โดย: Tonvet
10 ข้อห้ามเมื่อต้องช่วยชีวิตสุนัข "ช็อค"
ช็อคคืออะไร เกิดจากสาเหตุใด มีกี่ประเภท มีข้อห้ามในการช่วยชีวิตอะไรบ้างมาดูกัน
12 ธันวาคม 2555 · · อ่าน (78,274)ชาว Dogilike หลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่า ช็อค (Shock) ที่คนมักพูดกันจนติดปาก เวลาที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ทั้งกับคนหรือสุนัขก็ดี แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าภาวะเช่นนี้นั้นเป็นอย่างไร ความจริงแล้ว ช็อค หมายความว่า ภาวะที่เกิดความผิดปกติของสมดุลปริมาณเลือดในร่างกาย ทำให้การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงตามส่วนต่างๆ ไม่เพียงพอ รวมถึงเลือดที่กลับเข้าสู่หัวใจเพื่อมาฟอกที่ปอดก็ไม่เพียงพอด้วยเช่นกัน เป็นผลให้เซลล์ต่างๆ ขาดออกซิเจนและเกิดการตายตามมา อวัยวะต่างๆ ของร่างกายจึงทำงานล้มเหลว จนสุดท้ายทำให้สุนัขเสียชีวิตได้
สาเหตุของช็อคนั้นมีมากมายไม่ว่าจะเป็น การเสียเลือด สูญเสียน้ำ ท้องเสียหรืออาเจียนรุนแรง ได้รับบาดเจ็บจากการกระแทก บาดเจ็บที่ไขสันหลัง ติดเชื้อในกระแสเลือด ได้รับสารพิษ ถูกสัตว์มีพิษกัด ได้รับสารก่อภูมิแพ้ แพ้วัคซีน หัวใจทำงานล้มเหลว อยู่ในที่ร้อนหรือเย็นจัดนานเกินไป ฯลฯ เราสามารถแยกประเภทของการช็อคออกได้ตามสาเหตุหลักๆ ได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้ครับ
1. ช็อคจากการเสียเลือด (Hypovolemic shock)
เมื่อร่างกายสูญเสียเลือดหรือน้ำ ทำให้ปริมาณเลือดในหลอดเลือดลดลง การไหลกลับเข้าสู่หัวใจจึงลดลง ส่งผลให้การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ไม่เพียงพอ ร่ายกายจึงขาดออกซิเจนได้
2. ช็อคจากหัวใจล้มเหลว (Cardiogenic shock)
เมื่อหัวใจทำงานผิดปกติไป เกิดการหลั่ง Catecholamine ส่งผลให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้การไหลเวียนเลือดมีปัญหา การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายไปเพียงพอ ร่ายกายจึงขาดออกซิเจนได้
3. ช็อคจากการติดเชื้อในกระแสเลือด (Septic shock)
เมื่อร่างกายติดเชื้อในกระแสเลือด จะเกิดพิษจากเชื้อไม่ว่าจะเป็น แบคทีเรียทั้งแกรมบวกและลบ เชื้อรา ไวรัส หรือริคแกตเซีย โดยเฉพาะแบคทีเรียแกรมลบจะมีการหลั่ง Endotoxin ออกมาทำลายเซลล์ ทำให้เซลล์หลั่งสาร Mediators ต่างๆ ทำให้เส้นเลือดขยายตัว เกิดความดันโลหิตต่ำ เลือดกลับไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ หัวใจทำงานผิดปกติ การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ลดลง อีกทั้งยังมีการสร้างลิ่มเลือดกระจายทั่ว (DIC) จึงไปอุดตันการไหลเวียนของเลือดอีกทาง ร่างกายจึงขาดออกซิเจน
4. ช็อคจากการสูญเสียหน้าที่ของระบบประสาท (Neurogenic shock)
เมื่อมีปัญหากับระบบประสาท ทำให้สูญเสียการทำงานของระบบ Sympathetic ส่งผลให้การควบคุมหลอดเลือดในร่างกายผิดปกติไป เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดต่างๆ ทั่วร่างกาย ทำให้เลือดกลับเข้าสู่หัวใจลดลงและไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายลดลง ร่างกายจึงขาดออกซิเจน
5. ช็อคจากการแพ้ (Anaphylactic shock)
เมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ จะกระตุ้นการทำงานของแอนติบอดี (Antibody) มีการหลั่งสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ ในร่างกาย เชน ฮีสตามีน ไคนิน โพรสตาแกนดิน ฯลฯ ทำให้เส้นเลือดขยายตัว ทำให้ความดันโลหิตต่ำ เลือดบางส่วนรั่วออกมาสะสมตามช่องว่างระหว่างเซลล์ เกิดภาวะบวมน้ำ (Edema) เลือดที่เหลือกลับไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ หัวใจทำงานผิดปกติ การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ลดลง ร่างกายจึงขาดออกซิเจน
