โดย: Tonvet
3 โรคน่ากลัวของน้องหมาที่ติดมาจาก "ยุง"
ยุงทำให้สุนัขป่วยได้อย่างไร มีโรคอะไรที่สุนัขติดจากยุงบ้างมาดูกัน
18 กันยายน 2562 · · อ่าน (12,446)
- ยุงสามารถทำให้สุนัขป่วยติดโรคและเสียชีวิตได้ โรคติดเชื้อที่มียุงเป็นพาหะสำคัญได้แก่ โรคพยาธิหนอนหัวใจ โรคไข้ไวรัสเวสต์ไนล์ นอกจากนี้ยุงที่มากัดสุนัข ยังสามารถทำให้สุนัขเกิดการผิวหนังอักเสบ (แพ้) ได้ด้วย
- โรคติดต่อผ่านยุงบางโรคสามารถป้องกันได้ เช่น โรคพยาธิหนอนหัวใจ สามารถป้องกันได้ด้วยยากิน หยอดหลังคอ และฉีด ส่วนโรคอื่น ๆ ทำได้เพียงป้องกันสุนัขไม่ให้ถูกยุงกัดเท่านั้น

เพื่อน ๆ อาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า "ยุงร้ายกว่าเสือ" จากสถิติองค์การอนามัยโลกเผยว่า สัตว์ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้คนเสียชีวิตมากที่สุด อันดับหนึ่งเลยก็คือ ยุง แต่ละปีมีคนตายเพราะยุงมากถึงปีละประมาณ 725,000 คน โดยเฉลี่ยคนจะเสียชีวิตเพราะยุงนาทีละ 1 คนเลยทีเดียว สาเหตุก็มาจากโรคต่าง ๆ ที่ติดต่อผ่านยุงเป็นพาหะนำโรคมาติดต่อคนนั่นเอง มีความกังวลว่าภาวะโลกที่ร้อนขึ้น อาจมีผลต่อการเจริญเติบโตของยุงได้ หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 5 องศาเซลเซียส ประชากรยุงในซีกโลกเหนือจะเพิ่มขึ้น และระยะเวลาการสืบพันธุ์ในแต่ละปีก็จะยาวนานขึ้นอีกด้วย แน่นอนว่าสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขก็คงจะได้รับผลกระทบไม่แพ้เช่นเดียวกันกับคน มีโรคหลาย ๆ โรคที่สุนัขสามารถติดต่อจากยุงได้ และบางโรคก็อาจทำให้สุนัขเสียชีวิตได้เลยทีเดียว เรามาดูกันครับว่า ยุงทำให้สุนัขป่วยได้อย่างไร และมีโรคอะไรที่สุนัขติดจากยุงบ้าง...
1 โรคพยาธิหนอนหัวใจ
โรคนี้เป็นโรคยอดฮิตของสุนัขในบ้านเรา เพื่อน ๆ หลายคนอาจจะรู้จักกันดี จัดเป็นโรคหนึ่งที่สำคัญในสุนัขที่ติดมาจากยุง สุนัขจัดเป็นโฮตส์สุดท้ายของพยาธิหนอนหัวใจ นอกจากก่อโรคในสุนัขแล้วยังก่อโรคในแมว และมีรายงานในคนด้วย โดยวงจรชีวิตคร่าว ๆ คือ ตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจจะเจริญเติบโตในยุง พอเข้าสู่ระยะตัวอ่อนที่ 3 (L3) ยุงที่ไปดูดเลือดสุนัข ก็จะปล่อยตัวอ่อนนี้ออกมาสู่ตัวของสุนัขด้วย จากนั้นก็จะเจริญเติบโตบริเวณใต้ผิวหนังก่อน แล้วเคลื่อนตัวไปตามกระแสเลือดไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สุดท้ายจะไปโตเต็มวัยในหัวใจและเส้นเลือด pulmonary artery เป็นที่มาของชื่อ "โรคพยาธิหนอนหัวใจ" นั่นเอง สุนัขที่ป่วยช่วงแรกมักไม่แสดงอาการใดใดให้เห็น อาจตรวจพบตัวอ่อนระยะที่ 1 ในกระแสเลือดได้หลังจากติดเชื้อ 6-7 เดือน สุนัขส่วนมากจะใช้ชีวิตกับพยาธิหนอนหัวใจได้ระยะหนึ่งหรืออาจกลายเป็นโรคเรื้อรังไป ทั้งนี้ขึ้นกับจำนวนพยาธิหนอนหัวใจระยะโตเต็มวัยให้หัวใจของสุนัขด้วย สุนัขบางรายอาจมีอาการไอแห้ง ๆ หอบ เหนื่อยง่าย ไม่ต่างกับสุนัขที่เป็นโรคหัวใจวายและโรคทางเดินหายใจ หากเป็นรุนแรงก็อาจหายใจลำบาก ตับโต ท้องมาน ปอดบวม และเสียชีวิตไปเนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้ วิธีป้องกัน คือ การใช้ยาป้องกันตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจ มีทั้งรูปแบบ กิน หยอดหลังคอ และฉีด ทั้งนี้จะต้องทำการป้องกันอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต และควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนใช้ยาป้องให้กับสุนัข
