โดย: Tonvet

11 เรื่องจริงของโรคไข้หัด ที่คนรักสุนัขต้องรู้

ความจริงที่คนรักหมาต้องอ่าน ก่อนน้องหมาที่บ้านจะเป็นไข้หัด

30 พฤษภาคม 2555 · · อ่าน (493,836)
2,565

SHARES


2,565 shares

 

Dogilike.com :: 11 เรื่องจริงของโรคไข้หัด ที่คนรักสุนัขต้องรู้

       โรคไข้หัดสุนัข (Canine Distemper) เกิดจากเชื้อ Canine Distemper Virus (CDV) อยู่ในตระกูล Paramyxovirus คล้ายกับไวรัสโรคหัดในคน (Measles) แต่เป็นคนละชนิดกัน จึงไม่ติดคน หลายคนอาจจะเคยรู้จัก แต่แน่ใจหรือเปล่าว่าเรารู้จริง วันนี้ มุมหมอหมา จะมาเล่า 11 เรื่องจริงของโรคไข้หัดสุนัข ให้เพื่อนๆ ได้รู้จักกันจริงๆ สักที

       1 เชื้อไวรัสนี้แพร่ผ่านทางอากาศ ไม่ต้องเสาสัญญาณก็ติดต่อได้

       การติดต่อทางหลักเกิดจากการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศเข้าไป หรือสัมผัสโดยตรงกับสิ่งคัดหลั่งจากสุนัขป่วย ได้แก่ น้ำมูก ขี้ตา น้ำลาย ปัสสสาวะ และอุจจาระ โดยสัมผัสผ่านทางปาก เยื่อเมือกตา หรือจมูก เพราะเหตุที่เชื้อนี้ติดต่อกันผ่านทางอากาศได้นั้น ทำให้อัตราการป่วยสูง พูดง่ายๆ คือ แค่นำน้องหมาที่ป่วยไข้หัดมาใกล้ๆ กับน้องหมาปกติที่ยังไม่ภูมิคุ้มกัน ก็สามารถติดเชื้อและป่วยได้แล้ว...น่ากลัวจริงๆ

       นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อผ่านรกได้ด้วย แม่หมาที่ป่วยอาจแท้งลูก หรือลูกหมาอาจไม่รอดหลังจากคลอดออกมา หรือถ้าหากรอดก็อาจมีอาการทางระบบประสาทต่อไป ซึ่งร่างกายจะอ่อนแอและจะมีชีวิตไม่ยืนยาว

       2 เชื้อไวรัสนี้ไม่มีมั่ว แต่ไปได้ทั่วถึงทุกระบบ

       เมื่อหายใจเอาเชื้อไวรัสเข้าไปแล้ว ภายใน 24 ชั่วโมง เชื้อจะถูกจับกินโดยมาโครฟาจ (macrophage) และถูกส่งไปยังต่อมทอลซิลและต่อมน้ำเหลืองบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้น ไวรัสจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนที่นี่ ใน 4-7 วันต่อมา ไวรัสจะเข้าสู่กระแสเลือด แพร่กระจายไปยังระบบทางเดินอาหารก่อน สุนัขจะเริ่มแสดงอาการป่วย ซึม เบื่ออาหาร และมีไข้สูง

       จากนั้นวันที่ 9-14 หลังจากติดเชื้อ ไวรัสเริ่มโจมตีไปยังระบบต่างๆ ของร่างกาย ทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบผิวหนัง และระบบประสาท

Dogilike.com :: 11 เรื่องจริงของโรคไข้หัด ที่คนรักสุนัขต้องรู้

       3 น้องหมาที่เป็นโรคไข้หัดจะแสดงอาการได้หลากหลาย

       ด้วยเหตุที่ไวรัสโจมตีหลายระบบของร่างกายนี้เอง ทำให้สุนัขแสดงอาการได้หลากหลาย ดังนี้

