โดย: เว็บมาสเตอร์มะเหมี่ยว

แก้ปัญหาชวนขนลุก ... จะทำยังไงดีเมื่อ "เห็บยึดบ้าน"

เรื่องของ เห็บหมัด กลายมาเป็น Topic อีกครั้ง เพราะเกิดเหตุกองทัพ "เห็บ" บุกบ้านเป็นกองทัพล้าน ๆ ตัว

21 มิถุนายน 2560 · · อ่าน (19,327)
383

SHARES


383 shares


     เรื่องของ เห็บหมัด กลายมาเป็น Topic อีกครั้ง เมื่อชาวบ้านใน อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี ผวาหนัก กินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะกองทัพ "เห็บลม" บุกบ้านมาเป็นกองทัพนับล้านตัว กัดกินสุนัขพันธุ์อัลเซลเซียนที่เลี้ยงไว้ ถูกเห็บกัดกินเลือดจนทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดตายไปแล้ว 1 ตัว!!!!


Dogilike.com :: แก้ปัญหาชวนขนลุก ... จะทำยังไงดีเมื่อ เห็บยึดบ้าน


     แค่ฟังแล้วนึกภาพตามก็ขนลุกแล้วล่ะค่ะ แถมยังกัดน้องหมาจนเสียชีวิตอีก ... หลายคนอ่านข่าวแล้วตกใจว่า "เห็บลม คืออะไร? เป็นเห็บหลายพันธุ์ใหม่เหรอ" แล้วแค่เห็บกัดสามารถทำให้น้องหมาตายได้เลยเหรอ มีวิธีจัดการอะไรยังไง ถ้าโดนเห็บกัดแล้วน้องหมาจะตายเลยไหม ...

     ในเมื่อมีคำถามมากมายขนาดนี้ วันนี้ Dogilike ก็เลยมีข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่อง เห็ด ๆ หมัด ๆ มาตอบทุกข้อสงสัย คลายความกังวลให้คนรักน้องหมากันค่ะ เอาล่ะ ไปดูกันเลย
 

Dogilike.com :: แก้ปัญหาชวนขนลุก ... จะทำยังไงดีเมื่อ เห็บยึดบ้าน


>> เห็บลมคืออะไร เป็นเห็บสายพันธุ์ใหม่จริงเหรอ?


     หยุดก่อนค่ะ! อย่าเพิ่งมโนกันไป ... เห็บลมไม่ใช่เห็นพันธุ์ใหม่หรอกค่ะ จริง ๆ ก็คือเห็บที่คล้ายกับเห็บเกาะอยู่ตามตัวน้องหมานั่นแหละ ก่อนดูดเลือดจะมีลักษณะเป็นตัวกลม ๆ แบน ๆ แต่ถ้าไปกัดและดูดเลือดไปแล้วตัวของเห็บก็จะนูนออกมาให้เห็น ส่วนที่เรียกว่าเห็บลมก็อาจะเป็นเพราะ มีขนาดตัวที่เล็กมากชนิดที่สามารถลอยไปตามลมได้เลยทีเดียว จริง ๆ นอกจากชื่อเห็บลมแล้วยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกนะคะ เช่น เห็บทราย , เห็บเสี้ยน , แมงแดง เป็นต้น ส่วนใหญ่จะพบในช่วงฤดูแล้งในเขตป่า

 

>> อยู่ ๆ ทำไมเห็บถึงบุกบ้าน?


     จริง ๆ แล้วเห็บสามารถอยู่ในบ้านและบริเวณบ้านของทุกคนได้นะคะ ถ้าสิ่งแวดล้อมนั้นเอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัยและการเพาะพันธุ์ เช่น บริเวณบ้านเป็นป่ารก หรือมีอุณหภมิที่อบอุ่นพอดี เป็นต้น เห็บจะสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วในระหว่างรอยต่อของฤดูร้อนกับฤดูฝนช่วงเดือน เมษายน ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม เพราะสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และอุณหภูมิในช่วงนี้เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของเห็บเป็นอย่างมากเลยทีเดียวล่ะค่ะ ซึ่งถ้าหากอ่านจากเนื้อหาในข่าวแล้ว บริเวณบ้านที่เห็บบุกนั้นมีสภาพเป็นป่ายาง บวกกับสภาพอากาศร้อนชื้นในช่วงนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยค่ะว่า ทำไมถึงมีเห็บชุกชุมเป็นกองทัพขนาดนั้น
 

Dogilike.com :: แก้ปัญหาชวนขนลุก ... จะทำยังไงดีเมื่อ เห็บยึดบ้าน


>> เห็บอันตรายถึงกับกัดแล้วน้องหมาตายได้เลยเหรอ?


