โดย: Tonvet
พิษภัยของยาฆ่าเห็บหมัด ที่คนรักสุนัขต้องอ่าน
มาทำความเข้าใจกับโทษจากพิษภัยของยาฆ่าเห็บหมัด ที่อาจเกิดขึ้นกับสุนัขของเรากันเถอะ
25 กรกฏาคม 2555 · · อ่าน (398,278)ในช่วงฤดูฝนอย่างนี้ เจ้าของหลายคนต่างสาละวนกับการจัดการกับปัญหาเห็บหมัด ที่ตามมาคอยรังควานใจ ก็แหม ... ใช่เพียงแต่เจ้าปรสิตตัวร้ายนี้จะคอยกัดกินเลือดน้องหมาแสนรักของเราเท่านั้น มันยังนำพาโรคร้ายอย่างโรคพยาธิในเม็ดเลือดมาติดน้องหมาของเราด้วยน่ะสิครับ
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดมากมายออกมาให้เจ้าของได้เลือกใช้ ทั้งรูปแบบก็มีหลากหลายสะดวกสบาย ตามแต่ไลฟ์สไตล์ของเจ้าของและน้องหมา แต่ว่า...สารกำจัดแมลงเหล่านี้กว่าร้อยละ 90 เป็นสารเคมีครับ อย่างที่เค้าว่าเหรียญมีสองด้านนั่นแหละ เพราะแม้จะมีประโยชน์ช่วยกำจัดเห็บหมัดให้ได้ แต่ก็อาจมีโทษเกิดกับตัวน้องหมาและแม้แต่ตัวเจ้าของเองได้เช่นกัน หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง
วันนี้ มุมหมอหมา อยากชวนเพื่อนๆ มารู้จักและรับมือกับ “พิษภัยของยาฆ่าเห็บหมัด” มาดูสิว่ามีสารพิษอะไรบ้าง น้องหมาที่ได้รับสารพิษดังกล่าวจะเกิดอาการอย่างไร และมีวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร ตามมาดูกันเลยครับ
1. ไอเวอร์เมกตินและอนุพันธ์
ยากลุ่มนี้มีใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในบ้านเรา นอกจากจะควบคุมเห็บได้แล้ว ยังใช้ป้องกันพยาธิหนอนหัวใจได้ด้วย รูปแบบของยามีตั้งแต่ชนิดเม็ดใช้ป้อน ป้ายปาก หยอดหลัง และฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ยาไอเวอร์เมกตินนี้ห้ามใช้ในน้องหมาพันธุ์บางพันธุ์ เช่น คอลลี่หรือลูกผสมคอลลี่ ออสเตรเลียน เชพเพิร์ด เชตแลนด์ และโอลด์ อิงลิช ชีพด๊อก เพราะพันธุ์พวกนี้จะไวต่อพิษของยาชนิดนี้มาก แต่อนุพันธ์ของยาชนิดนี้บางตัวกลับสามารถใช้กับคอลลี่ได้ อนุพันธ์ที่ผลิตออกมาใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ ซีลาแมคติน โมซิเดกตินหรือมิลบีมายซิน และเอพริโนเมกติน
ความเป็นพิษของไอเวอร์เมกตินเกิดจากได้รับยาเกินขนาดหรือใช้ในน้องหมาเด็กเกินไป (อายุต่ำกว่า 6 สัปดาห์) อาการที่พบ คือ มีพฤติกรรมเปลี่ยน เบื่ออาหาร ซึม อาเจียน รูม่านตาขยาย ตาบอด น้ำลายไหลมาก ขาอ่อนแรง เดินเซ หายใจลำบาก กล้ามเนื้อกระตุกและอาจเสียชีวิตได้
ความเป็นพิษของไอเวอร์เมกตินเกิดจากได้รับยาเกินขนาดหรือใช้ในน้องหมาเด็กเกินไป (อายุต่ำกว่า 6 สัปดาห์) อาการที่พบ คือ มีพฤติกรรมเปลี่ยน เบื่ออาหาร ซึม อาเจียน รูม่านตาขยาย ตาบอด น้ำลายไหลมาก ขาอ่อนแรง เดินเซ หายใจลำบาก กล้ามเนื้อกระตุกและอาจเสียชีวิตได้
2. อะมิทราช
