โดย: Tonvet
อันตรายจากสัตว์ร้ายที่มากับสายฝน
มาเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับ อันตรายจากสัตว์ร้ายที่มากับสายฝนกันครับ
11 กรกฏาคม 2555 · · อ่าน (91,337)
ช่วงนี้สายฝนโปรยปราย ทำให้เรารู้สึกชุ่มชื้น ชื่นใจได้ไม่น้อย น้องหมาเป็นสัตว์ที่ชอบเล่นน้ำ บางตัวสนุกสนานไปกับการวิ่งเล่นตากฝน ลุยน้ำจนตัวมอมแมม เรื่องตัวสกปรกอาจจะนำมาซึ่งโรคผิวหนังและกลิ่นตัว อากาศที่เย็นชื้นอาจจะนำซึ่งโรคหวัดและเป็นไข้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่สายฝนอาจนำมาหรืออาจจะมีมาอยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่อาจจะชุกชุมมากขึ้นในช่วงนี้ ก็คือ "อันตรายจากสัตว์ร้าย" นั่นเอง
หากพูดถึงสัตว์ร้ายที่อาจทำอันตรายต่อน้องหมาหรือแม้แต่ตัวเจ้าของเองแล้ว ก็คงจะหนีไม่พ้น งู คางคก ตะขาบ แมงป่อง ฯลฯ ตามแต่ที่พอจะนึกได้ ว่าแต่ ... เราเตรียมรับมือกันแล้วหรือยังครับ
วันนี้ มุมหมอหมา อยากชวนเพื่อนๆ มาเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับ อันตรายจากสัตว์ร้ายที่มากับสายฝนกันครับ เริ่มด้วยตัวแรกกันเลย ...
วันนี้ มุมหมอหมา อยากชวนเพื่อนๆ มาเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับ อันตรายจากสัตว์ร้ายที่มากับสายฝนกันครับ เริ่มด้วยตัวแรกกันเลย ...
งู
ขึ้นชื่อว่า “งู” บางคนฟังแล้วอาจขนลุก งูแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ งูมีพิษกับงูไม่มีพิษ งูพิษเป็นสัตว์อันตรายมากว่า เพราะพิษมีฤทธิ์ทำลายหลายระบบ น้องหมาจะได้รับพิษจากการถูกงูกัดหรือถูกพ่นพิษเข้าใส่ (งูเห่าพ่นพิษได้) ซึ่งพิษจะออกฤทธิ์ต่อระบบใดนั้นขึ้นกับชนิดของงู เช่น พิษจากงูจงอาง งูเห่า และงูสามเหลี่ยมจะออกฤทธิ์กับระบบประสาทและกล้ามเนื้อหัวใจ ส่วนพิษจากงูเขียวหางไหม้ งูกะปะ และงูแมวเซาจะออกฤทธิ์กับระบบเลือด และพิษจากงูทะเลจะออกฤทธิ์กับกล้ามเนื้อ แต่ใช่ว่างูไม่มีพิษจะไม่อันตรายนะครับ ในน้ำลายของงูมีเชื้อโรคมากมาย อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมาได้เช่นกัน
แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า น้องหมาตัวแสบถูกงูมีพิษหรือไม่มีพิษกัด บาดแผลของน้องหมาที่ถูกงูมีพิษกัดจะมีรอยเขี้ยว 1-2 แผล ขึ้นกับจังหวะของการถูกกัด ต่างกับงูไม่มีพิษ ที่จะไม่มีเขี้ยว เมื่อกัดจะฝากไว้แค่รอยถากของแนวรอยฟัน ไม่มีรอยเขี้ยวให้เห็น ปัญหาคือ น้องหมามีขนที่ปกคลุมตัวเป็นอุปสรรคต่อการสังเกตเห็นรอยแผล จะทราบได้อีกทีก็ตอนที่น้องหมา แสดงอาการอื่นๆ ตามมาแล้ว เช่น แผลบวมขึ้น หน้าบวม ตัวบวม มีอาการปวด กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต มีจุดเลือดออก อาจียนหรืออุจจาระเป็นเลือด เป็นต้น เว้นเสียแต่จะเห็นคาหนังคาตาเลยว่าถูกงูกัด แบบนี้ไม่ยาก เจ้าของจะต้องจดจำลักษณะของงู สี ลวดลายและรายละเอียดต่างๆ มาแจ้งกับคุณหมอ เพื่อที่คุณหมอจะได้เลือกให้เซรุ่มให้เหมาะสมกับพิษของงูต่อไป
