โดย: Tonvet
โรคไรขี้เรื้อนในน้องหมารักษากันอย่างไร
โรคขี้เรื้อนคืออะไร ทราบอย่างไรว่าเป็น และเป็นแล้วต้องทำอย่างไร
10 เมษายน 2556 · · อ่าน (660,144)
หากจะกล่าวถึงโรคผิวหนังในสุนัขที่ใครหลายคนต่างรู้จัก คงจะหนีไม่พ้น โรคขี้เรื้อนหรือโรคไรขี้เรื้อน แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ที่ไม่เข้าใจว่าโรคขี้เรื้อนจริง ๆ แล้วนั้นเป็นอย่างไร จนบางทีก็เหมารวมว่า น้องหมาที่เป็นโรคผิวหนังนั้นเป็นโรคขี้เรื้อนไปเสียหมด
ความจริงแล้วโรคผิวหนังเกิดได้จากหลายสาเหตุ โรคขี้เรื้อนก็เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากปรสิตภายนอก คือ ตัวไร (mite) หรือไรขี้เรื้อน ไรขี้เรื้อนที่มักพบมี 2 ชนิด คือ ไรขี้เรื้อนซาร์คอพเตส (Sarcoptes spp.) กับ ไรขี้เรื้อนดีโมเด็กซ์ (Demodex spp.) เจ้าตัวไรขี้เรื้อนซาร์คอพเตส เป็นต้นเหตุของ โรคไรขี้เรื้อนแห้ง ส่วนไรขี้เรื้อนดีโมเด็กซ์ เป็นต้นเหตุของ โรคไรขี้เรื้อนเปียกหรือไรขี้เรื้อนขุมขน เพื่อให้เพื่อน ๆ เข้าใจโรคไรขี้เรื้อนในสุนัขมากขึ้น เรามาเรียนรู้โรคไรขี้เรื้อนกันไปทีละชนิดกันเลยครับ
โรคไรขี้เรื้อนแห้ง (Sarcopticosis)
โรคไรขี้เรื้อนแห้ง เกิดจากตัวไรขี้เรื้อน Sarcoptes scabiei เราจึงเรียกชื่อโรคนี้อีกชื่อสั้น ๆ ว่า โรค Scabies เจ้าตัวไรขี้เรื้อนชนิดนี้ มักอาศัยในผิวหนังชั้น stratum corneum โดยชอบอยู่ตามขอบใบหู ใต้ท้อง ข้อศอกและข้อเท้าของขาหลังด้านนอก จึงทำให้น้องมาเกิดอาการเกาคันอย่างรุนแรง คันมากในแบบที่ว่า วัน ๆ ไม่ต้องทำอะไรกันเลย นอกเสียจากการคันและเกา จนทำให้เกิดความเครียด เบื่ออาหาร น้ำหนักลดไปเลยก็มี บางรายอาจเกิดผิวหนังอักเสบ ขนร่วง ตุ่มแดง สะเก็ดรังแค (scale) เกิดคราบสะเก็ดแห้งกรัง (crust) หรือเกิดลักษณะผิวแห้งหนา (lichenification) ร่วมด้วยครับ
ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคไรขี้เรื้อนแห้ง
คุณหมอจะใช้วิธีขูดตรวจที่ผิวหนังด้วยวิธี superficial skin scraping โดยขูดตรวจที่ชั้นผิวตื้น ๆ แต่ต้องขอบอกเพื่อน ๆ ว่า เจ้าตัวไรขี้เรื้อนซาร์คอพเตส (Sarcoptes spp.) นี้ ค่อนข้างตรวจพบยากมากเลยทีเดียว ส่วนใหญ่มักขูดตรวจไม่พบครับ แต่ถึงจะขูดไม่พบเราก็ไม่สามารถตัดประเด็นโรคนี้ไปได้ บางครั้งอาจต้องวินิจฉัยจากอาการ และดูการตอบสนองต่อยาฆ่าตัวไรขี้เรื้อนที่คุณหมอได้ให้ไปครับ
นอกจากนี้เรายังใช้วิธีการทดสอบการตอบสนอง (reflex) ด้วยการบีบนวดที่ปลายใบหู เพื่อดูปฏิกิริยาของไรขี้เรื้อน เรียกว่า pinna-pedal reflex โดยสุนัขที่ตอบสนองจะยกขาข้างเดียวกับหูที่เราบีบนวดขึ้นมาเกา ซึ่งมีโอกาสสูง (ประมาณ 70-80%) ที่จะเป็นโรคไรขี้เรื้อนแห้งครับ แต่เราก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ เพราะสุนัขที่คันหูหรือมีปัญหาช่องหู ก็มักจะแสดงปฏิกิริยานี้เช่นกัน
