โดย: Tonvet

โรคไรขี้เรื้อนในน้องหมารักษากันอย่างไร

โรคขี้เรื้อนคืออะไร ทราบอย่างไรว่าเป็น และเป็นแล้วต้องทำอย่างไร

10 เมษายน 2556 · · อ่าน (655,531)
1,731

SHARES


1,731 shares

Dogilike.com :: โรคไรขี้เรื้อนในน้องหมารักษากันอย่างไร

     หากจะกล่าวถึงโรคผิวหนังในสุนัขที่ใครหลายคนต่างรู้จัก คงจะหนีไม่พ้น “โรคขี้เรื้อนหรือโรคไรขี้เรื้อน” แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ที่ไม่เข้าใจว่าโรคขี้เรื้อนจริง ๆ แล้วนั้นเป็นอย่างไร จนบางทีก็เหมารวมว่า น้องหมาที่เป็นโรคผิวหนังนั้นเป็นโรคขี้เรื้อนไปเสียหมด
 
     ความจริงแล้วโรคผิวหนังเกิดได้จากหลายสาเหตุ โรคขี้เรื้อนก็เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากปรสิตภายนอก คือ ตัวไร (mite) หรือไรขี้เรื้อน ไรขี้เรื้อนที่มักพบมี 2 ชนิด คือ ไรขี้เรื้อนซาร์คอพเตส (Sarcoptes spp.) กับ ไรขี้เรื้อนดีโมเด็กซ์ (Demodex spp.) เจ้าตัวไรขี้เรื้อนซาร์คอพเตส เป็นต้นเหตุของ “โรคไรขี้เรื้อนแห้ง” ส่วนไรขี้เรื้อนดีโมเด็กซ์ เป็นต้นเหตุของ “โรคไรขี้เรื้อนเปียกหรือไรขี้เรื้อนขุมขน” เพื่อให้เพื่อน ๆ เข้าใจโรคไรขี้เรื้อนในสุนัขมากขึ้น เรามาเรียนรู้โรคไรขี้เรื้อนกันไปทีละชนิดกันเลยครับ

 

โรคไรขี้เรื้อนแห้ง (Sarcopticosis)


Dogilike.com :: โรคไรขี้เรื้อนในน้องหมารักษากันอย่างไร

     โรคไรขี้เรื้อนแห้ง เกิดจากตัวไรขี้เรื้อน Sarcoptes scabiei  เราจึงเรียกชื่อโรคนี้อีกชื่อสั้น ๆ ว่า โรค Scabies เจ้าตัวไรขี้เรื้อนชนิดนี้ มักอาศัยในผิวหนังชั้น stratum corneum โดยชอบอยู่ตามขอบใบหู ใต้ท้อง ข้อศอกและข้อเท้าของขาหลังด้านนอก จึงทำให้น้องมาเกิดอาการเกาคันอย่างรุนแรง คันมากในแบบที่ว่า วัน ๆ ไม่ต้องทำอะไรกันเลย นอกเสียจากการคันและเกา จนทำให้เกิดความเครียด เบื่ออาหาร น้ำหนักลดไปเลยก็มี บางรายอาจเกิดผิวหนังอักเสบ ขนร่วง ตุ่มแดง สะเก็ดรังแค (scale) เกิดคราบสะเก็ดแห้งกรัง (crust) หรือเกิดลักษณะผิวแห้งหนา (lichenification) ร่วมด้วยครับ 

ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคไรขี้เรื้อนแห้ง
 
     คุณหมอจะใช้วิธีขูดตรวจที่ผิวหนังด้วยวิธี superficial skin scraping โดยขูดตรวจที่ชั้นผิวตื้น ๆ แต่ต้องขอบอกเพื่อน ๆ  ว่า เจ้าตัวไรขี้เรื้อนซาร์คอพเตส (Sarcoptes spp.) นี้ ค่อนข้างตรวจพบยากมากเลยทีเดียว ส่วนใหญ่มักขูดตรวจไม่พบครับ แต่ถึงจะขูดไม่พบเราก็ไม่สามารถตัดประเด็นโรคนี้ไปได้ บางครั้งอาจต้องวินิจฉัยจากอาการ และดูการตอบสนองต่อยาฆ่าตัวไรขี้เรื้อนที่คุณหมอได้ให้ไปครับ

