โดย: Tonvet
3 อาการป่วยของน้องหมา ที่เจ้าของมืออาชีพไม่ควรมองข้าม
มาดูอาการป่วยสำคัญที่เจ้าของมืออาชีพอย่างเราไม่ควรมองข้าม
2 มกราคม 2556 · · อ่าน (283,687)
ความเจ็บป่วยของน้องหมาก็ไม่ต่างอะไรกับคนเรานะครับ หากจะต่างกันก็ตรงที่น้องหมาพูดไม่ได้ ไม่สามารถบอกให้เราทราบได้ว่าตัวเองกำลังป่วยอะไรอยู่ เพราะฉะนั้นเจ้าของอย่างเราก็ต้องคอยสังเกตอาการความผิดปกติของน้องหมาอยู่เป็นประจำ
อาการที่เจ้าของมักจะสังเกตพบเห็น ส่วนใหญ่จะเป็นอาการที่น้องหมาแสดงความผิดปกติออกมาชัดเจน ได้แก่ อาเจียน ท้องเสีย ซึม ไม่กินอาหาร ไอ จาม เดินยกขา ขนร่วง เกาคัน ฯลฯ จึงทำให้เราสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย แต่อาการป่วยบางอย่างก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่าน้องหมาของเรากำลังป่วยได้เช่นกัน ซึ่งเจ้าของมืออาชีพอย่างเราไม่ควรมองข้าม เรามาดูกันสิว่ามีอาการอะไรบ้าง
เหนื่อยง่าย
อาการเหนื่อยง่าย (Exercise intolerance) ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่าน้องหมาอาจกำลังป่วยได้ อาการนี้พบได้บ่อยในน้องหมาที่เป็นโรคอ้วนหรือมีอายุมาก หรืออาจกำลังป่วยด้วยโรคบางอย่าง เช่น โรคหลอดลมตีบ โรคหลอดลมในปอดอักเสบแบบเรื้อรัง (โรคหอบหืดในสุนัข) โรคหัวใจต่างๆ รวมถึงเนื้องอกและมะเร็ง ฯลฯ แต่สำหรับน้องหมาที่มีอายุน้อยๆ และมีปัญหาระบบทางเดินหายหรือเป็นสุนัขพันธุ์หน้าสั้นอยู่แล้ว ก็สามารถพบปัญหาอาการเหนื่อยง่ายนี้ได้เช่น
เราสามารถสังเกตพบอาการเหนื่อยง่ายได้จาก การที่น้องหมาไม่ทนต่อการการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่เคยทำอยู่เป็นประจำ เช่น เคยวิ่งเล่นนาน 15 นาที ได้อย่างสบายๆ ไม่เหนื่อย ปัจจุบันวิ่งเล่นแค่เพียง 5-10 นาที ก็เหนื่อยจนต้องนั่งพักขอเวลานอกหรือนั่งหอบ ซึ่งอาการลักษณะเช่นนี้ จำเป็นต้องแยกออกจากปัญหาทางระบบกระดูกและข้อด้วย เพราะน้องหมาที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและข้อ เช่น ข้ออักเสบ ข้อสะโพกเสื่อม ฯลฯ ก็มักจะไม่ทนต่อการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายเป็นเวลานานๆ เช่นกัน เนื่องจากทำให้เกิดความเจ็บปวด ซึ่งหากเกิดจากสาเหตุกระดูกและข้อ น้องหมาอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เดินผิดปกติ ลุกยืนลำบาก ฯลฯ
สำหรับน้องหมาที่มีอาการเหนื่อยง่ายให้เห็นบ่อยๆ เราสามารถพาน้องหมาไปพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ซึ่งคุณหมออาจจะพิจารณาส่งตรวจวินิฉัยด้วยการถ่ายภาพรังสีช่องอก (เอ็กซเรย์) ตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardioghapy) หรือตรวจเลือด ฯลฯ ต่อไป เพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติดังกล่าว
หายใจลำบาก