     เห็นตัวเล็ก ๆ ไม่มีพิษมีภัยแบบนี้ บอกเลยค่ะว่าเห็บคือภัยเงียบที่ทำร้ายน้องหมามานานแสนนานแล้ว!! เห็บในโลกเรานี้มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เห็บแต่ละชนิดก็นำโรคไม่เหมือนกัน ... สำหรับโรคในน้องหมาที่เกิดจากเห็บนั้น เช่น

     ภาวะโลหิตจาง เกิดจากร่างกายสูญเสียเลือด (โดยเฉพาะเม็ดเลือดแดง) ไปปริมาณมากจากการโดนเห็บกัด จนทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง (anemia) ตามมา  ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจทำให้น้องหมาเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

     โรคพยาธิในเม็ดเลือด เป็นโรคที่พบบ่อยมากในน้องหมาบ้านเรา เนื่องจากเห็บบางชนิดเป็นพาหะนำเชื้อโปรโตซัวและริคเก็ตเซียซึ่งทำให้เกิดโรคพยาธิเม็ดเลือดได้ โดยน้องหมาที่ป่วยจะแสดงอาการซึม ไม่กินอาหาร อ่อนแรง เจ็บปวดตามกล้ามเนื้อ ตามข้อต่อ ตลอดจนแสดงอาการอาเจียน ท้องเสีย ไอ หายใจลำบาก ไปจนถึงมีอาการชักได้ด้วย

     โรคอัมพาตจากเห็บ เป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน สาเหตุเกิดจากการที่เมื่อเห็บบางชนิด อย่างเช่น Ixodes spp. , Dermacentor spp. , Amblyomma spp. และ Rhipicephalus spp. กัดน้องหมาแล้วปล่อยสารพิษ neurotoxin ที่มีอยู่ในน้ำลายออกมาทำลายระบบประสาท ทำให้ขาอ่อนแรงอย่างเฉียบพลัน เกิดเป็นอัมพาตแบบกระทันหัน โดยเฉพาะที่ขาหลัง ความรุนแรงขึ้นกับปริมาณของพิษ อายุของสุนัข และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

     นอกจากนี้ยังมีโรคและอาการที่เป็นอันตรายอื่น ๆ อีก เช่น ภาวะภูมิแพ้ผิวหนังต่อสารจากแมลงโรคลายม์ (Lyme disease) , โรคไข้ออกจุดเทือกเขาร็อกกี้ (ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนอยากทราบข้อมูลโรคและวิธีรักษาแบบละเอียด สามารถเข้าไปดูได้ที่นี่ค่ะ)

 

>> ถ้าคนโดนเห็บกัดจะอันตรายแค่ไหน?


     หลายต่อหลายครั้งมักจะมีการนำข้อมูลเกี่ยวกับ "เห็บกินเลือดและฝักไข่บนร่างกายคน" มาแชร์ต่อ ๆ กันในโลกออนไลน์ ... ความจริงก็คือ เห็บสามารถกัดกินเลือดคนได้ค่ะ ในบางคนเมื่อถูกกัดอาจเกิดปฏิกิริยาที่ผิวหนังเป็นตุ่มแดงคันบริเวณที่ถูกกัด ต่อมาตุ่มอาจใหญ่เป็นปื้น หรือก้อนนูนและจะมีอาการคัน ในบางรายผิวหนังจะเป็นตุ่มอยู่นานหลายเดือนหรือเป็นปี

