โดย: Tonvet

4 พฤติกรรมเลี้ยงหมาผิด ๆ มีสิทธิถูกลงโทษตามกฎหมาย

เรียนรู้กฎหมายที่สำคัญในการเลี้ยงสุนัข เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับคนอื่น ๆ และเพื่อนบ้าน

30 เมษายน 2561 · · อ่าน (12,671)
571

SHARES


571 shares
 
  • เจ้าของที่เลี้ยงสุนัขโดยขาดความระมัดระวังอันสมควร ปล่อยให้สุนัขที่เลี้ยงไปกัดหรือสร้างความเสียหายทั้งต่อร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่น จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากความเสียหายนั้น
 
  • เจ้าของที่ปล่อยสุนัขให้มาอยู่บนทางหรือถนนในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ย่อมมีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน 
 
  • เจ้าของที่ไม่ควบคุมสุนัขที่ดุ (สัตว์ดุ) ปล่อยให้สุนัขไปทำอันตรายกับคนหรือทรัพย์สิน ตลอดจนสัตว์เลี้ยงของผู้อื่น จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายด้วย
 
  • เจ้าของที่ปล่อยให้สุนัขที่เลี้ยงไว้ไปสร้างความเดือนร้อนรำคาญ เช่น เห่าส่งเสียงดังติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ ปล่อยให้กลิ่นของสิ่งปฏิกูลเหม็นรบกวนเพื่อนบ้าน เป็นต้น ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย


Dogilike.com :: 4 พฤติกรรมเลี้ยงหมาผิด ๆ มีสิทธิถูกลงโทษตามกฎหมาย



    การเลี้ยงสุนัขของแต่ละคนนั้นมีวิธีการเลี้ยงที่ไม่เหมือนกัน บางคนเลี้ยงสุนัขอย่างกับลูกหรือเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว ประคบประหงมราวไข่ในหิน แต่บางคนก็เลี้ยงสุนัขแบบปล่อยอิสระ ให้สุนัขได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ซึ่งในการเลี้ยงสุนัขบางทีก็อาจเกิดข้อพิพาทกับคนอื่น ๆ ได้ จะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม และผลที่ตามมาอาจถึงขั้นเป็นคดีขึ้นโรงขึ้นศาลกันเลยทีเดียว วันนี้เรามาดูกันครับว่า ถ้าเราเลี้ยงสุนัขแบบผิด ๆ มีสิทธิจะถูกลงโทษอย่างไรบ้าง...

 

1 ปล่อยหมาไปกัดคน

 

 
     การปล่อยสุนัขที่เลี้ยงให้ไปกัดคนอื่น หรือสร้างความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่น เจ้าของจะต้องรับผิดชอบในความผิดดังกล่าวด้วย จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2488/2523 ที่ว่า "สุนัขในบ้านจำเลยออกจากบ้านไปกัดโจทก์ ภริยาจำเลยรับว่าเป็นเจ้าของ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ต้องสันนิษฐานว่าสุนัขเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 จำเลยจึงเป็นเจ้าของสุนัขด้วย สุนัขหลบหนีออกไปได้ขณะจำเลยเปิดประตู สุนัขจึงออกไปกัดโจทก์ได้ แสดงว่าจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรในการเลี้ยงดูสุนัข จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์รวมทั้งทดแทนความตกใจและทุกข์ทรมานด้วย"



     ซึ่งเหตุการณ์นี้เข้าข่ายความผิดตามข้อกฎหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา 443 วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์ หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหาย เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้น ย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น.. ดังนั้นการเลี้ยงสุนัขแบบปล่อยปะละเลย ไม่ใช้ความระมัดระวังอันสมควรในการเลี้ยงดู หากสุนัขดังกล่าวไปสร้างความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่น เจ้าของจะต้องรับผิดชอบในความผิดเช่นกัน
 
 
 
 

2 ปล่อยหมาไปวิ่งตัดหน้ารถบนท้องถนน

 
 