ส่วนใหญ่เราใช้อะมิทราชในการกำจัดไรขี้เรื้อนขุมขน และใช้ในการกำจัดเห็บหมัดด้วย โดยใช้ผสมให้ได้สารละลายขนาด 250 พีพีเอ็ม (หนึ่งในล้านส่วน) แล้วนำมาอาบ พ่น หรือเช็ดตัวน้องหมา และมีบางผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาในรูปของปลอกคอกันเห็บด้วย อะมิทราซทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เพราะไปยับยั้งการหลั่งของอินซูลิน เพราะฉะนั้นน้องหมาที่เป็นโรคเบาหวานก็ไม่ควรใช้เด็ดขาด รวมถึงไม่แนะนำให้ใช้กับน้องหมาเด็กอายุต่ำกว่า 4 เดือนด้วย
ความเป็นพิษของอะมิทราซเกิดจากการเลีย หรือกินปลอกคอกันเห็บเข้าไป อาการที่พบ คือ ซึม ง่วง เดินเซทรงตัวไม่ได้ หัวใจเต้นช้า อาเจียน รูม่านตาขยาย อุณหภูมิร่างกายต่ำ ชักและอาจเสียชีวิตได้
3. สารกลุ่มไพเรทรินและไพเรทรอยด์
เป็นสารสกัดจากดอกไพเรทรัมธรรมชาติ นำมาใช้กำจัดเห็บหมัดในรูปของยาพ่น ใช้ผสมน้ำอาบ เป็นปลอกคอป้องกันเห็บหมัด เป็นผงฝุ่น แชมพู สเปรย์ และยาหยอดหลัง เช่น เพอร์เมทริน ฟรูเมทริน 6% และฟรูเมทริน 2.25%
น้องหมาได้รับพิษผ่านทางผิวหนัง ทางเดินอาหาร (การเลียหรือกิน) หรือไปคุลกคลีกับน้องหมาตัวอื่นๆ ที่ได้รับยานี้มา อาการที่พบ คือ น้ำลายไหล ใบหูกระตุก ซึม อาเจียน บางรายมีอาการแพ้มักจะพบ ผื่นแดง คัน แบบนี้ให้รีบล้างออกด้วยแชมพู น้ำยาล้างจาน หรือน้ำอุ่น ส่วนในรายที่ได้รับในขนาดที่สูงมากๆ อาจพบอาการเดินเซ กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง รูม่านตาขยาย ชักกระตุกและอาจเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง
4. สารกลุ่มออกาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต
ผลิตภัณฑ์จากสารกลุ่มนี้ที่วางขายสำหรับใช้กำจัดเห็บหมัดมีทั้งในรูปของสเปรย์ แชมพู ยาพ่นตัว และปลอกคอกันเห็บหมัด โดยคุณสมบัติแล้วชอบละลายในไขมัน บางผลิตภัณฑ์ถูกออกแบบมาให้คงค้างอยู่บนพื้นผิวได้ จึงถูกใช้เป็นทั้งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและแมลงต่างๆ ทั้งในทางการเกษตรและครัวเรือน
ความเป็นพิษส่วนใหญ่จะผ่านทางผิวหนัง ทางเดินอาหาร และทางเดินหายใจ แล้วกระจายทั่วร่างกายโดยละลายในไขมันและถูกขับทิ้งผ่านทางปัสสาวะ โดยระยะเวลาและอาการที่น้องหมาจะแสดงออกจะขึ้นกับขนาดและช่องทางที่ได้รับ โดยอาจแสดงอาการภายใน 10 นาที (บางรายอาจพบภายใน 3-7 วัน) และอาจเสียชีวิตภายในครึ่งชั่วโมงในกรณีเฉียบพลัน ซึ่งอาการที่พบ คือ พฤติกรรมเปลี่ยน ซึม เบื่ออาหาร น้ำลายไหล น้ำตาไหล ไอ หายใจลำบาก อาเจียน อุณหภูมิสูงขึ้น รูม่านตาหรี่ ชัก กล้ามเนื้อกระตุกแข็งเกร็ง และเกิดการอัมพาต
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อช่วยลดหรือชะลอความเป็นพิษ ไม่ว่าน้องหมาจะได้รับสารพิษชนิดใดหรือช่องทางใดมาก็ตาม หลักการคือ “ให้ทำวิธีการใดก็ได้เพื่อลดและยับยั้งการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายให้ได้มากที่สุด” วิธีนี้เหมาะกับน้องหมาที่เพิ่งได้รับสารพิษมาภาย 30 นาที – 4 ชั่วโมง
