โดย: Tonvet

รวมฮิตโรคร้ายในสุนัขที่เกิดจาก "เห็บ"

มาดูกันครับว่า เห็บจอมวายร้ายสามารถทำให้น้องหมาป่วยเป็นโรคอะไรได้บ้าง

1 กันยายน 2559 · · อ่าน (17,190)
1,595

SHARES


1,595 shares

Dogilike.com :: รวมฮิตโรคร้ายในสุนัขที่เกิดจาก เห็บ



     หลายปีมานี้ มุมหมอหมา ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับโรคในสุนัขที่เกิดจากเห็บมาก็หลายเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะกระจัดกระจายไปตามบทความต่าง ๆ ยังไม่เคยได้มีโอกาสรวบรวมเรื่องโรคจากเห็บเอาไว้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวสักที บทความตอนนี้จึงรวบรวมเรื่องโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากเห็บ ผมจะพาเพื่อน ๆ ไปดูกันครับว่า "เห็บ" ปรสิตวายร้ายที่หลายคนไม่ค่อยชอบหน้ากันสักเท่าไร จะทำให้น้องหมาของเราป่วยเป็นโรคอะไรได้บ้าง
 
 
     ก่อนอื่น..ขอทำความเข้าใจกับเพื่อน ๆ ก่อนสักนิดนะครับว่า เห็บในโลกเรานี้มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เห็บแต่ละชนิดก็นำโรคไม่เหมือนกัน อย่างเห็บที่พบได้บ่อยสุดในสุนัขบ้านเราก็คือ Brown dog tick (Rhipicephalus sanguineus) แต่ในที่อื่น ๆ ของโลกก็ยังมีเห็บ Ixodes spp. , เห็บ American dog tick (Dermacentor variabilis) หรือ เห็บ Amblyomma spp. ซึ่งจะได้กล่าวในหัวข้อต่อไปครับว่า เห็บแต่ละชนิดนั้นจะเป็นสาเหตุของโรคอะไรในสุนัขได้บ้าง เรามาดูกันที่โรคแรกกันเลยครับ...
 
 
 

ภาวะโลหิตจาง

 
 
     วงจรชีวิตเห็บมีอยู่ด้วยกัน 4 ระยะครับ คือ ไข่ ตัวอ่อน ตัวกลางวัย และตัวเต็มวัย ตามลำดับ ซึ่ง 3 ใน 4 ของช่วงชีวิตเห็บ (ยกเว้นระยะไข่) ก็จะอาศัยโฮสต์เป็นแหล่งอาหาร และอาหารของเห็บก็ไม่ใช่ิอะไรที่ไหนเลย คือ เลือดของโฮสต์ นั่นเอง ลำพังแค่เห็บ 1-2 ตัวมากินเลือดโฮสต์คงไม่เท่าไหร่ แต่ก็ถ้ามายกโขยงมาอยู่รวมกันเป็นฝูง โฮสต์ก็อาจสูญเสียเลือดปริมาณมากได้ ผมเคยเจอน้องหมาที่มาตรวจถูกเห็บจำนวนมากรุมกัดมานาน น้องหมาถึงกับแสดงอาการอ่อนแรง ซึม น้ำหนักลด อุณหภูมิร่างกายต่ำ เหงือกซีดไปเลย เนื่องจากร่างกายสูญเสียเลือด (โดยเฉพาะเม็ดเลือดแดง) ไปปริมาณมาก จนทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง (anemia) ตามมา  ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจทำให้น้องหมาเสียชีวิตได้เลยทีเดียว
 

Dogilike.com :: รวมฮิตโรคร้ายในสุนัขที่เกิดจาก เห็บ


 
     สำหรับการตรวจภาวะโลหิตจางนั้น สัตวแพทย์จะเก็บตัวอย่างเลือดของน้องหมาไปตรวจดูจำนวนเม็ดเลือดแดง ค่าเม็ดเลือดแดงอัดแน่น (หรือค่าฮีมาโตคริต) และค่าความเข้มข้นของฮีโมโกลบินประกอบกัน ว่ามีค่าใดต่ำกว่าค่าปกติหรือไม่ ใช้ประกอบกับการซักประวัติ เพื่อการวินิจฉัยโรค หากน้องหมาป่วยเป็นภาวะโลหิตจางจากเห็บ จะต้องได้รับการรักษา เช่น ให้ยาบำรุงเลือด รับการถ่ายเลือด  ให้ออกซิเจน ที่สำคัญคือต้องกำจัดเห็บบนร่างกายน้องหมาให้หมดไปด้วยครับ 
 