สำหรับน้องหมาที่ช็อค เจ้าของสามารถทราบได้จากการสังเกตอาการต่างๆ ในระยะแรกของการช็อค ร่างกายของน้องหมาจะมีการปรับตัว เจ้าของจะพบว่า น้องหมาหายใจถี่และเร็วขึ้น (มากกว่า 30-40 ครั้งต่อนาที) ชีพจรและหัวใจเต้นเร็วและแรงขึ้น (มากกว่า 120-160 ครั้งต่อนาที) เซื่องซึม อ่อนแรง ผิวหนังขาดความยืดหยุ่นและคืนตัวช้า
ระยะต่อมาน้องหมาอาจมีอุณหภูมิของร่างกายลดลง (ต่ำกว่า 100 ๐F หรือ 37.5 ๐C) ปลายเท้าเย็น เหงือกซีด เยื่อเมือกต่างๆ ซีด หากเอานิ้วกดลงไปที่เหงือก จะพบเวลาการคืนตัวของเลือดมากกว่า 2 วินาที น้องหมาจะเริ่มหายใจช้าลง อัตราการเต้นของหัวใจและชีพจรช้าลง หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการช่วยชีวิต
10 ข้อห้ามเมื่อต้องช่วยชีวิตสุนัข "ช็อค"
ภาวะช็อคจะเกิดอย่างรวดเร็วมาก เป็นสาเหตุการตายอับดับต้นๆ โดยเฉพาะเวลาที่เกิดอุบัติเหตุกับสุนัข ถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องช่วยชีวิตโดยด่วน แต่ในการช่วยชีวิตสุนัขที่ช็อคนั้น เรามี ข้อต้องห้ามในการปฏิบัติ ดังต่อไปนี้ครับ
1. ห้ามตื่นตระหนกตกใจเสียเอง เมื่อประสบกับเหตุการณ์ เจ้าของต้องมีสติสัมปัชชัญญะ ค่อยๆ ลำดับวิธีหรือขั้นตอนในการช่วยเหลือ หากไม่สามารถช่วยคนเดียวได้ ให้หาคนที่มีสติที่ดีมาช่วยอีกแรง
2. ห้ามให้สุนัขเดิน เจ้าของต้องคุมน้องหมาให้อยู่นิ่ง ค่อยๆ ให้น้องหมานั่งหรือนอนลงราบกับพื้น
3. ห้ามให้สุนัขตื่นเต้น คอยปลอบประโลมเพื่อลดความกระวนกระวาย งดการส่งเสียงดัง เพราะจะทำให้น้องหมาเครียดได้
4. ห้ามคนมุงดูรวมถึงควรกันสัตว์ตัวอื่นๆ ออกจากบริเวณนั้นด้วย โดยให้น้องหมาอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ทำช่องปากและจมูกน้องหมาให้โล่ง เพื่อให้รับออกซิเจนได้อย่างเต็มที่
5. ห้ามเลือด ข้อนี้เป็นสิ่งที่เจ้าของต้องทำ โดยหาแผลหรือจุดที่เลือดออกและรีบห้ามเลือดโดยด่วน ใช้ปลายนิ้วที่ไม่มีแผลกดไปยังจุดที่มีเลือดออก หรือหาผ้าพันกดไว้ไม่ให้เลือดออก
6. ห้ามหนุนหัวสุนัขสูงเกินไป เจ้าของต้องจัดท่านอนของน้องหมาในท่านอนราบ ให้หัวของน้องหมาต่ำกว่าลำตัว โดยยกลำตัวให้สูงขึ้นทำมุมกับพื้นประมาณ 30 องศา เลือดจะได้ไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น ยกเว้นกรณีถูกสัตว์มีพิษกัด ควรให้ตำแหน่งของแผลอยู่ต่ำกว่าหัวใจ
7. ห้ามให้ปลายเท้าขาดเลือด พยายามบีบนวดบริเวณปลายขาปลายเท้า เพื่อให้เลือดมาเลี้ยงได้อย่างทั่วถึง
8. ห้ามให้อุณหภูมิร่างกายสุนัขลดต่ำลง เจ้าของต้องหาผ้ามาห่มหรือปูลองพื้นด้วยผ้า เพิ่มความอุณหภูมิให้กับร่างกาย หรือทำการประคบอุ่น กกไฟ เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายคงอยู่ที่ 101-102.5 ๐F
9. ห้ามป้อนน้ำ อาหารหรือยา หากน้องหมาไม่รู้สึกตัว อาจทำให้สำลักลงหลอดลมหรือปอดได้
10.ห้ามเวิ่นเว้อ เมื่อเกิดภาวะช็อคทุกนาทีชีวิตมีค่า การตัดสินใจต้องยึดหลักความรวดเร็วและถูกต้อง เมื่อน้องหมาเริ่มมีอาการทรงตัวแล้ว ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
เหตุการณ์ฉุกเฉินสามารถเกิดได้ทุกที่ทุกเวลา เจ้าของต้องให้ความใส่ใจในการเลี้ยงดูน้องหมาให้มากๆ โดยเฉพาะหมาเด็ก หมาแก่ และหมาที่ป่วยด้วยโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ฯลฯ กลุ่มสุนัขเหล่าอาจมีความเสี่ยงเกิดการช็อคได้ง่ายหากร่างกายเกิดความผิดปกติขึ้นมา จำไว้เสมอว่าในการช่วยชีวิตไม่ว่าจะกับคนหรือสุนัขก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ สติ เมื่อพบน้องหมาช็อค เราต้องประเมินสภาพ วางแผนและเข้าช่วยเหลือให้ทันท่วงที เมื่อสาเหตุของการช็อคได้รับการแก้ไข ร่างกายจะสามารถปรับตัวได้ เซลล์กลับมาได้รับออกซิเจนและสารอาหารอย่างเพียงพอ ร่างกายก็สามารถกลับสู่ภาวะปกติได้แน่นอนครับ
บทความโดย: หมอต้น Dogilike.com
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
รูปภาพประกอบ:
www.whitepinevet.com
www.examiner.com
www.dogsworld101.com
www.blog.petsforpatriots.org
www.playfetch.co.uk
SHARES