Dogilike.com :: โรคไรขี้เรื้อนในน้องหมารักษากันอย่างไร

     นอกจากนี้เรายังใช้วิธีการทดสอบการตอบสนอง (reflex) ด้วยการบีบนวดที่ปลายใบหู เพื่อดูปฏิกิริยาของไรขี้เรื้อน เรียกว่า pinna-pedal reflex โดยสุนัขที่ตอบสนองจะยกขาข้างเดียวกับหูที่เราบีบนวดขึ้นมาเกา ซึ่งมีโอกาสสูง (ประมาณ 70-80%) ที่จะเป็นโรคไรขี้เรื้อนแห้งครับ แต่เราก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ เพราะสุนัขที่คันหูหรือมีปัญหาช่องหู ก็มักจะแสดงปฏิกิริยานี้เช่นกัน
 
โรคไรขี้เรื้อนแห้งรักษากันอย่างไร
 
     การรักษามีหลายวิธีครับ ขึ้นอยู่กับตัวสัตว์และงบประมาณของเจ้าของ โดยเลือกใช้วิธีการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

     1. ให้คุณหมอฉีดยา ivermectin ทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ ต่อเนื่องกัน 2-3 ครั้ง แต่วิธีนี้ห้ามใช้ในสุนัขบางพันธุ์ เช่น Collie, Old English sheepdog, Shetland sheepdog, Australian Shepherds ฯลฯ และพันธุ์ลูกผสมของพันธุ์ดังกล่าว เพราะเป็นพันธุ์ที่มีความไวต่อยาสูง อาจเสี่ยงแพ้ยาได้ง่าย วิธีนี้ราคารักษาค่อนข้างถูกกว่าวิธีอื่น ๆ แต่จัดเป็นยานอกทะเบียนในน้องหมา (extra-label use) ต้องใช้ตามคำแนะนำของคุณหมอเท่านั้นครับ 
     2. ใช้วิธีหยดหลังด้วยยา selamectin ทุก 2 สัปดาห์ ติดต่อกัน  3  ครั้ง สามารถใช้ได้ในสุนัขพันธุ์เสี่ยงดังกล่าวได้ 
     3. ใช้ยา moxidectin+imidaclopid หยดหลังติดต่อกัน 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ สามารถใช้ได้ในสุนัขพันธุ์เสี่ยงดังกล่าวได้เช่นกัน  
     4. ใช้วิธีการป้อนยา milbemycin oxime สัปดาห์ละ 2 ครั้งต่อเนื่องกัน 4 สัปดาห์ วิธีนี้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงกว่าวิธีอื่น ๆ เล็กน้อย แต่สามารถใช้ในสุนัขพันธุ์เสี่ยงได้ครับ 
 

Dogilike.com :: โรคไรขี้เรื้อนในน้องหมารักษากันอย่างไร

เรื่องจริงที่ต้องรู้เกี่ยวกับโรคไรขี้เรื้อนแห้ง
 
     โรคไรขี้เรื้อนแห้งสามารถติดต่อทั้งคนและสัตว์ตัวอื่น ๆ ได้ เพื่อน ๆ ควรต้องแยกเลี้ยงน้องหมาที่เป็นโรคกับน้องหมาตัวอื่น ๆ ในบ้านด้วย เพื่อป้องกันการติดต่อสู่กัน รวมทั้งต้องป้อนยาแก้อาการคัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการด้วย และหากมีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือยีสต์แทรกซ้อน อาจต้องได้รับยาฆ่าเชื้อร่วมด้วยครับ  

