โดย: Tonvet

โรคอัลไซเมอร์ในสุนัข

ความทรงจำอันแสนสั้น ในวันที่น้องหมาชรา

19 กันยายน 2555 · · อ่าน (54,040)
649

SHARES


649 shares

Dogilike.com :: โรคอัลไซเมอร์ในสุนัข


       เพื่อนๆ ที่เลี้ยงสุนัขแก่ที่บ้าน เคยพบเจออาการเหล่านี้บ้างหรือไม่ "สุนัขเอาแต่นอนทั้งวันไม่สนใจสิ่งรอบกาย สุนัขไม่ทักทายเจ้าของเหมือนเคย สุนัขไม่ทำตามคำสั่ง เช่น ลุก นั่ง หมอบ คอย ขอมือ ฯลฯ สุนัขก้าวร้าวขึ้น อยู่ดีๆ ก็กัดและจู่โจมเจ้าของ" หลายคนอาจคิดว่าอาการเหล่านี้เป็นปกติในสุนัขแก่ แต่ ... ความจริงแล้วมันคือสัญญาณบ่งบอกว่า สุนัขของเรากำลังป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม  
 
      
       โรคนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าภาวะความผิดปกติของการรับรู้และความคิด หรือ Canine Cognitive Dysfunction Syndrome (CDS) ชื่อที่อ่านแล้วยาว แถมยังไม่เข้าใจ แต่ถ้าหาก เรียกว่า “โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease)” แล้วล่ะก็ หลายคนคงร้องอ๋อกันเลยทีเดียว

     โรคอัลไซเมอร์ในสุนัข เป็นโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากเซลส์สมองตาย ทำให้สมองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว การควบคุมอารมณ์ ความทรงจำ จนถึงขั้นไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันเช่นเดิมได้ ในระยะท้ายของโรคจะสูญเสียความจำทั้งหมด เช่นเดียวกับอัลไซเมอร์ในคน 
 

Dogilike.com :: โรคอัลไซเมอร์ในสุนัข

 

สาเหตุการเกิดโรค

      
       ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดในการเกิดโรค แต่จากการผ่าซากดูลักษณะรอยโรคที่เกิดในสมองสุนัขที่เป็นโรค พบสาเหตุที่ทำให้สมองเสื่อม คือ มีการสะสมของสาร Beta Amyloid plaque (insoluable amyloid plaque) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำลายเซลล์ประสาท โดยการปลดปล่อยอนุมูลอิสระออกมา เซลล์ประสาทก็จะไม่สามารถดูดซึมน้ำตาลกลูโคส จากเลือดเข้าไปในเซลล์ได้อีกต่อไป และเมื่อเซลล์ขาดกลูโคส เซลล์ก็ตายเพราะขาดพลังงาน การที่สมองมี Beta Amyloid plaque หุ้มอยู่ ทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทในสมองถูกยับยั้ง อีกทั้งระดับของ Dopamine ในสมองที่ลดลงด้วย ก็ทำให้การสั่งการของสมองหยุดชะงักลง
 
 

อาการของโรค


       สามารถแยกความผิดปกติของอารมณ์และพฤติกรรมออกเป็น 4 แบบด้วยกั เพื่อนๆ ลองเช็คดูสิว่า น้องหมาของเรามีผิดปกติตามข้างล่างนี้หรือไม่ ถ้ามีก็ควรพาไปให้คุณหมอตรวจร่างกายดูนะครับ
 

Dogilike.com :: โรคอัลไซเมอร์ในสุนัข


       1. ไม่รับรู้สภาวะการณ์
           • เรียกชื่อแล้วไม่ตอบสนอง
           • ไม่ทำตามคำสั่งเจ้าของ
           • ยืนจ้องมองกำแพงเป็นเวลานาน
           • หลบสิ่งของในบ้านไม่เป็น บางทีติดอยู่ในมุมห้อง ใต้โซฟา หลังตู้ เพราะจำทางออกไม่ได้
           • เดินวนไปวนมาไม่ยอมหยุด
           • เห่าหรือตกใจโดยไม่มีเหตุผล
           • มีความก้าวร้าวมากขึ้น ขู่ในลำคอ หรือไล่งับเจ้าของหรือสิ่งที่เคลื่อนไหว
 
      
       2. ปฏิสัมพันธ์เปลี่ยน
           • ไม่ทักทายเจ้าของหรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ
           • ไม่สนใจสิ่งรอบตัว
           • ไม่สนใจเมื่อได้รับการลูบหัวหรือเล่นด้วย มักเดินหนีไปเฉยๆ 
 

Dogilike.com :: โรคอัลไซเมอร์ในสุนัข


       3. การนอนหลับเปลี่ยนไป
           • นอนหลับยาวนานในช่วงเวลากลางวัน
           • กลางคืนไม่ยอมนอน ชอบเดินไปเดินมา 

       4. สูญเสียสิ่งที่เคยเรียนรู้มา
           • ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างในบ้านและนอกบ้านได้ 
           • บางทีชอบทำท่าขุดดินในบ้าน เนื่องจากคิดว่าเป็นพื้นดิน
           • ขับถ่ายหรือปัสสาวะในบ้าน เพราะคิดว่าเป็นสนามนอกบ้าน
           • มักเกิดอุบัติเหตุเมื่ออยู่ในบ้าน หรือนอกบ้าน
           • จำไม่ได้ว่าออกนอกบ้านมาทำอะไร ลืมขออนุญาตเจ้าของก่อนออกจากบ้าน
 