     ส่วนเรื่องของโรคติดต่อที่เกิดจากการโดนเห็บกัดนั้น ในประเทศไทยไม่พบโรคที่มีเห็บเป็นพาหะ แต่ไรซึ่งมีลักษณะที่มองด้วยตาเปล่า อาจมีลักษณะคล้ายเห็บสามารถเป็นพาหะนำเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดโรคไข้รากสาดใหญ่หรือ สครับไทฟัส ในปัจจุบันนี้ยังไม่มียาสำหรับป้องกันการเกิดโรคหลังไรกัด ดังนั้นผู้ที่ถูกไรกัด ควรสังเกต ตัวเองว่าเป็นไข้หลังจากถูกไรกัดหรือไม่ โดยทั่วไประยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ไรกัดจน ถึงไข้ขึ้น) ประมาณ 10-12 วันค่ะ


Dogilike.com :: แก้ปัญหาชวนขนลุก ... จะทำยังไงดีเมื่อ เห็บยึดบ้าน


 

>> ทำยังไงดีเมื่อเราถูกเห็บกัด?


     เมื่อรู้ตัวว่าถูกเห็บกัด  สิ่งที่ควรทำอย่างแรกก็คือ เอาเห็บออกจากผิวหนังคือ ให้ใช้แหนบถอนขนคีบเห็บส่วนที่ใกล้ ผิวหนังมากที่สุดแล้วค่อย ๆ ดึงออก ห้ามใช้บุหรี่จี้หรือใช้น้ำยาล้างเล็บ ขี้ผึ้ง สบู่เหลว ทาหรือฟอกเพื่อเอาเห็บออกเด็ดขาด เพราะสารพวกนี้จะทำให้เห็บระคายเคืองและปล่อยสารพิษเข้าไปในแผลที่มันกัดได้ ซึ่งจะทำให้เป็นอันตรายมากขึ้นจากที่โดนกัด นอกจากนี้ยังห้ามบิด หรือกระชาก ไม่ควรบีบขยี้หรือเจาะตัวเห็บ เพราะจะทำให้ของเหลวจากตัวเห็บ ซึ่งอาจมีเชื้อโรคถูกปล่อยออกมา และหลังจากเอาเห็บออกแล้ว ควรล้างมือและผิวหนังบริเวณที่ถูกกัดด้วยสบู่ให้สะอาดด้วยนะคะ และถ้าเห็นส่วนของปากเห็บติดอยู่ที่ผิวหนังให้ ปล่อยเอาไว้ร่างกายจะพยายามกำจัดออกมาเอง อย่าพยายามแกะหรือแคะ เพราะออกจะทำให้ผิวหนัง เป็นเป็นแผลติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ค่ะ

 

>> กำจัดเห็บยังไงให้สิ้นซาก?


     การกำจัดเห็นอย่างได้ผลที่สุดจะต้องกำจัด 2 ทางนะคะ  1.กำจัดเห็บที่อยู่บนตัวน้องหมา 2. กำจัดเห็บในสิ่งแวดล้อม ควบคู่กันไป เพราะหากกำจัดเฉพาะบนตัวน้องหมา หรือกำจัดเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่น้องหมาอาศัยอยู่เพียงอย่างเดียว  เจ้าเห็บตัวร้ายก็อาจจะกระโดดกลับมาอาศัยอยู่บนตัวน้องหมาได้อีกอย่างไม่สิ้นสุด และอาจจะขยายพันธุ์จนยึดบ้านเราในที่สุด!!

     สำหรับการกำจัดเห็บที่ตัวน้องหมา เจ้าของควรหมั่นกำจัดเห็บบนตัวน้องหมาให้เป็นกิจวัตร เพื่อป้องกันการกลับมาของเห็บ ซึ่งในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สำหรับกำจัดเห็บมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ยาฉีด ยาหยอดหลัง ยาพ่น แชมพู ปลอกคอกันเห็บ ฯลฯ ให้เราได้เลือกใช้มากมาย แต่ถึงอย่างไรเราก็ต้องใช้อย่างระมัดระวังด้วย เพราะส่วนใหญ่จะเป็นสารเคมี ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับทั้งคนและน้องหมาหากใช้ไม่ถูกหรือใช้ในปริมาณที่มากเกินไปค่ะ

