โดย: Tonvet
ภาวะดีซ่านในสุนัข สัญญาณเตือนโรคร้ายอันตราย!!
มาทำความเข้าใจ รับมือ และป้องกันภาวะดีซ่านในสุนัขกัน
7 มีนาคม 2561 · · อ่าน (39,516)
-
ภาวะดีซ่าน (Jaundice) ไม่ใช่โรค แต่เกิดจากการที่ร่างกายมีปริมาณบิลิรูบิน (bilirubin) สูงเกินไป
-
บิลิรูบินนี้เป็นรงควัตถุที่มีสีเหลือง เมื่อมีมากก็จะไปสะสมตามเยื่อเมือก และอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
-
ภาวะดีซ่านเกิดได้จากหลายสาเหตุ สามารถแบ่งสาเหตุของดีซ่านออกเป็น 3 สาเหตุใหญ่ คือ สาเหตุก่อนเข้าสู่ตับ สาเหตุที่ในตับเอง และสาเหตุหลังออกจากตับ ซึ่งทั้งสามสาเหตุสามารถเกิดร่วมกันได้
-
การรักษาภาวะดีซ่านนั้น ต้องตรวจให้ทราบก่อนว่าน้องหมาป่วยเป็นโรคอะไร แล้วจึงทำการรักษาโรคนั้น เมื่อโรคนั้นหายแล้ว สุดท้ายภาวะดีซ่านก็จะดีขึ้นตามเช่นกัน
.jpg)
พูดถึง "ภาวะดีซ่าน" หลายคนมักจะนึกภาพตามว่าเป็นลักษณะที่ร่างกายกลายเป็นสีเหลือง บางคนเข้าใจว่าดีซ่านเป็นโรคชนิดหนึ่ง แต่ความจริงแล้วนั้น นิยามของภาวะดีซ่าน อาจไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนเข้าใจ ถ้าหากเราลองแปลไทยเป็นไทย คำว่า "ดีซ่าน" เกิดจากคำสองพยางค์ คือ คำว่า "ดี" อาจมาจาก "น้ำดี" และคำว่า "ซ่าน" นั้นหมายถึง การแพร่กระจายไปทั่วตัว แบบนี้ ดีซ่าน ก็คงหมายถึง การที่น้ำดีกระจายไปทั่วตัวอย่างนั้นหรือ ? เราแปลความหมายแบบนี้จะถูกต้องหรือเปล่านะ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาทำความเข้าใจ รับมือ และป้องกันภาวะดีซ่านในสุนัขกันเลยดีกว่าครับ...
รู้จักกับภาวะดีซ่านกันสักหน่อย
ภาวะดีซ่าน (Jaundice) เกิดจากการที่ร่างกายมีปริมาณบิลิรูบิน (bilirubin) ในกระแสเลือดสูง (hyperbillirubinemia) ซึ่งเจ้าบิลิรูบินนี้เป็นรงควัตถุที่มีสีเหลือง เมื่อมีมากก็จะไปสะสมตามเยื่อเมือก เยื่อบุตา เหงือก และผิวหนังของน้องหมา จนกลายเป็นสีเหลือง แม้แต่มูลสัตว์ก็อาจมีสีออกเหลือง ๆ และปัสสาวะก็อาจมีสีเหลืองเข้มขึ้นได้ด้วย ซึ่งภาวะดีซ่านนี้นั้นสามารถตรวจพบทางค่าชีวเคมีว่ามีความเข้มข้นของบิลิรูบินที่สูงขึ้นกว่าปกติ ได้ก่อนที่จะแสดงอาการออกมาเสียอีก ว่าแต่...แล้วมันเกี่ยวอะไรกับน้ำดี ?