ปกติน้องหมาจะมีการหายใจเข้าออกอย่างเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ไม่สั้นหรือยาวจนเกินไป ลมหายใจเข้าแล้วออกหนึ่งรอบให้นับหนึ่งครั้ง ในหนึ่งนาทีน้องหมาจะหายใจประมาณ 20-40 ครั้ง ขณะหายใจเข้ารับลมเข้าปอด ช่องอกจะขยายเล็กน้อยกระบังลมไปดันช่องท้องให้กางขึ้น พอหายใจออกช่องท้องก็จะแฟบลงเป็นปกติ ไม่มีเสียงดังครืดคราดผิดปกติขณะหายใจ
น้องหมาที่หายใจลำบาก (Dyspnea) จะมีลักษณะความผิดปกติของการเคลื่อนไหวของช่องอกและช่องท้องในขณะที่หายใจ บางครัังอาจพบเห็นการอ้าปากหายใจหรือยืดคอหายใจ มีจังหวะการหายใจที่ไม่สม่ำเสมอสั้นบ้างยาวบ้างสลับกันไป เราสามารถแยกการหายใจลำบากออกเป็น หายใจเข้าลำบาก (Inspiratory dyspnea) แบบนี้จะสังเกตเห็นว่าช่วงเวลาหายใจเข้าจะยาวนานกว่าการหายใจออก บางครั้งอาจได้ยินเสียงผิดปกติขณะหายใจ หรือขณะหายใจเข้าช่องท้องกลับยุบ เพราะต้องใช้แรงจากช่องท้องช่วยหายใจ ลักษณะอาการเช่นนี้ส่วนใหญ่จะเกิดจากความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจส่วนต้นตั้งแต่จมูกถึงหลอดลม เช่น รูจมูกตีบแคบ เพดานอ่อนของช่องปากยื่นยาว มีสิ่งแปลกปลอมหรือก้อนเนื้องอกอุดตันในโพรงจมูก ฯลฯ แต่หากน้องหมาหายใจออกลำบาก (Expiratory dyspnea) เราจะสังเกตเห็นว่า ช่วงเวลาหายใจออกจะยาวนานกว่าการหายใจเข้า อาจมีอาการไอร่วมด้วยก็ได้ ส่วนใหญ่จะเกิดจากความผิดปกติของช่องอก ปอดและหัวใจ บางครั้งอาจมีการสะสมของของเหลวหรืออากาศในช่องอก หรืออาจมีอวัยวะในช่องท้องเข้ามาดันช่องอกก็ได้ ฯลฯ
สำหรับน้องหมาที่มีอาการหายใจลำบากให้เห็นบ่อยๆ เราสามารถพาไปตรวจร่างกายกับคุณหมอ ซึ่งคุณหมออาจจะพิจารณาส่งตรวจวินิจฉัยด้วยการถ่ายภาพรังสีช่องอก (เอ็กซเรยฺ์) ตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiography) หรืออาจจะใช้วิธีการวางยาสลบแล้วทำการส่องกล้อง Endoscope เข้าไปตรวจหาความผิดปกติ ฯลฯ เพิ่มเติมต่อไป
ข้อควรระวัง ... บางครั้งอาการหายใจลำบาก ก็จัดอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นกันหากน้องหมามีลิ้นและเหงือกเปลี่ยนเป็นสีม่วง อ้าปากหายใจ หายใจไม่ออก ฯลฯ แบบนี้ควรรีบพาส่งโรงพยาบาลทันทีครับ
ข้อควรระวัง ... บางครั้งอาการหายใจลำบาก ก็จัดอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นกันหากน้องหมามีลิ้นและเหงือกเปลี่ยนเป็นสีม่วง อ้าปากหายใจ หายใจไม่ออก ฯลฯ แบบนี้ควรรีบพาส่งโรงพยาบาลทันทีครับ
กินน้ำมาก-ปัสสาวะมาก
ปกติน้องหมาจะมีการสูญเสียน้ำออกจากร่างกายผ่านทางระบบต่างๆ แยกออกเป็น 2 ประเภท คือ การเสียน้ำในแบบที่วัดปริมาณได้ (Sensible loss) เช่น ทางปัสสาวะและอุจจาระ กับการเสียน้ำในแบบที่ไม่สามารถวัดปริมาณได้ (Insensible loss) เช่น การหอบ การหายใจ ฯลฯ ในขณะที่ร่างกายน้องหมาก็จะมีความต้องการน้ำประมาณ 50-70 มิลลิลิตร/กิโลกรัม/วัน