 
 

โรคพยาธิในเม็ดเลือด

 
 
     พูดถึงโรคนี้แล้วคงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เป็นอีกโรคหนึ่งที่ มุมหมอหมา หยิบยกมานำเสนอบ่อยครั้งในหลาย ๆ โอกาส เพราะถือเป็นโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยมาก ๆ ในสุนัขบ้านเรา เนื่องจากเห็บบางชนิดเป็นพาหะนำเชื้อโปรโตซัวและริคเก็ตเซียได้ อย่างเช่น เห็บ Brown dog tick (Rhipicephalus sanguineus) ที่พบในบ้านเรา สามารถนำโรค Canine Ehrlichiosis, โรค Canine Babesiosis, โรค Canine Hepatozoonosis และโรค Canine Bartonellosis ได้ ซึ่งโรคเหล่านี้ก็จะทำให้น้องหมาแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร มีไข้ โลหิตจาง น้ำหนักลด บางโรคทำให้น้องหมาเกล็ดเลือดต่ำ เลือดกำเดาไหล มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง ปัสสาวะมีสีแดงเข้ม และบางโรคก็ทำให้น้องหมามีขาอ่อนแรง  ปวดขา และโน้มนำให้เกิดปัญหาที่หัวใจ ตับ ม้าม และไต ตามมาได้ด้วย 
 
 
     ส่วนเห็บ Eastern blacklegged tick หรือ Deer tick (Ixodes scapularis) ก็เป็นพาหะนำโรค Canine Anaplasmosis ได้  แม้ในบ้านเราจะพบเห็บชนิดนี้ได้น้อยกว่า เมื่อเทียบกับเห็บ Brown dog tick ที่พบได้ตามบ้านตามแหล่งชุมชน แต่ก็มีการตรวจพบสุนัขป่วยเป็นโรคในบ้านเราเช่นกัน โดยสุนัขที่ป่วยจะแสดงอาการซึม ไม่กินอาหาร อ่อนแรง เจ็บปวดตามกล้ามเนื้อ ตามข้อต่อ ตลอดจนแสดงอาการอาเจียน ท้องเสีย ไอ หายใจลำบาก ไปจนถึงมีอาการชักได้ด้วย 
 

Dogilike.com :: รวมฮิตโรคร้ายในสุนัขที่เกิดจาก เห็บ


 
     สำหรับการตรวจสัตวแพทย์ก็จะนำตัวอย่างเลือดน้องหมาไปย้อมสีส่องตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ดูว่ามีเชื้อพวกนี้อยู่ในเม็ดเลือดหรือไม่ ปัจจุบันคุณหมอก็มีเครื่องมือสำหรับใช้ตรวจยืนยันโรคนี้มากมาย เช่น การตรวจหาแอนติบอดี้ของเชื้อจากเลือด ซึ่งทำให้ทราบผลได้รวดเร็ว แต่วิธีนี้ก็ไม่สามารถแยกแยะได้ว่า แอนติบอดี้ที่ตรวจพบนั้นเป็นผลมาจากการติดเชื้อจากในอดีตหรือไม่ อีกวิธีคือการตรวจด้วย PCR ซึ่งได้ผลแม่นยำ แต่ราคาค่อนข้างแพง  ส่วนการรักษา ก็จะพิจารณาแยกไปตามแต่ละชนิดของเชื้อครับ มีทั้งยาฉีดที่ต้องฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 2 สัปดาห์ และมียากินที่ต้องให้ป้อนต่อเนื่องกันอย่างน้อย 21-28 วัน ร่วมกับการรักษาตามอาการ เช่น หากมีภาวะโลหิตจางก็ต้องให้ยาบำรุงเลือดหรือถ่ายเลือดให้ด้วยเป็นราย ๆ ไปครับ
 
 
 

โรคอัมพาตจากเห็บ

 
 
     เพื่อน ๆ หลายคนเข้ามาถามในบอร์ด ถามปัญหา อยู่บ่อยครั้งว่า น้องหมาที่บ้านอยู่ดี ๆ ขาหลังก็ไม่มีแรง ลุกยืนเองไม่ได้ เป็นอัมพาตไปเสียดื้อ ๆ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ยังเดินเหินได้ตามปกติ ถามไปถามมาก็พบว่าน้องตัวนั้นมีเห็บด้วย จึงแนะนำให้รีบพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียด เพราะเห็บบางชนิด อย่างเช่น Ixodes spp. , Dermacentor spp. , Amblyomma spp. และ Rhipicephalus spp. ทำให้น้องหมาเป็นโรคอัมพาตจากเห็บ (Tick paralysis) ได้