เรื่องของเรื่องคืออย่างนี้ครับ ในเวลาที่เม็ดเลือดแดงแตกหรือถูกทำลายไม่ว่าจะเป็นภาวะปกติหรือเกิดจากโรคใด ๆ ก็ตาม จะได้ฮีม (Heme) ออกมา ฮีมนี้จะถูกเปลี่ยนรูปต่อจนสุดท้ายได้มาเป็นบิลิรูบิน บิลิรูบินนี้ไม่สามารถละลายน้ำได้ จึงถูกโปรตีนพาไปยังตับ เพื่อให้ตับเปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้มาเป็นในรูปที่สามารถละลายน้ำได้ (Conjugated bilirubin) ก่อนจะถูกขับออกไปทางท่อน้ำดี และออกมากับอึในรูปของ stercobilin ทำให้อุจจาระมีน้ำตาล (สีเหลือง) และขับออกทางปัสสาวะในรูป urobilin ทำให้ปัสสาวะมีสีเหลือง ทีนี้ถ้าบิลิรูบินมีปริมาณปกติร่างกายก็กำจัดได้ชิล ๆ ทันตามกลไกดังกล่าว แต่ถ้าเมื่อใดที่มีบิลิรูบินมากเกินไปร่างกายเกิดกำจัดไม่ทัน บิลิรูบินมันไม่มีที่ไปไง ก็เลยไปสะสมและฝังตัวตามอวัยวะต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย ทำให้เราเห็นว่าเยื่อเมือก เยื่อบุตา เหงือก และผิวหนังของน้องหมามีสีผิดปกติไป (สีเหลือง) เกิดเป็นภาวะดีซ่านนั่นเอง
สาเหตุของภาวะดีซ่าน
ส่วนมากพอเกิดภาวะดีซ่าน เราจะคิดถึงปัญหาจากตับ แต่ความจริงแล้วภาวะดีซ่านนั้นเกิดได้หลายสาเหตุเลยครับ ถ้าจะให้ไล่ว่าภาวะดีซ่านเกิดจากโรคอะไร คงไล่ให้ไปหมด เพราะมันเยอะมาก ดังนั้นเราจึงแบ่งสาเหตุออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ 1. สาเหตุก่อนเข้าสู่ตับ เป็นการสูงขึ้นของบิลิรูบินก่อนจะมาที่ตับ เกิดจากโรคอะไรก็ตามที่ไปทำให้เม็ดเลือดแดงแตกหรือถูกทำลายมากเกินไป เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด โรคภูมิคุ้มกันทำลายเม็ดเลือดแดงของตัวเอง (IMHA) ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแตก เป็นต้น 2. สาเหตุที่ตัวตับเอง พอตับผิดปกติก็ไปส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบิลิรูบินให้เป็นรูปที่ละลายน้ำได้ เพื่อจะได้กำจัดออกไปนั้นไม่สามารถทำได้ บิลิรูบินก็เลยสูงขึ้น เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ โรคมะเร็งที่ตับ โรคฉี่หนู ได้รับสารพิษ เป็นต้น และ 3. สาเหตุหลังออกจากตับ เกิดเพราะร่างกายไม่สามารถลำเลียงเอาบิลิรูบินขับออกไปทิ้งได้ตามปกติ เช่น การอุดตันหรือการระบายน้ำดีลดลง โรคนิ่วในท่อน้ำดี โรคตับอ่อนอักเสบ ความผิดปกติในทางเดินอาหาร เป็นต้น อย่างไรก็ดีทั้ง 3 สาเหตุหลักนี้ สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันหรือเกี่ยวเนื่องกันไปได้
เราจะรับมือกับภาวะดีซ่านอย่างไรดี
ภาวะดีซ่านมักไม่ได้เกิดขึ้นตามลำพังแน่นอน น้องหมาที่ป่วยมักจะแสดงอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ซึม เบื่ออาหาร สีปัสสาวะผิดปกติ น้ำหนักลด อาเจียน คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องมาน หรือแม้แต่มีอาการทางระบบประสาท ฯลฯ ตามแต่โรคที่เป็นอยู่ เจ้าของจึงต้องสังเกตอาการให้ละเอียด เพื่อจะได้นำมาเล่าให้สัตวแพทย์ฟังเวลาที่คุณหมอซักประวัติ ซึ่งคุณหมอจะใช้ข้อมุลเหล่านี้ มาพิจารณาเลือกวิธีตรวจและวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุแท้จริง เช่น หากน้องหมาปัสสาวะมีสีดำหรือสีน้ำตาล ก็อาจจะพออนุมานสาเหตุหลัก 1 ใน 3 ออกให้ได้คร่าว ๆ ก่อน จากนั้นคุณหมอก็อาศัยวิธีการตรวจอย่างอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือดดูเม็ดเลือดต่าง ๆ หรือดูค่าเอนไซม์ตับ ตรวจปัสสาวะ อัลตราซาวน์ดูตับหรือท่อน้ำดีว่ามีการอุดตันหรือไม่ เป็นต้น พอได้โรคที่สาเหตุหลักแล้วก็จะได้ทำการรักษาต่อไป ภาวะดีซ่านก็จะหายไปหลังจากที่โรคที่เป็นอยู่ได้รับการแก้ไขไปแล้ว เช่น ถ้าโรคเกิดขึ้นภายในตับ ก็ต้องรักษาและฟื้นฟูเซลล์ตับที่ถูกทำลาย หรือถ้าโรคเกิดขึ้นหลังออกจากตับ พวกที่เป็นนิ่ว ก็ต้องแก้ไขการอุดตันของท่อน้ำดี จะผ่าเอานิ่วออกหรือกินยาสลายก็ว่าไป เป็นต้น ซึ่งจะหายขาดหรือไม่นั้น ก็ขึ้นกับโรคที่น้องหมาเป็นอยู่นั่นเอง
