายทอดเชื้อนั้นออกไปผ่านทางน้ำลาย ราวกับเชื้อนั้นเข้าไปสิงร่างแล้วควบคุมสมองและจัดระเบียบพฤติกรรมของสัตว์ป่วยเสียใหม่ ให้ตกเป็นเครื่องมือสำหรับที่เชื้อนั้นจะได้แพร่กระจายต่อไปอีกได้เรื่อย ๆ ก่อนที่ชีวิตของสัตว์ป่วยตัวนั้นจะเสียชีวิตลง 
 

 
Dogilike.com :: โรคเรบีส์ (Rabies) ทำให้น้องหมาเกิดอาการบ้าคลั่งได้อย่างไร

 
 
     ในอดีตเรายังไม่เข้าใจถึงกลไกที่ทำสัตว์ป่วยนั้นมีพฤติกรรมก้าวร้าว แต่การศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Report เมื่อไม่นานมานี้ แสดงให้เราเห็นว่า เจ้าไวรัสตัวเล็ก ๆ ที่เข้าไปนั้นสมองนั้น มันเข้าไปควบคุมสมองของสัตว์ป่วยได้อย่างไร กล่าวคือ เมื่อไวรัสเข้าสู่สมองของสุนัขแล้ว มันจะเข้าไปจับตรง nicotinic receptor ทำให้เกิดการยับยั้งการรรับ nicotinic ในสมอง และขัดขวางการสื่อประสาท ก่อให้เกิดพฤติกรรมคลุ้มคลั่งขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสที่เชื้อโรคจะได้แพร่กระจายออกไปยังคนและสัตว์อื่น ๆ ได้ผ่านทางน้ำลายที่สุนัขไปกัด
 
     ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้สนใจศึกษาลึกลงไปถึงระดับโมเลกุลของเชื้อ อย่างไกลโครโปรตีนซึ่งเป็นประกอบบนผิวเชื้อไวรัสนี้ ไวรัสเรบีส์จะใช้ส่วนนี้เองที่เข้าไปจับกับ receptor ในเซลล์สมองของสัตว์ป่วย มีการทดลองหนึ่งได้ทำการฉีดชิ้นส่วนไกลโคโปรตีนของไวรัสเข้าไปในสมองของหนูทดลอง ผลปรากฎว่า หนูเริ่มวิ่งไปมารอบ ๆ พฤติกรรมเช่นนี้คล้ายกับสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคเรบีส์เช่นกัน
 
     เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษา แนวทางการรับมือโรคนี้ที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ซึ่งเจ้าของจะต้องพาน้องหมาที่ตัวเองเลี้ยงเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตั้งแต่อายุ  3 เดือนขึ้นไป จากนั้นกระตุ้นซ้ำอีก  1 ครั้งตามที่สัตวแพทย์นัดหมาย และพาน้องหมากลับไปฉีดกระตุ้นวัคซีนต่อไปเช่นนี้เป็นประจำทุกปี ซึ่งในคนเองก็มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคก่อนที่จะได้รับเชื้อเช่นกัน สามารถไปพบแพทย์เพื่อฉีดป้องกันไว้ก่อนได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ถูกกัดก่อนแล้วจึงจะไปพบแพทย์ก็ได้ แต่หากเราถูกสุนัขกัด ก็ให้รีบฟอกล้างแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือล้างแผลอย่างน้อย 10-15 นาทีจากนั้นให้รีบไปพบแพทย์โดยทันทีเลยครับ




 

บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
 
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน :
https://www.sciencedaily.com/releases/2017/10/171011091847.htm
 
 
รูปภาพประกอบ :
http://www.bimcbali.com/wp-content/uploads/2013/04/1971302fbf48.jpg
https://3c1703fe8d.site.internapcdn.net/newman/gfx/news/hires/2017/13-researchreve.jpg