โดย: Tonvet

รู้รอยโรคผิวหนังของสุนัข (เบื้องต้น) ด้วยตนเอง

รอยโรคบนผิวหนังของน้องหมามีอะไร แต่ละรอยโรคบอกอะไรกับเราบ้างมาดูกัน

3 เมษายน 2556 · · อ่าน (824,210)
1,776

SHARES


1,776 shares

Dogilike.com :: รู้รอยโรคผิวหนังของสุนัข (เบื้องต้น) ด้วยตนเอง

     ผิวหนังของน้องหมา มีหน้าที่คอยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ป้องกันการสูญเสียน้ำและอิเล็กโตรไลด์ ปกป้องร่างกายจากสิ่งแวดล้อม ใช้รับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ สะสมน้ำ ไขมัน ทั้งยังเป็นแหล่งสร้างวิตามินดีด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ผิวหนังยังเป็นตัวบ่งชี้ (indicator) ให้เราทราบได้ว่า น้องหมากำลังป่วยเป็นโรคอะไรอยู่ 
 
     เพื่อน ๆ คงสงสัยใช่มั้ยครับว่า เวลาที่น้องหมาขนร่วง มีอาการคัน หรือเกิดรอยโรคต่าง ๆ นั้น น้องหมากำลังป่วยด้วยโรคอะไร รอยโรคบนผิวหนังนับว่ามีส่วนสำคัญในการวินิจฉัยโรคของคุณหมอมากครับ ลักษณะของรอยโรคจากผิวหนังนั้นแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
 
     1 รอยโรคแบบปฐมภูมิ เป็นรอยโรคที่เกิดจากผลของโรคที่เป็นสาเหตุโดยแท้จริง มักเกิดขึ้นและหายไปอย่างรวดเร็ว หรืออาจคงอยู่ได้นานหากโรคผิวหนังที่เป็นอยู่นั้น เป็นโรคที่เกิดเรื้อรังมานาน
 
     2 รอยโรคแบบทุติยภูมิ เป็นรอยโรคที่เกิดตามมาจากรอยโรคแบบปฐมภูมิ หรือเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่เข้ามาแทรกซ้อน เช่น ขนร่วงจากการที่น้องหมากัดหรือเกา รอยโรคแบบนี้บ่งบอกว่าน้องหมาอาจมีปัญหาเรื้อรังมานานแล้ว
 
     รอยโรคบางรอยโรคอาจเป็นได้ทั้งแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิ เรามาดูกันสิครับว่า รอยโรคบนผิวหนังของน้องหมาที่พบบ่อย ๆ นั้นมีอะไรบ้าง และแต่ละรอยโรคบ่งบอกว่าน้องหมา (อาจ) กำลังป่วยด้วยโรคอะไร 
 

ผื่นราบ (macule) 


Dogilike.com :: รู้รอยโรคผิวหนังของสุนัข (เบื้องต้น) ด้วยตนเอง

     เป็นการเปลี่ยนแปลงของสีผิวลักษณะเป็นจุด ๆ หรือวง ๆ เรียบราบไปกับผิวหนัง ขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร (ถ้าเกิน 1 เซนติเมตร จะเรียกว่า patch) เราอาจพบการเปลี่ยนแปลงสีของผิวหนังได้เป็น 3 แบบ คือ รอยแดง (erythema) รอยจาง (vitiligo or depigmentation) และ รอยดำ (lentigo or hyperpigmemtation) ซึ่งโรคที่มักพบรอยโรคแบบนี้ ได้แก่ โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด โรคภูมิแพ้ผิวหนังจากการสัมผัส ฯลฯ
 

ตุ่มแข็งหรือตุ่มแดง (papule)


Dogilike.com :: รู้รอยโรคผิวหนังของสุนัข (เบื้องต้น) ด้วยตนเอง

     เป็นลักษณะตุ่มแข็งนูนออกจากผิวหนัง อาจจะเป็นสีแดงหรือสีชมพู ขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร (ถ้าเกิน 1 เซนติเมตร จะเรียกว่า plague) โรคที่มักพบรอยโรคแบบนี้ ได้แก่ โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด โรคขี้เรื้อนแห้ง โรคขี้เรื้อนเปียก โรคภูมิแพ้ละอองอากาศ โรคภูมิแพ้ผิวหนังจากการสัมผัส อาการแพ้ยา ฯลฯ
 

