โดย: Tonvet
รู้รอยโรคผิวหนังของสุนัข (เบื้องต้น) ด้วยตนเอง
รอยโรคบนผิวหนังของน้องหมามีอะไร แต่ละรอยโรคบอกอะไรกับเราบ้างมาดูกัน
3 เมษายน 2556 · · อ่าน (840,057)
ผิวหนังของน้องหมา มีหน้าที่คอยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ป้องกันการสูญเสียน้ำและอิเล็กโตรไลด์ ปกป้องร่างกายจากสิ่งแวดล้อม ใช้รับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ สะสมน้ำ ไขมัน ทั้งยังเป็นแหล่งสร้างวิตามินดีด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ผิวหนังยังเป็นตัวบ่งชี้ (indicator) ให้เราทราบได้ว่า น้องหมากำลังป่วยเป็นโรคอะไรอยู่
เพื่อน ๆ คงสงสัยใช่มั้ยครับว่า เวลาที่น้องหมาขนร่วง มีอาการคัน หรือเกิดรอยโรคต่าง ๆ นั้น น้องหมากำลังป่วยด้วยโรคอะไร รอยโรคบนผิวหนังนับว่ามีส่วนสำคัญในการวินิจฉัยโรคของคุณหมอมากครับ ลักษณะของรอยโรคจากผิวหนังนั้นแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1 รอยโรคแบบปฐมภูมิ เป็นรอยโรคที่เกิดจากผลของโรคที่เป็นสาเหตุโดยแท้จริง มักเกิดขึ้นและหายไปอย่างรวดเร็ว หรืออาจคงอยู่ได้นานหากโรคผิวหนังที่เป็นอยู่นั้น เป็นโรคที่เกิดเรื้อรังมานาน
2 รอยโรคแบบทุติยภูมิ เป็นรอยโรคที่เกิดตามมาจากรอยโรคแบบปฐมภูมิ หรือเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่เข้ามาแทรกซ้อน เช่น ขนร่วงจากการที่น้องหมากัดหรือเกา รอยโรคแบบนี้บ่งบอกว่าน้องหมาอาจมีปัญหาเรื้อรังมานานแล้ว
รอยโรคบางรอยโรคอาจเป็นได้ทั้งแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิ เรามาดูกันสิครับว่า รอยโรคบนผิวหนังของน้องหมาที่พบบ่อย ๆ นั้นมีอะไรบ้าง และแต่ละรอยโรคบ่งบอกว่าน้องหมา (อาจ) กำลังป่วยด้วยโรคอะไร
ผื่นราบ (macule)
เป็นการเปลี่ยนแปลงของสีผิวลักษณะเป็นจุด ๆ หรือวง ๆ เรียบราบไปกับผิวหนัง ขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร (ถ้าเกิน 1 เซนติเมตร จะเรียกว่า patch) เราอาจพบการเปลี่ยนแปลงสีของผิวหนังได้เป็น 3 แบบ คือ รอยแดง (erythema) รอยจาง (vitiligo or depigmentation) และ รอยดำ (lentigo or hyperpigmemtation) ซึ่งโรคที่มักพบรอยโรคแบบนี้ ได้แก่ โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด โรคภูมิแพ้ผิวหนังจากการสัมผัส ฯลฯ
ตุ่มแข็งหรือตุ่มแดง (papule)
เป็นลักษณะตุ่มแข็งนูนออกจากผิวหนัง อาจจะเป็นสีแดงหรือสีชมพู ขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร (ถ้าเกิน 1 เซนติเมตร จะเรียกว่า plague) โรคที่มักพบรอยโรคแบบนี้ ได้แก่ โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด โรคขี้เรื้อนแห้ง โรคขี้เรื้อนเปียก โรคภูมิแพ้ละอองอากาศ โรคภูมิแพ้ผิวหนังจากการสัมผัส อาการแพ้ยา ฯลฯ
ตุ่มหนอง (pustule)
ลักษณะคล้ายกับผื่นนูนแต่มีการสะสมของหนองอยู่ที่ชั้นหนังกำพร้า (epidermis) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการสะสมของเซลล์อักเสบชนิด neutrophils หรือ eosinophils ทำให้เห็นเป็นตุ่มสีเหลืองหรือสีเขียว โรคที่มักพบรอยโรคแบบนี้ ได้แก่ โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง โรคขี้เรื้อนเปียก โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด โรคภูมิแพ้ผิวหนังจากการสัมผัส โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ฯลฯ
ก้อนนูน (nodule)
เป็นตุ่มกลมแข็งขนาดเล็ก แต่ใหญ่มากกว่า 1 เซนติเมตร และมักเจริญมาจากผิวหนังชั้นล่าง โรคที่มักพบรอยโรคแบบนี้ ได้แก่ โรคเนื้องอกต่าง ๆ โรคติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา เกิด sterile granulomatous disease หรือมีการสะสมแคลเซียมที่ผิวหนัง ฯลฯ
