โดย: Tonvet
หวัด...โรคติดต่อสุดฮิตในลูกสุนัข
มาเรียนรู้โรคหวัด รวมทั้งแนวทางการดุูแลและป้องกันอย่างถูกวิธีกันเถอะ
9 พฤษภาคม 2555 · · อ่าน (240,344)
ในโลกนี้ คงไม่มีใครที่ไม่เคยเป็นหวัดใช่ไหมครับ ... โรคหวัดจัดเป็นโรคติดต่อโรคหนึ่ง โดยเฉลี่ยคนเราจะเป็นหวัดปีละ 1 ครั้ง หากลองสังเกตดูจะพบว่า กลุ่มคนที่เป็นโรคหวัดมักจะเป็นเด็ก คนแก่ และคนทีมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ในน้องหมาก็เช่นกันครับ โรคหวัดมักพบได้บ่อยในลูกหมา สาเหตุก็เพราะว่า ลูกหมายังมีภูมิคุ้มกันไม่ดีพอ ร่างกายจึงไม่สามารถต่อต้านเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้ โดยเฉพาะช่วงที่เพิ่งนำมาเลี้ยงใหม่ๆ สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทำให้น้องหมาเกิดความเครียด พอเครียดก็จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลง ยิ่งในรายที่ได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่มาน้อยอยู่แล้ว ก็จะทำให้ป่วยได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ "หวัด" จึงถูกจัดว่าเป็นโรคติดต่อสุดฮิตในลูกสุนัข โรคหวัด เป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่พบได้ทั่วโลก สามารถเป็นได้ในน้องหมาทุกช่วงวัย โดยเฉพาะน้องหมาพันธุ์หน้าสั้น และน้องหมาที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ จะมีความไวเป็นพิเศษ โรคหวัดเป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี มักจะพบมากในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว หรือในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง (ช่วงผลัดเปลี่ยนฤดูกาล) โรคหวัดในน้องหมา มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "โรคหลอดลมอักเสบติดต่อในสุนัข" มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษหลายชื่อครับ ได้แก่ Infectious tracheobronchitis (ITB), Kennel cough, Canine cough, Canine croup และ Canine Infectious Respiratory Disease Complex (CIRDC) น้องหมาที่ป่วยเป็นหวัด จะมีอาการไอ (Cough) อาจจะไอแห้งๆ หรือไอแบบมีเสมหะก็ได้ หากไอแบบมีเสมหะจะพบว่าน้องหมาไอแล้วทำท่าขากๆ เหมือนมีอะไรติดคอ เจ้าของบางรายอาจสับสนและคิดว่าน้องหมากำลังอาเจียนหรือสะอึก บางรายอาจมีขี้ตา ตาอักเสบ มีน้ำมูกใสๆ ไปจนถึงมีน้ำมูกข้นสีเขียว เนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ส่วนใหญ่น้องหมาจะยังซน ร่าเริงดี กินอาหารได้ครับ แต่บางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร ปอดบวม หายใจลำบาก จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ ทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย อาจติดเชื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง หรือติดเชื้อร่วมกันก็ได้ หากติดร่วมกัน จะเรียกว่า "Super infection" เชื้อที่ทำให้เกิดโรคหวัด มีดังนี้ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย โดยช่องการติดต่อจะผ่านทางละอองน้ำมูกและน้ำลาย ที่มาจากการไอหรือจามของสัตว์ป่วยเข้าสู่ทางเดินหายใจโดยตรง หรือปนเปื้อนมากับภาชนะและมือของคนที่ไปสัมผัสกับน้องหมาที่ป่วยก็ได้ เชื้อบางอย่างมีอยู่แล้วในสิ่งแวดล้อม ที่พบได้บ่อย มักจะเกิดจากการที่พาน้องหมาไปเดินเล่นตามแหล่งชุมชนที่มีน้องหมาอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น สวนสาธารณะ งานประกวดสุนัข และโดยพฤติกรรมของเจ้าของที่เห่อลูกหมาใหม่ มักจะเอามาโชว์เพื่อน อาจปล่อยให้เล่นกับน้องหมาของเพื่อน จึงทำให้น้องหมาของเรารับเชื้อมาได้ ปกติระบบทางเดินหายใจจะมีกลไกป้องกันเชื้อโรคที่เข้ามาอยู่แล้วครับ โดยการอาศัย cilia และ mucus ที่อยู่ตามทางเดินหายใจและหลอดลม ทำหน้าที่คอยพัดโบกขับเอาเชื้อออกมา เราเรียกกลไกนี้ว่า Mucociliary clearance (MCC) เมื่อใดที่ร่างกายเกิดความเครียด อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง หรือมีการติดเชื้อไวรัส จะทำให้ cilia หยุดทำงาน เชื้อก็จะสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย น้องหมาจะแสดงอาการหลังจากสัมผัสเชื้อไปแล้ว 3-10 วัน การวินิจฉัยโรค คุณหมอจะทำการซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกาย ฟังเสียงปอด อาจเอ็กซเรย์ดูรอยโรคที่ปอดและทางเดินหายใจ รวมถึงอาจตรวจค่าความสมบูรณ์เลือด (Complete blood count) เพื่อดูการติดเชื้อในกระแสเลือด หากมีการติดเชื้อคุณหมอก็อาจจะเก็บตัวอย่างเสมหะ หรือสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจ ไปทำการเพาะเชื้อและทดสอบหายาฆ่าเชื้อที่เหมาะสมต่อไป การรักษา ถ้ามีอาการไม่รุนแรง ส่วนใหญ่จะสามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน ช่วงนี้ต้องให้น้องหมาได้พักผ่อนเต็มที่ ให้อาหารและน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ควรให้น้องหมาอยู่ในที่ที่อบอุ่น ไม่นอนบนพื้นที่เย็นชื้น เปิดพัดลมโกรก หรือนอนตากแอร์ อาจหาเสื้อมาสวมให้ก็ได้ หากมีเสมหะมากเจ้าของอาจช่วยน้องหมาทำการ "ตบอก (Coupage)" โดยทำฝ่ามือโค้งเป็นรูปถ้วย ตบลงบริเวณซี่โครงช่วงอกด้วยแรงที่พอเหมาะ ไล่จากส่วนท้ายไปต้น คล้ายการตีกลองด้วยมือ เพื่อให้น้องหมาได้ไอแล้วขับเสมหะออกมา ควรทำวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 5-10 นาที หรืออาจจะพาเดินเล่นเพื่อกระตุ้นให้ไอก็ได้ครับ หากมีอาการมากขึ้นคุณหมออาจจะฉีดยาและให้ยามาป้อนทีบ้าน สำหรับลูกหมาที่ปอดบวม (Pneumonia) อาจพิจารณาให้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพราะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดครับ นอกจากการรักษาข้างต้นแล้ว ยังมีการรักษาด้วยวิธีการพ่นยา (Aerosol therapy, Nebulization) ด้วยละอองที่มีอนุภาคขนาดเล็กคล้ายควันเพื่อให้น้องหมาสูดดมเข้าไป โดยพ่นยาร่วมกับน้ำเกลือ (Sterile saline) หรือให้น้ำเกลือเพียงอย่างเดียวก็ได้ เพื่อให้น้ำเกลือจะเข้าไปละลายเสมหะ และถูกขับออกมาได้ง่ายขึ้น ในการพ่นยาแต่ละครั้งจะใช้เวลา 20-30 นาที วันละ 1-4 ครั้ง โดยพ่นอย่างน้อย 3 วันติดต่อกัน ข้อดีของวิธีพ่นยา คือ ยาจะออกฤทธิ์เฉพาะที่ต่อระบบทางเดินหายใจโดยตรง และส่งผลกระทบต่อระบบอื่นๆ ของร่างกายน้อยมากครับ การป้องกัน ปกติลูกหมาจะมีภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากน้ำนมเหลืองของแม่อยู่แล้ว ซึ่งจะสามารถป้องกันไปได้ถึงอายุ 3-4 สัปดาห์ ในน้องหมาที่ได้รับน้ำนมเหลืองจากแม่ไม่เพียงพอ หรือเลี้ยงอยู่รวมกันหลายๆ ตัว เช่น ฟาร์มเพาะพันธุ์ สถานรับเลี้ยงสุนัข หรือตลาดค้าสัตว์เลี้ยง แนะนำให้ทำวัคซีนครับ สำหรับวัคซีนโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ ทำได้ตั้งแต่อายุ 4-6 สัปดาห์ มีทั้งรูปแบบฉีด หยอดจมูก และป้อนปาก โดยจะทำติดต่อกัน 2 ครั้งแรก ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ และอาจทำอีกครั้งตอนอายุ 16 สัปดาห์ก็ได้ จากนั้นจึงฉีดกระตุ้นซ้ำเป็นประจำทุกปี วัคซีนที่ฉีดสามารถป้องกันเชื้อ Borditella bronchoseptica, CPiV และ CAV-2 ได้ โดยแต่ละยี่ห้อจะป้องกันเชื้อได้ไม่เหมือนกันครับ เราอาจสอบถามคุณหมอก่อนว่า วัคซีนที่จะทำนี้ป้องกันเชื้อใดได้บ้าง หากเกิดการระบาดของโรคนี้ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มหรือบ้าน แนะนำว่าควรแยกน้องหมาที่แสดงอาการออกจากน้องหมาปกติให้เร็วที่สุด ทำความสะอาดพื้น สถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น Sodium hypochlorite (สารฟอกขาว), Chlorhexidine หรือ Benzalkonium ก็ได้ ถ้าเป็นไปได้ ควรพักบริเวณที่เลี้ยงตรงนั้นอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ ก่อนจะนำน้องหมากลับมาเลี้ยงที่เดิม และไม่ควรเลี้ยงรวมกันจำนวนมาก เพราะจะทำให้น้องหมาเครียดได้ง่าย ข้อควรระวังที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ เชื้อ Borditella bronchoseptica นี้สามารถติดคนได้ เพราะฉะนั้นคนกลุ่มเสี่ยง อย่างเช่น เด็ก คนแก่และคนที่มีปัญหาระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรต้องระวังเป็นพิเศษ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้องหมาที่ป่วยด้วยครับ แม้ว่าโรคหวัดจะจัดเป็นโรคติดต่อสุดฮิตแค่ไหน แต่คงไม่มีใครคิดอยากให้น้องหมาของเราเป็นใช่มั้ยครับ เพราะฉะนั้น เพื่อนๆ ที่เพิ่งรับลูกหมามาเลี้ยงใหม่ ก็ควรต้องพาไปตรวจสุขภาพกับคุณหมอก่อน อย่าปล่อยให้ป่วยแล้วจึงค่อยพาไป เพราะว่าการป้องกันสำคัญกว่าการรักษาครับ มุมหมอหมา อยากให้ลูกหมาทุกตัวมีสุขภาพกายและใจแข็งแรง แล้วกลับมาติดตามอ่านบทความน่ารู้คู่สุขภาพน้องหมาได้ใหม่...สวัสดีครับ
บทความโดย: หมอต้น Dogilike.com รูปภาพประกอบ: |
SHARES