 

โรคไรขี้เรื้อนเปียก (Demodicosis)

 
     โรคไรขี้เรื้อนเปียกหรือโรคไรขี้เรื้อนขุมขน เกิดจากการเจริญเพิ่มจำนวนของตัวไรขี้เรื้อน Demodex canis, Demodex injai  หรือ Demodex cornei  เจ้าตัวไรขี้เรื้อนเหล่านี้ มักอาศัยอยู่ในรูขุมขน ๆ บริเวณใบหน้า หัว รอบตา ลำตัว ขา ฝ่าเท้า และอุ้งเท้า  คอยอาศัย sebum และส่วนของเยื่อบุของ follicle เป็นอาหาร ทำให้น้องมาเกิดอาการขนร่วง มีเม็ดตุ่ม มีตุ่มหนอง ผิวหนังเยิ้มแฉะ มีแผลหลุม มีแผลโพรงทะลุ มีกลิ่นตัว (กลิ่นคาวปลาเค็ม) เกิดรูขุมขนอักเสบ (Folliculitis) ตามมาได้

Dogilike.com :: โรคไรขี้เรื้อนในน้องหมารักษากันอย่างไร

     บางรายอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือยีสต์แทรกซ้อน ทำให้เกิดอาการเกาคัน อาจพบอาการทางระบบ (systemic) ตามมาได้ เช่น เบื่ออาหาร ซึม น้ำหนักลด และมีไข้ ฯลฯ ในรายที่เป็นเรื้อรังจะเห็นเป็นสะเก็ดแห้งกรัง (crust) มีหนองหรือเลือดออกเกือบทั่วร่างกาย รวมทั้งอาจมีต่อมน้ำเหลืองบวมโตทั่วร่างกาย (Polylymphadenopathy) อีกด้วย ถ้าจะแบ่งประเภทของโรคไรขี้เรื้อนเปียก เราสามารถแบ่งแยกออกได้อีกเป็น  2 แบบครับ คือ
 
     1. แบบเฉพาะที่ รอยโรคมักจะเกิดเป็นหย่อม ๆ ที่บริเวณใบหน้า หัว รอบตา จำนวนของรอยโรคจะไม่เกิน 3-5 ตำแหน่ง มักพบในลูกสุนัข อายุ 3-6 เดือน หากเป็นประเภทนี้การพยากรณ์โรคจะดี บางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจพัฒนากลายเป็นแบบกระจายทั่วตัวได้
 
     2. แบบกระจายทั่วตัว มักพบรอยโรคที่บริเวณใบหน้า หัว รอบตา ลำตัว ขา ฝ่าเท้า และอุ้งเท้า กระจายเป็นบริเวณกว้าง สามารถพบได้ในสุนัขที่มีอายุระหว่าง 3-18 เดือน และสามารถพบได้ในสุนัขที่โตเต็มที่แล้ว

Dogilike.com :: โรคไรขี้เรื้อนในน้องหมารักษากันอย่างไร

ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคไรขี้เรื้อนเปียก
 
     คุณหมอจะใช้วิธีการขูดตรวจผิวหนังชั้นลึกด้วยวิธี deep skin scraping ในหลาย ๆ ตำแหน่ง วิธีนี้อาจทำให้น้องหมามีเลือดไหลซิบ ๆ ออกมาบ้าง  แต่เพื่อน ๆ ไม่ต้องตกใจนะครับ เพราะไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด สาเหตุที่ต้องขูดตรวจชั้นลึก ก็เพราะว่า เจ้าตัวไรขี้เรื้อนดีโมเด็กซ์ (Demodex spp.) ชอบอาศัยอยู่ในรูขุมขน บางครั้งคุณหมออาจจะใช้วิธีการดึงเส้นขนมาตรวจ (Trichogram) ในตำแน่งที่ขูดตรวจยาก เช่น รอยตา ฝ่าเท้า ง่ามนิ้ว ฯลฯ หรือทำการเก็บชิ้นเนื้อ (Biopsy) มาตรวจในบางรายครับ