กรณีได้รับสารพิษผ่านผิวหนังหรือขน อาจต้องตัดขนก่อน จากนั้นให้ชำระล้างด้วยน้ำอุ่น สบู่ แชมพู หรือน้ำยาล้างจานให้ทั่วถึงและหลายๆ ครั้ง รีบเช็ดตัวให้แห้งและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย แต่หากเป็นสารที่ก่อความระคายเคือง ก็ห้ามถูตัวแรงๆ ให้ใช้การเปิดน้ำฉีดชำระเบาๆ แทน
กรณีสารพิษเข้าตา ให้ใช้น้ำสะอาด เปิดไหลผ่านตาเบาๆ โดยใช้เวลา 10-20 นาทีขึ้นไป โดยอุณหภูมิของน้ำควรใกล้เคียงกับร่างกาย
กรณีได้รับสารพิษทางการกินหรือเลียเข้าปาก ให้กระตุ้นการอาเจียนและป้อนสารดูดซับสารพิษ แต่ต้องระวังหากเป็นสารที่ได้รับมีฤทธิ์กัดกร่อนหรือน้องหมายังไม่รู้สึกตัว ห้ามกระตุ้นให้อาเจียนเด็ดขาด ให้ทำการล้างช่องปากและบริเวณโดยรอบโดยเปิดน้ำไหลผ่านแทน แล้วให้เจ้าของพาไปหาคุณหมอโดยทันที
สำหรับยาที่ช่วยกระตุ้นให้อาเจียน ได้แก่
เกลือแกง 1-3 ช้อนชา แต่ให้ระวังระดับโซเดียมในเลือดสูง เพราะเกลือแกงสามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ ซึ่งอาจทำให้สมองบวมและชัก โดยเฉพาะในสัตว์อายุน้อย ถ้าไม่จำเป็นให้เลี่ยงให้
ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 3 % ขนาด 1-5 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สูงสุดไม่ควรเกิน 50 มิลลิลิตร ต่อครั้ง) สามารถให้ซ้ำได้หากไม่ได้ผล วิธีนี้แนะนำให้ใช้
น้ำยาล้างจานที่มีส่วนผสมของฟอสเฟต โดยผสมน้ำยาล้างจาน 3 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 แก้ว (250 มิลลิลิตร) แต่ให้ระวังห้ามป้อนน้ำยาล้างจานที่มีส่วนผสมของแอลคาไลเด็ดขาด เพราะมีฤทธิ์กัดกร่อนมาก
น้ำยาล้างจานที่มีส่วนผสมของฟอสเฟต โดยผสมน้ำยาล้างจาน 3 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 แก้ว (250 มิลลิลิตร) แต่ให้ระวังห้ามป้อนน้ำยาล้างจานที่มีส่วนผสมของแอลคาไลเด็ดขาด เพราะมีฤทธิ์กัดกร่อนมาก
น้ำเชื่อมไอปิแคค 7 % (Ipecac) ป้อนขนาด 1-2 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยอาจเจืองจางด้วยน้ำในอัตราส่วน 1:1 หากไม่อาเจียนสามารถให้ซ้ำได้ไม่เกิน 1 ครั้ง แต่ยามีรสขม น้องหมาอาจไม่ยอมกิน และอาจมีผลต่อหัวใจ ถ้าไม่จำเป็นให้เลี่ยงใช้เช่นกัน
สำหรับยาที่ช่วยดูดซับสารพิษ ได้แก่
ผงถ่าน (Activated charcoal) ควรป้อนผงถ่านมากเป็น 10 เท่าของปริมาตรสารพิษที่รับเข้าไป หรือขนาด 0.5-4 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยผสมผงถ่าน 1 กรัมในน้ำ 5 มิลลิลิตร โดยป้อนหลังจากการทำให้อาเจียนแล้วหรือป้อนเพื่อต้องการดูดซับสารพิษอย่างเดียวก็ได้ แต่ห้ามป้อนพร้อมกับยาอื่น เพราะผงถ่านจะดูดซับยาดังกล่าวด้วย ภายหลังจากป้อนผงถ่านแล้ว 30 นาที ให้ป้อนยาระบาย เช่น ซอร์บิทอลหรือแลคทูโรท ตามไปด้วย เพื่อเร่งการระบายและป้องกันการคายกลับของสารพิษจากผงถ่าย ข้อควรระวัง ห้ามให้ผงถ่านกรณีที่น้องหมามีปัญหาระบบทางเดินหายใจ หรือกรณีที่ได้รับสารพิษพวกไฮโดรคาร์บอนหรือสารที่มีฤทธิ์กัดกร่อน เช่น พวกกรดหรือด่างต่างๆ เพราะผงถ่านดูดซับไม่ได้