     โดยเกิดจากการที่เห็บปล่อยสารพิษ neurotoxin ที่มีอยู่ในน้ำลายออกมาทำลายระบบประสาท ทำให้ขาอ่อนแรงอย่างเฉียบพลัน เกิดเป็นอัมพาตแบบกระทันหัน โดยเฉพาะที่ขาหลัง ความรุนแรงขึ้นกับความไวรับของพิษในร่างกาย ปริมาณของพิษ อายุของสุนัข และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย พิษจะเข้าไปรบกวนการทำงานของอะซิติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท ทำให้ขัดขวางการทำงานของระบบประสาทสั่งการ ช่วงแรกอาจพบขาหลังก้าวย่างไม่สัมพันธ์กัน เห่าไม่มีเสียง (กล่องเสียงเป็นอัมพาต) ทำท่าขากๆ ราวกับจะขย้อนหรืออาเจียน อัตราการหายใจผิดปกติ ต่อมาขาเริ่มอ่อนแรง ไม่มีแรงลุก และเป็นอัมพาตในทีสุดครับ
 

 

Dogilike.com :: รวมฮิตโรคร้ายในสุนัขที่เกิดจาก เห็บ


 

ภาวะภูมิแพ้ผิวหนังต่อสารจากแมลง 

 
 
     เวลาที่เห็บมาเกาะบนตัวน้องหมานอกจากจะก่อความรำคาญแล้ว บางครั้งยังเป็นที่มาของโรคผิวหนังได้ด้วย  การที่น้องหมาสัมผัสกับน้ำลายของแมงหรือแมลงไม่ว่าจะเป็น หมัด เห็บ และยุง โดยในน้ำลายของสัตว์เหล่านี้จะมีสาร hapten ซึ่งเป็น protein antigens ที่เมื่อรวมตัวกับคอลลาเจนที่ผิวหนังของน้องหมาแล้ว จะเกิดการกระตุ้นภาวะภูมิแพ้ผิวหนังขึ้นมาได้ เมื่อน้องหมาที่เป็นภาวะดังกล่าว จะแสดงอาการคัน โดยเฉพาะบริเวณกลางหลังถึงสะโพก และมักจะพบขนร่วงเนื่องจากการที่น้องหมากัดและถูตัวเองกับฝาผนัง ตลอดจนพบรอยโรคอื่น ๆ เช่น สะเก็ด รังแค ผิวหนังแห้งหนาตัวร่วมด้วย ในการวินิจฉัยคุณหมอจะทำการซักประวัติการสัมผัสกับปรสิตชนิดไหน  ใช่เห็บหรือไม่ 


 
     โดยการรักษาจะใช้การหยอดยาหรือฉีดยาเพื่ออกำจัดเห็บออกไป ร่วมกับกักบริเวณไม่ให้น้องหมาออกไปเที่ยวนอกบ้าน จะได้ไม่ไปรับเห็บมาได้อีก รวมถึงกำจัดเห็บตามสิ่งแวดล้อมบริเวณที่สุนัขอยู่ควบคู่กันไปด้วย น้องหมาที่เป็นโรคนี้จะไวต่อการสัมผัสสารจากแมลง แม้เพียง 1-2 ตัว ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบรุนแรงได้ จัดเป็นภาวะภูมิไวเกินรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเมื่อสุนัขคันมาก ๆ จะเกาตัว เลียตัว และงับตัว เกิดเป็นบาดแผลที่ผิวหนัง  แล้วเชื้อโรคเข้าทางบาดแผล บางครั้งก็อาจลุกลามกลายโรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อตามมาได้ด้วยครับ
 
 
 

โรคลายม์ (Lyme disease)

 

 
     พูดถึงโรคนี้หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อนัก เพราะไม่ค่อยเจอในบ้านเรา แต่ถ้าเป็นในประเทศในแถบอเมริกาเหนือจะรู้จักกันเป็นอย่างดีเลยครับ โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Spirochete ที่ชื่อ Borrelia burgdorferi  โดยเชื้อนี้สามารถติดต่อไปยังสัตว์ป่วยผ่านทางเห็บบางชนิดที่มากัด อย่างเช่น Western blacklegged tick (Ixodes pacificus), Eastern blacklegged tick หรือ Deer tick (Ixodes scapularis)  มีสัตว์หลายชนิดที่สามารถติดเชื้อนี้ได้ สัตว์บางตัวแม้จะมีการติดเชื่อ แต่กลับไม่แสดงอาการให้เห็น และหากมีเห็บมาดูดเลือดของสัตว์ที่มีเชื่อตัวนั้น ก็สามารถนำพาเชื่อไปติดยังสัตว์ตัวอื่น ๆ ต่อได้อีก
 