โรคไรขี้เรื้อนเปียกรักษากันอย่างไร
 
     - ในกรณีเป็นแบบเฉพาะที่  
 
     แนะนำให้ใช้การอาบน้ำและฟอกด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมของ benzoyl peroxide หรือ chlorhexidine โดยผสมแชมพูรวมกับน้ำ แล้วฟอกที่บริเวณรอยโรคทิ้งไว้นาน 5-10 นาที ทำเช่นนี้สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เจ้าของอาจต้องโกนขนหรือตัดขนบริเวณรอยโรคให้สั้น เพื่อให้ตัวยาในแชมพูสัมผัสกับรอยโรคได้ดียิ่งขึ้น

Dogilike.com :: โรคไรขี้เรื้อนในน้องหมารักษากันอย่างไร

     - ในกรณีเป็นแบบกระจายทั่วตัว 
 
     ในการรักษาอาจต้องใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำด้วยแชมพูดังกล่าว ร่วมกับใช้ยาฆ่าตัวไร (miticidal) อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
 
     1. ป้อนยา ivermectin หรือป้อนยา milbemycin oxime ให้น้องหมา วันละครั้ง สำหรับยา ivermectin ให้ระวังในสุนัขพันธุ์เสี่ยงด้วยครับ หรือ
     2. ใช้การหยอดหลังด้วยยา moxidectin+imidaclopid ทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ หรือ
     3. ให้คุณหมอฉีดยา doramectin ทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ก็ได้ แต่ห้ามใช้ในสุนัขพันธุ์เสี่ยงเช่นกัน และ
     4. ใช้การพ่นหรือทายา amitraz บนตัวน้องหมาทุก ๆ สัปดาห์ โดยแนะนำให้ตัดขนให้สั้นก่อน เพื่อให้ยาสัมผัสกับรอบโรคได้ดียิ่งขึ้น และควรสวมปลอกคอกันเลีย เพื่อป้องกันน้องหมาเลียรับเอาสารพิษจากยาเข้าสู่ร่างกายทางปากด้วย 
 
    ยาแต่ละตัวที่ได้กล่าวไปนี้ มีผลข้างเคียงและข้อคำนึงในการใช้ไม่เหมือนกัน (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม...คลิก) จึงควรต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของคุณหมอเท่านั้น ห้ามซื้อมาใช้เองเป็นอันขาด และในการรักษา เราอาจต้องพาน้องหมามาขูดตรวจซ้ำเป็นประจำทุก ๆ เดือน หากขูดตรวจไม่พบตัวไรแล้ว ให้ทำการรักษาต่อไปอีก 4 สัปดาห์ แล้วขูดตรวจซ้ำเป็นครั้งที่สอง หากไม่พบอีกจึงค่อยหยุดการรักษาครับ