       - มีไข้สูง   เกิดขึ้นในสัปดาห์แรกหลังติดเชื้อ น้องหมาจะซึมลง ไม่ร่าเริง
       - ระบบทางเดินอาหาร  ทำให้ไม่อยากอาหาร อาเจียน ท้องเสีย
       - ระบบทางเดินหายใจ  ทำให้หายใจลำบาก มีน้ำมูก ขี้ตา ไอ ปอดอักเสบ ตาอักเสบ
       - ระบบประสาท   ทำให้กล้ามเนื้อกระตุกโดยเฉพาะปากและขา เดินเซ ขาอ่อนแรง ในรายที่อาการรุนแรงจะมีอาการชัก หรือเป็นอัมพาตได้
       - ระบบผิวหนัง   จะพบว่าผิวหนังที่ฝ่าเท้าและปลายจมูกหนาตัวขึ้น (hyperkeratosis) มีตุ่มหนอง (pustule) ตามหน้าท้อง

       4 การตรวจวินิจฉัยที่สับสนกับโรคอื่น

       การวินิจฉัยคุณหมอจะดูจากประวัติ การทำวัคซีน และอาการป่วย แต่อาการป่วยจะคล้ายกับโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ท้องเสียเหมือนโรคลำไส้อักเสบ มีน้ำมูก ขี้ตา ปอดอักเสบ เหมือนโรคหวัดหรือโรคปอดบวม ทำให้ยากในการฟันธงว่าเป็นโรคไข้หัด คุณหมออาจต้องขอตรวจเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดต่างๆ

       แต่ก็ยังดีที่ปัจจุบัน คุณหมอมี Test kit CDV สามารถใช้ในการตรวจหาแอนติเจน (antigen) ของเชื้อไวรัสจากสิ่งคัดหลั่ง เยื่อบุตา เยื่อบุโพรงจมูก ปัสสาวะ เลือด และน้ำในไขสันหลังได้ ซึ่งทราบผลได้ภายใน 5-10 นาที  แต่มีความจำเพาะต่ำ เพราะไม่สามารถแยกแอนติเจนจากวัคซีนได้ เจ้าของที่น้องหมาเพิ่งจะฉีดวัคซีนมาไม่เกิน 3 สัปดาห์ ต้องแจ้งประวัติการฉีดวัคซีนกับคุณหมอด้วยนะครับ

Dogilike.com :: 11 เรื่องจริงของโรคไข้หัด ที่คนรักสุนัขต้องรู้

      5 บทบาทผู้ดูแลสุนัขที่เป็นไข้หัดอาจตกอยู่กับเจ้าของ

       เมื่อสุนัขของเราเป็นไข้หัด ควรเตรียมพร้อมในการดูแลน้องหมาของเราให้ดี เพราะโรงพยาบาลสัตว์ทั่วไป จะไม่รับสุนัขป่วยไข้หัดไว้เป็นสัตว์ป่วยใน เนื่องจากหากไม่มีห้องติดเชื้อแยกไว้โดยเฉพาะ จะทำให้ติดต่อสู่น้องหมาตัวอื่นได้ง่าย เจ้าของส่วนใหญ่จึงต้องรับกลับมาดูแลที่บ้าน โดยคุณหมอจะนัดพบเพื่อดูอาการเป็นแบบวันต่อวันไป ที่นี้ภาระก็จะตกมาที่เจ้าของ แล้วเราต้องทำอย่างไรบ้างมาดูกัน

       - เตรียมสถานที่และอุปกรณ์ส่วนตัวให้พร้อม หากเป็นน้องหมาตัวเดียวของบ้านคงไม่น่าห่วง หากในบ้านมีหลายตัว คงต้องทำสถานที่แยกออกมา มีกรงขัง โดยให้ห่างจากที่อยู่ ที่กิน ที่นอนของหมาตัวอื่นๆ ในบ้าน ควรมีกำแพงกั้นป้องกันตัวอื่นๆ เข้าไปยุ่มย่ามด้วย
       - กรณีมีอาเจียนหรือท้องเสีย ควรให้สารน้ำ (น้ำเกลือ) เพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำ คุณหมออาจจะสอนเจ้าให้น้ำเกลือใต้ผิวหนังเองที่บ้าน
       - ป้อนยาตามที่คุณหมอจัดให้ โดยทั่วไปจะมียาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ยาลดอาเจียน ยากระตุ้น/เสริมภูมิคุ้ม และยาบำรุงร่างกายต่างๆ เช่น ยาบำรุงประสาท ยาบำรุงเลือด
       - ในรายที่ไข้หัดขึ้นสมอง จะมีอาการชัก คุณหมออาจให้ยาระงับชักแบบกินมา หรืออาจให้เป็นยาสวนทวารมาก็ได้ แบบกินให้ป้อนตามเวลาที่คุณหมอกำหนด แบบสวนทวารจะให้ในกรณีฉุกเฉิน เมื่อที่น้องหมาแสดงอาการชัก เจ้าของควรสังเกตระยะเวลาการชัก ความถี่ และจดบันทึกไว้ด้วย เพื่อแจ้งให้คุณหมอทราบจะได้ปรับขนาดยาได้ถูกต้องต่อไป
       - เรื่องสำคัญ น้องหมาจะซึมและเบื่ออาหาร เจ้าของต้องป้อนอาหารและป้อนน้ำด้วย