     ส่วนการกำจัดเห็บในสิ่งแวดล้อม แนะนำให้ผู้เลี้ยงแบ่งย่อยการกำจัดเป็น 2 ส่วนคือ
     1. กำจัดเห็บภายในบ้านเริ่มจากการกวาดบ้าน ถูบ้าน ดูดฝุ่น โดยเน้นดูดฝุ่นตามซอกมุมต่าง ๆ ภายในบ้าน  เช่น บนพื้น รอยต่อของไม้ ซอกประตู หน้าต่าง ทำความสะอาดที่นอน โซฟา โต๊ะ ตู้ ฯลฯ หรือในที่ที่คิดว่า ตัวอ่อนของเห็บจะสามารถซุกซ่อนอยู่ได้ค่ะ การทำความสะอาดผู้เลี้ยงควรเริ่มทำจากที่สูงลงมาที่พื้น สังเกตดูตามผนังบ้านว่า มีจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาลเกาะอยู่ตามกำแพงหรือไม่ เพราะจุดสีน้ำตาลเล็ก ๆ อาจจะเป็นไข่ของเห็บที่มาวางไข่ทิ้งไว้ก็ได้ค่ะ หลังจากที่ผู้เลี้ยงทำความสะอาดกวาดถูบ้านเสร็จแล้ว แนะนำให้ใช้ยาพ่นกำจัดเห็บที่มีส่วนผสมของ Pyrethrin หรือ Permethrin ที่มีฤทธิ์ฆ่าเห็บมาฉีดพ่นตามฝาผนัง ซอกต่าง ๆ เพราะเห็บมักจะเข้าไปหลับและฝังอยู่ตามผนังที่มีช่องว่าง สิ่งสำคัญในขณะพ่นยากำจัดเห็บผู้เลี้ยงอย่าลืมที่จะใส่หน้ากากป้องกันการสูดดมยา และควรป้องกันลูกหลาน สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ให้ออกจากพื้นที่ในขณะฉีดพ่นก่อน และรอจนกว่าสารเคมีจะแห้งจึงค่อยปล่อยให้เด็ก และสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ให้ออกมาเดินเล่นตามปกติได้ค่ะ

     2. กำจัดเห็บภายนอกบ้าน ถ้ารอบบ้านเป็นสนามหญ้า ก็ควรหมั่นดูแลตัดหญ้าให้โล่งเตียนอยู่เสมอ และควรพ่นยากำจัดเห็บที่มีส่วนประกอบของ  Permethrin หรือ Pyrethrin บนพื้นสนามหญ้า ตามพุ่มไม้ ผนังรอบ ๆ ตัวบ้าน โดยเฉพาะรอยแตกร้าวตามซอกมุมต่าง ๆ  บริเวณซอกกรง บริเวณที่น้องหมาชอบนอน หรือส่วนที่คิดว่าเห็บอาจจะอาศัยอยู่ได้ การพ่นยากำจัดเห็บบนพื้นหญ้าและต้นไม้ ผู้เลี้ยงควรพ่นยาในระดับ 2 - 3 ฟุตเหนือจากพื้นดิน เพราะเป็นโดยมากแล้วเห็บจะอยู่ตามยอดหญ้า ปลายกิ่งไม้ เพื่อรอจับเกาะบนตัวน้องหมาที่เดินผ่านมา และหลังจากการพ่นยากำจัดเห็บแล้วควรงดไม่ให้น้องหมาออกมาวิ่งเล่นในบริเวณสนามหญ้าเป็นเวลา 1-2 วัน เพราะน้องหมาอาจจะสัมผัสกับสารเคมีที่ตกค้างอยู่ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสุขภาพของน้องหมาได้ค่ะ


คลิปข่าว "กองทัพเห็บบุกบ้าน"



     ดูข่าวไปก็ขนลุกไปนะคะ ... ถ้าใครไม่อยากให้เห็บบุกบ้านล่ะก็ อย่าลืมกำจัดเห็บอย่างสม่ำเสมอทั้งสองทางเพื่อความปลอดภัยของทั้งน้องหมาและตัวผู้เลี้ยงค่ะ ส่วนใครที่ไม่แน่ใจในการเลือกผลิตภัณฑ์กำจัดเห็นหมัด แนะนำว่าให้สอบถามกับสัตวแพทย์พร้อมทั้งขอคำแนะนำในการใช้จะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดค่ะ ^^

 

บทความโดย : Dogilike.com
www.dogilike.com

ภาพประกอบ :

www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9600000062557

คลิปวิดีโอ :
www.youtube.com/watch?v=eKwf2ZxyvXg