 

Dogilike.com :: โรคอัลไซเมอร์ในสุนัข

 

การวินิจฉัยโรค


       เมื่อสุนัขเกิดความก้าวร้าวหรือมีพฤติกรรมอื่นๆ เปลี่ยนตามที่ได้กล่าวไป ควรได้รับการตรวจจากคุณหมอ แต่ไม่มีการวินิจฉัยที่จำเพาะเจาะจงกับโรคอัลไซเมอร์ในสุนัขหรอกนะครับ คุณหมอจะทำการตรวจสุขภาพเบื้องต้น เพื่อคัดกรองโรคที่สามารถเป็นไปได้และความเจ็บป่วยอื่นๆ ของร่างกายออกก่อน จากนั้นจึงตรวจระบบประสาท ตรวจน้ำไขสันหลัง หรือทำการถ่ายภาพรังสีส่วนตัดด้วยคอมพิวเตอร์ (CT-scan) หรือตรวจเอ็กซ์เรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูความผิดปกติของโครงสร้างสมอง 
 

การรักษาโรค


       ไม่มีการรักษาที่หายขาด มีแค่การรักษาที่ช่วยช่วยชะลอการเสื่อมของสมอง ทำให้สุนัขมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีชีวิตยาวนานขึ้นเท่านั้น ยาที่ใช้รักษาโรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) ในคน ที่รู้จักกันในชื่อ Selegiline hydrpchloride (L-deprenyl HCl) สามารถใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ในสุนัขได้ โดยยาจะไปเพิ่มระดับ dopamine และสารสื่อประสาทในสมอง โดยพบว่าสุนัข 75 เปอร์เซ็นต์ จะมีอาการดีขึ้นภายใน 1 เดือน และน้องหมาสามารถมีชีวิตยาวนานขึ้นเฉลี่ยประมาณ 1-2 ปี นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยให้อาหารเสริมบำรุงสมองร่วมด้วย ได้แก่ วิตามินบีรวม วิตามินซี กรดไขมันโอเมก้า-3 และเบต้าแคโรทีน เป็นต้น
 

Dogilike.com :: โรคอัลไซเมอร์ในสุนัข

 

วิธีการดูแลน้องหมาอัลไซเมอร์


       1. ให้ความสนใจกระตุ้นอารมณ์สุนัข เช่น เล่นด้วย พาไปเดินเล่น พูดคุยเป็นประจำ
       2. เมื่อพาไปนอกบ้านต้องใส่สายจูง เพื่อป้องกันสุนัขหลงทางหรือได้รับอันตราย
       3. เมื่ออยู่ในบ้านใส่กระดิ่งเสียงดังๆ ที่ปลอกคอ เพื่อจะได้รู้ว่าเค้าอยู่ตรงไหน
       4. ไม่ย้ายข้าวของภายในบ้าน เพื่อลดความเครียดให้สุนัข
       5. ควรให้อาหารสูตรสำหรับสุนัขแก่โดยเฉพาะ และเสริมอาหารบำรุงสมองในอาหารด้วย
       6. เตรียมชามน้ำและอาหารให้มีขนาดและความสูงที่พอดี ให้สุนัขกินได้สบายไม่ต้องก้มตัว
       7. เตรียมที่นอนที่สบายให้สุนัขและควรเตรียมไว้หลายๆ ที่ ที่ที่สุนัขชอบไปนอน
       8. หากสุนัขชอบขึ้นโซฟาหรือเตียง ควรทำบันได้พาด เพื่อให้การขึ้นลงสะดวกและปลอดภัย
       9. ไม่ควรปล่อยให้สุนัขขึ้นลงบันไดเอง อาจเกิดอันตรายได้
 

Dogilike.com :: โรคอัลไซเมอร์ในสุนัข

       มีคนกล่าวไว้ว่า "โรคอัลไซเมอร์เปรียบเสมือนพญามัจจุราช ที่เข้ามาปิดหลอดไฟในสมองให้ค่อยๆ ดับลงไปเรื่อยๆ โดยที่เราในฐานะเจ้าของ ไม่อาจทำอะไรได้เลย นอกจากการเฝ้าดูหลอดไฟทั้งหมดมืดดับลงไป จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต" 
 
      
       วันที่ 21 กันยายนของทุกปี ถูกประกาศให้เป็นวันโรคอัลไซเมอร์สากล มุมหมอหมา ขอเป็นอีกแรงหนึ่งที่จะร่วมระลึกและเฝ้าระวังโรคร้ายโรคนี้ ขออย่าให้เกิดขึ้นกับน้องหมาบ้านไหนเลย
 

 

 
บทความโดย: หมอต้น Dogilike.com
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สพ.ญ. จุฑามาส ตันธนะชัย

รูปภาพประกอบ:
www.buzzfeed.com
www.ahaf.org
www.stjohnsuntimes.com
www.theniftyfiles.com
www.thai-healthy.blogspot.com
www.zazzle.com
www.machias.edu