 
      การปล่อยสุนัขที่เลี้ยงไว้ออกไปกีดขวางการจราจรของผู้อื่นที่สัญจรอยู่บนท้องถนน แม้จะไม่ทำให้เกิดอุบัติเหตุก็ตาม แต่มีความผิดตามกฎหมายแล้ว ยิ่งหากเราเลี้ยงสุนัขโดยขาดความระมัดระวังอันสมควร แล้วสุนัขวิ่งออกไปตัดหน้ารถ จนผู้ขับขี่เกิดอุบัติเหตุได้รับความเสียหายทั้งต่อร่างกายและทรัพย์สิน ผู้เลี้ยงก็จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดจากความผิดดังกล่าวด้วย จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6088/2559 ที่ว่า "ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 111 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใด ขี่ จูง ไล่ต้อน หรือปล่อยสัตว์ไปบนทางในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรและไม่มีผู้ควบคุมเพียงพอ เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของสุนัขจึงเป็นผู้ดูแลสัตว์จะต้องดูแลควบคุมมิให้สัตว์กีดขวางการจราจร การที่สุนัขของจำเลยทั้งสองวิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถจักรยานยนต์ของโจทก์ในระยะกระชั้นชิด ย่อมเป็นผลโดยตรงที่ทำให้รถจักรยานยนต์ของโจทก์ล้ม เมื่อไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงและไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างไร ดังนั้น เหตุละเมิดจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสองที่ไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการควบคุมดูแลสุนัข เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 433 วรรคหนึ่ง" 
 

 
 
Dogilike.com :: 4 พฤติกรรมเลี้ยงหมาผิด ๆ มีสิทธิถูกลงโทษตามกฎหมาย
 


 
 

3 ปล่อยหมาไปกัดสัตว์เลี้ยงของผู้อื่น

 
 
 
     การที่สุนัขที่เราเลี้ยงออกไปกัดสัตว์เลี้ยงของผู้อื่น ผู้เลี้ยงจะต้องรับผิดชอบทั้งทางอาญาและทางแพ่ง พูดง่าย ๆ ก็คือ อาจติดทั้งคุกและเสียทั้งเงิน ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 162/2523 ที่ว่า "สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยง แต่ก็อาจเป็นสัตว์ที่ดุได้โดยธรรมชาติของสัตว์นั้นเอง ทั้งนี้ต้องดูพฤติการณ์เป็นเรื่อง ๆ ไป เฉพาะคดีนี้ ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า สุนัขของจำเลยเคยกัดเป็ดของผู้เสียหายมาก่อนแล้วหลายครั้ง และครั้งที่เกิดเหตุนี้สุนัขของจำเลยไปกัดเป็ดของผู้เสียหายตายและบาดเจ็บหลายสิบตัว ถือได้ว่าเป็นสัตว์ดุตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377" ซึ่งเมื่อตีความว่าสุนัขเป็นสัตว์ดุเช่นนี้ ก็เข้าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377 ที่บัญญัติไว้ ผู้ใดควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลําพัง ในประการที่อาจทําอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ อีกทั้งยังอาจต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ของเราไปทำเอาไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคแรกด้วย ซึ่งจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องได้รับความเสียหายอันเกิดแต่สัตว์นั้นด้วย 
 
 
 
 

4 ปล่อยหมาให้ก่อความรำคาญเพื่อนบ้าน

 
 
 
     จากสถิติในปี พ.ศ. 2560 มีผู้ร้องเรียนไปยังสายด่วน 1555 ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์กรุงเทพมหานคร ทั้งสิ้นมากกว่า 50,000 ราย โดยหนึ่งในข้อร้องเรียนเหล่านั้น มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุนัขอยู่ด้วยจำนวนมาก เช่น เรื่องโรคพิษสุนัขบ้า เรื่องสุนัขจรจัด และเรื่องที่สุนัขไปก่อความเดือนร้อนรำคาญ ซึ่งในส่วนของกรุงเทพหมานครเอง ก็มีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยเรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 โดยวางหลักการไว้ เพื่อให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงสุนัขโดยไม่ให้ไปก่อความรำคาญ เห่าหอน หรือขับถ่ายไม่เป็นที่จนเป็นที่เดือนร้อนผู้อื่น หากฝ่าฝืนก็จะมีความผิดตามกฎหมายด้วย ซึ่งก็มีข้อบังคับอยู่หลายข้อด้วยกันดังนี้
 