สำหรับหลักในการป้องกันพิษภัยจากยาฆ่าเห็บหมัดนั้นทำได้ง่ายๆ มุมหมอหมา มีหลัก 5 ส(ศ) มาแนะนำอยากให้ทุกคนได้ทำกันนะครับ
“ศึกษา”
ก่อนนำมาใช้ต้องศึกษาผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาใช้ก่อนทุกครั้ง โดยอ่านจากเอกสารกำกับยาหรือฉลากยา ซึ่งภายในนั้นจะชี้แจงรายละเอียดส่วนประกอบของยา ข้อบ่งใช้ ขนาดและวิธีการใช้ ข้อยกเว้น คำเตือน ข้อควรระวัง อาการไม่พึงประสงค์ ตลอดจนการเก็บรักษายาไว้อย่างครบถ้วน
“สอบถาม”
หากอ่านเอกสารกำกับยาแล้วไม่เข้าใจควรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้รู้หรือสัตวแพทย์ให้ดีก่อนนำมาใช้ อย่าเชื่อจากคำบอกเล่าหรือการเล่าต่อกันมาแบบปากต่อปากโดยไม่มีข้อมูลอ้างอิงทางวิชาการ
“สวมใส่”
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอกร่างกาย ก่อนจะนำมาใช้ให้เจ้าของสวมถุงมือและหน้ากากเพื่อป้องกันก่อน เพราะยาที่ใช้อาจเป็นสารเคมี ที่สามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ รวมทั้งตัวน้องหมาเองเมื่อได้รัยยาแล้ว ก็ควรต้องสวมปลอกคอกันเลียหรือสวมเสื้อไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เลียเอาสารพิษเข้าสู่ร่างกาย
“สัมผัส”
หลีกเลี่ยงการสัมผัสลูบคลำโดยตรงกับน้องหมาที่เพิ่งใส่ยา หยอดยา ทายาหรือพ่นยาบนตัวมา หากเผลอไปสัมผัสก็ให้ล้างมือทำความสะอาด ที่สำคัญก็ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็กด้วย
“สังเกต”
ให้สังเกตอาการน้องหมาหลังได้รับยา ว่ามีอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียงจากยาหรือไม่ ถ้ามีให้รีบปฐมพยาบาลตามที่แนะนำไปข้างต้น แล้วรีบพาส่งโรงพยาบาลต่อไปครับ
พาราเซลซัส บิดาแห่งพิษวิทยา ได้กล่าวไว้ว่า “All substances are poisons; there is none which is not a poison. The right dose differentiates a poison and remedy” ซึ่งแปลได้ว่า “ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนเป็นพิษ ไม่มีสิ่งใดเลยในโลกนี้ที่ไม่เป็นพิษ ขนาดการรับสัมผัสเท่านั้นที่จะเป็นตัวกำหนดระดับความเป็นพิษของทุกสิ่ง” (คมมั้ยล่ะ) คำกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่า ความเป็นพิษขึ้นกับปริมาณที่ได้รับ เพราะฉะนั้นการนำยาอะไรมาใช้เพื่อกำจัดเห็บหมัด จึงอยากให้ทุกคนช่วยตระหนักถึงโทษของพิษภัยเอาไว้ด้วย และก็อย่าลืมหลัก 5 ส(ศ) ที่ มุมหมอหมา แนะนำไปด้วยนะครับ
บทความโดย: หมอต้น Dogilike.com
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
ที่มาของข้อมูลบางส่วน:
วรา พานิชเกรียงไกร 2549, สารพิษและพิษจากยาในสุนัขและแมว.
กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ตีรณสาร
กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ตีรณสาร
รูปภาพประกอบ:
www.halleballedog.com
www.petmd.com
www.care2.com
www.old.dogsandpuppies.co.uk
www.happydogsplay.com
www.flickr.com
www.realmomsguide.sheknows.com
www.ehow.com
SHARES