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อน้องหมาถูกงูกัด ให้ควบคุมอย่าให้เค้าเครียด ดิ้นรน วิ่งหนี เพราะหากน้องหมาตื่นเต้น หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น อาจทำให้พิษแพร่กระจายได้ง่าย ปล่อยเลือดบริเวณแผลออกเพื่อระบายพิษ แต่ก็อย่าให้แผลที่ถูกงูกัดเคลื่อนไหวหรือกระทบกระเทือนมากนะครับ โกนขนโดยรอบ ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ห้ามนำแผลไปแช่น้ำอุ่น เพราะพิษจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ห้ามใส่สุรา หรือพอกน้ำแข็งที่แผล ให้รัดเหนือแผลประมาณ 2 นิ้ว ทิศทางเข้าหาหัวใจ (ตำแหน่งของหัวใจอยู่บริเวณที่หลังข้อศอกซ้ายสัมผัสกับช่องอกของน้องหมา) แล้วให้คลายทุก 10 นาที คลายครั้งละ 1 นาที หรือ จะพันขาด้วยผ้ายืด หรือหาอะไรมาดามด้วยคล้ายการพันเข้าเฝือกดามที่ขาก็ได้ เพื่อลดการเคลื่อนไหว (แต่ถ้าเป็นมานานกว่าครึ่งชั่วโมงแล้วอาจไม่ค่อยได้ผล) แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล โดยอาจโทรติดต่อคุณหมอก่อน เพื่อให้คุณหมอได้เตรียมเซรุ่มไว้ เผื่อบางทีคุณหมออาจไม่มีเซรุ่มสำรองไว้ ไม่ต้องรอให้หน้าบวมตัวบวมก่อนแล้วจึงพาไป เพราะบางทีก็อาจไม่ทัน
เนื่องจากงูเป็นสัตว์เลือดเย็นอุณหภูมิร่างกายผันแปรตามอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม อากาศชื้นในฤดูฝนอย่างนี้ ทำให้งูจำต้องหาที่อบอุ่นอยู่เพื่อปรับสภาพ นั่นเป็นเหตุว่าทำไมงูถึงชอบอยู่ที่รกรุ่งรัง สุ่มพุ่มไม้ ใต้ก้อนหิน ขอนไม้ ที่แคบหรือหลุมในดินที่มีความอบอุ่นกว่า เพราะฉะนั้นแนวทางป้องกันงูอย่างง่ายๆ คือ ทำให้บ้านโล่งและเรียบ (งูจะไม่ชอบพื้นเรียบเพราะเลื้อยยากกว่า) เก็บขยะใส่ถุงหรือถังขยะปิดให้มิดชิด เพื่อป้องกันหนูเข้ามากินขยะ ซึ่งงูก็จะตามหนูมาอีกที ปิดตะแกรงตามรู ตามท่อระบายน้ำซะ บางคนแนะให้วางการบูร ลูกเหม็น โรยปูนขาว หรือราดทินเนอร์ตามช่องทางที่คาดว่างูจะเข้ามา แต่ที่เค้าว่าให้วางมะนาวไว้อันนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ (ผมว่างูกลัวตอนบีบมะนาวใส่หม้อต้มมากกว่านะ) สุดท้ายสำคัญที่สุด คือ ระวังน้องหมาตัวดีไปเล่นกะงู อาจต้องขังในเวลากลางคืน หรือหมั่นสังเกตตลอดเวลาที่ปล่อยเค้าวิ่งเล่น เพื่อป้องกันการเกิดโศกนาฏกรรมที่จะตามมา
ตะขาบ
ตะขาบก็เป็นวายร้ายอีกหนึ่งตัวที่น้องหมาชอบเล่นนักเล่นหนา ตะขาบเป็นสัตว์ข้อปล้องที่มีพิษ แต่พิษไม่รุนแรงขนาดทำให้น้องหมาเสียชีวิต หากถูกตะขาบกัดจะพบรอยเขี้ยว 1-2 แผล (มองเผินๆ คล้ายถูกงูกัด แต่ไม่ลึกเท่า) พิษจะทำให้น้องหมาเจ็บปวด แดง ร้อน บางรายก็อาจมีอาการแพ้พิษ ซึ่งจะพบการบวมที่แผล แต่ที่สำคัญ คือ อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ ซึ่งอันตรายกว่าพิษของตะขาบเสียอีก
การปฐมพยาบาลเมื่อน้องหมาถูกตะขาบกัด ให้โกนขนที่แผล ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือล้างแผล โดยพยายามไล่เอาเลือดเสียออกมาเท่าที่จะทำได้ แต่อย่าบีบแรงเพราะจะไปทำลายเนื้อเยื่อโดยรอบได้ หากปวดบวมให้ประคบเย็นบริเวณที่ถูกกัดเพื่อลดปวด ไม่ควรประคบร้อนเด็ดขาด หากไม่ดีขึ้นควรพามาพบคุณหมอครับ