Dogilike.com :: โรคไรขี้เรื้อนในน้องหมารักษากันอย่างไร

เรื่องจริงที่ต้องรู้เกี่ยวกับโรคไรขี้เรื้อนเปียก
 
     1. ตัวไรขี้เรื้อนดีโมเด็กซ์ (Demodex spp.) เป็นเชื้อที่อยู่บนผิวหนังของน้องหมาอยู่แล้ว น้องหมาที่เป็นโรคไรขี้เรื้อนเปียก เกิดจากเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนของไรขี้เรื้อนดังกล่าว ยกเว้นลูกสุนัขแรกเกิดที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายยังไม่ดีพอ สามารถติดโรคจากแม่ที่ป่วยได้ใน 72 ชั่วโมงแรกหลังคลอด แต่ไม่สามารถติดต่อไปยังสุนัขตัวอื่น ๆ อีกต่อได้
     2. ปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ พันธุกรรม ภูมิคุ้มกัน อิทธิพลของฮอร์โมน ช่วงเป็นสัด โรคประจำตัว ความเครียด สภาพแวดล้อม การได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือเคมีบำบัด ฯลฯ ล้วนมีส่วนช่วยให้เกิดปัญหาโรคไรขี้เรื้อนเปียกขึ้นมาได้
     3. โรคไรขี้เรื้อนเปียกในสุนัขโต อาจเป็นผลตามมาจากโรคอื่น ๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ ทำให้บางครั้งอาจต้องใช้เวลาในการรักษายาวนานกว่าจะเห็นผล (อย่างน้อย 3-6 เดือน) ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะไม่หายขาด
     4. เราจะบอกได้ว่าน้องหมาหายจากโรคไรขี้เรื้อนเปียกได้แล้ว ก็ต่อเมื่อไม่พบการกลับมาเป็นซ้ำอีกภายในระยะเวลา 1 ปี
     5. เจ้าของที่รักษาน้องหมามานาน แล้วดูทีท่าไม่หายสักที ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของโรคนี้ด้วยนะครับ เพราะบางครั้งการที่เราหยุดยาเร็วเกินไป ก็อาจทำให้น้องหมากลับมาเป็นอีกไม่หายสักที อีกทั้งการติดเชื้อแบคทีเรียหรือยีสต์แทรกซ้อน ทำให้การรักษาโรคยุ่งยากมากขึ้น
     6. โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อนะครับวางใจได้ แต่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เพราะฉะนั้นน้องหมาที่ป่วยอย่างรุนแรง จึงแนะนำให้ทำหมันครับ 
 

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการรักษาโรคขี้เรื้อนในสุนัข


Dogilike.com :: โรคไรขี้เรื้อนในน้องหมารักษากันอย่างไร

     กรณีการนำเอา “น้ำมันเครื่อง (น้ำมันขี้โล้ว) หรือน้ำมันก๊าด” มาทาหรือราดบนตัวของน้องหมาที่เป็นโรคผิวหนังหรือขี้เรื้อนนั้น ขอเน้นย้ำว่า วิธีนี้เป็นวิธีการรักษาที่ไม่ถูกต้อง การที่เรานำมาทาหรือราดบนตัวของน้องหมานั้น จะทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรง ทำให้ผิวหนังเปื่อยหลุดลอก เกิดอาการแพ้ตามมา น้ำมันจะไปชะล้างไขมันตามธรรมชาติออกจากผิวหนัง ทำให้ผิวหนังอ่อนแอลง และหากได้รับผ่านทางการสูดดมก็จะทำให้เกิดการระหายเคืองต่อเยื่อบุโพรงจมูกได้ อีกทั้งสารไฮโดรคาร์บอนที่อยู่ในน้ำมันเครื่อง สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ ซึ่งอาจทำให้น้องหมาคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนแรง ซึม และหมดสติได้ครับ (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม...คลิก)
 
     คงจะได้รับความรู้เกี่ยวกับโรคไรขี้เรื้อนไปไม่น้อยเลยนะครับ สำหรับโรคผิวหนังในสุนัขยังมีอีกมากมาย เพื่อน ๆ ที่สนใจ สามารถติดตามอ่านได้ในคอลัมน์ มุมหมอหมา จาก ด็อกไอไลค์ดอทคอม (Dogilike) ได้เป็นประจำทุกวันพุธ สัญญาว่าจะพยายามนำข้อมูลดี ๆ มาเสนอให้เพื่อน ๆ ได้รับความรู้กันแบบจัดเต็มเช่นเคยครับ
 



 
 
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 
  
รูปภาพประกอบ:
www.buzzle.com
www.animalaidunlimited.com
www.moderndaypets.wpengine.com
www.runyourdog.com
www.allstop.com
www.waycooldogs.com
www.mange.net
www.scoop.it.
www.petcaregt.com
www.bridgetfoods.com