โดย: Tonvet
การตรวจโรคภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัขอย่างง่าย
ทำความรู้จักโรคภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัข และวิธีการตรวจโรคที่ง่ายและสะดวก
26 ธันวาคม 2562 · · อ่าน (9,128)
- โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง เกิดจากร่างกายสร้างแอนติบอดี (Antibody, IgE) ขึ้นมา ซึ่ง IgE เข้าไปจับกับผิวของมาสเซลล์ ทำให้มาสเซลล์หลั่งสารที่เรียกว่า ฮีสตามีนออกมา จึงทำให้น้องหมาเกิดรอยโรคและอาการคันตามมา
-
สุนัขที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังมักแสดงอาการคัน มีผื่นแดง มีตุ่มแดง ตามบริเวณฝ่าเท้า อุ้งเท้า ใต้คาง รอบปาก รอบตา รอบจมูก ใบหู รักแร้ ข้อพับต่าง ๆ และหน้าท้อง บางรายอาจจะแสดงอาการเฉพาะบางช่วงฤดูกาล แต่บางรายก็แสดงอาการทั้งปี
- ปัจจุบันจึงมีการทดสอบที่ได้กำลังได้รับความนิยม เนื่องจากง่าย และรวดเร็ว เพียงแค่ส่งเลือดไปตรวจวัดระดับ IgE และ IgG ในเลือดต่อสารก่อภูมิแพ้ เราเรียกวิธีนี้ว่า serological ELISA allergen test

โรคภูมิแพ้ทางผิวหนังในสุนัข เป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน จัดเป็นภาวะที่มีปัจจัยโน้มนำมาจากพันธุกรรม ซึ่งสัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายของสุนัขด้วย โดยปกติร่างกายจะมีกลไกที่สามารถจดจำและกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ แต่ในสุนัขบางรายนั้น การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันนี้กลับทำหน้าที่ไวเกิน ไม่สมดุล จนก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายตามมา มักเกิดกับรายที่รับแอนติเจนหรือสารก่อภูมิแพ้ในครั้งที่ 2 เป็นต้นไป หรือเกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับแอนติเจนซ้ำ ๆ อยู่ตลอดเวลา แล้วร่างกายกำจัดได้ไม่หมด
การเกิดโรคภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัข
โรคภูมิแพ้ทางผิวหนังในน้องหมานั้น ส่วนมากมักจะเกิดจากร่างกายสร้างแอนติบอดี (Antibody, IgE) ขึ้นมา ซึ่ง IgE นี้มีคุณสมบัติเข้าไปจับกับผิวของมาสเซลล์ (Mast cells) หรือเบโซฟิล (Basophil) จึงเป็นผลทำให้มาสเซลล์หลั่งสารที่เรียกว่า Mediators ออกมาจากแกรนูล ซึ่งตัว Mediators สำคัญที่ทำให้น้องหมาเกิดอาการต่าง ๆ ขึ้น ก็คือ ฮีสตามีน (Histamin) จึงทำให้น้องหมาเกิดรอยโรคและอาการคันตามมานั่นเอง
ในสุนัขที่มีความผิดปกติของโรคภูมิแพ้ผิวหนังนั้น มักจะพบว่าโครงสร้างผิวหนังมีการจัดเรียงตัวที่ผิดปกติ ทำให้มีการสูญเสียน้ำทางผิวหนังได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบของไขมันชั้นผิวหนังผิดปติด้วย ส่วนระบบภูมิคุ้มกันก็พบว่า T-helper type 2 (Th2) ทำงานมากเกินไปจนเกิดการสร้าง IgE ต่อสารก่อภูมิแพ้นั้น ๆ เพิ่มขึ้น เกิดกลไกจนทำให้ผิวหนังอักเสบ และสุดท้ายก็วนกลับมากทำลายชั้นผิวหนังให้แย่ลงไปอีก จึงพบว่าสุนัขที่เป็นโรคภูมิแพ้ทางผิวหนังนั้น มักจะป่วยเรื้งรังเป็น ๆ หาย ๆ พอได้รับยาก็มักจะดีและพอไม่ได้รับยาก็มักจะอาการแย่ลง เนื่องจากภูมิคุ้มกันของร่างกายได้รับการกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้พอชั้นผิวหนังซึ่งเป็นปราการป้องกันเชื้อโรคของร่างกายแย่ลงไป พวกเชื้อโรคต่าง ๆ ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อยีสต์มาลาสซีเซียก็จะยึดเกาะผิวได้ง่าย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา ยิ่งซ้ำเติมโรคภูมิแพ้ทางผิวหนังให้แย่ลงไปอีก
ผลที่ตามมาเมื่อน้องหมาเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง
สำหรับอาการของสุนัขที่เป็นมักพบอาการคัน ผื่นแดง ตุ่มแดง หากมีการแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อยีสต์ด้วย ก็จะยิ่งแสดงอาการรุนแรงไปอีก จนถึงขั้นมีกลิ่นตัวด้วย โดยตำแน่งที่มักพบรอยโรค ก็ได้แก่ บริเวณฝ่าเท้า อุ้งเท้า ใต้คาง รอบปาก รอบตา รอบจมูก ใบหู รักแร้ ข้อพับต่าง ๆ และหน้าท้อง บางรายอาจจะแสดงอาการเฉพาะบางช่วงฤดูกาล แต่บางรายก็แสดงอาการทั้งปี ขึ้นกับว่าร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ตลอดเวลามากแค่ไหนด้วย เช่น ในเขตร้อนอาจมีละอองเกสรตลอดทั้งปี เป็นต้น โดยสุนัขจะเริ่มแสดงอาการของโรคได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนไปจนถึง 6 ปี ขึ้นอยู่กับที่อยู่อาศัยและสายพันธุ์สุนัข
ในการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ทางผิวหนังนั้น เราจะเริ่มจากการวินิจฉัยเพื่อตัดประเด็นสาเหตุของโรคผิวหนังอื่น ๆ ออกก่อน เช่น โรคไรขี้เรื้อนต่าง ๆ โรคผิวหนังอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือยีสต์ ภาวะภูมิแพ้จากแมลงและปรสิตภายนอกร่างกาย ตลอดจนตัดประเด็นเรื่องภาวะภูมิแพ้อาหาร ด้วยวิธีการขูดผิวหนัง การตรวจเซลล์ การตรวจหาปรสิต การเจาะเลือดตรวจวัดระดับฮอร์โมนเพื่อหาความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ หรือการทำ Food trial และ Food Challenge เพื่อหาสาเหตุภูมิแพ้อาหาร ก่อนที่จะตรวจหาสารก่อภูมิแพ้จากโรคภูมิแพ้ทางผิวหนังต่อไป
การตรวจโรคภูมิแพ้ผิวหนังในสุนัขอย่างง่าย
สำหรับการวินิจฉัยภาวะภูมิแพ้ทางผิวหนังนั้นปัจจุบันมี 2 วิธีที่นิยมใช้กัน คือ การทำ intradermal skin test ด้วยการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในชั้นผิวหนัง เพื่อดูการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งวิธีนี้มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก เช่น ต้องพาสุนัขมาทำการทดสอบ ต้องมีการโกนขนสุนัข อาจต้องมีการวางยาสัตว์เลี้ยงในบางราย ตลอดจนต้องงดยาต่าง ๆ ก่อนที่จะทำการทดสอบด้วย ปัจจุบันจึงมีการทดสอบที่ได้กำลังได้รับความนิยม เนื่องจากง่าย และรวดเร็ว เพียงแค่ส่งเลือดไปตรวจวัดระดับ IgE และ IgG ในเลือดต่อสารก่อภูมิแพ้ ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการในประเทศไทยที่สามารถทำได้แล้ว ทำให้ทราบผลได้เร็วยิ่งขึ้น เราเรียกวิธีนี้ว่า serological ELISA allergen test
นอกจากทำให้ทราบว่าสุนัขของเราแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดแล้ว ยังสามารถใช้ทำการรักษาด้วยวิธี Allergen specific immunotherapy ต่อไปได้ด้วย โดยให้สารก่อภูมิแพ้เพื่อให้สัตว์สร้างภูมิคุ้มกันต่อสารดังกล่าวโดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือใช้เป็นการให้ใต้ลิ้น โดยจะเริ่มให้ในปริมาณที่น้อย ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ ปริมาณเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ให้เพิ่มขึ้นทีละน้อย จนกว่าน้องหมาจะมีภูมิต้านทานที่สามารถต่อสู้กับสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุได้ ซึ่งจะช่วยให้สุนัขลดอาการภูมิแพ้ทางผิวหนังได้ในระยะยาวได้ อีกทั้งยังช่วยลดการรับยารักษาโรคตามอาการ โดยเฉพาะพวกยาสเตียรอยด์ อย่างไรก็ดีจากผลการศึกษาพบว่า การรักษาโรคภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยวิธีนี้ อาจไม่ได้ผลในทุกตัว และอาจต้องใช้เวลารักษาอย่างน้อยประมาณ 5-7 เดือน ทั้งนี้ขึ้นต่อการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ อายุ และสุขภาพของสุนัขด้วยครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
ข้อมูลบางส่วน :
https://www.dogilike.com/content/vettalk/2617/
รูปภาพประกอบ :
https://cdn2-www.dogtime.com/assets/uploads/2017/10/atopic-dermatitis-atopy-dogs-3.jpg
https://dogsfirst.ie/wp-content/uploads/2016/05/Atopic-Dermatitis.gif
http://www.ijpd.in/articles/2017/18/3/images/IndianJPaediatrDermatol_2017_18_3_166_207605_f1.jpg
https://cdn2-www.dogtime.com/assets/uploads/2017/06/dog-allergies-4.jpg
SHARES