Dogilike.com :: รวมฮิตโรคร้ายในสุนัขที่เกิดจาก เห็บ


 
     น้องหมาที่ป่วยจะแสดงอาการเจ็บปวดตามข้อ เกิดข้ออักเสบ เดินกะเพลก เคลื่อนไหวลำบาก เริ่มไม่อยากเดิน เอาแต่นอน ซึม มีไข้ และกินอาหารลดลง เนื่องจากความเจ็บปวด การรักษาก็ได้รับยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวด ในบางประเทศจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคลายม์ให้น้องหมา โดยฉีด 2 ครั้งในปีแรก กระตุ้นห่างกัน 2-3 สัปดาห์ จากนั้นให้พาไปฉีดกระตุ้นเป็นประจำทุกปี ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนชนิดนี้ในบ้านเราครับ ดังนั้นการป้องการโรคลายม์ในบ้านเราที่ดีที่สุด นั่นก็คือ การหมั่นกำจัดเห็บศัตรูตัวร้ายของน้องหมา และตรวจคัดกรองโรคก่อนนำน้องหมาที่เข้ามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการระบาดครับ
 
 
 
 

โรคไข้ออกจุดเทือกเขาร็อกกี้ (Rocky Mountain spotted fever)

 
 
     โรคนี้ก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่ไม่ค่อยพบในบ้านเรา เพราะระบาดกันในแถบเทือกเขาร็อกกี้ ตามชื่อสถานที่ที่นำมาตั้งเป็นชื่อโรค โดยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Rickettsia rickettsia  ซึ่งติดมาสู่น้องหมาผ่านเห็บเปลือกแข็งชนิดต่าง ๆ ได้แก่ American dog tick (Dermacentor variabilis), Rocky Mountain wood tick (Dermacentor andersoni) และ The brown dog tick (Rhipicephalus sanguineus) ซึ่งเห็บชนิดหลังนี้พบได้ทั่วไปในบ้านเรา น้องหมาที่ป่วยจะแสดงอาการ มีไข้ ซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง ต่อมน้ำเหลืองโต ตัวเชื้อเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะไปทำให้หลอดเลือดอักเสบ (vasculitis) จึงพบจุดเลือดออกที่ผิวหนัง เห็นเป็นจุดหรือผื่นสีแดงตามผิวหนัง บางรายอาจพบเส้นเลือดฝอยอุดตัน ทำให้เห็นเป็นสีม่วงคล้ำที่ผิวหนังได้ครับ

 
 
     และทั้งหมดนี้ก็เป็นโรคที่เกิดจากเห็บปรสิตจอมวายร้ายคู่ปรับตลอดกาลของน้องหมา แทบไม่อยากคิดเลยว่าจะอันตรายแค่ไหน ถ้าน้องหมาเกิดป่วยขึ้นมา เพราะบางโรคทำให้น้องหมาเสียชีวิตได้เลยทีเดียว แนวทางการป้องกันโรคเหล่านี้ที่ดีที่สุด คือ การป้องกันเห็บให้น้องหมาครับ เราต้องหมั่นกำจัดเห็บไม่ว่าจะเป็นบนตัวน้องหมาและในสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปเสมอ  บ้านเราเป็นประเทศเขตร้อนชื้น จึงพบสามารถเห็บได้ตลอดทั้งปี ดังนั้นจะละเลยการป้องกันเสียไม่ได้ เพราะแค่เห็บที่มีเชื้อเพียงตัวเดียวมากัดน้องหมาเรา ก็สามารถนำโรคมาติดน้องหมาได้แล้วครับ     



 

บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
www.dogilike.com
http://family.dogilike.com/tonvet/
 
 
รูปภาพประกอบ:
www.kids.britannica.com
http://www.petmd.com/sites/default/files/inspect-remove-ticks-dogs.png
http://files.ctctcdn.com/06ff01f4101/fe8d4460-b556-414a-95d6-75eca5ff4827.gif
www.tpvexperiences.blogspot.com