โรคไรขี้เรื้อนแห้งรักษากันอย่างไร
การรักษามีหลายวิธีครับ ขึ้นอยู่กับตัวสัตว์และงบประมาณของเจ้าของ โดยเลือกใช้วิธีการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. ให้คุณหมอฉีดยา ivermectin ทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ ต่อเนื่องกัน 2-3 ครั้ง แต่วิธีนี้ห้ามใช้ในสุนัขบางพันธุ์ เช่น Collie, Old English sheepdog, Shetland sheepdog, Australian Shepherds ฯลฯ และพันธุ์ลูกผสมของพันธุ์ดังกล่าว เพราะเป็นพันธุ์ที่มีความไวต่อยาสูง อาจเสี่ยงแพ้ยาได้ง่าย วิธีนี้ราคารักษาค่อนข้างถูกกว่าวิธีอื่น ๆ แต่จัดเป็นยานอกทะเบียนในน้องหมา (extra-label use) ต้องใช้ตามคำแนะนำของคุณหมอเท่านั้นครับ
2. ใช้วิธีหยดหลังด้วยยา selamectin ทุก 2 สัปดาห์ ติดต่อกัน 3 ครั้ง สามารถใช้ได้ในสุนัขพันธุ์เสี่ยงดังกล่าวได้
3. ใช้ยา moxidectin+imidaclopid หยดหลังติดต่อกัน 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ สามารถใช้ได้ในสุนัขพันธุ์เสี่ยงดังกล่าวได้เช่นกัน
4. ใช้วิธีการป้อนยา milbemycin oxime สัปดาห์ละ 2 ครั้งต่อเนื่องกัน 4 สัปดาห์ วิธีนี้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงกว่าวิธีอื่น ๆ เล็กน้อย แต่สามารถใช้ในสุนัขพันธุ์เสี่ยงได้ครับ
1. ให้คุณหมอฉีดยา ivermectin ทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ ต่อเนื่องกัน 2-3 ครั้ง แต่วิธีนี้ห้ามใช้ในสุนัขบางพันธุ์ เช่น Collie, Old English sheepdog, Shetland sheepdog, Australian Shepherds ฯลฯ และพันธุ์ลูกผสมของพันธุ์ดังกล่าว เพราะเป็นพันธุ์ที่มีความไวต่อยาสูง อาจเสี่ยงแพ้ยาได้ง่าย วิธีนี้ราคารักษาค่อนข้างถูกกว่าวิธีอื่น ๆ แต่จัดเป็นยานอกทะเบียนในน้องหมา (extra-label use) ต้องใช้ตามคำแนะนำของคุณหมอเท่านั้นครับ
2. ใช้วิธีหยดหลังด้วยยา selamectin ทุก 2 สัปดาห์ ติดต่อกัน 3 ครั้ง สามารถใช้ได้ในสุนัขพันธุ์เสี่ยงดังกล่าวได้
3. ใช้ยา moxidectin+imidaclopid หยดหลังติดต่อกัน 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ สามารถใช้ได้ในสุนัขพันธุ์เสี่ยงดังกล่าวได้เช่นกัน
4. ใช้วิธีการป้อนยา milbemycin oxime สัปดาห์ละ 2 ครั้งต่อเนื่องกัน 4 สัปดาห์ วิธีนี้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงกว่าวิธีอื่น ๆ เล็กน้อย แต่สามารถใช้ในสุนัขพันธุ์เสี่ยงได้ครับ
เรื่องจริงที่ต้องรู้เกี่ยวกับโรคไรขี้เรื้อนแห้ง