การป้องกันภาวะดีซ่านทำได้หรือไม่
เนื่องจากภาวะดีซ่านเกิดได้จากหลายสาเหตุ เพราะไม่ว่าน้องหมาจะเป็นโรคอะไรก็ตามที่ไปกระทบกลไกการกำจัดบิลิรูบินออกไป หรือไปทำให้มีการสร้างบิลิรูบินออกมามากเกินไป จนทำให้กำจัดออกไปไม่ทัน ย่อมส่งผลให้เกิดภาวะดีซ่านได้ทั้งสิ้น
คงไม่มียาใดยาหนึ่งที่สามารถป้องกันภาวะนี้ได้โดยเฉพาะ ดังนั้นการป้องกันสุขภาพโดยรวมจึงเป็นเรื่องสำคัญ การรักษาความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ การป้องกันเห็บเพื่อป้องกันโรคพยาธิในเม็ดเลือด การพาน้องไปฉีดวัคซีนรวมเพื่อป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบในสุนัข การหลีกเลี่ยงสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อตับ การให้น้องหมากินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ การควบคุมน้ำหนักอย่าให้สุนัขอ้วนหรือมีไขมันมาสะสมและก่อตัวขึ้นที่ตับ หลีกเลี่ยงการให้ยารักษาสุนัขเองโดยไม่ได้ปรึกษาสัตวแพทย์ก่อน เพราะยาบางชนิดมีผลต่อตับ โดยเฉพาะพวกกลุ่มยาลดไข้และแก้อักเสบ ตลอดจนการไม่ทำให้สุนัขเครียดเป็นเวลานาน ๆ จนเป็นสาเหตุให้ภูมิคุ้นกันตก เพราะจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค โดยเฉพาะพวกโรคฉกฉวยโอกาสได้ เขียนแบบนี้เหมือนออกแนวหว่านแหไปหน่อย แต่ก็เป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องทำ เพื่อให้สุนัขมีสุขภาพที่แข็งแรงนั่นเองครับ

กล่าวโดยสรุปอีกที่ว่า ภาวะดีซ่านไม่ใช่โรค แต่เกิดการโรคอะไรก็ได้ที่ไปทำให้ร่างกายมีบิลิรูบินสูงขึ้น เนื่องจากบิลิรูบินเป็นรงควัตถุสีเหลืองเมื่อมีจำนวนมากก็ไปสะสมตามเยื่อเมือกในอวัยวะต่าง ๆ ได้ เราก็เลยเห็นอาการเช่นนั้น แต่ความจริงเราสามารถตรวจทราบภาวะดีซ่านได้ ก่อนที่ร่างกายจะแสดงอาการออกมาเสียอีก โดยตรวจดูค่าบิลิรูบินในกระแสเลือดหรือในปัสสาวะ อย่างไรก็ดีเราจะต้องตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมด้วย เพื่อหาสาเหตุของโรคที่แท้จริงต่อไป เพราะเมื่อเราทราบว่าน้องหมาป่วยเป็นโรคอะไรแล้ว ก็จะได้ทำการรักษาโรคนั้นให้หาย สุดท้ายภาวะดีซ่านก็จะดีขึ้นเช่นกันครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
รูปภาพประกอบ :
(ปรับแต่งสีภาพจาก) https://static.scientificamerican.com/blogs/cache/file/1939529A-4A6F-40A3-BC408176E1435597.jpg?w=590&h=393&C84CCB81-6601-405B-89212FABBC0F57C7
https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRFEIhgFpddOmIINFRTBgKlVpSiYF4hdP8Fy8UmItXK7R8OjMgh
https://flylib.com/books/2/159/1/html/2/17.%20the%20liver_files/da5c17ff1.png
https://3.bp.blogspot.com/-OKfSsSPnPS4/V3qmC_t2jGI/AAAAAAAAPEA/35xN5AOOyGwUXjWKPPWYa9Rowr5xD6MaQCLcB/s1600/jaundice.jpg
http://ilanascatndogblogs.theblogpress.com/files/2016/04/dog-jaundice-eyes.jpg
http://vet.uga.edu/ivcvm/courses/VPAT5200/02_injury/pigments/images/xf09215.jpg.pagespeed.ic.weurJyr5oX.jpg
SHARES