       6 ต้องดูแลสุนัขเป็นไข้หัดไปนานถึง 3 เดือน

       สุนัขป่วยจะมีระยะเวลาแพร่เชื้อยาวนานถึง 1-3 เดือน ดังนั้นเมื่อเรามีน้องหมาป่วยเป็นโรคไข้หัดในบ้าน ต้องดูแลและแยกเลี้ยงเป็นเวลานานถึง 3 เดือน แม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม

Dogilike.com :: 11 เรื่องจริงของโรคไข้หัด ที่คนรักสุนัขต้องรู้

       7 ภูมิคุ้มกันของสุนัขคือ ตัวแปรสำคัญว่า “ตายหรือไม่”

       อาการที่สุนัขแสดงออกมามากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อ อายุ และภูมิคุ้มกันของร่างกายสุนัข แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้

       ภูมิคุ้มกันต่ำ น้องหมาจะมีอาการรุนแรง เชื้อเข้าทำลายทุกระบบ และจะตายเนื่องจากการติดเชื้อแทรกซ้อน โดยเฉพาะโรคปอดบวม แต่หากรอด ก็มักมีอาการทางระบบประสาท อาจเห็นน้องหมาปากสั่น หน้ากระตุก หรือชักได้
       ภูมิคุ้มกันปานกลาง น้องหมาจะมีอาการบ้าง ขึ้นกับว่าเชื้อเข้าไปทำลายระบบไหน หรือบางทีก็อาจไม่แสดงอาการ สุนัขอาจตายก็ได้ แต่หากรอดก็อาจจะมีอาการทางระบบประสาทหลงเหลืออยู่
       ภูมิคุ้มกันสูง น้องหมาอาจยังร่าเริง แต่เชื้อยังคงไประบบประสาทได้อยู่ จึงเห็นน้องหมาแสดงอาการทางระบบประสาท โดยที่ไม่มีอาการของระบบอื่นๆ เกิดขึ้นก่อน

       8 รอดหรือไม่ ให้ดูอาการสัก 3 สัปดาห์

       น้องหมาที่ติดเชื้อไวรัสไข้หัด จะเริ่มแพร่เขื้อที่ 7 วันหลังติดเชื้อ และเริ่มป่วยรุนแรงหลังติดเชื้อ 2-3 สัปดาห์ หากรอดจากอาการป่วยรุนแรงช่วง 3 สัปดาห์นี้ไปได้ ก็ถือว่า "รอดแล้ว" แต่อาจมีอาการทางระบบประสาทตามมา

       อาการทางระบบประสาทอาจไม่แสดงทันทีหลังจากมีอาการระบบอื่นๆ อาจเกิดหลังจากนี้ 1-3 สัปดาห์หรือเป็นเดือน บางทีเราอาจเห็นสุนัขแก่แสดงอาการชัก ก็เนื่องจากไข้หัดที่ติดมาตั้งแต่เด็กๆ ก็เป็นได้ เพราะเชื้อไปหลบอยู่ที่ระบบประสาทอยู่นานแล้ว รอเวลาที่ภูมิคุ้มกันลดจึงแสดงอาการ

Dogilike.com :: 11 เรื่องจริงของโรคไข้หัด ที่คนรักสุนัขต้องรู้

       9 การป้องกันทีดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีน

       น้องหมาที่ไวต่อโรคไข้หัด คือ ช่วงอายุ 3-6 เดือน ดังนั้นการป้องกันที่ดีสุด คือ การทำวัคซีนในลูกสุนัข โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 6-8 สัปดาห์ แล้วให้กระตุ้นซ้ำอีก 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 2-4 สัปดาห์ รวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง จากนั้นให้กระตุ้นซ้ำเป็นประจำทุกๆ ปี เพื่อให้ระดับแอนติบอดี (antibody) คงอยู่ในระดับที่ป้องกันเชื้อได้