โรคไรขี้เรื้อนแห้งสามารถติดต่อทั้งคนและสัตว์ตัวอื่น ๆ ได้ เพื่อน ๆ ควรต้องแยกเลี้ยงน้องหมาที่เป็นโรคกับน้องหมาตัวอื่น ๆ ในบ้านด้วย เพื่อป้องกันการติดต่อสู่กัน รวมทั้งต้องป้อนยาแก้อาการคัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการด้วย และหากมีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือยีสต์แทรกซ้อน อาจต้องได้รับยาฆ่าเชื้อร่วมด้วยครับ
โรคไรขี้เรื้อนเปียก (Demodicosis)
โรคไรขี้เรื้อนเปียกหรือโรคไรขี้เรื้อนขุมขน เกิดจากการเจริญเพิ่มจำนวนของตัวไรขี้เรื้อน Demodex canis, Demodex injai หรือ Demodex cornei เจ้าตัวไรขี้เรื้อนเหล่านี้ มักอาศัยอยู่ในรูขุมขน ๆ บริเวณใบหน้า หัว รอบตา ลำตัว ขา ฝ่าเท้า และอุ้งเท้า คอยอาศัย sebum และส่วนของเยื่อบุของ follicle เป็นอาหาร ทำให้น้องมาเกิดอาการขนร่วง มีเม็ดตุ่ม มีตุ่มหนอง ผิวหนังเยิ้มแฉะ มีแผลหลุม มีแผลโพรงทะลุ มีกลิ่นตัว (กลิ่นคาวปลาเค็ม) เกิดรูขุมขนอักเสบ (Folliculitis) ตามมาได้
บางรายอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือยีสต์แทรกซ้อน ทำให้เกิดอาการเกาคัน อาจพบอาการทางระบบ (systemic) ตามมาได้ เช่น เบื่ออาหาร ซึม น้ำหนักลด และมีไข้ ฯลฯ ในรายที่เป็นเรื้อรังจะเห็นเป็นสะเก็ดแห้งกรัง (crust) มีหนองหรือเลือดออกเกือบทั่วร่างกาย รวมทั้งอาจมีต่อมน้ำเหลืองบวมโตทั่วร่างกาย (Polylymphadenopathy) อีกด้วย ถ้าจะแบ่งประเภทของโรคไรขี้เรื้อนเปียก เราสามารถแบ่งแยกออกได้อีกเป็น 2 แบบครับ คือ
1. แบบเฉพาะที่ รอยโรคมักจะเกิดเป็นหย่อม ๆ ที่บริเวณใบหน้า หัว รอบตา จำนวนของรอยโรคจะไม่เกิน 3-5 ตำแหน่ง มักพบในลูกสุนัข อายุ 3-6 เดือน หากเป็นประเภทนี้การพยากรณ์โรคจะดี บางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจพัฒนากลายเป็นแบบกระจายทั่วตัวได้
2. แบบกระจายทั่วตัว มักพบรอยโรคที่บริเวณใบหน้า หัว รอบตา ลำตัว ขา ฝ่าเท้า และอุ้งเท้า กระจายเป็นบริเวณกว้าง สามารถพบได้ในสุนัขที่มีอายุระหว่าง 3-18 เดือน และสามารถพบได้ในสุนัขที่โตเต็มที่แล้ว
ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคไรขี้เรื้อนเปียก
คุณหมอจะใช้วิธีการขูดตรวจผิวหนังชั้นลึกด้วยวิธี deep skin scraping ในหลาย ๆ ตำแหน่ง วิธีนี้อาจทำให้น้องหมามีเลือดไหลซิบ ๆ ออกมาบ้าง แต่เพื่อน ๆ ไม่ต้องตกใจนะครับ เพราะไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด สาเหตุที่ต้องขูดตรวจชั้นลึก ก็เพราะว่า เจ้าตัวไรขี้เรื้อนดีโมเด็กซ์ (Demodex spp.) ชอบอาศัยอยู่ในรูขุมขน บางครั้งคุณหมออาจจะใช้วิธีการดึงเส้นขนมาตรวจ (Trichogram) ในตำแน่งที่ขูดตรวจยาก เช่น รอยตา ฝ่าเท้า ง่ามนิ้ว ฯลฯ หรือทำการเก็บชิ้นเนื้อ (Biopsy) มาตรวจในบางรายครับ
โรคไรขี้เรื้อนเปียกรักษากันอย่างไร
- ในกรณีเป็นแบบเฉพาะที่