ช่วงฤดูฝนอย่างนี้ตะขาบชุกชุมนัก เพราะมันหนีน้ำท่วม น้ำขังเข้ามาในบ้าน มักอยู่ตามซอกตามมุม ในที่อับๆ ตามผ้าห่ม ในรองเท้า คนโบราณใช้น้ำมันทาร์ทาตามประตู-หน้าต่าง เค้าว่าสามารถกันตะขาบไม่ได้เข้ามาในบ้านได้
แมงป่อง
แมงป่องสัตว์มีพิษอีกชนิด มีกล้ามคล้ายปู แต่หาได้ใช้กล้ามทั้งสองไล่งับไม่ กลับใช้ปลายหางต่อยและปล่อยพิษที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทและระบบเลือดแทน พิษของแมงป่องบางชนิดมีฤทธิ์ทำให้น้องหมาเสียชีวิตได้ โชคดีที่ชนิดนี้ไม่ค่อยพบในบ้านเรา แผลที่ถูกแมงป่องต่อยจะมี 1 รู เจ็บปวดมาก น้องหมาอาจมีอาการน้ำลายฟูมปาก อาเจียน เลือดไหลไม่หยุด และอ่อนแรงได้
แนวทางปฐมพยาบาล ก็คล้ายกับการถูกงูหรือตะขาบกัด แต่ที่สำคัญคือ ควรนำตัวส่งโรงพยาบาลด้วย หากจะป้องกันก็ง่ายๆ ทำลายแหล่งกบดานซะ ทำบ้านที่โล่งและเรียบ จะได้ไม่มีแมงป่องมาอาศัยอยู่ให้เป็นอันตรายทั้งน้องหมาและคนไงครับ
คางคก
คางคกเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งมีพิษจะอยู่ตาม ผิวหนัง เลือด และรังไข่ แต่มีต่อมพิษอยู่ที่บริเวณหัวเหนือตา เมื่อคางคกถูกรบกวนหรือคุกคาม จะหลั่งสารพิษออกมา ลักษณะเป็นยางเมือกสีขาวๆ ส่วนใหญ่น้องหมาจะกัดและคาบเล่น ทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ปากและหน้า อาจทำให้เกิดการบวมอักเสบ ทำให้หายใจลำบาก น้ำลายฟูมปาก เจ็บปวดแสบร้อน และพิษส่งผลต่อการทำงานของหัวใจน้องหมาด้วย ถ้ากินเข้าไปก็อาจทำให้น้องหมาเสียชีวิตได้
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อน้องหมาถูกพิษจากคางคก ก่อนอื่นต้องควบคุมให้สงบนิ่งลงก่อน หากเพิ่งได้รับพิษอาจจะช่วยด้วยการล้างปาก โดยจับน้องหมาก้มหัวลงเพื่อให้น้ำไหลผ่านออกมาจากปาก ชะล้างเอาพิษในช่องปากออกมาให้มากที่สุด (อย่าให้กลืนเข้าไป) แต่หากสัมผัสพิษมานานจนหน้าบวมปากบวมแล้ว ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งคุณหมอจะรักษาไปตามอาการครับ
การป้องกันไม่ให้มีคางคกเห็นจะยาก ถ้าทำได้อาจต้องกำจัดไม่ให้มีน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งวางไข่และเป็นแหล่งอาหารของคางคก แต่วิธีที่ง่ายกว่า คือ การป้องกันน้องหมาไม่ไห้ไปเล่นคางคกครับ
กิ้งกือ
กิ้งกือเป็นสัตว์ที่มีข้อปล้อง ชอบอาศัยอยู่ตามกองใบไม้ที่ร่วงทับถมกัน พื้นที่ชื้นแฉะ ออกหากินในเวลากลางคืน มีพิษอยู่ตามข้างลำตัว เหลวใส ไม่มีสี และเช่นเคยน้องหมาจะไปกัดและคาบเล่น ทำให้เกิดการระคายเคือง เจ็บปวดได้ บางตัวมีอาการแพ้ หรือพิษไปถูกอวัยวะที่สำคัญอย่างดวงตา อาจทำให้เกิดตาอักเสบได้ สำหรับวิธีการปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับการถูกพิษจากคางคกครับ
ยุง