2 โรคไข้ไวรัสเวสต์ไนล์ (West Nile virus)
โรคนี้อาจไม่ค่อยคุ้นชื่อนักในบ้านเรา แต่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นโรคติดต่อผ่านยุงที่สามาาถติดต่อได้ทั้งสุนัขและคน รวมถึงสัตว์ชนิดอื่น ๆ ด้วย ซึ่งอาการสำคัญในม้า คือ ทำให้เกิดสมองอักเสบ จึงมีอีกชื่อเรียกว่า "โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์" เชื้อไวรัสสามารถติดต่อได้โดยมียุงเป็นพาหะ ยุงได้รับเชื้อจากการกินเลือดที่มีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกาย จากนั้นยุงที่มีเชื้อไวรัสก็จะสามารถแพร่เชื้อไปยังสุนัขและคน โรคนี้ไม่ใช่เพิ่งมามีนะครับ นักประวัติศาสตร์คาดว่า พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชก็สวรรคตด้วยโรคนี้ โดยทรงมีไข้สูงหลายวัน และในวันท้าย ๆ พระองค์เคลื่อนไหวท่อนล่างของพระองค์ไม่ได้ ซึ่งก็เป็นอาการหนึ่งของโรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ซึ่งติดต่อมาจากยุง สำหรับในสุนัขนั้นส่วนมากจะไม่แสดงอาการป่วย แต่มีรายงานพบอาการทางระบบประสาทในสุนัขบางราย เช่น ขาอ่อนแรง เดินเซ เป็นอัมพาตไม่สามารถลุกยืนได้ แต่สุนัขส่วนมากยังคงร่าเริงดีและกินอาหารได้ แต่สามารถตรวจพบแอนติบอดี้ได้จากซีรั่มและน้ำไขสันหลัง ซึ่งการป้องกันโรคนี้ในสุนัข ทำได้เพียงแค่ป้องกันไม่ให้ยุงมากัดสุนัขเท่านั้น
3 โรคผิวหนังอักเสบจากแมลงกัดต่อย (ยุง)
โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัข เป็นผลการตอบสนองของร่างกายเมื่อสุนัขถูกแมลงหรือยุงกัด ซึ่งสุนัขแต่ละตัวอาจแสดงออกไม่เหมือนกัน บางรายอาจเป็นผื่นแดงและคัน บางรายอาจเป็นถึงขั้นผิวหนังอักเสบและบวมแดง ซึ่งมักพบในสุนัขพันธุ์ที่มีขนสั้น โดยเฉพาะบริเวณที่ขนบางหรือไม่มีขนปกคลุม เช่น ปลายจมูก รอยตา ใบหู ใต้ท้อง ในแมวและสุนัขบางตัวอาจเกิดอาการแพ้จากภาวะภูมิไวเกิน ทำให้ผิวหนังบริเวณที่เกิดรอยโรคนั้นเกิดเป็นรอยถลอก แผลหลุม และมีสะเก็ดผิวหนังที่เกิดจากการกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติจากการเซลล์เม็ดเลือดขาว แมวบางตัวอาจถึงขั้นมีไข้อ่อน ๆ ได้เลยทีเดียว การป้องกันทางเดียวคือ อย่าให้สุนัขถูกยุงหรือแมลงมากัด หมั่นคอยกำจัดยุงและแมลงในบ้าน ใช้หลอดไฟดักยุง ใช้สเปรย์ตะไคร้ไล่ยุง เลี้ยงสุนัขระบบปิด หรือให้สุนัขอยู่ในกรงที่ติดมุ้งลวดหรือกางมุ้งให้สุนัข การใช้ยากันยุงกับสุนัขควรเลือกผลิตภัณฑ์สำหรับสุนัขโดยเฉพาะ ระวังเรื่องกลิ่นหรือควัน และควรมีฝาปิดป้องกันไฟไหม้และเพื่อป้องกันสุนัขไม่ใช้เล่นยากันยุง การใช้ผลิตภัณฑ์รูปแบบสเปรย์กับตัวสุนัขจะต้องระวัง เพราะสุนัขอาจเลียเป็นอันตรายได้
ในช่วงฤดูฝนและมีน้ำท่วมขังเช่นนี้ เป็นช่วงที่ยุงมักเจริญเติบโตได้ง่าย ซึ่งทำให้ง่ายต่อการแพร่กระจายของโรคร้ายเหล่านี้ได้ด้วย มีโรคที่ติดจากยุงอีกหลายโรคที่สุนัขมีโอกาสได้รับเชื้อได้ เช่น เชื้อ Microfilaria brugia เป็นต้น โรคบางอย่างก็มียาป้องกัน แต่โรคบางอย่างทำได้แค่เพียงป้องกันยุงไม่ให้มากัด ซึ่งหากเป็นสุนัขที่เลี้ยงในบริเวณบ้านหรือนอกบ้าน อาจทำได้ยาก บางโรคสุนัขก็ไม่ได้แสดงอาการให้เราเห็นชัดเจนมารู้อีกทีสุนัขก็มีอาการรุนแรงเสียแล้ว จึงอยากฝากให้เพื่อน ๆ คอยเฝ้าระวังโรคเหล่านี้กันไว้ด้วยนะครับ
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน :
SHARES