แนะนำให้ใช้การอาบน้ำและฟอกด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมของ benzoyl peroxide หรือ chlorhexidine โดยผสมแชมพูรวมกับน้ำ แล้วฟอกที่บริเวณรอยโรคทิ้งไว้นาน 5-10 นาที ทำเช่นนี้สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เจ้าของอาจต้องโกนขนหรือตัดขนบริเวณรอยโรคให้สั้น เพื่อให้ตัวยาในแชมพูสัมผัสกับรอยโรคได้ดียิ่งขึ้น
- ในกรณีเป็นแบบกระจายทั่วตัว
ในการรักษาอาจต้องใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำด้วยแชมพูดังกล่าว ร่วมกับใช้ยาฆ่าตัวไร (miticidal) อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. ป้อนยา ivermectin หรือป้อนยา milbemycin oxime ให้น้องหมา วันละครั้ง สำหรับยา ivermectin ให้ระวังในสุนัขพันธุ์เสี่ยงด้วยครับ หรือ
2. ใช้การหยอดหลังด้วยยา moxidectin+imidaclopid ทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ หรือ
3. ให้คุณหมอฉีดยา doramectin ทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ก็ได้ แต่ห้ามใช้ในสุนัขพันธุ์เสี่ยงเช่นกัน และ
4. ใช้การพ่นหรือทายา amitraz บนตัวน้องหมาทุก ๆ สัปดาห์ โดยแนะนำให้ตัดขนให้สั้นก่อน เพื่อให้ยาสัมผัสกับรอบโรคได้ดียิ่งขึ้น และควรสวมปลอกคอกันเลีย เพื่อป้องกันน้องหมาเลียรับเอาสารพิษจากยาเข้าสู่ร่างกายทางปากด้วย
ยาแต่ละตัวที่ได้กล่าวไปนี้ มีผลข้างเคียงและข้อคำนึงในการใช้ไม่เหมือนกัน (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม...คลิก) จึงควรต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของคุณหมอเท่านั้น ห้ามซื้อมาใช้เองเป็นอันขาด และในการรักษา เราอาจต้องพาน้องหมามาขูดตรวจซ้ำเป็นประจำทุก ๆ เดือน หากขูดตรวจไม่พบตัวไรแล้ว ให้ทำการรักษาต่อไปอีก 4 สัปดาห์ แล้วขูดตรวจซ้ำเป็นครั้งที่สอง หากไม่พบอีกจึงค่อยหยุดการรักษาครับ
เรื่องจริงที่ต้องรู้เกี่ยวกับโรคไรขี้เรื้อนเปียก
1. ตัวไรขี้เรื้อนดีโมเด็กซ์ (Demodex spp.) เป็นเชื้อที่อยู่บนผิวหนังของน้องหมาอยู่แล้ว น้องหมาที่เป็นโรคไรขี้เรื้อนเปียก เกิดจากเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนของไรขี้เรื้อนดังกล่าว ยกเว้นลูกสุนัขแรกเกิดที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายยังไม่ดีพอ สามารถติดโรคจากแม่ที่ป่วยได้ใน 72 ชั่วโมงแรกหลังคลอด แต่ไม่สามารถติดต่อไปยังสุนัขตัวอื่น ๆ อีกต่อได้
2. ปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ พันธุกรรม ภูมิคุ้มกัน อิทธิพลของฮอร์โมน ช่วงเป็นสัด โรคประจำตัว ความเครียด สภาพแวดล้อม การได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือเคมีบำบัด ฯลฯ ล้วนมีส่วนช่วยให้เกิดปัญหาโรคไรขี้เรื้อนเปียกขึ้นมาได้