แผลหลุดลอก (erosion)
เป็นร่องรอยการหลุดลอกหรือถลอกของแผลตื้น ๆ ในชั้นหนังกำพร้า และมีขอบเขตชัดเจน โรคที่มักพบรอยโรคแบบนี้ ได้แก่ โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด โรคภูมิแพ้ผิวหนังจากการสัมผัส โรคผิวหนังอักเสบจากการเลีย ฯลฯ
แผลหลุม (ulcer)
เป็นรอยลอกของแผลลึกลงไปถึงในชั้นผิวหนัง (ลึกกว่าแผลหลุดลอก) ทำให้ชั้นหนังกำพร้าหลุดหายไป เห็นเป็นขอบนูน อาจมีเลือดออกได้ โรคที่มักพบรอยโรคแบบนี้ ได้แก่ โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด โรคภูมิแพ้ผิวหนังจากการสัมผัส โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง โรคผิวหนังอักเสบจากการเลีย มะเร็งชนิด squamous cell carcinoma โรคขี้เรื้อนเปียก โรคไต ฯลฯ
ผิวแห้งหนา (lichenification)
ผิวหนังเกิดการหนาตัวและนูนขึ้น จึงแข็งและหยาบเห็นเป็นรอยแยกของผิวหนัง มักพบในรายที่มีเป็นโรคผิวหนังและมีอาการคันเรื้อรังมานาน
แผลโพรงทะลุ (fistula, sinus)
แผลที่มีช่องทางหรือโพรงเชื่อมต่อระหว่างแผล และมีรูเปิดออกมาที่ชั้นผิว อาจเกิดจากการแตกของก้อนฝี โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง โรค perianal fistula โรคขี้เรื้อนเปียก ฯลฯ
สะเก็ดรังแค (seborrhea, scale)
เป็นเศษผิวหนังที่ลอกหลุดออกมาเป็นแผ่นแห้ง ๆ ขุย ๆ อาจมีสีขาว สีเทา หรือสีน้ำตาล พบในกรณีที่มีกระบวนการสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นทดแทน (keratinization) แล้วมีการผลัดเซลล์ผิวเก่าให้หลุดออกไป โรคที่มักพบรอยโรคแบบนี้ได้แก่ โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด โรคขี้เรื้อนแห้ง โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อยีสต์ โรคภูมิแพ้ละอองอากาศ โรค Follicular dysplasia ฯลฯ
สะเก็ดแห้งกรัง (crust)
เป็นคราบแห้งที่เกิดจากการจับตัวร่วมกับของเศษซากเซลล์ หนอง เลือด รังแค หรือยาที่แห้งแล้วจับตัวกันที่ผิวหน้าของชั้นผิวหนังหรือรอยโรค โรคที่มักพบรอยโรคแบบนี้ ได้แก่ โรค Idiopathic seborrhea, โรค zinc-responsive dermatitis ฯลฯ
รอยดำ (lentigo or hyperpigmentation)
เป็นการทีผิวหนังมีสีน้ำตาลเข้มขึ้นหรืออาจเห็นเป็นสีคล้ำจนถึงดำ เกิดจากการที่มีเม็ดสีดำของผิวที่เรียกว่า melanin pigment เพิ่มในชั้นผิวหนัง โรคที่มักพบรอยโรคแบบนี้ ได้แก่ โรคขี้เรื้อนเปียก โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง โรคผิวหนังจากการติดเชื้อยีสต์ โรคกลาก โรคภูมิแพ้ละอองอากาศ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ภาวะฮอร์โมนต่อมหมวกไตเกินขนาดหรือโรคคุชชิง ภาวะไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศ ฯลฯ
ขนร่วง (alopecia)
เป็นรอยโรคที่เจ้าของส่วนใหญ่มักสังเกตเห็นและให้ความสำคัญ ขนร่วงมีหลายลักษณะ เช่น ร่วงเป็นจุด ๆ ร่วงเป็นย่อม ๆ ซึ่งอาจร่วงในบางตำแหน่ง ทำให้เรามองเห็นว่าน้องหมามีขนแหว่งไป หรือพบการร่วงแบบกระจายทั่วตัว มองแล้วพบว่า ขนบางจนเห็นผิวหนัง โรคที่มักพบรอยโรคแบบนี้ ได้แก่
- โรคขี้เรื้อนเปียก น้องหมามักจะขนร่วง บริเวณใบหน้า หัว รอบตา ลำตัว ขา ฝ่าเท้าและอุ้งเท้า โดยอาจจะร่วงเป็นปื้น เป็นหย่อม ๆ หรือกระจายทั่วตัวก็ได้
- โรคกลาก น้องหมามักจะขนร่วง บริเวณหัว ใบหน้า ขาหน้า ลำตัว โดยขนร่วงเป็นย่อม ๆ ลักษณะเป็นวง ๆ และกินวงกว้างเพิ่มขึ้น
- โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง น้องหมามักจะขนร่วง ตามาจากอาการคัน โดยขนจะร่วงแบบหย่อม ๆ บริเวณลำตัวและหน้าท้อง
- ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ น้องหมามักจะขนร่วง บริเวณจมูก หู ใบหน้า ลำตัว หน้าท้อง และหาง โดยขนจะร่วงแบบสมมาตรทั้งสองข้างและกระจายทั่วทั้งตัว
- ภาวะฮอร์โมนต่อมหมวกไตเกินขนาดหรือโรคคุชชิง น้องหมามักจะขนร่วงทั่วตัวแบบสมมาตร ยกเว้นบริเวณใบหน้าและปลายขา
- โรคจิตเลียขนตัวเอง (Psychogenic dermatosis) อันเกิดจากความเครียด
ฯลฯ
อาการคัน (pruritus)
อาการคันเป็นผลมาจากโรคที่น้องหมาเป็น ทำให้น้องหมาแสดงอาการเกา เลีย ถูตัวหรือใบหน้ากับพื้นและฝาผนัง หรือไถก้น โรคที่มักพบอาการคัน ได้แก่
- โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง น้องหมามักจะคัน บริเวณข้างลำตัวและหน้าท้อง
- โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อยีสต์ น้องหมามักจะคัน บริเวณฝ่าเท้า อุ้งเท้า ใต้คอ รักแร้ รอบปาก ในรูหูและรอบใบหู
- โรคกลาก น้องหมามักจะคัน บริเวณเดียวกับที่มีขนร่วง
- โรคเหา น้องหมามักจะคัน บริเวณหัวและลำตัว
- โรคหูชั้นนอกอักเสบ น้องหมามักจะคัน บริเวณรูหูและรอบใบหู
- โรคขี้เรื้อนแห้ง น้องหมามักจะคัน บริเวณรอบใบหู ข้อศอก ข้อเท้าหลัง และหน้าท้อง
- โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด น้องหมามักจะคัน บริเวณกลางหลังถึงสะโพก
- โรคภูมิแพ้ละอองอากาศ น้องหมามักจะคัน บริเวณฝ่าเท้า อุ้งเท้า ใต้คาง รอบปาก รอบตา ใบหู รักแร้ และหน้าท้อง
- โรคภูมิแพ้อาหาร น้องหมามักจะคัน บริเวณรอบปาก ใต้คาง รอบรูทวาร ใบหน้า รักแร้ และโคนขาหนีบ
- โรคภูมิแพ้จากการสัมผัส น้องหมามักจะคัน บริเวณฝ่าเท้าและหน้าท้อง
ฯลฯ
ถึงแม้รอยโรคบนผิวหนังและตำแหน่งของรอยโรคที่กล่าวไป จะใช้ช่วยวินิจฉัยโรคที่น้องหมากำลังป่วยอยู่ได้ แต่เราก็ไม่สามารถสรุปผล จากการตรวจดูด้วยตาเปล่าเพียงอย่างเดียวได้ โรคแต่ละโรคมักมีรอยโรคหลาย ๆ อย่างร่วมกัน ดังนั้นการเก็บตัวอย่างตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการขูดตรวจ การแปรงขน การตรวจเส้นขน การป้ายขี้หูตรวจ การเก็บเซลล์ตรวจวิเคราะห์ การตรวจวิเคราะห์ชิ้นเนื้อผิวหนัง การเพาะเชื้อ ฯลฯ หากน้องหมาของเรามีรอยโรคผิวหนังดังกล่าว เพื่อน ๆ อย่าลืมพาน้องหมาไปตรวจกับคุณหมอด้วยนะครับ ก่อนจากกัน มุมหมอหมา มีทริปการเตรียมตัวน้องหมาเข้ารับการตรวจผิวหนัง มาฝากครับ
การเตรียมตัวน้องหมาเข้ารับการตรวจโรคผิวหนัง
1. ควรงดอาบน้ำหรือทำความสะอาดผิวหนังหรือช่องหูก่อนพามาตรวจอย่างน้อย 2 วัน
2. อย่าทายาหรือแต้มยาสีสันต่าง ๆ กลบรอยโรค เพราะทำให้บดบังการตรวจวินิจฉัย
3. คนที่พาน้องหมามาตรวจควรเป็นคนที่ทราบอาการของน้องหมาเป็นอย่างดี และควรเป็นคนเดียวกันที่จะดูแลน้องหมาต่อไป เพื่อจะได้ทราบวิธีการดูแลอย่างถูกต้องที่บ้าน ทราบแผนการรักษา เพราะโรคผิวหนังต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา และต้องพามาตรวจซ้ำอย่างต่อเนื่องครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน:
จากหนังสือ Small animal dermatology, first edition 2002
เขียนโดย Peter B. Hill
รูปภาพประกอบ:
www.veterinarybiology.blogspot.com
www.dermnetnz.org
www.rvc.ac.uk
www.picasaweb.google.com
www.che-cheh.com
www.studyblue.com
www.dobermantalk.com
www.rvc.ac.uk
www.backyardchickens.com
www.dermatlas.med.jhmi.edu
www.ehs.uc.edu
www.seniorpetproducts.com
www.petvariety.blogspot.com
www.dogs.thefuntimesguide.com
www.dogs.lovetoknow.com
SHARES