การที่น้องหมากินน้ำมาก (Polydipsia) นั้น หมายความว่า น้องหมามีความต้องการน้ำมากกว่า 100 มิลลิลิตร/กิโลกรัม/วัน เจ้าของสามารถทราบได้โดยการวัดปริมาณน้ำที่น้องหมากินไปต่อวันว่ามากกว่าปริมาณที่ได้กล่าวไปหรือไม่ ส่วนการที่น้องหมาปัสสาวะมาก (Polyuria) หมายความว่า น้องหมาขับปัสสาวะออกมามากกว่า 50 มิลลิลิตร/กิโลกรัม/วัน หรือมากกว่า 2 มิลลิลิตร/กิโลกรัม/ชั่วโมง การสังเกตการปัสสาวะมากนี้ค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่ได้ทำการวัดปริมาณปัสสาวะ สุนัขบางตัวปัสสาวะนอกบ้าน และบางครั้งอาจทำให้เจ้าของสับสนกับการที่น้องหมาปัสสาวะบ่อยหรือถี่ขึ้น (Pollakiuria) ซึ่งอาจไม่ได้หมายความว่า น้องหมาจะมีปัสสาวะมากกว่าปกติก็ได้ ดังนั้นการจะทราบได้ว่าน้องหมาปัสสาวะมากขึ้นหรือไม่ หากไม่ได้ทำการวัดปริมาณปัสสาวะชัดเจน จะต้องอาศัยการสังเกตอย่างใกล้ชิดและเปรียบเทียบปริมาณจากการคาดคะเนดูว่า ปัสสาวะมากขึ้นกว่าในอดีตอย่างเห็นได้ชัดหรือไม่
สำหรับน้องหมาที่กินน้ำมากปัสสาวะมาก อาจมีสาเหตุมาจากการป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่น โรคเบาจืด (Diabetes insipidus) โรคเบาหวาน (Diabetes meiiitus) โรคไตวายเรื้อรัง โรคมดลูกอักเสบเป็นหนอง (Pyometra) โรคตับ โรคไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) โรคคุชชิง (Cushing's syndrome) โรคทางจิตประสาทที่ส่งผลให้กินน้ำมากขึ้น (Psychogenic polydipsia) ฯลฯ ซึ่งการจะทราบว่าน้องหมาป่วยด้วยโรคอะไรนั้น ต้องทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเพิ่มเติม น้องหมาอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละโรค
ทุกวันนี้สัตว์เลี้ยงมีชีวิตยืนยาวขึ้น ทำให้มีโอกาสป่วยด้วยโรคเรื้อรังมากขึ้น โรคพวกนี้ไม่ได้แสดงอาการปุ๊บปั๊บทันที แต่จะค่อยๆ เป็น ค่อยๆ แสดงอาการ บางทีอาการอาจคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และบางครั้งเจ้าของก็ไม่ทราบว่าอาการนั้นอาจมีความสัมพันธ์กับโรคที่น้องหมากำลังเป็นอยู่ เพราะฉะนั้นการหมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของมืออาชีพอย่างเราไม่ควรมองข้ามครับ
ทุกวันนี้สัตว์เลี้ยงมีชีวิตยืนยาวขึ้น ทำให้มีโอกาสป่วยด้วยโรคเรื้อรังมากขึ้น โรคพวกนี้ไม่ได้แสดงอาการปุ๊บปั๊บทันที แต่จะค่อยๆ เป็น ค่อยๆ แสดงอาการ บางทีอาการอาจคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และบางครั้งเจ้าของก็ไม่ทราบว่าอาการนั้นอาจมีความสัมพันธ์กับโรคที่น้องหมากำลังเป็นอยู่ เพราะฉะนั้นการหมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของมืออาชีพอย่างเราไม่ควรมองข้ามครับ
บทความโดย: หมอต้น Dogilike.com
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
http://family.dogilike.com/tonvet/
รูปภาพประกอบ:
รูปภาพประกอบ:
www.petside.com
www.drbeckersbites.com
www.dreamstime.com
www.pracob.blogspot.com
www.dogsbestlife.com
SHARES