 
     ข้อ 16 ในการเลี้ยงสุนัข เจ้าของสุนัขต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
 
     (1) จัดสถานที่เลี้ยงตามความเหมาะสมของสุนัข โดยมีขนาดเพียงพอแก่การดำรงชีวิตของสุนัข มีแสงสว่างและการระบายอากาศที่เพียงพอ มีระบบการระบายน้ำและกำจัดสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะ กรณีเป็นสุนัขควบคุมพิเศษจะต้องเลี้ยงในสถานที่ หรือกรงที่สุนัขไม่สามารถเข้าถึงบุคคลภายนอก และมีป้ายเตือนให้ระมัดระวังโดยสังเกตได้อย่างชัดเจน
 
     (2) ควบคุมสุนัขมิให้ออกนอกสถานที่เลี้ยงโดยปราศจากการควบคุม
 
     (3) ควบคุมดูแลสุนัขมิให้ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ เช่น ก่อให้เกิดเสียงดังติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ เป็นต้น
 
     (4) รักษาสถานที่เลี้ยงสุนัขให้สะอาดอยู่เสมอ จัดเก็บสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะเป็นประจำไม่ปล่อยให้เป็นที่สะสมหมักหมมจนเกิดกลิ่นเหม็นรบกวนผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
 
     (5) ต้องรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ของสุนัข เช่น เรื่องอาหาร ความสะอาด เป็นต้น ถ้าเจ้าของสุนัขไม่สามารถเลี้ยงดูสุนัขได้เป็นการชั่วคราว จะต้องจัดให้มีผู้ดูแลความเป็นอยู่ของสุนัขให้เป็นปกติสุข
 
 
     ข้อ 17 ห้ามมิให้ผู้ใดเลี้ยงสุนัขในที่หรือทางสาธารณะ หรือในที่ของบุคคลอื่นโดยปราศจากความยินยอม




Dogilike.com :: 4 พฤติกรรมเลี้ยงหมาผิด ๆ มีสิทธิถูกลงโทษตามกฎหมาย



     
     การเลี้ยงสุนัขนอกจาากจะต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของสุนัขที่เราเลี้ยงแล้ว ยังจะต้องรับผิดชอบต่อสังคมและผู้คนอื่น ๆ รอบข้างด้วย ในบางครั้งแม้เราจะเลี้ยงสุนัขให้อยู่ภายในบ้านแบบระบบปิดแล้วก็ตาม แต่หากสุนัขเห่าหอนก่อความรำคาญติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ หรือปล่อยให้สุนัขอุจจาระ ปัสสาวะ จนเกิดกลิ่นหมักหมมรบกวนเพื่อนบ้าน เช่นนี้ก็อาจได้รับความผิดตามกฎหมายด้วยเช่นกัน ผู้เลี้ยงสุนัขจึงควรต้องใส่ใจในการเลี้ยงสุนัขเป็นอย่างมาก เพื่อไม่ใช้เกิดปัญหาตามมาในอนาคตครับ


   ในส่วนของเรื่องกฎหมายน่ารู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสุนัขนั้นยังมีอีกมาก เพื่อน ๆ สามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ในบทความ ต้องอ่าน!! กฎหมายที่ผู้เลี้ยงสุนัขต้องรู้ บทความนี้ขอลาไปก่อน แล้วกลับมาพบกับคอลัมน์ "เรื่องน่ารู้" จาก Dogilike ได้ใหม่ในตอนหน้าครับ





บทความโดย : Dogilike.com
https://www.dogilike.com


ข้อมูลบางส่วนจาก:
https://deka.in.th/view-36820.html
https://deka.in.th/view-603276.html
https://deka.in.th/view-100766.html
 
ที่มาและภาพประกอบ :
http://www.rantpets.com/wp-content/uploads/2015/09/Mugshot4.jpg
http://www.wallfon.com
http://www.barkerybath.com/wp-content/uploads/2316168796_c980982991_b.jpg