ตุ่มหนอง (pustule)


Dogilike.com :: รู้รอยโรคผิวหนังของสุนัข (เบื้องต้น) ด้วยตนเอง

     ลักษณะคล้ายกับผื่นนูนแต่มีการสะสมของหนองอยู่ที่ชั้นหนังกำพร้า (epidermis) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการสะสมของเซลล์อักเสบชนิด neutrophils หรือ eosinophils ทำให้เห็นเป็นตุ่มสีเหลืองหรือสีเขียว โรคที่มักพบรอยโรคแบบนี้ ได้แก่ โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง โรคขี้เรื้อนเปียก โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด โรคภูมิแพ้ผิวหนังจากการสัมผัส โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ฯลฯ
 

ก้อนนูน (nodule)


 
 

Dogilike.com :: รู้รอยโรคผิวหนังของสุนัข (เบื้องต้น) ด้วยตนเอง

     เป็นตุ่มกลมแข็งขนาดเล็ก แต่ใหญ่มากกว่า 1 เซนติเมตร และมักเจริญมาจากผิวหนังชั้นล่าง โรคที่มักพบรอยโรคแบบนี้ ได้แก่ โรคเนื้องอกต่าง ๆ โรคติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา เกิด sterile granulomatous disease หรือมีการสะสมแคลเซียมที่ผิวหนัง ฯลฯ 
 

แผลหลุดลอก (erosion) 


 
 

Dogilike.com :: รู้รอยโรคผิวหนังของสุนัข (เบื้องต้น) ด้วยตนเอง

     เป็นร่องรอยการหลุดลอกหรือถลอกของแผลตื้น ๆ ในชั้นหนังกำพร้า และมีขอบเขตชัดเจน โรคที่มักพบรอยโรคแบบนี้ ได้แก่ โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด โรคภูมิแพ้ผิวหนังจากการสัมผัส โรคผิวหนังอักเสบจากการเลีย ฯลฯ
 

แผลหลุม (ulcer)


 
 

Dogilike.com :: รู้รอยโรคผิวหนังของสุนัข (เบื้องต้น) ด้วยตนเอง

     เป็นรอยลอกของแผลลึกลงไปถึงในชั้นผิวหนัง (ลึกกว่าแผลหลุดลอก) ทำให้ชั้นหนังกำพร้าหลุดหายไป เห็นเป็นขอบนูน อาจมีเลือดออกได้ โรคที่มักพบรอยโรคแบบนี้ ได้แก่ โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด โรคภูมิแพ้ผิวหนังจากการสัมผัส โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง โรคผิวหนังอักเสบจากการเลีย มะเร็งชนิด squamous cell carcinoma โรคขี้เรื้อนเปียก โรคไต ฯลฯ 
 

ผิวแห้งหนา (lichenification)


 
 

Dogilike.com :: รู้รอยโรคผิวหนังของสุนัข (เบื้องต้น) ด้วยตนเอง

    ผิวหนังเกิดการหนาตัวและนูนขึ้น จึงแข็งและหยาบเห็นเป็นรอยแยกของผิวหนัง มักพบในรายที่มีเป็นโรคผิวหนังและมีอาการคันเรื้อรังมานาน
 

แผลโพรงทะลุ (fistula, sinus)


 
 

Dogilike.com :: รู้รอยโรคผิวหนังของสุนัข (เบื้องต้น) ด้วยตนเอง

     แผลที่มีช่องทางหรือโพรงเชื่อมต่อระหว่างแผล และมีรูเปิดออกมาที่ชั้นผิว อาจเกิดจากการแตกของก้อนฝี โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง โรค perianal fistula โรคขี้เรื้อนเปียก ฯลฯ
 

สะเก็ดรังแค (seborrhea, scale)


Dogilike.com :: รู้รอยโรคผิวหนังของสุนัข (เบื้องต้น) ด้วยตนเอง

     เป็นเศษผิวหนังที่ลอกหลุดออกมาเป็นแผ่นแห้ง ๆ ขุย ๆ อาจมีสีขาว สีเทา หรือสีน้ำตาล พบในกรณีที่มีกระบวนการสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นทดแทน (keratinization) แล้วมีการผลัดเซลล์ผิวเก่าให้หลุดออกไป โรคที่มักพบรอยโรคแบบนี้ได้แก่ โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด โรคขี้เรื้อนแห้ง โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อยีสต์ โรคภูมิแพ้ละอองอากาศ โรค Follicular dysplasia ฯลฯ 
 

