โดย: Tonvet
เข้าใจการพยากรณ์โรคของคุณหมออย่างถ่องแท้
การพยากรณ์โรคคืออะไร และทำไมต้องพยากรณ์โรคกันด้วยนะ
30 พฤษภาคม 2561 · · อ่าน (14,284)
-
การพยากรณ์โรค เป็นการคาดการณ์ความเป็นไปได้ของโรคว่า จะหาย ไม่หาย หรือจะมีความรุนแรงหรือไม่และอย่างไร โดยใช้หลักสถิติและข้อมูลในอดีตมากำหนดทิศทาง อาศัยกระบวนการต่าง ๆ มาวิเคราะห์ เพื่อใช้สำหรับการตัดสินใจในการวางแผนการรักษา และรับมือถึงผลที่จะตามมาของโรคที่เป็นอยู่ต่อไปในอนาคต
-
การพยากรณ์โรคนั้นเราจะให้ระดับออกเป็น 5 เกรด คือ Good, Fair, Guard, Poor และ Grave ไล่เรียงจากดีที่สุดมาจนถึงแย่ที่สุดตามลำดับ
- การพยากรณ์โรคบอกเราได้ทั้งในทางที่ดี เช่น โอกาสรอดชีวิต การหายของโรค ฯลฯ และก็สามารถบอกไปในทางร้ายได้ เช่น โอกาสเสียชีวิต ระยะเวลาในการอยู่รอด ฯลฯ

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยากรู้เรื่องของอนาคต เพื่อจะได้เตรียมพร้อมในการรับมือ ถึงสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไป เกิร์ด จิเจอเรนเซอร์ และ โรซิโอ การ์เซีย-เรตาเมโร สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,000 คน ในประเทศสเปนและเยอรมัน ผลวิจัยได้ตีพิมพ์ลงใน Psychological review บอกว่า 85-90% ของกลุ่มตัวอย่างแทบไม่อยากรู้อนาคตที่เป็นเรื่องร้ายแรงของตนเอง แต่ที่น่าแปลกใจกว่านั้นคือ กลุ่มตัวอย่างประมาณ 40-70% ไม่ต้องการที่จะรู้เรื่องดี ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน โดยมีคนเพียง 1% เท่านั้น ที่อยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองบ้างในอนาคต ตัวเลขนี้จะจริงหรือไม่ ? ถ้ามาสำรวจประชากรในประเทศไทยแล้วจะเป็นอย่างไร
ทำไมคนจึงใคร่อยากรู้อนาคต บางคนเชื่อในสิ่งลึกลับเหนือธรรมชาติก็ไปหาร่างทรง บางคนพึ่งโหราศาสตร์ก็ไปหาหมอดู บางคนนิยมอ่านคำทำนายดวงตามคอลัมน์ต่าง ๆ ทั้งหนังสือและสื่อออนไลน์ หรือแม้แต่การดูไพ่ และลายมือจากคนใกล้ชิดที่เขาอ้างว่าศึกษามา ในทางการแพทย์ก็มีการทำนายอนาคตเช่นกัน แต่เป็นการทำนายอนาคตของโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ เราเรียกว่า การพยากรณ์โรค หรือ Prognosis ซึ่งก็มีมานานแล้วตั้งแต่ในยุคของฮิปโปเครติส บิดาแห่งวงการแพทย์ตะวันตก ซึ่งรากศัพท์ของคำว่า Pronosis นี้เองก็มาจากภาษากรีก ที่แปลว่า รู้ก่อน การคาดคะเน
การพยากรณ์โรค นี้ก็เป็นการคาดการณ์ความเป็นไปได้ของโรคว่า จะหาย ไม่หาย หรือจะมีความรุนแรงหรือไม่และอย่างไร โดยใช้หลักสถิติและข้อมูลในอดีตมากำหนดทิศทาง ตลอดจนอาศัยกระบวนการต่าง ๆ มาวิเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ป่วยที่หาย จำนวนผู้ป่วยที่ตาย ระยะเวลาในการอยู่รอดชีวิต ทิศทางแนวโน้มของโรค ตลอดจนปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจมีผลทำให้การพยากรณ์นั้นคาดเคลื่อน ซึ่งการพยากรณ์โรคนี้แต่ละโรคก็ไม่เหมือนกัน เป็นตัวเลขของประชากรหมู่มากที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าว เพื่อใช้สำหรับการตัดสินใจในการวางแผนการรักษา และรับมือถึงผลที่จะตามมาของโรคที่เป็นอยู่ต่อไปในอนาคต
การพยากรณ์โรคนั้นเราจะให้ระดับออกเป็น 5 เกรดครับ คือ Good, Fair, Guard, Poor และ Grave ไล่เรียงจากดีที่สุดมาจนถึงแย่ที่สุดตามลำดับ ซึ่งเป็นการแบ่งระดับที่กว้าง ๆ ทั้งนี้การพยากรณ์โรคในแต่ละโรคนั้นก็มีความต่างกันไป เช่น สุนัขที่เป็นโรคลำไส้อักเสบจากเชื้อพาร์โวไวรัส ถ้าไม่ได้รับการรักษาอะไรเลย 80% ของลูกสุนัขที่ป่วย จะตายภายใน 4-5 วัน เป็นต้น คำทำนายเหล่านี้เป็นงานวิจัยที่ได้ทำการศึกษามาแล้ว มีความแม่นยำในประชากรส่วนใหญ่ แต่ในรายบุคคลอาจมีปัจจัยที่ต่างกันทำให้ผลอาจคาดเคลื่อนไปบ้าง
กล่าวโดยสรุปก็คือ การพยากรณ์โรคนั้น เป็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้เมื่อป่วยด้วยโรคใดโรคหนึ่ง บอกเราได้ทั้งในทางที่ดี เช่น โอกาสรอดชีวิต การหายของโรค ฯลฯ และก็สามารถบอกไปในทางร้ายได้ เช่น โอกาสเสียชีวิต ระยะเวลาในการอยู่รอด ฯลฯ ถือเป็นหนึงเครื่องมือในการทำนายอนาคตของโรคในทางการแพทย์ที่สัตว์ป่วยจะต้องเผชิญต่อไป เพื่อช่วยในการตัดสินในวางแผนในการรักษาโรคได้ อย่างไรก็ดีข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงการคาดเดาจากข้อมูลทางสถิติ มีความแม่นยำในระดับหนึ่ง สัตว์ป่วยอาจอยู่ได้นานกว่าหรือสั้นกว่าที่คุณหมอบอกได้ ขึ้นกับการดำเนินไปของโรคและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาเฉพาะหน้าด้วยครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
เนื้อหาอ้างอิงบางส่วน :
https://themomentum.co/momentum-feature-only-1-percentage-want-to-know-future/
รูปภาพประกอบ :
https://cmeimg-a.akamaihd.net/640/clsd/getty/f68c508495dd46c2a6b7b183f55fd0f0
http://viemvungchau.net/wp-content/uploads/2017/07/cach-phong-ngua-viem-vung-chau-la-gi.jpg
http://viemvungchau.net/wp-content/uploads/2017/07/cach-phong-ngua-viem-vung-chau-la-gi.jpg
SHARES