       นอกจากนี้การเลือกซื้อสุนัขมาเลี้ยง ควรเลือกจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ซื้อจากฟาร์มโดยตรงจะดีกว่าซื้อตามตลาดค้าสัตว์ ควรได้เห็นพ่อและแม่ ลูกสุนัขควรได้รับน้ำนมแม่อย่างเพียงพอ พ่อและแม่ควรมีประวัติทำวัคซีนครบ ควรขอดูประวัติสมุดวัคซีนจากคนเพาะพันธุ์ด้วย ถ้าเค้าปฏิเสธไม่ให้ดู ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าอาจไม่ได้ทำวัคซีน เชื้อไวรัสนี้ติดทางรกได้ด้วยนะครับ...อย่าลืม

       10 เชื้อไข้หัดกำจัดง่าย ธรรมชาติก็ไม่ได้ใจร้ายกับเราเสมอไป

       เชื้อไวรัสไข้หัดที่เห็นว่าร้าย ก็เพียงแค่เวลาอยู่ในร่างกายของสุนัขเท่านั้น พอออกมาอยู่ข้างนอกตัวสัตว์ในสิ่งแวดล้อม กลับอ่อนแอ ไม่ทนทาน จะอยู่ได้ไม่นาน เพียงแค่แสงแดดหรือความร้อนมากกว่า 50 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที ก็สามารถทำให้เชื้อนี้ตายได้แล้ว ยาฆ่าเชื้อทั่วไป ยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของ Quaternary ammonia (0.3%) และ Phenol (0.75%) ก็สามารถทำลายเชื้อได้

Dogilike.com :: 11 เรื่องจริงของโรคไข้หัด ที่คนรักสุนัขต้องรู้

       11 โรคไข้หัด เมื่อหายแล้วจะมีภูมิต้านทานไปตลอดชีวิต

       เมื่อน้องหมาหายจากการเป็นไข้หัดแล้วจะไม่กลับมาเป็นอีกและไม่แพร่เชื้ออีก แต่สุนัขยังต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ได้แก่ หลอดลมอักเสบ ลำไส้อักเสบ ตับอักเสบ โรคเลปโตสไปโรซิส และพิษสุนัขบ้า ซึ่งปัจจุบันวัคซีนเหล่านี้อาจจะเป็นเข็มรวมกับโรคไข้หัดสุนัขด้วย ดังนั้นเจ้าของจึงไม่ควรละเลยเชื้อตัวอื่นๆ เหล่านี้ด้วย จึงจำเป็นต้องพาสุนัขไปทำวัคซีนอยู่ดี ซึ่งก็สามารถฉีดได้ไม่มีผลเสียอะไร

       เพื่อให้มั่นใจได้ว่าน้องหมาของทุกคนมีสุขภาพดี เจ้าของจะต้องให้ความใส่ใจในการดูแลอย่างใกล้ชิด หากพบว่าสุนัขมีอาการผิดปกติไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน ควรปรึกษาหรือนำสุนัขไปพบสัตวแพทย์ เนื่องจากการตรวจพบความผิดปกติยิ่งเร็วเท่าไร ความสำเร็จในการรักษายิ่งมากขึ้นเท่านั้น และแน่นอนการป้องกันดีกว่าการรักษาเสมอ น้องหมาจึงควรได้รับการฉีดวัคซีนตามโปรแกรมและกระตุ้นซ้ำทุกปี เพื่อลดโอกาสการป่วยครับ

 

 

บทความโดย: หมอต้น Dogilike.com
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
http://family.dogilike.com/tonvet/

ข้อมูลประกอบบทความ:
ขอขอบคุณ สพ.ญ.จุฑามาส ตันธนะชัย 

รูปภาพประกอบ:
www.poisonedpets.com
www.bakerinstitute.vet.cornell.edu
www.xhvet.com
www.technicchan.ac.th
www.blogs.ncmls.org
www.bostonterriersecrets.com