หลายคนคงอาจงง อ่าว...แล้วยุงเกี่ยวอะไร ไม่เห็นมีพิษตรงไหนเลย ถูกครับยุงไม่มีพิษ แต่ยุงนำโรคพยาธิหนอนหัวใจมาติดน้องหมาได้ แถมน้องหมาบางตัวอาจมีอาการแพ้ยุงได้ ที่เรียกว่า Mosquito bite hypersensitivity ซึ่งจะพบตุ่มแดงตามส่วนที่มีขนบางหรือไม่มีขน เพราะยุงจะกัดได้ง่าย เช่น ปลายจมูก รอบตา ใบหู ตามหน้าท้อง เป็นต้น ถ้าเป็นอาการแพ้แบบนี้ก็อาจต้องพึ่งยากดภูมิคุ้มกันจากคุณหมอครับ
ช่วงฤดูฝนอย่างนี้ ยุงก็เยอะเสียด้วย จึงอยากให้เพื่อนๆ ใส่ใจ อย่ามองข้ามภัยร้ายที่มากับยุงนี้ด้วยครับ วิธีที่ดีสุด คือ ให้เค้าอยู่ในกรงติดมุ้งลวด เพราะการจุดยากันยุง ควันอาจเป็นอันตรายกับน้องหมาได้ ส่วนยาทากันยุงอาจทาได้ในบริเวณที่ไม่มีขน แต่ต้องระวังน้องเลียหรือแพ้สารเคมีจากยากันยุงที่ทาด้วย นอกจากป้องกันยุงแล้ว ก็ควรป้องกันพยาธิหนอนหัวใจควบคู่กันไปด้วยนะครับ จะเลือกเป็นแบบป้อน หยอดหลัง หรือฉีดก็ตามแต่เจ้าของจะสะดวกนะครับ...และสุดท้าย
เห็บ
เห็บเป็นปรสิตภายนอกร่างกายของน้องหมาที่พบมากขึ้นในฤดูฝน เห็บนำโรคพยาธิในเม็ดเลือดมาติดน้องหมาผ่านการถูกกัดและน้องหมากินเห็บเข้าไปโดยบังเอิญ แนวทางการป้องกันเห็บต้องหยอดหลังหรือฉีดยาเพื่อกำจัดเห็บบนตัวน้องหมา ส่วนตามสิ่งแวดล้อมก็กำจัดโดยการพ่นยา และทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเห็บร่วมกันไปด้วย เพื่อให้ได้ผลเต็มที่
จะหาว่าสัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์ที่ร้ายและอันตราย ก็ใช่ว่าจะถูกต้องทั้งหมดซะทีเดียวนะครับ จริงอยู่...ยุงและเห็บ ซึ่งจัดเป็นปรสิต จำเป็นต้องกำจัด แต่อย่างงู คางคก กิ้งกือ ฯลฯ เค้าก็ดำรงอยู่ไปตามประสาสัตว์โลก และหากินไปตามธรรมชาติและสัญชาติญาณของเค้า ส่วนใหญ่จะขี้กลัวและระวังภัยเสียด้วยซ้ำ ไม่ได้เป็นสัตว์ที่เป็นศัตรูโดยตรงกับน้องหมาหรือคนเรา
มันก็คงไม่เป็นธรรมเช่นกัน หากเราไปตั้งข้อรังเกียจและจ้องที่จะกำจัดสัตว์เหล่านั้นให้สิ้นซากไป และสำหรับน้องหมาเอง เป็นสัตว์ที่มีความอยากรู้อยากเห็น เราคงไปห้ามเค้าไม่ได้ แต่เราสามารถจำกัดความอยากรู้อยากเห็นนี้ได้ ก็เพื่อป้องกันอันตรายและภัยร้ายที่จะกลายเป็นโศกนาฏกรรมตามมาไงครับ
มันก็คงไม่เป็นธรรมเช่นกัน หากเราไปตั้งข้อรังเกียจและจ้องที่จะกำจัดสัตว์เหล่านั้นให้สิ้นซากไป และสำหรับน้องหมาเอง เป็นสัตว์ที่มีความอยากรู้อยากเห็น เราคงไปห้ามเค้าไม่ได้ แต่เราสามารถจำกัดความอยากรู้อยากเห็นนี้ได้ ก็เพื่อป้องกันอันตรายและภัยร้ายที่จะกลายเป็นโศกนาฏกรรมตามมาไงครับ
บทความโดย: หมอต้น Dogilike.com
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
รูปภาพประกอบ:
www.fightingthemyths.blogspot.com
www.talk.mthai.com
www.rspcansw.org.au
www.infoaid.org
www.hemlockhollowdogtraining.blogspot.com
www.fightingthemyths.blogspot.com
www.talk.mthai.com
www.rspcansw.org.au
www.infoaid.org
www.thejakartapost.com
www.frankdickinson.me
www.thebggaro.wordpress.comwww.hemlockhollowdogtraining.blogspot.com
www.healthaskit.com
www.gotoaid.com
www.flickr.com
www.dogguide.net
www.petwebsite.com
SHARES