สะเก็ดแห้งกรัง (crust)


 
 

Dogilike.com :: รู้รอยโรคผิวหนังของสุนัข (เบื้องต้น) ด้วยตนเอง

     เป็นคราบแห้งที่เกิดจากการจับตัวร่วมกับของเศษซากเซลล์ หนอง เลือด รังแค หรือยาที่แห้งแล้วจับตัวกันที่ผิวหน้าของชั้นผิวหนังหรือรอยโรค โรคที่มักพบรอยโรคแบบนี้ ได้แก่ โรค Idiopathic seborrhea, โรค zinc-responsive dermatitis ฯลฯ
 

รอยดำ (lentigo or hyperpigmentation)


Dogilike.com :: รู้รอยโรคผิวหนังของสุนัข (เบื้องต้น) ด้วยตนเอง

     เป็นการทีผิวหนังมีสีน้ำตาลเข้มขึ้นหรืออาจเห็นเป็นสีคล้ำจนถึงดำ เกิดจากการที่มีเม็ดสีดำของผิวที่เรียกว่า melanin pigment เพิ่มในชั้นผิวหนัง โรคที่มักพบรอยโรคแบบนี้ ได้แก่ โรคขี้เรื้อนเปียก โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง โรคผิวหนังจากการติดเชื้อยีสต์ โรคกลาก โรคภูมิแพ้ละอองอากาศ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ภาวะฮอร์โมนต่อมหมวกไตเกินขนาดหรือโรคคุชชิง ภาวะไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศ ฯลฯ
 

ขนร่วง (alopecia)


Dogilike.com :: รู้รอยโรคผิวหนังของสุนัข (เบื้องต้น) ด้วยตนเอง

     เป็นรอยโรคที่เจ้าของส่วนใหญ่มักสังเกตเห็นและให้ความสำคัญ ขนร่วงมีหลายลักษณะ เช่น ร่วงเป็นจุด ๆ ร่วงเป็นย่อม ๆ ซึ่งอาจร่วงในบางตำแหน่ง ทำให้เรามองเห็นว่าน้องหมามีขนแหว่งไป หรือพบการร่วงแบบกระจายทั่วตัว มองแล้วพบว่า ขนบางจนเห็นผิวหนัง โรคที่มักพบรอยโรคแบบนี้ ได้แก่
 
     - โรคขี้เรื้อนเปียก น้องหมามักจะขนร่วง บริเวณใบหน้า หัว รอบตา ลำตัว ขา ฝ่าเท้าและอุ้งเท้า โดยอาจจะร่วงเป็นปื้น เป็นหย่อม ๆ หรือกระจายทั่วตัวก็ได้
     - โรคกลาก น้องหมามักจะขนร่วง บริเวณหัว ใบหน้า ขาหน้า ลำตัว โดยขนร่วงเป็นย่อม ๆ ลักษณะเป็นวง ๆ และกินวงกว้างเพิ่มขึ้น
     - โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง น้องหมามักจะขนร่วง ตามาจากอาการคัน โดยขนจะร่วงแบบหย่อม ๆ บริเวณลำตัวและหน้าท้อง
     - ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ น้องหมามักจะขนร่วง บริเวณจมูก หู ใบหน้า ลำตัว หน้าท้อง และหาง โดยขนจะร่วงแบบสมมาตรทั้งสองข้างและกระจายทั่วทั้งตัว
     - ภาวะฮอร์โมนต่อมหมวกไตเกินขนาดหรือโรคคุชชิง น้องหมามักจะขนร่วงทั่วตัวแบบสมมาตร ยกเว้นบริเวณใบหน้าและปลายขา
     - โรคจิตเลียขนตัวเอง (Psychogenic dermatosis) อันเกิดจากความเครียด
       ฯลฯ
 

อาการคัน (pruritus)

 

Dogilike.com :: รู้รอยโรคผิวหนังของสุนัข (เบื้องต้น) ด้วยตนเอง

     อาการคันเป็นผลมาจากโรคที่น้องหมาเป็น ทำให้น้องหมาแสดงอาการเกา เลีย ถูตัวหรือใบหน้ากับพื้นและฝาผนัง หรือไถก้น โรคที่มักพบอาการคัน ได้แก่
 
     - โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง น้องหมามักจะคัน บริเวณข้างลำตัวและหน้าท้อง
     - โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อยีสต์ น้องหมามักจะคัน บริเวณฝ่าเท้า อุ้งเท้า ใต้คอ รักแร้ รอบปาก ในรูหูและรอบใบหู 
     - โรคกลาก น้องหมามักจะคัน บริเวณเดียวกับที่มีขนร่วง 
     - โรคเหา น้องหมามักจะคัน บริเวณหัวและลำตัว
     - โรคหูชั้นนอกอักเสบ น้องหมามักจะคัน บริเวณรูหูและรอบใบหู
     - โรคขี้เรื้อนแห้ง น้องหมามักจะคัน บริเวณรอบใบหู ข้อศอก ข้อเท้าหลัง และหน้าท้อง 
     - โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด น้องหมามักจะคัน บริเวณกลางหลังถึงสะโพก 
     - โรคภูมิแพ้ละอองอากาศ น้องหมามักจะคัน บริเวณฝ่าเท้า อุ้งเท้า ใต้คาง รอบปาก รอบตา ใบหู รักแร้ และหน้าท้อง 
     - โรคภูมิแพ้อาหาร น้องหมามักจะคัน บริเวณรอบปาก ใต้คาง รอบรูทวาร ใบหน้า รักแร้ และโคนขาหนีบ 
     - โรคภูมิแพ้จากการสัมผัส น้องหมามักจะคัน บริเวณฝ่าเท้าและหน้าท้อง
       ฯลฯ

Dogilike.com :: รู้รอยโรคผิวหนังของสุนัข (เบื้องต้น) ด้วยตนเอง

     ถึงแม้รอยโรคบนผิวหนังและตำแหน่งของรอยโรคที่กล่าวไป จะใช้ช่วยวินิจฉัยโรคที่น้องหมากำลังป่วยอยู่ได้ แต่เราก็ไม่สามารถสรุปผล จากการตรวจดูด้วยตาเปล่าเพียงอย่างเดียวได้ โรคแต่ละโรคมักมีรอยโรคหลาย ๆ อย่างร่วมกัน ดังนั้นการเก็บตัวอย่างตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการขูดตรวจ การแปรงขน การตรวจเส้นขน การป้ายขี้หูตรวจ การเก็บเซลล์ตรวจวิเคราะห์ การตรวจวิเคราะห์ชิ้นเนื้อผิวหนัง การเพาะเชื้อ ฯลฯ หากน้องหมาของเรามีรอยโรคผิวหนังดังกล่าว เพื่อน ๆ อย่าลืมพาน้องหมาไปตรวจกับคุณหมอด้วยนะครับ ก่อนจากกัน มุมหมอหมา มีทริปการเตรียมตัวน้องหมาเข้ารับการตรวจผิวหนัง มาฝากครับ
 

การเตรียมตัวน้องหมาเข้ารับการตรวจโรคผิวหนัง

 
     1. ควรงดอาบน้ำหรือทำความสะอาดผิวหนังหรือช่องหูก่อนพามาตรวจอย่างน้อย 2 วัน
     2. อย่าทายาหรือแต้มยาสีสันต่าง ๆ กลบรอยโรค เพราะทำให้บดบังการตรวจวินิจฉัย
     3. คนที่พาน้องหมามาตรวจควรเป็นคนที่ทราบอาการของน้องหมาเป็นอย่างดี และควรเป็นคนเดียวกันที่จะดูแลน้องหมาต่อไป เพื่อจะได้ทราบวิธีการดูแลอย่างถูกต้องที่บ้าน ทราบแผนการรักษา เพราะโรคผิวหนังต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา และต้องพามาตรวจซ้ำอย่างต่อเนื่องครับ 
 



 
 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน:
จากหนังสือ Small animal dermatology, first edition 2002 
เขียนโดย Peter B. Hill
  
รูปภาพประกอบ:
www.veterinarybiology.blogspot.com
www.dermnetnz.org
www.rvc.ac.uk 
www.picasaweb.google.com
www.che-cheh.com
www.studyblue.com
www.dobermantalk.com
www.rvc.ac.uk
www.backyardchickens.com
www.dermatlas.med.jhmi.edu
www.ehs.uc.edu
www.seniorpetproducts.com
www.petvariety.blogspot.com
www.dogs.thefuntimesguide.com
www.dogs.lovetoknow.com