3. โรคไรขี้เรื้อนเปียกในสุนัขโต อาจเป็นผลตามมาจากโรคอื่น ๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ ทำให้บางครั้งอาจต้องใช้เวลาในการรักษายาวนานกว่าจะเห็นผล (อย่างน้อย 3-6 เดือน) ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะไม่หายขาด
4. เราจะบอกได้ว่าน้องหมาหายจากโรคไรขี้เรื้อนเปียกได้แล้ว ก็ต่อเมื่อไม่พบการกลับมาเป็นซ้ำอีกภายในระยะเวลา 1 ปี
5. เจ้าของที่รักษาน้องหมามานาน แล้วดูทีท่าไม่หายสักที ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของโรคนี้ด้วยนะครับ เพราะบางครั้งการที่เราหยุดยาเร็วเกินไป ก็อาจทำให้น้องหมากลับมาเป็นอีกไม่หายสักที อีกทั้งการติดเชื้อแบคทีเรียหรือยีสต์แทรกซ้อน ทำให้การรักษาโรคยุ่งยากมากขึ้น
6. โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อนะครับวางใจได้ แต่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เพราะฉะนั้นน้องหมาที่ป่วยอย่างรุนแรง จึงแนะนำให้ทำหมันครับ
ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการรักษาโรคขี้เรื้อนในสุนัข
กรณีการนำเอา น้ำมันเครื่อง (น้ำมันขี้โล้ว) หรือน้ำมันก๊าด มาทาหรือราดบนตัวของน้องหมาที่เป็นโรคผิวหนังหรือขี้เรื้อนนั้น ขอเน้นย้ำว่า วิธีนี้เป็นวิธีการรักษาที่ไม่ถูกต้อง การที่เรานำมาทาหรือราดบนตัวของน้องหมานั้น จะทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรง ทำให้ผิวหนังเปื่อยหลุดลอก เกิดอาการแพ้ตามมา น้ำมันจะไปชะล้างไขมันตามธรรมชาติออกจากผิวหนัง ทำให้ผิวหนังอ่อนแอลง และหากได้รับผ่านทางการสูดดมก็จะทำให้เกิดการระหายเคืองต่อเยื่อบุโพรงจมูกได้ อีกทั้งสารไฮโดรคาร์บอนที่อยู่ในน้ำมันเครื่อง สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ ซึ่งอาจทำให้น้องหมาคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนแรง ซึม และหมดสติได้ครับ (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม...คลิก)
คงจะได้รับความรู้เกี่ยวกับโรคไรขี้เรื้อนไปไม่น้อยเลยนะครับ สำหรับโรคผิวหนังในสุนัขยังมีอีกมากมาย เพื่อน ๆ ที่สนใจ สามารถติดตามอ่านได้ในคอลัมน์ มุมหมอหมา จาก ด็อกไอไลค์ดอทคอม (Dogilike) ได้เป็นประจำทุกวันพุธ สัญญาว่าจะพยายามนำข้อมูลดี ๆ มาเสนอให้เพื่อน ๆ ได้รับความรู้กันแบบจัดเต็มเช่นเคยครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
รูปภาพประกอบ:
www.buzzle.com
www.animalaidunlimited.com
www.moderndaypets.wpengine.com
www.runyourdog.com
www.allstop.com
www.waycooldogs.com
www.mange.net
www.scoop.it.
www.petcaregt.com
www.bridgetfoods.com
SHARES